มะเร็งเยื่อบุมดลูก เป็นมะเร็งที่พบได้น้อยกว่ามะเร็งปากมดลูกและมะเร็งรังไข่ มักตรวจพบโรคในระยะแรก ๆ และได้รับการดูแลรักษาได้ผลดี เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการเลือดออกทางช่องคลอดตั้งแต่เป็นมะเร็งระยะแรก
พบมากในช่วงอายุ 40-60 ปี
ยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับความไม่สมดุลของฮอร์โมนทำให้มีระดับเอสโทรเจนสูง
พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งชนิดนี้ ได้แก่
- การมีกรรมพันธุ์ที่ผิดปกติ
- การมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี
- ภาวะไม่มีบุตร หรือมีบุตรเมื่ออายุมาก
- ภาวะอ้วน หรือเป็นเบาหวาน
- การบริโภคไขมันสัตว์มาก
- การตกไข่ไม่สม่ำเสมอ (เช่น กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง)
- การได้รับฮอร์โมนทดแทนในวัยหมดประจำเดือนด้วยเอสโทรเจนล้วน ๆ (ไม่มีโพรเจสเทอโรนผสม) เป็นเวลานาน
- เคยได้รับการฉายรังสีบริเวณเชิงกราน
- การใช้ยาต้านเอสโทรเจน (เช่น tamoxifen ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษามะเร็งเต้านม)
- อายุมาก (มักพบโรคนี้ในหญิงหลังวัยหมดประจำเดือน)
- การมีประวัติโรคมะเร็งเยื่อบุมดลูก มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว
มักมีอาการมีเลือดประจำเดือนออกมากหรือนานผิดปกติ มีของเหลวสีชมพูหรือสีขาวออกทางช่องคลอด หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดหลังวัยหมดประจำเดือน ปวดท้องน้อย
บางรายอาจมีอาการเจ็บปวดขณะถ่ายปัสสาวะหรือร่วมเพศ น้ำหนักลด ซีดจากการเสียเลือด อาจคลำได้ก้อนที่บริเวณท้องน้อย
อาจเกิดภาวะซีดเนื่องจากการมีเลือดออกเรื้อรังทางช่องคลอด
หากปล่อยปละละเลยมะเร็งอาจลุกลามไปที่กระเพาะปัสสาวะ ทวารหนัก ช่องคลอด ท่อรังไข่ รังไข่ และแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปที่อวัยวะอื่น ๆ (เช่น ปอด ตับ กระดูก) ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนของอวัยวะต่าง ๆ ที่มะเร็งแพร่กระจายไป เช่น ขับถ่ายลำบาก ถ่ายเป็นเลือด เจ็บปวดขณะถ่ายปัสสาวะหรือร่วมเพศ ปวดท้อง ท้องมาน เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ปวดกระดูก ปวดหลัง น้ำหนักลด ตัวเหลืองตาเหลือง เป็นต้น
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการตรวจเซลล์มะเร็งที่เก็บจากช่องคลอดจากการขูดมดลูก หรือใช้กล้องส่องตรวจโพรงมดลูก (hysteroscopy) แล้วตัดเยื่อบุมดลูกนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ
หากพบว่าเป็นมะเร็งก็จะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ (เช่น เอกซเรย์, อัลตราซาวนด์,เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า-MRI, การตรวจเพทสแกน- PET scan เป็นต้น) เพื่อประเมินว่าเป็นมะเร็งระยะใด
แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัดมดลูกพร้อมทั้งรังไข่และท่อนำรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง
ในรายที่มดลูกโตขนาดเท่าครรภ์ 8 สัปดาห์ อาจทำการฉายรังสีหรือใส่แร่เรเดียมก่อนผ่าตัด
ในรายที่มะเร็งแพร่กระจายออกจากช่องเชิงกราน อาจต้องให้เคมีบำบัด และ/หรือฮอร์โมนบำบัด (เช่น โพรเจสเทอโรนสังเคราะห์)
ผลการรักษา มักจะได้ผลดี เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการเลือดออกตั้งแต่เป็นมะเร็งระยะแรก จึงทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ได้เร็วและได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี ร้อยละ 75-90
หากสงสัย เช่น มีอาการมีเลือดประจำเดือนออกมากหรือนานผิดปกติ มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังวัยหมดประจำเดือน ปวดท้องน้อย มีอาการเจ็บปวดขณะถ่ายปัสสาวะหรือร่วมเพศ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเยื่อบุมดลูก ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
- หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
- ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบ และงานจิตอาสา เท่าที่ร่างกายจะอำนวย
- ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
- ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
- ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
- ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวด ประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีอาการไม่สบายหรืออาการผิดปกติ เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ชัก แขนขาชาหรืออ่อนแรง ซีด มีเลือดออก ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน เบื่ออาหารมาก กินไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ เป็นต้น
- ขาดยาหรือยาหาย
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
ยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดมะเร็งเยื่อบุมดลูกที่ได้ผล อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดนี้ด้วยการปฏิบัติ ดังนี้
- ถ้าจำเป็นต้องให้ฮอร์โมนทดแทนในวัยหมดประจำเดือน ควรให้ฮอร์โมนผสมเอสโทรเจนกับโพรเจสเทอโรน ไม่ควรให้เอสโทรเจนเพียงอย่างเดียว เพราะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเยื่อบุมดลูก
- การกินยาเม็ดคุมกำเนิดช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ในช่วงหลังวัยหมดประจำเดือน แต่เนื่องจากยานี้มีผลข้างเคียงหลายอย่าง หากต้องการกินยานี้เพื่อป้องกันมะเร็งเยื่อบุมดลูก ควรปรึกษาแพทย์
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ลดการบริโภคไขมันสัตว์
1. ผู้หญิงที่มีเลือดประจำเดือนออกมากหรือนานผิดปกติ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดหลังวัยหมดประจำเดือน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด พึงอย่าชะล่าใจว่าไม่เป็นไร
2. ปัจจุบันมีวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคหายขาดหรือทุเลา หรือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง มีความมานะอดทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาที่อาจมีได้ อย่าเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากสนใจจะแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี