มะเร็งต่อมลูกหมาก พบมากเป็นอันดับที่ 5 ของมะเร็งในผู้ชาย มักพบในผู้ชายอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และพบมากขึ้นตามอายุ ส่วนในคนอายุต่ำกว่า 40 ปี อาจพบได้แต่น้อย
ยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศชาย-แอนโดรเจน (androgen) ได้แก่ เทสโทสเทอโรน
พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดนี้ ดังนี้
- ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ พบว่าถ้ามีพ่อหรือพี่น้องเป็นโรคนี้หรือมะเร็งชนิดอื่น (เช่น มะเร็งเต้านม มดลูก รังไข่ กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตับ ถุงน้ำดี ไต กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น) มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากมากกว่าปกติ
- ภาวะอ้วน พบว่าผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่มีภาวะอ้วนมีโอกาสเป็นมะเร็งขั้นที่รุนแรงและยากที่จะให้การรักษา
มะเร็งชนิดนี้มักมีการลุกลามช้า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดง จนกว่าก้อนโตมากจนเกิดภาวะอุดกั้นท่อปัสสาวะ ก็จะมีอาการผิดปกติของการถ่ายปัสสาวะแบบเดียวกับต่อมลูกหมากโต รวมทั้งอาจมีอาการถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด
ในรายที่มะเร็งแพร่กระจายไปแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดหลัง ซี่โครงหรือเชิงกราน (ถ้ามะเร็งแพร่ไปกระดูกหลัง ซี่โครงหรือเชิงกราน) เท้าบวม (ถ้าแพร่ไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณต้นขา)
เมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้น ทำให้ทางเดินปัสสาวะอุดกั้น (ปวดท้องน้อย ถ่ายปัสสาวะลำบากหรือถ่ายไม่ออก) โลหิตจางจากการเสียเลือด
เมื่อมะเร็งลุกลามไปที่อวัยวะข้างเคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ ไส้ตรง เนื้อเยื่อในช่องท้อง (ทำให้ปวดท้อง ถ่ายปัสสาวะอุจจาระลำบาก ถ่ายปัสสาวะอุจจาระเป็นเลือด ท้องมาน) และในระยะท้ายมักแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปที่ปอด (เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก), กระดูก (ปวดกระดูก กระดูกพรุน กระดูกหัก ปวดหลัง ไขสันหลังถูกกดทับ)
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นโดยการใช้นิ้วตรวจทางทวารหนัก (digital rectal exam) และตรวจระดับพีเอสเอ (prostate specific antigen/PSA) ในเลือด (ปกติมีค่าไม่เกิน 4 นาโนกรัมต่อเลือด 1 มล.)
หากสงสัย เช่น ตรวจพบต่อมลูกหมากเป็นก้อนแข็งหรือขรุขระ หรือมีค่าพีเอสเอสูงกว่าปกติ ก็จะทำการตรวจเพิ่มเติม โดยทำการตรวจอัลตราซาวนด์ต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก (transrectal ultrasound/TRUS) และตัดชิ้นเนื้อนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ (prostate biopsy)
หากพบว่าเป็นมะเร็งก็จะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ (เช่น เอกซเรย์, อัลตราซาวนด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า-MRI, การตรวจเพทสแกน-PET scan เป็นต้น) เพื่อประเมินว่าเป็นมะเร็งระยะใด
แพทย์จะเลือกวิธีรักษาตามความรุนแรง ระยะของโรค และอายุของผู้ป่วย เช่น
- ผู้ป่วยที่มะเร็งยังจำกัดอยู่เฉพาะที่ต่อมลูกหมาก และมีอายุต่ำกว่า 65 ปี หรือคาดว่าสามารถอยู่ได้นานเกิน 10 ปี มักจะทำการผ่าตัดต่อมลูกหมาก
- ผู้ป่วยที่มะเร็งยังจำกัดอยู่เฉพาะที่ต่อมลูกหมาก แต่มีอายุมากหรือสุขภาพทรุดโทรม หรือปฏิเสธการผ่าตัด หรือผู้ป่วยที่มะเร็งเริ่มแพร่กระจายออกไปบริเวณรอบ ๆ ต่อมลูกหมาก มักให้รังสีบำบัด (ด้วยการฝังแร่หรือฉายรังสี)
- ผู้ป่วยที่มะเร็งแพร่กระจายไปทั่วแล้วหรือค่าพีเอสเอเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ หรือผู้ป่วยอายุน้อยที่เป็นมะเร็งชนิดร้ายแรง มักจะให้ฮอร์โมนบำบัด เพื่อควบคุมเทสโทสเทอโรนให้ลดลง ทำให้ก้อนมะเร็งฝ่อเล็กลง โดยการให้ยาต้านแอนโดรเจนชนิดเม็ด (anti-androgen เช่น flutamide, bicalutamide เป็นต้น) ฉีดยากระตุ้น luteinizing hormone-releasing hormone (LHRH agonists เช่น leuprorelin, goserelin) หรือโดยการผ่าตัดอัณฑะ (ที่สร้างเทสโทสเทอโรน) ออกไปทั้ง 2 ข้าง และอาจให้เคมีบำบัด และ/หรือรังสีบำบัดร่วมด้วย
