โรคเอดส์/กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันบกพร่อง (acquired immunodeficiency syndrome/AIDS) เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสเอชไอวี (human immunodeficiency virus/HIV) ซึ่งอยู่ในกลุ่ม retrovirus เชื้อนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะเข้าไปเจริญอยู่ในเม็ดเลือดขาวที่มีชื่อว่า "CD4 lymphocyte" (นิยมเรียกย่อ ๆ ว่า CD4)* และทำลายเม็ดเลือดขาวชนิดนี้ จนในที่สุดทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง เป็นผลทำให้เกิดมะเร็งบางชนิด และโรคติดเชื้อฉวยโอกาส (opportunistic infection ซึ่งเป็นการติดเชื้อรุนแรงจากเชื้อโรคต่าง ๆ ทั้งที่เป็นชนิดที่ก่อโรคในคนปกติทั่วไป และชนิดที่ปกติไม่ทำอันตรายต่อคนที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรง)
แม้ว่าโรคนี้ยังไม่มีทางรักษาให้หายขาด แต่การรักษาด้วยยาต้านเอชไอวีตั้งแต่แรกที่ตรวจพบ สามารถลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิตลงไปได้อย่างมาก รวมทั้งลดการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ ในปัจจุบันจึงถือว่าโรคเอดส์เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่สามารถให้ยาควบคุมจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีอายุยืนยาวได้
เกิดจากเชื้อเอชไอวี* ซึ่งเป็นไวรัสชนิดใหม่ เพิ่งมีการเพาะเลี้ยงแยกเชื้อได้ในปี พ.ศ. 2526 เชื้อนี้มีมากในเลือด น้ำอสุจิ และน้ำเมือกในช่องคลอดของผู้ติดเชื้อ จึงสามารถแพร่เชื้อได้โดย
1. ทางเพศสัมพันธ์ ทั้งต่างเพศและเพศเดียวกัน (ในชายรักร่วมเพศ หรือเกย์) เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายทางช่องคลอด ทวารหนัก และทางปากที่เกิดแผลหรือรอยแยก
2. ทางเลือด เช่น การได้รับการถ่ายเลือด การปลูกถ่ายอวัยวะที่มีเชื้อ การแปดเปื้อนผลิตภัณฑ์จากเลือด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เป็นต้น
ส่วนการใช้ของมีคม (เช่น ใบมีดโกน เป็นต้น) ร่วมกับผู้ติดเชื้อ การสัก การเจาะหู อาจมีโอกาสแปดเปื้อนเลือดที่มีเชื้อได้ แต่จะมีโอกาสติดโรคได้ก็ต่อเมื่อมีแผลเปิด และปริมาณเลือดหรือน้ำเหลืองที่เข้าไปในร่างกายมีจำนวนมากพอ
3. การติดต่อจากมารดาที่มีเชื้อสู่ทารก ตั้งแต่ระยะอยู่ในครรภ์ ระยะคลอด และระยะเลี้ยงดูหลังคลอด โอกาสที่ทารกจะติดเชื้อจากมารดาประมาณร้อยละ 20-50
เชื้อเอชไอวีเมื่อเข้าสู่ร่างกาย ก็จะมีการเพิ่มจำนวน สามารถแยกเชื้อไวรัสหรือตรวจพบสารก่อภูมิต้านทาน (แอนติเจน) ได้หลังติดเชื้อ 2-6 สัปดาห์ และจะตรวจพบสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ได้หลังติดเชื้อ 3-12 สัปดาห์
ผู้ที่ตรวจพบสารภูมิต้านทานในเลือดร้อยละ 90 จะมีเชื้อเอชไอวีในกระแสเลือด ซึ่งสามารถแพร่โรคให้ผู้อื่นได้ แม้จะไม่มีอาการอะไรเลยก็ตาม
ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะมีอาการแสดงตามระยะของโรค ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกันดังนี้
1. ระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อเอชไอวี (primary HIV infection หรือ acute retroviral syndrome) ระยะนี้นับตั้งแต่เริ่มติดเชื้อเอชไอวี จนกระทั่งร่างกายเริ่มสร้างสารภูมิต้านทาน กินเวลาประมาณ 2-6 สัปดาห์ หลังติดเชื้อผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ มีแผลในปาก มีผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ เหงื่อออกตอนกลางคืน คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว น้ำหนักลด หรือมีฝ้าขาวในช่องปาก อาการเหล่านี้มักจะเป็นอยู่ 1-2 สัปดาห์ (บางรายเพียง 2-3 วัน บางรายอาจนานถึง 10 สัปดาห์) แล้วหายไปได้เอง
เนื่องจากอาการคล้ายกับไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือไข้ทั่ว ๆ ไป ผู้ป่วยอาจรักษาตัวเองและไม่ได้ไปพบแพทย์ หรือเมื่อไปพบแพทย์ก็อาจไม่ได้รับการตรวจเลือด นอกจากนี้บางรายหลังติดเชื้ออาจไม่มีอาการผิดปกติปรากฏให้เห็น ดังนั้น ผู้ติดเชื้อจึงอาจไม่ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ในระยะนี้
2. ระยะเรื้อรังหรือระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ (chronic HIV/clinical latent infection) ระยะนี้ผู้ป่วยจะไม่มีอาการ และแข็งแรงเป็นปกติเหมือนคนทั่วไป โดยที่ยังคงมีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกาย และสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ จะทราบได้ก็ด้วยการตรวจเลือดซึ่งจะพบเชื้อเอชไอวีและสารภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดนี้
ระยะนี้แม้ว่าจะไม่มีอาการ แต่เชื้อเอชไอวีจะแบ่งตัวเจริญขึ้นไปเรื่อย ๆ และทำลาย CD4 จนมีจำนวนลดลง โดยเฉลี่ยประมาณปีละ 50-75 เซลล์/ลบ.มม. จากระดับปกติ (คือ 600-1,000 เซลล์) เมื่อลดต่ำลงมาก ๆ ก็จะเกิดอาการเจ็บป่วย (เข้าสู่ระยะที่ 3) ทั้งนี้อัตราการลดลงของ CD4 จะเร็วช้าขึ้นกับความรุนแรงของเชื้อเอชไอวี และสภาพความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย
ระยะนี้มักเป็นอยู่นาน 5-10 ปี บางรายอาจสั้นเพียง 2-3 เดือน แต่บางรายอาจนานกว่า 10-15 ปีขึ้นไป
3. ระยะติดเชื้อที่มีอาการ (symptomatic HIV infection) หรือระยะป่วยเป็นเอดส์ (AIDS) ผู้ป่วยจะมีอาการมากน้อยขึ้นกับจำนวน CD4 ดังนี้
3.1 อาการเล็กน้อย ระยะนี้ถ้าตรวจ CD4 จะมีจำนวนมากกว่า 500 เซลล์/ลบ.มม. ผู้ป่วยอาจมีอาการ ดังนี้
- ต่อมน้ำเหลืองที่คอโตเล็กน้อย
- โรคเชื้อราที่เล็บ
- แผลแอฟทัส (aphthous ulcer)
- ผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแคที่ไรผม ข้างจมูก ริมฝีปาก
- ฝ้าขาวข้างลิ้น (hairy leukoplakia) ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสอีบีวี (Epstein-Barr virus/EBV) มีลักษณะเป็นฝ้าขาวที่ด้านข้างของลิ้น ซึ่งขูดไม่ออก
- โรคโซริอาซิสที่เคยเป็นอยู่เดิมกำเริบ
3.2 อาการปานกลาง ระยะนี้ถ้าตรวจ CD4 จะมีจำนวนระหว่าง 200-500 เซลล์/ลบ.มม. ผู้ป่วยอาจมีอาการทางผิวหนังและเยื่อบุช่องปากแบบข้อ 3.1 หรือไม่ก็ได้ อาการที่อาจพบได้มีดังนี้
- เริม ที่ริมฝีปากหรืออวัยวะเพศ ซึ่งกำเริบบ่อย และเป็นแผลเรื้อรัง
- งูสวัด ที่มีอาการกำเริบอย่างน้อย 2 ครั้ง หรือขึ้นพร้อมกันมากกว่า 2 แห่ง
- โรคเชื้อราในช่องปาก หรือช่องคลอด
- ท้องเดินบ่อย หรือเรื้อรังนานเกิน 1 เดือน
- ไข้เกิน 37.8 องศาเซลเซียส แบบเป็น ๆ หาย ๆ หรือติดต่อกันทุกวันนานเกิน 1 เดือน
- ต่อมน้ำเหลืองโตมากกว่า 1 แห่งในบริเวณที่ไม่ติดต่อกัน (เช่น คอ รักแร้ ขาหนีบ) นานเกิน 3 เดือน
- น้ำหนักลดเกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ปวดกล้ามเนื้อและข้อ
- ไซนัสอักเสบเรื้อรัง
- ปอดอักเสบจากแบคทีเรีย ซึ่งเป็นซ้ำบ่อย
3.3 อาการรุนแรง (ระยะเป็นเอดส์เต็มขั้น) ระยะนี้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเสื่อมเต็มที่ ถ้าตรวจ CD4 จะพบมีจำนวนต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. เป็นผลทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ เช่น เชื้อรา ไวรัส แบคทีเรีย โปรโตซัว วัณโรค เป็นต้น ฉวยโอกาสเข้ารุมเร้า เรียกว่า โรคติดเชื้อฉวยโอกาส (opportunistic infections) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อที่รักษาค่อนข้างยาก และอาจติดเชื้อชนิดเดิมซ้ำอย่างเดียวหรือติดเชื้อชนิดใหม่ หรือติดเชื้อหลายชนิดร่วมกัน
ระยะนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการดังนี้
- เหงื่อออกมากตอนกลางคืน
- ไข้ หนาวสั่น หรือไข้สูงเรื้อรังติดต่อกันหลายสัปดาห์หรือเป็นแรมเดือน
- ไอเรื้อรัง หรือหายใจหอบเหนื่อยจากวัณโรคปอด หรือปอดอักเสบ
- ท้องเดินเรื้อรัง จากเชื้อราหรือโปรโตซัว
- น้ำหนักลด รูปร่างผอมแห้ง และอ่อนเปลี้ยเพลียแรง
- ปวดศีรษะรุนแรง ชัก สับสน ซึม หรือหมดสติจากการติดเชื้อในสมอง
- แขนขาชา หรืออ่อนแรง
- ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
- กลืนลำบาก หรือเจ็บเวลากลืน เนื่องจากหลอดอาหารอักเสบจากเชื้อรา
- สายตาพร่ามัวมองไม่ชัด หรือเห็นเงาหยากไย่ลอยไปมาจากจอตาอักเสบ
- ตกขาวบ่อย
- มีผื่นคันตามผิวหนัง (papulopruritic eruption)
- ซีด
- มีจุดแดงจ้ำเขียว หรือเลือดออกจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ หรือไอทีพี
- สับสน ความจำเสื่อม หลงลืมง่าย ไม่มีสมาธิ พฤติกรรมผิดแปลกไปจากเดิม เนื่องจากความผิดปกติของสมอง (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ "ภาวะแทรกซ้อน" ด้านล่าง)
- อาการของโรคมะเร็งที่เกิดแทรกซ้อน เช่น มะเร็งของผนังหลอดเลือดที่เรียกว่า Kaposi’s sarcoma (KS)* มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก เป็นต้น
ในเด็ก ที่ติดเชื้อเอชไอวี ระยะแรกอาจมีอาการน้ำหนักตัวไม่ขึ้นตามเกณฑ์ เมื่อโรคลุกลามมากขึ้นก็อาจมีอาการเดินลำบากหรือพัฒนาการทางสมองช้ากว่าปกติ และเมื่อเป็นเอดส์เต็มขั้น นอกจากมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแบบเดียวกับผู้ใหญ่แล้ว ยังอาจพบว่าหากเป็นโรคที่พบทั่วไปในเด็ก (เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ปอดอักเสบ ทอนซิลอักเสบ) ก็มักจะมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ
ลักษณะเป็นฝ้าขาวที่ด้านข้างของลิ้น ซึ่งขูดไม่ออก
ผื่นตุ่มที่ผิวหนังจะไม่มีอาการเจ็บปวดหรือคันแต่อย่างใด ส่วนมากจะขึ้นมากกว่า 1 รอยโรคซึ่งอยู่แยกกัน และมีรอยโรคใหม่ทยอยขึ้นไปเรื่อย ๆ ทุกสัปดาห์ บางครั้งก็อาจแผ่รวมกันเป็นผื่นขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางหลายเซนติเมตร
ส่วนผื่นในช่องปาก บางครั้งอาจกลายเป็นแผล มีเลือดออก และอาจทำให้พูดและกินอาหารได้ลำบาก อาจทำให้ฟันหลุด หรืออุดกั้นทางเดินหายใจ
ถ้าเป็นที่บริเวณต่อมน้ำเหลือง อาจทำให้ขาบวมจากการอุดกั้นของทางเดินน้ำเหลือง
นอกจากนี้อาจขึ้นที่เยื่อบุทางเดินอาหาร (อาจทำให้ท้องเดิน ลำไส้อุดกั้น ถ่ายเป็นเลือด) เยื่อบุทางเดินหายใจ (อาจทำให้ไอเป็นเลือด หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก)
มักพบในผู้ป่วยเอดส์ที่ขาดการรักษา มีจำนวน CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ได้แก่
1. การติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งอาจมีความรุนแรง และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ บางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการของภาวะแทรกซ้อนมากกว่าอาการของโรคเอดส์เอง โรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่พบบ่อย ได้แก่
- วัณโรคปอด และวัณโรคนอกปอด (เช่น ต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มสมอง เยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มหัวใจ วัณโรคชนิดแพร่กระจาย) ซึ่งมักเป็นรุนแรงและอาจดื้อต่อยารักษาวัณโรคหลายชนิด
- ปอดอักเสบจากเชื้อรานิวโมซิสติสจิโรเวซิ (Pneumocystis jiroveci) เรียกว่า "ปอดอักเสบจากนิวโมซิสติส (pneumocystis pneumonia/PCP)"
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อราคริปโตค็อกคัส (cryptococcal meningitis) มักพบในผู้ป่วยเอดส์ที่มีจำนวน CD4 ต่ำกว่า 50 เซลล์/ลบ.มม.
- หลอดอาหารอักเสบจากเชื้อราแคนดิดา (esophageal candidiasis) ทำให้มีอาการกลืนลำบาก เจ็บเวลากลืน เจ็บตรงบริเวณหลังกระดูกลิ้นปี่ และมักมีโรคเชื้อราในช่องปากร่วมด้วย นอกจากนี้ยังอาจพบหลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบจากเชื้อแคนดิดา
- ปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ที่พบในคนปกติทั่วไป แต่มักจะเป็นมากกว่า 1 ครั้งใน 1 ปี
- โรคติดเชื้อฉวยโอกาสอื่น ๆ เช่น จอตาอักเสบจากเชื้อไวรัสไซโตเมกะโล (cytomegalovirus/CMV retinitis ทำให้สายตามัว อาจรุนแรงถึงตาบอดได้ มักพบในผู้ป่วยที่มี CD4 ต่ำกว่า 50 เซลล์/ลบ.มม.) ท้องเดินรุนแรงจากเชื้อซัลโมเนลลา (salmonellosis), การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งอาจทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูก, การติดเชื้อไวรัสโพลีโอมา (polyomavirus) ที่สมอง ทำให้เกิดความผิดปกติของสมองที่เรียกว่า "Progressive multifocal leukoencephalopathy" (มีอาการพูดลำบาก ตาบอดข้างหนึ่ง แขนขาชาและอ่อนแรงซีกหนึ่ง ความจำเสื่อม), การติดเชื้อรุนแรงชนิดแพร่กระจายทั่วร่างกายจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium avium complex (MAC) เชื้อโปรโตซัว-Toxoplasma gondii และเชื้อรา-Histoplasma capsulatum เป็นต้น
2. ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น
- มะเร็ง ที่พบบ่อยได้แก่ มะเร็งของผนังหลอดเลือดที่มีชื่อว่า Kaposi’s sarcoma มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก (ในผู้ป่วยที่เป็นชายรักร่วมเพศ)
- เนื่องจากผู้ป่วยมีโอกาสสูงที่จะมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี (จากการติดต่อทางเลือดและเพศสัมพันธ์แบบเดียวกับเอชไอวี) หากไม่ได้รับยาต้านเอชไอวีและไวรัสตับอักเสบพร้อมกันไป ผู้ป่วยมักเกิดตับอักเสบจากไวรัสชนิดรุนแรง ซึ่งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ได้แก่ ตับแข็ง มะเร็งตับ ตับวาย
- ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทและสมอง ที่พบบ่อยก็คือ ภาวะ AIDS dementia complex หรือ ADC (มีชื่อเรียกอื่น เช่น HIV dementia, HIV encephalopathy, HIV associated dementia) ซึ่งไม่ได้เกิดจากโรคติดเชื้อแทรกซ้อนของสมอง แต่เป็นผลการเปลี่ยนแปลงของเซลล์สมองจากเชื้อเอชไอวีโดยตรง ทำให้มีอาการผิดปกติทางสมองและจิตประสาท เช่น ความจำเสื่อม หลงลืมง่าย สับสน ขาดสมาธิ การทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ (เช่น พูดลำบาก เคลื่อนไหวเชื่องช้า เดินเซ สั่น แขนขาเป็นอัมพาต กลั้นปัสสาวะไม่ได้) พฤติกรรมผิดแปลกไปจากเดิม (เช่น ไร้อารมณ์ ซึม กระสับกระส่าย ฟุ้งพล่าน ไม่ยอมพูด) มักพบในผู้ป่วยเอดส์ระยะท้าย ๆ ปัจจุบันพบภาวะนี้ได้น้อยลงเนื่องจากมีการรักษาด้วยยาต้านเอชไอวี
นอกจากนี้ ยังอาจมีโรคไขสันหลังอักเสบ (ขาชาและอ่อนแรง กลั้นปัสสาวะไม่ได้) ปลายประสาทอักเสบ (มีอาการปวดแสบปวดร้อนและชาที่ขา) กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร
- อาการน้ำหนักลดมากจนมีลักษณะผอมแห้ง (wasting syndrome) มักมีอาการไข้เรื้อรัง ท้องเดิน และอ่อนเปลี้ยเพลียแรงร่วมด้วย
- ภาวะโลหิตจาง
- ภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากไอทีพี
- ปวดข้อ ข้ออักเสบ
- ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ถุงน้ำดีอักเสบ อุ้งเชิงกรานอักเสบ (pelvic Inflammatory disease) ช่องคลอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- โรคไตพิการที่สัมพันธ์กับเอชไอวี (HIV-associated nephropathy/HIVAN) การติดเชื้อเอชไอวีก่อให้เกิดการอักเสบของหน่วยไตอย่างรุนแรง ซึ่งผู้ป่วยจะแสดงอาการแบบโรคไตเนโฟรติก และมีภาวะไตวายเรื้อรังระยะท้ายตามมาในเวลารวดเร็ว
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งมีสิ่งตรวจพบดังนี้
ในระยะแรก ๆ อาจตรวจพบไข้ ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต บางรายอาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน
ในระยะที่มีอาการป่วยเป็นเอดส์แล้ว จะตรวจพบอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น ไข้ ซูบผอม ต่อมน้ำเหลืองโตหลายแห่ง (บริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ) ซีด จุดแดงจ้ำเขียว เป็นต้น
ในช่องปากอาจพบอาการลิ้นหรือช่องปากเป็นฝ้าขาวจากเชื้อราแคนดิดา รอยฝ้าขาวข้างลิ้น (hairy leukoplakia) แผลเริมเรื้อรัง แผลแอฟทัส ปากเปื่อย ก้อนเนื้องอก (มะเร็ง) เป็นต้น
บริเวณผิวหนังอาจพบวงผื่นของโรคเชื้อรา (กลาก เกลื้อน โรคเชื้อราแคนดิดา) ลุกลามเป็นบริเวณกว้างและเรื้อรัง เริม งูสวัด แผลเรื้อรัง พุพอง ก้อนเนื้องอก หูดข้าวสุก ผื่นหรือตุ่มสีน้ำตาล สีแดง หรือสีม่วง (Kaposi’s sarcoma) ตุ่มหนองหรือตุ่มคล้ายหูดข้าวสุกกระจายทั่วไปจากเชื้อราเพนิซิลเลียม มาร์เนฟไฟ (Penicillium marneffei) ผิวหนังแห้ง คัน เป็นเกล็ดขาว เป็นตุ่มคัน เป็นต้น
ในรายที่เป็นปอดอักเสบ จะมีอาการหายใจหอบ ใช้เครื่องฟังตรวจปอดมีเสียงกรอบแกรบ (crepitation)
ในรายที่เป็นโรคติดเชื้อของสมอง จะมีอาการซึม เพ้อ ชัก หมดสติ ถ้าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะตรวจพบอาการคอแข็ง
นอกจากนี้ อาจตรวจพบอาการแขนขาชาหรืออ่อนแรงจากไขสันหลังอักเสบ หรือปลายประสาทอักเสบ ข้ออักเสบบวมแดงร้อน บวมจากโรคไต ดีซ่านจากตับอักเสบ เป็นต้น
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี ได้แก่
- การตรวจแอนติเจนและแอนติบอดี (antigen/antibody test) คือการตรวจหาทั้งแอนติเจน (เชื้อเอชไอวีหรือสารก่อภูมิต้านทาน) และแอนติบอดี (สารภูมิต้านทาน) ต่อเชื้อเอชไอวีในเลือด ด้วยชุดตรวจเดียวกัน ซึ่งจะมีช่วงเวลาที่ยังตรวจไม่พบ (window period)* 18-45 วัน
- การตรวจแอนติบอดี (antibody test) คือ การตรวจหาเฉพาะแอนติบอดีหรือสารภูมิต้านทานต่อเชื้อเอชไอวี (anti-HIV) เพียงอย่างเดียว ในเลือดหรือน้ำลาย ซึ่งจะมีช่วงเวลาที่ยังตรวจไม่พบ (window period) 23-90 วัน
- การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี (nucleic acid test/NAT) โดยการนำเลือดไปตรวจ ด้วยเทคนิค NAT (nucleic acid amplification testing) ซึ่งมีช่วงเวลาที่ยังตรวจไม่พบ (window period) 10-33 วัน
ในการวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวี แพทย์จะใช้วิธีนำเลือดไปตรวจหาทั้งแอนติเจนและแอนติบอดี หรือตรวจหาเฉพาะแอนติบอดีเป็นหลัก ส่วนการตรวจหาสารพันธุกรรมจะเลือกใช้เฉพาะในบางกรณี**
ถ้าผลการตรวจเป็นลบ (ตรวจไม่พบเชื้อ) หรือยังสรุปไม่ได้แน่ชัด แพทย์อาจพิจารณาทำการตรวจซ้ำตามเห็นสมควร
ในกรณีที่ตรวจพบว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี และ/หรือหลังให้การรักษา แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม ได้แก่
- การตรวจหาจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 (CD4 count) เพื่อประเมินระยะของโรค และการวางแผนการรักษาและการให้ยาต้านเอชไอวี หากมีค่า CD4 ที่ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. แสดงว่าเป็นโรคเอดส์ระยะรุนแรง (เอดส์เต็มขั้น)
- การตรวจหาปริมาณเชื้อเอชไอวีในเลือด (HIV viral load/HIV VL) ซึ่งจะตรวจหลังให้ยาต้านเอชไอวีเป็นครั้งคราวอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามประเมินผลการรักษา
- การตรวจการดื้อต่อยาต้านเอชไอวี (HIV drug resistance testing) ในรายที่แพทย์สงสัยว่าจะเกิดเชื้อดื้อต่อยาต้านเอชไอวี โดยการเจาะเลือดไปตรวจจีโนไทป์ (genotype) เพื่อตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของลำดับเบสในสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี
- การตรวจหาโรคติดเชื้อฉวยโอกาส โรคติดเชื้อที่พบร่วม และภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ด้วยการตรวจพิเศษ เช่น การตรวจเลือด ปัสสาวะ เสมหะ เอกซเรย์ การส่องกล้อง การตรวจเพาะเชื้อ การตรวจกรองมะเร็ง การตรวจชิ้นเนื้อ เป็นต้น
*หลังติดเชื้อในระยะแรก ๆ ร่างกายจะมีปริมาณเชื้อและแอนติบอดีไม่มากพอที่จะตรวจพบได้ ช่วงเวลาที่ยังตรวจไม่พบ (ผลการตรวจเป็นลบ) นี้เรียกว่า "Window period" การตรวจแต่ละวิธีจะมี window period แตกต่างกันไป อาทิ การตรวจแอนติเจนและแอนติบอดี จะมีช่วงเวลาที่ยังตรวจไม่พบ (window period) 18-45 วัน หมายความว่า จะเริ่มมีโอกาสตรวจพบตั้งแต่ 18 วันหลังติดเชื้อในผู้ติดเชื้อบางราย และบางรายจะยังตรวจไม่พบ แต่หลังติดเชื้อได้ 45 วันไปแล้วก็จะมีโอกาสตรวจพบได้ทุกราย
ดังนั้น ในกรณีที่ผลการตรวจเป็นลบ (คือตรวจไม่พบ) เนื่องจากตรวจในช่วง window period หากแพทย์พิจารณาว่าผู้ป่วยมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีภายใน 3 เดือนก่อนตรวจครั้งแรก ก็จะทำการตรวจซ้ำเพื่อพิสูจน์ให้แน่ชัด
**มีประโยชน์เพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อในระยะแรกที่ยังตรวจไม่พบแอนติบอดี (anti-HIV) หรือไม่สามารถใช้แอนติบอดีแปลผลการติดเชื้อ ได้แก่ (1) การตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อในเด็กอายุน้อยกว่า 24 เดือน เนื่องจากอาจพบแอนติบอดีของมารดาที่ผ่านรกมายังทารก และยังคงพบได้ในขณะนั้น (2) การตรวจวินิจฉัยผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อมาระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน (3) ติดตามบุคลากรทางการแพทย์หลังได้รับอุบัติเหตุสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่สงสัยว่าติดเชื้อเอชไอวี
เมื่อตรวจเลือดยืนยันว่าเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์ แพทย์จะทำการตรวจเพื่อประเมินความรุนแรงและระยะของโรค (ตรวจเลือดนับจำนวน CD4), โรคติดเชื้อที่พบร่วม (เช่น ตรวจเลือดหาไวรัสตับอักเสบบีและซี, ตรวจวีดีอาร์แอลสำหรับโรคซิฟิลิส), ประเมินการทำหน้าที่ของไต (ตรวจระดับครีอะตินีนในเลือด ตรวจปัสสาวะ) เพื่อวางแผนการรักษาและติดตามผลข้างเคียงต่อไตจากการใช้ยาต้านเอชไอวี, ประเมินการทำหน้าที่ของตับ (ตรวจระดับ ALT และ alkaline phosphatase ในเลือด) เพื่อวางแผนการรักษาและติดตามผลข้างเคียงต่อตับจากการใช้ยาต้านเอชไอวี, ตรวจหาวัณโรคปอด (เอกซเรย์ปอด), ตรวจมะเร็งปากมดลูกระยะแรก (แพ็ปสเมียร์) เป็นต้น แล้วให้การรักษา ดังนี้
1. ควบคุมโรคติดเชื้อเอชไอวี โดยการให้ยาต้านเอชไอวี (anti-retroviral therapy/ART) ยานี้มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี สามารถลดจำนวนของเชื้อเอชไอวี ซึ่งจะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น ชะลอการเกิดโรคเอดส์ที่รุนแรง ลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ และป้องกันคู่ของผู้ติดเชื้อไม่ให้ติดเชื้อเอชไอวีผ่านทางเพศสัมพันธ์
ยาต้านเอชไอวีมีอยู่หลายกลุ่ม และแต่ละกลุ่มมีอยู่หลายชนิด*
แพทย์จะให้ยาต้านเอชไอวีความแรงสูง (HAART/Highly active antiretroviral therapy) ด้วยยาต้านเอชไอวี 2-3 ชนิดร่วมกัน ซึ่งมีอยู่หลายสูตร แพทย์จะเลือกใช้ให้เหมาะกับสภาพของผู้ป่วยแต่ละราย โดยระวังการใช้ยาในผู้ที่มีโรคอื่นร่วมด้วย (ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนตามมา) และผู้ที่ใช้ยาอื่นอยู่ก่อน (ซึ่งอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่ใช้ร่วมกัน เป็นอันตรายได้)
โดยทั่วไป แพทย์จะใช้ยาสูตรแรก ได้แก่ TDF (หรือ TAF) ร่วมกับ 3TC (หรือ FTC) ร่วมกับ DTG โดยให้เป็นแบบรวมเม็ดเดียว ซึ่งเป็นสูตรยาที่ได้ผลดี มีผลข้างเคียงน้อยและใช้วันละครั้ง ในการให้ยารักษาแพทย์จะอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติทราบถึงความจำเป็นที่ต้องกินยาให้ตรงเวลาและต่อเนื่องทุกวัน และร่วมกันหามาตรการในการปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาการดื้อยาหากกินยาไม่สม่ำเสมอหรือไม่ต่อเนื่อง
หลังให้ยารักษา แพทย์จะติดตามดูอาการผู้ป่วยเป็นระยะ ตรวจดูผลข้างเคียง** (ซึ่งอาจมีอันตรายต่อผู้ป่วย หรือทำให้ผู้ป่วยไม่ยอมกินยาอย่างต่อเนื่องได้) และทำการตรวจเลือดนับจำนวน CD4 และปริมาณเชื้อเอชไอวีในเลือด (HIV viral load) เพื่อประเมินผลการรักษา*** การดำเนินของโรค และการดื้อต่อยาต้านเอชไอวี
ถ้าพบว่ามีผลข้างเคียงจากยา หรือการดื้อต่อยา ก็จะปรับเปลี่ยนสูตรยาให้เหมาะสม
2. ให้การรักษาโรคที่พบร่วม เช่น โรคตับอักเสบจากไวรัสบีหรือซี ซิฟิลิส โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
3. ให้การรักษาโรคติดเชื้อฉวยโอกาสและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น วัณโรค ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคตับเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น
4. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ ตามความจำเป็นสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย อาทิ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่, วัคซีนป้องกันโควิด-19, วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี (ถ้ายังไม่เคยฉีดมาก่อน), วัคซีนปอดอักเสบจากเชื้อปอดบวม หรือนิวโมค็อกคัส (pneumococcal vaccine), วัคซีนเอชพีวี (human papillomavirus vaccine/HPV) เป็นต้น
5. การเสริมสภาพจิตใจของผู้ป่วย ซึ่งมักจะมีความวิตกกังวล ซึมเศร้า โกรธ รู้สึกไม่มั่นคง ด้วยการให้การปรึกษาแนะแนว ให้กำลังใจ ให้การสังคมสงเคราะห์ตามความจำเป็น รวมทั้งสนับสนุนให้เข้าร่วมกลุ่มมิตรภาพบำบัด หรือกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน (self-help group)
ผลการรักษา ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษากับแพทย์ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม โดยกินยาอย่างสม่ำเสมอ และดูแลตนเองอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่วนใหญ่มักควบคุมโรคได้ดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่ยังต้องติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่องแบบเดียวกับโรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง)
*ตัวอย่างกลุ่มและชนิดของยาต้านเอชไอวี
1. กลุ่ม NRTIs (nucleoside or nucleotide reverse transcriptase inhibitors) เช่น 3TC (lamivudine), AZT (zidovudine), ABC (abacavir), TDF (tenofovir disoproxil fumarate), TAF (tenofovir alafenamide), FTC (emtricitabine)
2. กลุ่ม NNRTIs (non-nucleoside reverse transcriptase inhibitors) เช่น NVP (nevirapine), EFV (efavirenz), ETR (etravirine), RPV (rilpivirine)
3. PIs (protease inhibitors) เช่น ATV (atazanavir), DRV (darunavir), LPV (lopinavir), RTV (ritonavir)
4. Integrase inhibitors เช่น BIC (bictegravir), RAL (raltegravir), DTG (dolutegravir)
**ผลข้างเคียง เช่น ยาในกลุ่ม NRTIs และกลุ่ม PIs อาจทำให้เกิดภาวะไขมันกระจายตัวตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ ผิดปกติ (lipodystrophy) มีอาการฝ่อของเนื้อเยื่อไขมันบริเวณรอบตา แก้ม และขมับ แต่มีไขมันสะสมที่ท้อง คอด้านหลัง และเต้านม, ยาในกลุ่ม NNRTIs อาจทำให้ตับอักเสบ ผื่นผิวหนัง, ยาในกลุ่ม PIs อาจทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง เอนไซม์ตับในเลือดสูง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ/สมองตีบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูงอยู่แต่เดิม)
ตัวอย่างยาที่มีอาจมีผลข้างเคียงที่สำคัญ
- ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ/สมองตีบ เช่น ABC, EFV, RTV, TDF, TAF, BIC, DTG, RAL, RPV
- ทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง/ผิดปกติ เช่น RTV, EFV, BIC, DTG, RAL, RPV
- ทำให้ตับอักเสบ หรือเอนไซม์ตับในเลือดสูง เช่น EFV, NVP, 3TC, AZT
- ทำให้ไตทำหน้าที่บกพร่อง เช่น TDF, ATV
- ทำให้กดไขกระดูก (มีภาวะซีด เม็ดเลือดขาวต่ำ) เช่น AZT
- ทำให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง (กระดูกบาง) เช่น TDF, TAF
- ทำให้มีอาการแพ้รุนแรง-กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน เช่น NVP
***เป้าหมายของการรักษา แพทย์จะให้ยาต้านเอชไอวีจนตรวจไม่พบเชื้อเอชไอวีในเลือด (undetectable HIV VL) ซึ่งถือว่าควบคุมโรคได้ ทำให้ผู้ป่วยแข็งแรงเป็นปกติ ไม่เกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ และลดการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยก็ยังต้องกินยาต้านเอชไอวีต่อไปตลอด เนื่องจากยังมีเชื้อในเลือดปริมาณน้อย (จนตรวจไม่พบ) และมีเชื้ออยู่ตามต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะต่าง ๆ หากหยุดยาเชื้อจะเจริญเพิ่มจำนวน ทำให้โรคกลับกำเริบรุนแรงได้
หากมีอาการที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคเอดส์ (เช่น มีอาการไข้ หรือท้องเดินนานเกิน 1-2 สัปดาห์, น้ำหนักลดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ, มีฝ้าขาวข้างลิ้น, มีต่อมน้ำเหลืองโตหลายแห่ง, มีผื่นขึ้นตามตัวเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น) หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงการติดเชื้อเอชไอวี ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือเป็นโรคเอดส์ ควรดูแลรักษาตนเอง ดังนี้
1. รักษา กินยา ปฏิบัติตัว และติดตามการรักษาตามที่แพทย์แนะนำอย่างต่อเนื่อง
2. กินยาต้านเอชไอวีให้ตรงเวลาทุกวัน อย่าได้ขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อดื้อยา และการรักษาได้ผลดี
3. หลีกเลี่ยงการซื้อยาอื่นมากินเอง เนื่องจากอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างกันของยา เช่น ยาต้านเอชไอวีกลุ่ม PIs (เช่น ATV, DRV) และ EFV จะเสริมฤทธิ์ยาเออร์โกตามีน (ergotamine) ที่ใช้รักษาไมเกรน ทำให้หลอดเลือดแดงตีบรุนแรง เป็นอันตรายได้
4. ทำงาน เรียนหนังสือ คบค้าสมาคมกับผู้อื่น และปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ไม่ต้องกังวลว่าจะแพร่เชื้อให้คนอื่นโดยการสัมผัส หรืออยู่ใกล้ชิดกัน หรือหายใจรดผู้อื่น
5. หากมีความกังวลเป็นทุกข์ใจ ควรเล่าความในใจให้ญาติสนิทมิตรสหายฟัง หรือขอคำปรึกษาแนะนำจากแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา หรืออาสาสมัครในองค์กรพัฒนาเอกชน
6. เรียนรู้ธรรมชาติของโรค การรักษา การดูแลตนเอง จนมีความเข้าใจโรคนี้เป็นอย่างดี ก็จะไม่มีความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง และมีกำลังใจเข้มแข็ง ซึ่งเป็นอาวุธอันทรงพลังในการบำรุงรักษาสุขภาพให้แข็งแรงต่อไป ผู้ที่เสียกำลังใจอาจเสียสุขภาพทางกายหรือถูกโรครุมเร้าได้ง่าย
7. ส่งเสริมสุขภาพตัวเองด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย (ไม่จำเป็นต้องกินอาหารเสริมราคาแพง) งดแอลกอฮอล์ บุหรี่ สิ่งเสพติด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
