มะเร็งกระดูก ในที่นี้หมายถึงมะเร็งที่เกิดขึ้นจากเนื้อเยื่อของกระดูกเอง (ไม่หมายรวมถึงมะเร็งที่แพร่มาจากอวัยวะอื่น) เป็นมะเร็งที่พบได้น้อย (พบได้น้อยกว่าร้อยละ 1 ของมะเร็งทั้งหมด และมะเร็งกระดูกในเด็กพบได้ร้อยละ 3-5 ของมะเร็งที่พบในเด็กทั้งหมด) พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย
มะเร็งกระดูกมีอยู่หลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นมะเร็งเซลล์กระดูก (osteosarcoma) ซึ่งพบมากในเด็กและวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะช่วงอายุ 10-20 ปี ส่วนน้อยเป็นมะเร็งเซลล์กระดูกอ่อน (chrondosarcoma) ซึ่งพบในคนอายุมากกว่า 50 ปี นอกนั้นอาจพบมะเร็งของเซลล์ชนิดอื่น ๆ
ตำแหน่งมะเร็งกระดูกที่แขน
ยังไม่ทราบแน่ชัด พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดนี้ ได้แก่
- ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ พบว่าผู้ที่เป็นโรคกรรมพันธุ์บางชนิด เช่น Li-Fraumeni syndrome, มะเร็งลูกตาในเด็ก (retinoblastoma) เป็นต้น มีโอกาสเป็นมะเร็งกระดูกมากขึ้น
- โรคกระดูกบางชนิด เช่น โรคพาเจตของกระดูก (Paget's disease of bone เป็นภาวะผิดปกติของเนื้อเยื่อกระดูก ทำให้กระดูกหนา และเปราะแตกหักง่าย) ซึ่งพบในคนอายุมากกว่า 50 ปี พบว่าผู้ที่เป็นโรคนี้มีโอกาสเป็นมะเร็งเซลล์กระดูก (osteosarcoma) ประมาณร้อยละ 1
- การมีประวัติเคยได้รับการฉายรังสีรักษามะเร็งชนิดอื่นมาก่อน
อาการแรกเริ่ม คืออาการปวดกระดูกตอนกลางคืน หรือตอนมีการใช้งานของแขนขา ซึ่งมักจะเป็นอย่างต่อเนื่อง ต่อมาจะพบว่ามีก้อนแข็งหรือปุ่มยื่นออกมาจากกระดูก ส่วนใหญ่พบที่กระดูกขา (บริเวณรอบ ๆ เข่า) และกระดูกแขน ส่วนน้อยพบที่บริเวณอื่น
บางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการกระดูกแตกหรือหักจากการกระทบกระแทกเล็กน้อย จนเข้าใจผิดว่าเป็นกระดูกแตกหักจากอุบัติเหตุทั่วไป หากไม่ได้รับการรักษา มะเร็งเซลล์กระดูกอาจแพร่กระจายไปที่ปอด ทำให้มีอาการหอบเหนื่อย
ทำให้มีอาการเจ็บปวด กระดูกหัก ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง
มะเร็งแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปที่อวัยวะอื่น ที่พบบ่อยคือไปที่ปอด ทำให้มีอาการเจ็บหน้าอก ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด ภาวะมีน้ำหรือเลือดในช่องเยื่อหุ้มปอด หายใจลำบาก
แพทย์จะวินิจฉัยโดยการเอกซเรย์ สแกนกระดูก และตัดชิ้นเนื้อนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ
หากพบว่าเป็นมะเร็งก็จะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ (เช่น เอกซเรย์, อัลตราซาวนด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า-MRI, การตรวจเพทสแกน- PET scan เป็นต้น) เพื่อประเมินว่าเป็นมะเร็งระยะใด
แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นหลัก ถ้ามะเร็งมีขนาดเล็กจะทำการผ่าตัดกระดูกเฉพาะส่วนที่เป็นมะเร็งออกไป แล้วนำเนื้อเยื่อกระดูกปกติหรือกระดูกเทียมมาใส่แทน แต่ถ้ามะเร็งมีขนาดใหญ่ก็จำเป็นต้องตัดแขนหรือขาที่เป็นมะเร็งออกไป แล้วใส่แขนหรือขาเทียม
แพทย์อาจทำการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว หรือทำการผ่าตัดร่วมกับเคมีบำบัด และ/หรือรังสีบำบัด ตามชนิดและระยะของโรค
สำหรับมะเร็งเซลล์กระดูก (osteosarcoma) แพทย์จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัด และให้เคมีบำบัดก่อนและหลังการผ่าตัด ช่วยให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพ และป้องกันไม่ให้มะเร็งกลับมากำเริบใหม่ ส่วนรังสีบำบัดแพทย์จะเลือกใช้ในบางกรณี
สำหรับมะเร็งเซลล์กระดูกอ่อน (chrondosarcoma) แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัด อาจใช้รังสีบำบัดก่อนและหลังผ่าตัด มักจะไม่ใช้เคมีบำบัด เนื่องเพราะใช้ไม่ได้ผลในการรักษามะเร็งชนิดนี้เป็นส่วนใหญ่ ในรายที่ผ่าตัดไม่ได้แพทย์จะรักษาด้วยใช้รังสีบำบัดเป็นหลัก
ผลการรักษาขึ้นกับชนิดและระยะของโรค
ในรายที่เป็นมะเร็งเซลล์กระดูก (ซึ่งพบในเด็กและวัยหนุ่มสาว) ระยะที่ยังไม่ลุกลาม มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีประมาณร้อยละ 60-80 แต่ถ้ากระจายผ่านกระแสเลือดไปที่อวัยวะอื่น (พบบ่อยที่ปอด) มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีประมาณร้อยละ 15-30
ส่วนรายที่เป็นมะเร็งเซลล์กระดูกอ่อน (ซึ่งพบในคนอายุมากกว่า 50 ปี) ส่วนใหญ่มักจะลุกลามช้าและไม่แพร่กระจายไปที่อื่น ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดด้วยการผ่าตัดได้ มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีประมาณร้อยละ 80
หากสงสัย เช่น มีอาการปวดกระดูกนานเป็นสัปดาห์โดยไม่ทราบสาเหตุ, มีก้อนแข็งหรือปุ่มยื่นออกมาจากกระดูก ที่กระดูกแขนขาหรือที่อื่น เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งกระดูก ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
- หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
- ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบ และงานจิตอาสา เท่าที่ร่างกายจะอำนวย
- ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
- ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
- ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
- ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวด ประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีอาการไม่สบายหรืออาการผิดปกติ เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ชัก แขนขาชาหรืออ่อนแรง ซีด มีเลือดออก ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน เบื่ออาหารมาก กินไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ เป็นต้น
- ขาดยาหรือยาหาย
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด จึงยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล
1. ผู้ที่มีอาการปวดกระดูกเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด
2. ผู้ป่วยมะเร็งกระดูกบางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการกระดูกแตกหรือหักจากการกระทบกระแทกเล็กน้อย จนเข้าใจผิดว่าเป็นกระดูกแตกหักจากอุบัติเหตุทั่วไป หากสงสัยควรทำการตรวจเพิ่มเติมให้แน่ชัด
3. ปัจจุบันมีวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคหายขาดหรือทุเลา หรือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง มีความมานะอดทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาที่อาจมีได้ อย่าเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากสนใจจะแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี