มะเร็ง* เป็นเนื้องอกชนิดร้ายที่กลายมาจากเนื้อเยื่อปกติของร่างกาย มีการเจริญเติบโตและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว อยู่เหนือการควบคุมของร่างกาย และทำลายอวัยวะต่าง ๆ เกิดอาการเจ็บป่วยและภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงต่าง ๆ
เซลล์และเนื้อเยื่อแทบทุกส่วนของร่างกายอาจกลายเป็นมะเร็งได้ แต่ที่พบบ่อย ได้แก่ ตับ ปอด เต้านม ลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ปากมดลูก ต่อมลูกหมาก ต่อมน้ำเหลือง กระเพาะปัสสาวะ ช่องปาก เม็ดเลือดขาว เยื่อบุมดลูก รังไข่ กระเพาะอาหาร ไทรอยด์ หลอดอาหาร ตับอ่อน สมอง โพรงหลังจมูก ไต ถุงน้ำดี กล่องเสียง**
ส่วนใหญ่พบในคนอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป แต่ก็อาจพบในเด็ก และคนหนุ่มสาวได้
ในปัจจุบันมะเร็งเป็นสาเหตุการตายในอันดับแรก ๆ ของคนไทย
**จากรายงาน Globocan2020 ขององค์การอนามัยโลก (https://gco.iarc.fr/today/data/factsheets/populations/764-thailand-fact-sheets.pdf) ปี 2563 ในประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 190,636 ราย (ชาย 93,425 ราย, หญิง 97,211 ราย) มีผู้ที่ตายด้วยโรคมะเร็ง 124,886 ราย (ชาย 68,087 ราย, หญิง 56,779 ราย)
มะเร็งที่พบบ่อย 10 อันดับแรก (นับรวมกันเป็นร้อยละ 69.8 ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด) ได้แก่ มะเร็งตับ (ร้อยละ 14.4), มะเร็งปอด (ร้อยละ 12.4), มะเร็งเต้านม (ร้อยละ 11.6), มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง (ร้อยละ 10.9), มะเร็งปากมดลูก (ร้อยละ 4.8), มะเร็งต่อมลูกหมาก (ร้อยละ 4.5), มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (ร้อยละ 3.7), มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (ร้อยละ 2.6), มะเร็งช่องปาก (ร้อยละ 2.5), มะเร็งเม็ดเลือดขาว (ร้อยละ 2.4)
มะเร็งที่พบบ่อย 5 อันดับแรกในผู้ชาย (นับรวมกันเป็นมากกว่า ร้อยละ 60 ของผู้ป่วยมะเร็งในผู้ชายทั้งหมด) ได้แก่ มะเร็งตับ (ร้อยละ 19.6), มะเร็งปอด (ร้อยละ 16.5), มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง (ร้อยละ 11.4), มะเร็งต่อมลูกหมาก (ร้อยละ 9.2), มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (ร้อยละ 4)
มะเร็งที่พบบ่อย 5 อันดับแรกในผู้หญิง (นับรวมกันเป็นมากกว่า ร้อยละ 60 ของผู้ป่วยมะเร็งในผู้หญิงทั้งหมด) ได้แก่ มะเร็งเต้านม (ร้อยละ 22.8), มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง (ร้อยละ 10.7), มะเร็งปากมดลูก (ร้อยละ 9.4), มะเร็งตับ (ร้อยละ 9.4) มะเร็งปอด (ร้อยละ 8.5)
เซลล์มะเร็ง คือ เซลล์ปกติของเนื้อเยื่อในร่างกายที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ในเซลล์ ทำให้กลายพันธุ์เป็นเซลล์ที่มีการแบ่งตัวและแพร่กระจายได้รวดเร็ว
สาเหตุของการเกิดเซลล์มะเร็งยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าเป็นความผิดปกติที่ถ่ายทอดมาจากบิดามารดามาแต่กำเนิด หรือเกิดขึ้นภายหลังจากการได้รับสารก่อมะเร็งหรือสิ่งระคายเคืองเรื้อรัง เกิดการกลายพันธุ์ทีละน้อย จนในที่สุดกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งอาจใช้เวลานานนับสิบ ๆ ปี นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ทำหน้าที่คอยตรวจสอบและกำจัดเซลล์มะเร็งที่ก่อตัวขึ้น ซึ่งหากบกพร่องก็จะปล่อยให้เซลล์มะเร็งไม่ถูกกำจัดและแบ่งตัวเจริญเติบโตเป็นก้อนมะเร็งในที่สุด
ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง* สามารถแบ่งเป็น 2 พวกใหญ่ ๆ ดังนี้
1. ปัจจัยภายในร่างกาย เช่น
- ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หากบกพร่อง (เช่น อายุมาก ป่วยเป็นเอดส์) ก็มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็ง
- เชื้อชาติ เช่น ชาวญี่ปุ่นเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมาก ชาวจีนเป็นมะเร็งโพรงหลังจมูก และหลอดอาหารมาก
- เพศ มะเร็งตับ มะเร็งปอด พบมากในผู้ชาย มะเร็งของเต้านม มะเร็งไทรอยด์ พบมากในผู้หญิง
- อายุ มะเร็งส่วนใหญ่เกิดในวัยกลางคนและวัยสูงอายุ แต่บางชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งสมองบางชนิด มะเร็งลูกตาในเด็ก มะเร็งไตชนิดเนื้องอกวิล์มส์ พบมากในเด็ก มะเร็งกระดูกพบในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว
- กรรมพันธุ์ มะเร็งเต้านมบางชนิด มะเร็งต่อมไทรอยด์บางชนิด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งรังไข่ มะเร็งผิวหนัง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งอัณฑะ มะเร็งลูกตาในเด็ก พบว่ามีความสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์ คือมักมีประวัติว่ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นมะเร็งชนิดเดียวกันด้วย
2. ปัจจัยภายนอกร่างกาย ได้แก่
(2.1) ปัจจัยทางกายภาพต่าง ๆ เช่น
- ฟันปลอมที่ไม่กระชับ เวลาเคี้ยวอาหารจะมีการเสียดสีกับเหงือกหรือเพดานปาก นาน ๆเข้าอาจทำให้เกิดมะเร็งของเหงือก หรือเพดานปากได้
- การกินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มร้อนจัดเป็นประจำ จะมีการระคายเคืองบริเวณหลอดอาหาร นาน ๆ เข้าอาจทำให้เป็นมะเร็งของหลอดอาหารได้
- รังสีต่าง ๆ ถ้าร่างกายได้รับเป็นระยะนาน ๆ ก็อาจเกิดมะเร็งอวัยวะต่าง ๆ ได้
- แสงอัลตราไวโอเลต (แสงแดด) อาจทำให้เป็นมะเร็งของผิวหนังและริมฝีปาก
(2.2) สารเคมี ในปัจจุบันพบสารก่อมะเร็ง (carcinogen) มากกว่า 450 ชนิด อยู่ในรูปของอาหาร พืช สารเคมีต่าง ๆ เช่น
- สารหนู ทำให้เป็นมะเร็งของผิวหนัง
- สารใยหิน (asbestos) ทำให้เกิดมะเร็งปอด มะเร็งไต
- สารนิกเกิล (nickel) ทำให้เกิดมะเร็งปอด มะเร็งโพรงไซนัส
- บุหรี่ มีสารน้ำมันดิน (ทาร์) ซึ่งประกอบด้วยสารในกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน ที่มีชื่อว่า เบนซ์ไพรีน (benzpyrene) ทำให้เกิดมะเร็งปอด กล่องเสียง ช่องปาก ทอนซิล ผิวหนัง เต้านม ปากมดลูก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน ไต กระเพาะปัสสาวะ
- แอลกอฮอล์ ทำให้เกิดมะเร็งตับ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ กล่องเสียง ช่องปาก ทอนซิล เต้านม
- สารฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde) ทำให้เกิดมะเร็งจมูก มะเร็งโพรงหลังจมูก
- เบนซิน ทำให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว ตับอ่อน
- การเคี้ยวหมากหรือการจุกยาฉุน นอกจากจะก่อให้เกิดการระคายเรื้อรังแล้วยังมีสารเคมีที่ทำให้เป็นมะเร็งช่องปากได้
- สารไนโตรซามีน (nitrosamine) ในอาหารโปรตีนหมักหรือเนื้อสัตว์หมักเกลือหรือดินประสิวหรือรมควัน ทำให้เกิดมะเร็งตับ กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ตับ โพรงหลังจมูก
- ดีดีที เมื่อเข้าในร่างกาย อาจเปลี่ยนเป็นสารไดไนโตรซามีน ซึ่งมีฤทธิ์เหมือนไนโตรซามีน
- สีย้อมผ้าที่ใช้แต่งสีในอาหารหรือขนม ทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ทางเดินน้ำดี
(2.3) ฮอร์โมน ฮอร์โมนเอสโทรเจน มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านม รังไข่ เยื่อบุมดลูก ฮอร์โมนแอนโดรเจน (เทสโทสเทอโรน) มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก
(2.4) การติดเชื้อ เช่น
- การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือซี มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเซลล์ตับ
- การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (human papilloma virus/HPV) มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปากมดลูก ช่องปาก องคชาต
- การติดเชื้อไวรัสเอชทีแอลวี-1 (human T-cell leukemia virus/HTLV-1) มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- การติดเชื้อไวรัสอีบีวี (Epstein-Barr virus/EBV) มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดเบอร์กิต (Burkitt’s lymphoma) และมะเร็งโพรงหลังจมูก
- การติดเชื้อเอชไอวี (เอดส์) มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งหลอดเลือด ที่เรียกว่า Kaposi’s sarcoma (ดูข้อมูล "โรคเอดส์" เพิ่มเติม)
- การติดเชื้อเอชไพโลไร (Helicobacter pylori/H.pylori) มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร
(2.5) สารพิษ เช่น อะฟลาท็อกซิน (aflatoxin) จากเชื้อราที่ปนเปื้อนในอาหาร (ซึ่งไม่ถูกทำลายด้วยความร้อน) ทำให้เกิดมะเร็งเซลล์ตับ (ดูข้อมูล "โรคมะเร็งตับ" เพิ่มเติม)
(2.6) พยาธิ เช่น พยาธิใบไม้ตับ ทำให้เกิดมะเร็งเซลล์ท่อน้ำดี (ดูข้อมูล "โรคมะเร็งตับ" เพิ่มเติม)
(2.7) อาหาร
- ภาวะขาดอาหาร เช่น โรคตับแข็ง ซึ่งเกิดจากการขาดสารโปรตีน จะกลายเป็นมะเร็งตับได้ง่าย
- การบริโภคอาหารพวกเนื้อแดงและไขมันสัตว์มาก ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน ต่อมลูกหมาก
- การบริโภคเนื้อเค็ม ปลาเค็มหรือหมักเกลือ ทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก โพรงหลังจมูก
- การบริโภคเนื้อสัตว์ปิ้งย่าง (ซึ่งมีสารเบนซ์ไพรีน) หรือผักดอง ทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร
- การกินผักและผลไม้น้อยมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปอด หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ปากมดลูก ตับอ่อน
(2.8) ภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านม รังไข่ เยื่อบุมดลูก กระเพาะอาหาร หลอดอาหาร ลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน ต่อมลูกหมาก ไต
ในระยะแรกเริ่มเมื่อเซลล์มะเร็งเริ่มก่อตัวหรือเป็นก้อนเนื้องอกขนาดเล็ก มักจะไม่มีอาการแสดงใด ๆ ผู้ป่วยยังคงแข็งแรงเหมือนคนปกติ ซึ่งกินเวลานานเป็นแรมเดือนแรมปี
ต่อมาเมื่อมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือลุกลามมากขึ้น ผู้ป่วยก็จะมีอาการแสดงเฉพาะที่ ซึ่งเกิดจากก้อนมะเร็งโตเป็นก้อนบวมให้เห็นจากภายนอก (ที่ผิวหนัง ช่องปาก ต่อมน้ำเหลือง) ไปกดเบียดหรือทำลายอวัยวะที่เป็นหรือเนื้อเยื่อช่องปากข้างเคียง (ดูรายละเอียดในโรค มะเร็งผิวหนัง มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งปอด มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งโพรงหลังจมูก มะเร็งทอนซิล มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้เล็ก มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งตับอ่อน มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งอัณฑะ มะเร็งไต มะเร็งกระดูก มะเร็งลูกตาในเด็ก และข้อมูล “อาการเฉพาะที่ของมะเร็ง” ด้านล่าง)
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการแสดงทั่วไปร่วมด้วย ซึ่งพบร่วมกันในมะเร็งทุกชนิด ได้แก่ อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายโดยไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว อาจมีอาการท้องอืดเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน ซีด เป็นลม ใจหวิวคล้ายหิวข้าวบ่อย หรือมีไข้เรื้อรัง