8. เสริมสร้างสุขภาพจิตด้วยการฟังเพลง ร้องเพลง เล่นกีฬา อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ฝึกสมาธิเจริญสติ สวดมนต์หรือภาวนาตามลัทธิศาสนาที่นับถือ หมั่นทำความดีและช่วยเหลือผู้อื่น สร้างกุศลกรรม (เช่น ช่วยรณรงค์ในการป้องกันโรคเอดส์ บำเพ็ญประโยชน์ ทำงานอาสาสมัคร เป็นต้น) ถ้ามีโอกาสควรเข้าร่วมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนในหมู่ผู้ติดเชื้อ
9. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่น โดย
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และงดการร่วมเพศทางปากหรือทวารหนัก
- ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- งดการบริจาคเลือด หรืออวัยวะต่าง ๆ เช่น ดวงตา ไต เป็นต้น
- เมื่อร่างกายเปรอะเปื้อนเลือดหรือน้ำเหลือง ให้รีบทำความสะอาด และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที แล้วนำไปแยกซักให้สะอาดและตากให้แห้ง ควรระวังอย่าให้ผู้อื่นสัมผัสถูกเลือดหรือน้ำเหลืองของตัวเอง
- ไม่ใช้ของมีคม (เช่น ใบมีดโกน) ร่วมกับผู้อื่น
10. ควรไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีอาการไม่สบาย เช่น ไข้ ปวดศีรษะมาก อาเจียน เบื่ออาหาร ไอเรื้อรัง ท้องเดินเรื้อรัง ไอเป็นเลือด ซีด ดีซ่าน (ตาเหลือง) น้ำหนักลด เป็นต้น
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
- กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
1. สำหรับประชาชนทั่วไป
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่มิใช่คู่ครอง ควรยึดมั่นต่อการมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครอง (รักเดียวใจเดียว)
- ถ้ายังนิยมมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่น โดยเฉพาะหญิงบริการ หรือบุคคลที่มีเพศสัมพันธ์เสรี หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ก็ควรจะใช้ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์จนมึนเมา เพราะอาจชักนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย (ประมาท ไม่คิดป้องกันตัวเอง)
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกเลือดของผู้อื่น เช่น ขณะช่วยเหลือผู้ที่มีบาดแผลเลือดออก ควรใส่ถุงมือยาง หรือถุงพลาสติก 2-3 ชั้น ป้องกันอย่าสัมผัสถูกเลือดโดยตรง
- หลีกเลี่ยงการใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคม (เช่น ใบมีดโกน) ร่วมกับผู้อื่น ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อนใช้ควรทำลายเชื้อด้วยการแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70%, โพวิโดนไอโอดีน 2.5%, ทิงเจอร์ไอโอดีน, ไลซอล 0.5-3%, โซเดียมไฮโพคลอไรด์ 0.1-0.5% (หรือน้ำยาคลอรอกซ์ 1 ส่วน ผสมน้ำ 9 ส่วนก็ได้) เป็นต้น นาน 10-20 นาที
- ก่อนแต่งงาน ควรปรึกษาแพทย์ในการตรวจเช็กโรคเอดส์ ถ้าพบว่าคนใดคนหนึ่งมีเลือดบวก ควรพิจารณาหาทางป้องกันมิให้ติดอีกคนหนึ่ง
- คู่สมรสที่มีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ติดเชื้อ ควรป้องกันการแพร่เชื้อโดยการใช้ถุงยางอนามัย
-
การป้องกันทารกไม่ให้ติดเชื้อเอชไอวีจากมารดา ถ้าพบว่าหญิงตั้งครรภ์มีการติดเชื้อ ก็จะให้ยาต้านเอชไอวีตลอดตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ จนถึงระยะคลอด และหลังคลอดก็ยังต้องกินยาต้านเอชไอวีตลอดไป
หลังคลอดแพทย์จะให้ยาต้านเอชไอวีแก่ทารกนาน 4 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อในทารก แพทย์จะเลือกให้ยา AZT เพียงชนิดเดียว (สำหรับทารกมีความเสี่ยงต่ำต่อการติดเชื้อ) หรือ 3 ชนิดร่วมกัน เช่น AZT+3TC+NVP (สำหรับทารกมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ)
-
มารดาที่มีการติดเชื้อเอชไอวีควรงดให้นมแม่ เพราะการให้นมแม่สามารถถ่ายทอดเชื้อให้ทารกได้ (มารดาที่รักษาด้วยยาต้านเอชไอวีจนตรวจไม่พบเชื้อในเลือด หากต้องการให้นมแม่ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการถ่ายทอดเชื้อให้ทารก)
-
การป้องกันด้วยยาต้านเอชไอวี ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
(1) สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี แพทย์จะให้ยาต้านเอชไอวีรักษาให้ได้ผล คือ ตรวจไม่พบเชื้อเอชไอวีในเลือด (undetectable HIV VL) ซึ่งลดการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ลงอย่างมาก
(2) สำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเป็นประจำ เช่น มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย, การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักกับผู้ติดเชื้อ, การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อใช้ยาต้านเอชไอวี (เช่น TDF+FTC) ป้องกันล่วงหน้า โดยแพทย์มักจะแนะนำให้กินวันละครั้งทุกวัน และตรวจเลือดเป็นระยะว่ามีการติดเชื้อเกิดขึ้นหรือไม่ วิธีนี้เรียกว่า "การใช้ยาป้องกันก่อนสัมผัส (pre-exposure prophylaxis/PrEP")
(3) สำหรับผู้ที่สัมผัสเชื้อไม่ว่าทางช่องทางใด ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจเลือดและใช้ยาต้านเอชไอวีป้องกันหลังสัมผัสโดยเร็วที่สุด (อย่างช้าที่สุดไม่เกิน 72 ชั่วโมงหลังสัมผัส) และกินยาจนครบ 4 สัปดาห์ หลังกินยาแพทย์จะนัดผู้สัมผัสมาตรวจเลือดเป็นระยะว่ามีการติดเชื้อเกิดขึ้นหรือไม่ วิธีนี้เรียกว่า "การใช้ยาป้องกันหลังสัมผัส (post-exposure prophylaxis/PEP")
2. สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี จากการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ควรประยุกต์ใช้มาตรการป้องกัน (universal precautions) อย่างเคร่งครัด เช่น การสวมถุงมือ การใช้ผ้าปิดจมูกหรือหน้ากาก การใส่เสื้อคลุม หรือการใช้อุปกรณ์ป้องกันอื่น ๆ เมื่อต้องปฏิบัติงานที่มีโอกาสสัมผัสถูกเลือด น้ำเหลือง หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งในช่องคลอด น้ำในข้อ น้ำในช่องปอด น้ำไขสันหลัง เป็นต้น ก็อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
ในกรณีที่บุคลากรสัมผัสถูกเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น ถูกเข็มตำ ถูกมีดบาด เลือดหรือสารคัดหลั่งกระเด็นเข้าตาหรือปาก เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจเลือดและกินยาต้านเอชไอวีป้องกันโดยเร็วที่สุด (ภายใน 24 ชั่วโมงหลังสัมผัส) ซึ่งมีสูตรยาหลายสูตรที่แพทย์จะเลือกใช้ โดยพิจารณาจากข้อมูลของผู้ป่วยที่เป็นแหล่งสัมผัส หากทราบชัด (จากประวัติและการตรวจเลือด) ว่าผู้ป่วยที่เป็นแหล่งสัมผัสไม่ได้มีการติดเชื้อเอชไอวีและไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ก็ไม่จำเป็นต้องกินยาป้องกัน
หลังให้ยาป้องกัน แพทย์จะนัดผู้สัมผัสมาตรวจเลือดซ้ำในระยะ 1 เดือน และ 3 เดือนหลังสัมผัสเป็นส่วนใหญ่ (ยกเว้นในกรณีที่ตรวจพบว่าผู้สัมผัสมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีจากแหล่งสัมผัสด้วย แพทย์จะนัดมาตรวจเลือดอีกครั้งในระยะ 6 เดือนหลังสัมผัส)
1. ผู้ที่มีอาการไข้ อ่อนแพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองโต คล้ายไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ หากมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ควรได้รับการตรวจเลือดพิสูจน์ อาจเป็นการติดเชื้อเอชไอวีระยะแรกเริ่มก็ได้ หากพบว่าเป็นจริง การได้รับการรักษาด้วยยาต้านเอชไอวีในระยะแรกนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากผู้ป่วยระยะนี้มีเชื้อในร่างกายปริมาณมาก และสามารถแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าระยะหลัง ๆ ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีหากไม่ได้รับการรักษา มักจะกลายเป็นเอดส์เต็มขั้น ในเวลาประมาณ 8-10 ปี
2. คู่สมรสที่ต้องการมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์เพื่อแนะนำวิธีที่ช่วยให้มีบุตรที่ได้ผลและปลอดภัย สำหรับคู่สมรสที่มีบุตรไม่ยาก แพทย์จะให้ยาต้านเอชไอวีแก่ผู้ติดเชื้อ (อาจเป็นเพียงภรรยาหรือสามี หรือทั้งคู่) จนตรวจไม่พบเชื้อ (undetectable HIV VL) และกินยาต้านเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอมาอย่างน้อย 6 เดือน ก็สามารถทำให้เกิดการตั้งครรภ์ด้วยการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยในวันที่ภรรยามีไข่ตก
3. สำหรับญาติหรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย ควรปฏิบัติ ดังนี้
- ศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์อย่างถ่องแท้
- ให้กำลังใจ ดูแลผู้ป่วยด้วยความรักและความอบอุ่น เช่น การพูดคุย สัมผัสโอบกอด เป็นต้น และคอยกระตุ้นเตือนให้ผู้ป่วยกินยาตามคำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาต้านเอชไอวีให้ตรงเวลาทุกวัน อย่าได้ขาด
- หากผู้ป่วยมีบาดแผล หรือเปรอะเปื้อนเลือดหรือน้ำเหลืองที่ร่างกายหรือเสื้อผ้าของผู้ป่วย ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกโดยตรง ถ้าจะสัมผัสควรสวมถุงมือยาง ถ้าไม่มี อาจใช้ถุงพลาสติกที่ไม่มีรูรั่ว 2-3 ชั้นแทนก็ได้
- เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอนของผู้ป่วยที่ไม่เปื้อนเลือดหรือน้ำเหลือง ไม่ต้องแยกซักต่างหาก แต่ถ้าเปื้อนเลือดหรือน้ำเหลือง ควรใช้ถุงมือยางจับต้อง และนำไปแช่ในน้ำผสมผงฟอกขาวประมาณ 30 นาทีเสียก่อน แล้วจึงนำไปซักด้วยผงซักฟอกตามปกติ
- ทุกคนในบ้านสามารถใช้ห้องน้ำ ห้องส้วมร่วมกับผู้ป่วยได้ แต่ควรทำความสะอาดโดยสวมถุงมือ และใช้น้ำยาล้างห้องน้ำ (ที่มีส่วนผสมของคลอรอกซ์) หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ
- เครื่องครัว ถ้วย จาน ชาม ช้อน ส้อม ไม่จำเป็นต้องแยกใช้ต่างหาก และในการกินอาหารร่วมสำรับกัน ควรใช้ช้อนกลางทุกครั้ง เพื่อสุขอนามัยที่ดี
4. โรคนี้ไม่พบว่ามีการติดต่อโดย
- การหายใจ ไอ จามรดกัน
- การกินอาหารและดื่มน้ำร่วมกัน
- การว่ายน้ำในสระ หรือเล่นกีฬาร่วมกัน
- การใช้ห้องน้ำร่วมกัน
- การอยู่ในห้องเรียน ห้องทำงาน ยานพาหนะ หรือการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ
- การสัมผัส จับมือ โอบกอด และการจูบปาก
- การใช้ครัว ภาชนะเครื่องครัว จาน แก้ว หรือผ้าเช็ดตัวร่วมกัน
- การใช้โทรศัพท์ร่วมกัน
- การถูกยุงหรือแมลงกัด
- การบริจาคโลหิต