- ผู้ป่วยที่มะเร็งมีขนาดเล็ก เจริญช้า จำกัดอยู่เฉพาะที่ต่อมลูกหมาก หรือไม่มีอาการแสดง (พบจากการตรวจคัดกรอง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีอายุมากสุขภาพทรุดโทรม หรือคาดว่าอยู่นานไม่ถึง 10 ปี มักจะไม่ให้การรักษาใด ๆ แต่จะเฝ้าติดตามดูการเปลี่ยนแปลงโดยการตรวจระดับพีเอสเอ และการใช้นิ้วตรวจทางทวารหนักเป็นระยะ ๆ ถ้าจำเป็นอาจทำการตรวจชิ้นเนื้อ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีชีวิตที่เป็นปกติสุขอยู่ได้เป็นเวลานาน เนื่องจากมะเร็งมีการลุกลามช้า ไม่คุ้มกับความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น
หลังการรักษาไม่ว่าด้วยวิธีใด แพทย์จะติดตามตรวจระดับพีเอสเอเป็นระยะ ถ้าอยู่ในเกณฑ์ปกติ แสดงว่าโรคสงบหรือทุเลา แต่ถ้ามีค่าสูงขึ้นก็แสดงว่าโรคอาจกำเริบขึ้นอีก
โดยทั่วไปผลการรักษาค่อนข้างดี และสามารถรักษาให้มีชีวิตอยู่ยาวนาน (มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีเกือบร้อยละ 100) เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากส่วนใหญ่เป็นมะเร็งที่มีการเจริญหรือลุกลามช้า
หากสงสัย เช่น มีอาการปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเป็นเลือด ปวดหลังเรื้อรัง น้ำหนักลด เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
- หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
- ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบ และงานจิตอาสา เท่าที่ร่างกายจะอำนวย
- ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
- ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
- ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
- ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวด ประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี
- มีอาการไม่สบายหรืออาการผิดปกติ เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ชัก แขนขาชาหรืออ่อนแรง ซีด มีเลือดออก ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน เบื่ออาหารมาก กินไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ เป็นต้น
- ขาดยาหรือยาหาย
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
ถึงแม้มะเร็งชนิดนี้ป้องกันได้ยาก แต่การปฏิบัติตัวต่อไปนี้อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรค และชะลอการลุกลามของโรค
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ลดอาหารมัน
- กินผัก ผลไม้ และเมล็ดธัญพืชให้มาก ๆ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
1. ในปัจจุบันยังไม่แนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในคนทั่วไปที่ไม่มีอาการโดยการตรวจพีเอสเอในเลือด เพราะยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่ามีประโยชน์ เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่ไม่มีอาการแสดงมักเป็นมะเร็งชนิดเจริญช้า ไม่แพร่กระจายออกนอกต่อมลูกหมาก และสามารถมีชีวิตที่เป็นปกติเป็นเวลายาวนาน นอกจากนี้ การตรวจคัดกรองโรคด้วยการตรวจพีเอสเอในเลือด* ยังขาดความแม่นยำ มีโอกาสพบผลบวกลวงค่อนข้างมาก ซึ่งอาจนำไปสู่การตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ไม่จำเป็น และเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
2. ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติโรคนี้ในครอบครัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาถึงผลดีผลเสียของการตรวจคัดกรองมะเร็งชนิดนี้
3. ปัจจุบันมีวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคหายขาดหรือทุเลา หรือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง มีความมานะอดทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาที่อาจมีได้ อย่าเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากสนใจจะแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี
ถ้ามีค่าระหว่าง 4-10 นาโนกรัม/มล. อาจเป็นมะเร็งหรือไม่ใช่มะเร็งก็ได้
ถ้ามากกว่า 10 นาโนกรัม/มล. มีโอกาสเป็นมะเร็งสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นสาเหตุที่ไม่ใช่มะเร็งมักจะมีค่าต่ำกว่า 20 นาโนกรัม/มล.
ถ้ามีค่ามากกว่า 100 นาโนกรัม/มล. มักจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดแพร่กระจาย
ถ้ามีค่าพีเอสเอเพิ่มขึ้นปีละ 0.8 นาโนกรัม/มล. หรือมากกว่า อาจบ่งชี้ว่ากำลังมีมะเร็งเกิดขึ้น
ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากบางรายก็อาจมีค่าพีเอสเออยู่ในระดับปกติก็ได้