การแบ่งระยะของโรคมะเร็ง
โดยทั่วไป แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งจำกัดเฉพาะภายในอวัยวะที่เป็นมะเร็ง เช่น
- มะเร็งปากมดลูก จำกัดอยู่เฉพาะภายในปากมดลูก
- มะเร็งปอด จำกัดอยู่ภายในปอด อาจลุกลามถึงหลอดลม หรือเยื่อหุ้มปอดชั้นใน (visceral pleura) แต่ยังไม่ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง
- มะเร็งเต้านม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางต่ำกว่า 2 ซม. และยังไม่ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง
ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังเนื้อเยื่อโดยรอบ เช่น
- มะเร็งปากมดลูก ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อที่อยู่ติดกับปากมดลูก รวมทั้งช่องคลอดส่วนบน แต่ยังไม่ลุกลามเข้าอุ้งเชิงกราน
- มะเร็งปอด ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณขั้วปอดหรือรอบ ๆ หลอดลม หรือลุกลามไปยังผนังทรวงอก (กระดูกซี่โครง) กะบังลม เยื่อหุ้มปอดชั้นนอก (parietal pleura) หรือเยื่อหุ้มหัวใจชั้นนอก
- มะเร็งเต้านม ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ข้างเดียวกัน หรือก้อนมะเร็งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 5 ซม.
ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งแพร่ไปยังเนื้อเยื่อใกล้เคียง เช่น
- มะเร็งปากมดลูก แพร่ไปยังช่องคลอดส่วนล่าง หรือเนื้อเยื่อภายในอุ้งเชิงกราน
- มะเร็งปอด แพร่ไปยังผนังทรวงอก กะบังลม เยื่อหุ้มปอดชั้นนอก เยื่อหุ้มหัวใจชั้นนอก ร่วมกับต่อมน้ำเหลืองบริเวณขั้วปอดหรือรอบ ๆ หลอดลม หรือแพร่ไปยังเนื้อเยื่อภายในประจันอก (mediasternum) หัวใจ ท่อลม หลอดอาหาร หรือกระดูกสันหลัง หรือแพร่ไปยังต่อมน้ำเหลืองที่แอ่งไหปลาร้า หรือประจันอกข้างเดียวกัน ต่อมน้ำเหลืองขั้วปอดหรือประจันอกในทรวงอกข้างตรงข้าม
- มะเร็งเต้านม แพร่ไปยังผนังทรวงอก และ/หรือผิวหนัง (เป็นแผลหรือตุ่มหลายตุ่มบนผิวหนังข้างเดียวกับเต้านมที่เป็นมะเร็ง) หรือพบว่ามีก้อนมะเร็งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 5 ซม. ร่วมกับการแพร่ไปที่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ข้างเดียวกัน หรือพบว่ามีต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้มีลักษณะยึดติดกันหลายก้อน หรือยึดติดกับเนื้อเยื่อข้างเคียง หรือมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่มีชื่อว่า internal mammary nodes หรือ infraclavicular nodes หรือ lateral supraclavicular nodes
ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปยังอวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น
- มะเร็งปากมดลูก แพร่ไปยังกระเพาะอาหาร ลำไส้ ตับ ปอด กระดูก
- มะเร็งปอด แพร่ไปยังสมอง ไขสันหลัง ตับ กระดูกทั่วร่างกาย
- มะเร็งเต้านม แพร่ไปยังปอด ตับ กระดูก
อาการเฉพาะที่ของมะเร็ง (สัญญาณอันตรายของโรคมะเร็ง)
1. มีตุ่ม ไต ก้อนแข็ง ที่เป็นเรื้อรัง ไม่เจ็บ หรือโตขึ้นเรื่อย ๆ
- ถ้าพบตามผิวหนังทั่วไป เช่น บริเวณใบหน้า หู คอ หน้าอก หลัง แขน มือ เป็นต้น อาจเป็นมะเร็งผิวหนัง
- ถ้าพบเป็นก้อนแข็งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 1 ซม. ที่ข้างคอ แอ่งไหปลาร้า รักแร้ หรือขาหนีบ อาจเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือมะเร็งส่วนอื่นที่แพร่กระจายมาที่ต่อมน้ำเหลือง
- ถ้าพบก้อนแข็งที่ริมฝีปาก ต่อมไทรอยด์ เต้านม หรืออัณฑะ กระดูก อาจเป็นมะเร็งช่องปาก มะเร็งไทรอยด์ มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งอัณฑะ มะเร็งกระดูก
- ถ้าคลำได้ก้อนแข็งในช่องท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา อาจเป็นมะเร็งตับ บริเวณใต้ลิ้นปี่หรือเหนือสะดือ อาจเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อนบริเวณท้องน้อย อาจเป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุมดลูก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
2. ถ้าเป็นแผลเรื้อรัง (นานเกิน 2-3 สัปดาห์) ตามผิวหนัง อาจเป็นมะเร็งผิวหนัง ในช่องปาก อาจเป็นมะเร็งช่องปาก
3. หูด ไฝ ปาน แผลเป็น ที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น สีเปลี่ยน โตเร็ว แตกเป็นแผล มีเลือดออก เป็นต้น อาจเป็นมะเร็งผิวหนัง
4. มีเลือดออก หรือสิ่งไหลออก (discharge) ตามที่ต่าง ๆ
- จ้ำเขียวพรายย้ำตามผิวหนัง อาจเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว
- เลือดกำเดาไหล หรือมีเลือดปนน้ำมูก อาจเป็นมะเร็งจมูก มะเร็งโพรงหลังจมูก มะเร็งเม็ดเลือดขาว
- เลือดออกจากปาก อาจเป็นมะเร็งช่องปาก มะเร็งเม็ดเลือดขาว
- ไอเป็นเลือด หรือมีเลือดปนเสมหะ อาจเป็นมะเร็งปอด
- อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระดำ อาจเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้เล็ก
- ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสด หรือถ่ายเป็นมูกปนเลือดเรื้อรัง อาจเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด อาจเป็นมะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมลูกหมาก
- เลือดออกทางช่องคลอด หรือมีประจำเดือนกะปริดกะปรอยหรือออกมากกว่าปกติ หรือมีตกขาว อาจเป็นมะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุมดลูก
- เลือดหรือสิ่งไหลออกจากหัวนม อาจเป็นมะเร็งเต้านม
5. ไอเรื้อรัง เกิน 3 สัปดาห์ อาจเป็นมะเร็งปอด
6. เสียงแหบ หรือเจ็บคอเกิน 3 สัปดาห์ อาจเป็นมะเร็งช่องปาก มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งทอนซิล มะเร็งปอด
7. คัดจมูก แน่นจมูกเรื้อรัง อาจเป็นมะเร็งจมูก มะเร็งโพรงหลังจมูก
8. กลืนลำบาก อาจเป็นมะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งช่องปาก มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งปอด
9. เจ็บหน้าอกเรื้อรัง อาจเป็นมะเร็งปอด มะเร็งตับ
10. อาเจียน ปวดท้อง แสบท้อง แน่นท้อง มีลมในท้อง หรือท้องมาน (ท้องบวม) อาจเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งลำไส้เล็ก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งรังไข่
11. ดีซ่าน (ตาเหลือง ตัวเหลือง) อาจเป็นมะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งลำไส้เล็ก
12. ถ่ายอุจจาระเป็นแท่งดินสอ ท้องเดินเรื้อรัง ท้องผูกเรื้อรัง หรือท้องเดินสลับท้องผูก อาจเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
13. ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำเล็ก หรือไม่พุ่ง เวลารู้สึกปวดปัสสาวะต้องรีบเข้าห้องน้ำทันที อาจเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งรังไข่
14. ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ บ้านหมุน เดินเซ ชัก หรือเห็นภาพซ้อน อาจเป็นมะเร็งสมอง (ดูข้อมูล “โรคเนื้องอกสมอง” ประกอบ)
15. แขนหรือขาชา หรืออ่อนแรง อาจเป็นมะเร็งสมอง (ดูข้อมูล “โรคเนื้องอกสมอง” ประกอบ) มะเร็งไขสันหลัง (ดูข้อมูล “โรคเนื้องอกไขสันหลัง” ประกอบ)
16. ปวดหลังเรื้อรัง อาจเป็นมะเร็งกระดูกสันหลัง มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับอ่อน
17. กระดูกบวม ข้อบวม หรือปวดกระดูก อาจเป็นมะเร็งกระดูก
18. ตาดำเห็นเป็นสีขาววาวคล้ายตาแมว อาจเป็นมะเร็งลูกตาในเด็ก
เมื่อมะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะไกลจากตำแหน่งที่เป็น เช่น ไปที่สมอง ปอด ตับ กระดูก ไขสันหลัง ก็จะมีอาการต่าง ๆ ตามอวัยวะที่พบ เช่น หอบเหนื่อย (ปอด) ดีซ่าน (ตับ) ปวดหลัง (กระดูกสันหลัง) ปวดศีรษะ เดินเซ แขนขาชาหรืออ่อนแรงซีกหนึ่ง ชัก (สมอง) แขนหรือขาชาและอ่อนแรงข้างหนึ่ง (ไขสันหลัง) เป็นต้น และระยะสุดท้ายอาจมีอาการเจ็บปวดรุนแรงร่วมด้วย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจพิเศษ เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจอุจจาระ เอกซเรย์ ตรวจอัลตราซาวนด์ ตรวจสแกน (scan) ใช้กล้องส่องตรวจ (scopy) ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และทำการตรวจทางพยาธิวิทยา ได้แก่ การตรวจหาเซลล์มะเร็ง (cytology) และการตรวจชิ้นเนื้อ (biopsy)
นอกจากเป็นการยืนยันการวินิจฉัยโรคมะเร็งแล้ว การตรวจพิเศษดังกล่าวยังสามารถระบุชนิดของเซลล์มะเร็งและระยะของโรค ซึ่งมีผลในการทำนายโรค (ว่ารุนแรงเพียงใด) และการวางแผนการรักษา
ส่วนใหญ่จะใช้วิธีผ่าตัดนำก้อนมะเร็งออกไปให้มากที่สุดเป็นหลัก ยกเว้นในรายที่เป็นระยะท้ายที่มะเร็งแพร่กระจายไปทั่วร่างกายแล้ว ก็อาจไม่ทำผ่าตัดก้อนมะเร็งออก แต่อาจผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะแทรกซ้อนเพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมาน หรือในรายที่เป็นมะเร็งตรงตำแหน่งที่ผ่าตัดไม่ได้ ก็อาจเลือกใช้วิธีอื่นในการรักษา นอกจากการผ่าตัดแล้ว แพทย์อาจเลือกให้การรักษาด้วยวิธีอื่น ได้แก่
- รังสีรักษาหรือรังสีบำบัด (radiation therapy) ได้แก่ การฉายรังสี หรือใส่แร่เรเดียมซึ่งเป็นกัมมันตรังสีตรงบริเวณที่เป็นมะเร็ง เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง ทำให้ก้อนมะเร็งยุบตัวลงและป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจาย นิยมใช้ร่วมกับการผ่าตัด บางครั้งอาจใช้เป็นวิธีหลักแทนการผ่าตัด
- เคมีบำบัด (chemotherapy) เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งมีทั้งยาชนิดฉีดเข้าหลอดเลือด และชนิดกิน มักใช้ร่วมกับการผ่าตัดหรือรังสีรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายหรือเป็นก้อนโต บางกรณี เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ใช้เป็นวิธีหลักในการรักษาแทนวิธีอื่น เคมีบำบัดอาจมีผลข้างเคียง ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง เม็ดเลือดขาวต่ำ (ติดเชื้อง่าย) เม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดต่ำ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นอยู่เพียงชั่วคราว เมื่อหยุดยาแล้ว อาการเหล่านี้ก็จะหายไปได้เอง
- การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy) เป็นการให้ยา (มีทั้งชนิดฉีดเข้าหลอดเลือด และชนิดกิน) ไปยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยไปทำปฏิกิริยากับโมเลกุลเป้าหมายจำเพาะ (targeted molecule) ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง (ไม่ใช่กับเซลล์ปกติ) ซึ่งมีอยู่หลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibody), กลุ่มยาที่มีโมเลกุลเล็ก (small molecules) เป็นต้น สามารถใช้รักษาโรคมะเร็งได้หลายชนิด อาทิ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งรังไข่ มะเร็งไต มะเร็งศีรษะและลำคอ เป็นต้น ทั้งในระยะแพร่กระจายและไม่แพร่กระจาย
- อิมมูนบำบัด (immunotheraphy) เป็นการให้สารเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกายในการต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง เช่น สารภูมิต้านทานกลุ่มโมโนโคลนอลแอนตีบอดี (monoclonal antibody), อินเตอร์เฟอรอน (interferon), อินเตอร์ลิวคิน-2 (interleukin-2), Granulocyte-macrophage colony-stimulating factor (GM-CSF) เป็นต้น
- ฮอร์โมนบำบัด (hormone therapy) คือการใช้ฮอร์โมนในการรักษามะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก
- การปลูกถ่ายไขกระดูก/เซลล์ต้นกำเนิดจากเลือด (bone-marrow/stem cell transplantation) สำหรับมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ผลการรักษา ขึ้นกับชนิดของมะเร็ง ระยะความรุนแรงของโรค และสภาพของผู้ป่วย (ความร่วมมือในการรักษา การปฏิบัติตน ความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย กำลังใจ เป็นต้น)
มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งผิวหนัง มะเร็งช่องปาก มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด มะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งโพรงหลังจมูก มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งกระดูก เป็นต้น ถ้าหากได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม อาจมีชีวิตอยู่ได้นาน หรือหายขาดได้
ส่วนมะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งตับอ่อน มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งรังไข่ มะเร็งไต ซึ่งมักตรวจพบระยะท้ายเมื่อมีอาการชัดเจนแล้ว การรักษามักไม่ได้ผลดี ส่วนใหญ่เป็นการรักษาแบบประทังอาการ (palliative care) เพื่อลดความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมาน ผู้ป่วยมักมีชีวิตโดยเฉลี่ยประมาณ 6-12 เดือน แต่บางรายก็อาจอยู่ได้นานหลายปี
ในปัจจุบัน มีวิธีการรักษามะเร็งและยารักษามะเร็งชนิดใหม่ ๆ ช่วยให้ผู้ป่วยแม้เป็นมะเร็งระยะท้ายสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีชีวิตยืนยาวมากขึ้นกว่าเดิม
หากมีอาการที่น่าสงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
- หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
- ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบ และงานจิตอาสา เท่าที่ร่างกายจะอำนวย
- ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
- ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
- ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
- ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวด ประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีอาการไม่สบายหรืออาการผิดปกติ เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ชัก แขนขาชาหรืออ่อนแรง ซีด มีเลือดออก ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน เบื่ออาหารมาก กินไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ เป็นต้น
- ขาดยาหรือยาหาย
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันมะเร็ง ได้แก่
- ไม่สูบบุหรี่ ไม่สัมผัสควันบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์จัด รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้ยาฉุนและหมากพลู
- พยายามรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ หาทางผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ
- อย่าอยู่ในที่ที่อากาศไม่บริสุทธิ์หรือมีมลพิษ ถ้าจำเป็นต้องทำงานที่เกี่ยวกับสารก่อมะเร็ง (เช่น สารใยหิน) ควรใช้อุปกรณ์ป้องกัน
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่ร้อน ๆ
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ (โดยเฉพาะปลาน้ำจืด) หรืออาหารที่มีเชื้อรา เช่น ถั่วลิสงบด พริกแห้ง หัวหอม กระเทียมที่ขึ้นรา ซึ่งมีสารอะฟลาท็อกซิน (สารนี้ไม่ถูกทำลายด้วยความร้อน)
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารโปรตีนหมัก (เช่น ปลาร้า ปลาส้ม หมูส้ม แหนม) หรือเนื้อสัตว์ที่หมักโดยผสมดินประสิว (เช่น กุนเชียง ไส้กรอก แฮม) ถ้าจะกินควรทำให้สุกเพื่อทำลายสารไนโตรซามีนเสียก่อน
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารและขนมที่ใส่สีย้อมผ้า (ซึ่งทำให้ดูสีสดใสน่ากิน) และอาหารที่มียาฆ่าแมลงหรือดีดีทีเจือปน
- ลดอาหารที่มีไขมัน (เช่น มันสัตว์ ของทอด ของผัดน้ำมัน อาหารใส่กะทิ) น้ำตาลและของหวาน
- ลดการบริโภคเนื้อแดงหรือเนื้อสัตว์ใหญ่ (เช่น หมู วัว ควาย แกะ) ไม่เกินวันละ 80 กรัม (3 ออนซ์) ควรเลือกกินปลาและสัตว์เล็ก (เช่น เป็ด ไก่) แทน ถ้าเป็นไปได้ควรกินโปรตีนจากถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง (เช่น เต้าหู้ เนื้อเทียม) แทนเนื้อสัตว์ให้มาก ๆ
- อย่ากินเนื้อสัตว์ที่ปรุงจนไหม้ และหลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์และปลาที่ปรุงด้วยวิธีปิ้ง ย่าง รมควัน หรือหมักเกลือ (เช่น เนื้อเค็ม ปลาเค็ม) ควรกินเนื้อสัตว์และปลาที่ปรุงด้วยวิธีอื่น เช่น การนึ่ง การต้ม การอบ การทอดในน้ำ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการกินผักดอง
- กินผัก (เช่น ผักใบเขียว ผักกะหล่ำ ดอกกะหล่ำ ผักคะน้า บร็อกโคลี เป็นต้น) ผลไม้ (เช่น ฝรั่ง แอปเปิล มะละกอ องุ่น ฟักทอง มะเขือเทศ ส้ม เป็นต้น) เมล็ดธัญพืช (เช่น ข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง งา ลูกเดือย ถั่วต่าง ๆ เมล็ดทานตะวัน แมงลัก เป็นต้น) หัวพืชต่าง ๆ (เช่น เผือก มัน แครอต หัวไช้เท้า เป็นต้น) และพวกกล้วยให้มาก ๆ ทุกวัน อาหารเหล่านี้จะมีสารที่ช่วยป้องกันมะเร็ง เช่น เส้นใย (fiber) สารฟีนอล (phenol) สารฟลาโวน (flavones) สารฟลาโวนอยด์ (flavonoids) สารไลโคพีน (lycopene) สารแคโรทีน (carotene) วิตามินซี วิตามินอี เป็นต้น
- อย่าอยู่กลางแดดจัด ๆ เป็นเวลานาน ๆ ถ้าจำเป็นต้องออกกลางแดด ควรมีอุปกรณ์ป้องกันมิให้ผิวหนังถูกแดด หรือใช้ยาทากันแดด
- หลีกเลี่ยงการกินยาจีน ยาไทย ที่มีส่วนผสมของสารหนู
1. ปัจจุบันมีวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคหายขาดหรือทุเลา หรือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง มีความมานะอดทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาที่อาจมีได้ อย่าเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากสนใจจะแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี
2. มะเร็งเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ (ไม่ใช่เป็นโรคที่จะหมดทางเยียวยาเสมอไป) โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าตรวจพบและรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่มที่เป็น หากมีอาการที่น่าสงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง ควรปรึกษาแพทย์แต่เนิ่น ๆ หากแพทย์ตรวจแล้วไม่เป็นมะเร็งก็ขอให้สบายใจได้ อย่าได้วิตกกังวลจนเกินเหตุ
3. ถึงแม้จะไม่มีอาการผิดปกติ ก็ควรหมั่นปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจเช็กมะเร็งในระยะแรกเริ่มก่อนปรากฏอาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มะเร็งผิวหนัง มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งอัณฑะ และมะเร็งช่องปาก ซึ่งมีวิธีการตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะแรก และสามารถรักษาให้หายขาดหรือมีชีวิตยืนยาวได้