มะเร็งปอด พบมากเป็นอันดับที่ 2 ของมะเร็งในผู้ชาย และอันดับที่ 4 ของมะเร็งในผู้หญิง พบมากในช่วงอายุ 50-75 ปี มะเร็งปอดมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ มะเร็งปอดชนิดเซลล์เยื่อบุ (squamous cell carcinoma) ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดและเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ มะเร็งปอดชนิดเซลล์ต่อมเมือก (adenocarcinoma) ซึ่งพบในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และชนิด small cell carcinoma ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ พบได้น้อยกว่าชนิดอื่น แต่มีความร้ายแรงสามารถแพร่กระจายเร็ว
ร้อยละ 80-90 เกิดจากการสูบบุหรี่ ยิ่งสูบมากและนานก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้มากขึ้น ร้อยละ 5 เกิดจากการรับควันบุหรี่จากผู้อื่น
อาจเกิดจากการสัมผัสสารใยหิน (แอสเบสตอส) จากการทำงาน เช่น การก่อสร้างอาคาร การทำงานที่เกี่ยวกับผ้าเบรก คลัตช์ ฉนวนกันความร้อน อุตสาหกรรมสิ่งทอ เหมืองแร่ เป็นต้น ซึ่งใช้เวลาสัมผัสนาน 15-35 ปีกว่าจะเป็นมะเร็งปอด ถ้าสูบบุหรี่ด้วยก็ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากการสัมผัสเรดอน (radon ซึ่งเป็นก๊าซกัมมันตรังสีที่เกิดจากการสลายตัวของแร่ยูเรเนียมในหินและดิน กระจายอยู่ในอากาศและน้ำใต้ดิน อาจพบตามเหมืองใต้ดิน อาคารที่ใช้วัสดุก่อสร้างที่ปนเปื้อนก๊าซนี้) มลพิษทางอากาศ (เช่น ควันพิษจากรถยนต์) โรงงานถลุงเหล็กนิกเกิล โครเมียม แคดเมียม โรงงานน้ำมัน ดินน้ำมัน เขม่าจากโรงงาน การดื่มน้ำที่มีสารหนูเจือปน การกินผักและผลไม้น้อย
บางครั้งพบมะเร็งปอดในผู้ป่วยที่มีแผลเป็นในปอดจากโรคปอด เช่น วัณโรคปอด ถุงลมปอดโป่งพอง ภาวะเยื่อพังผืด (fibrosis) ในปอด เป็นต้น
บางรายอาจเป็นมะเร็งปอดโดยไม่มีประวัติการสูบบุหรี่หรือการสัมผัสสารก่อมะเร็งมาก่อนก็ได้
ผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นมะเร็งปอดมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากกว่าปกติ
ระยะแรกเริ่มจะไม่มีอาการ ต่อมาจะมีอาการไอเรื้อรัง อาจไอมีเลือดปนเสมหะ หรือไอออกเป็นเลือดสดจำนวนมาก (หากมะเร็งลามถูกหลอดเลือด) หายใจมีเสียงดังวี้ด (หากหลอดลมถูกอุดกั้นจากก้อนมะเร็ง) หรือเจ็บหน้าอกเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน (หากลามไปที่เยื่อหุ้มปอด หรือกระดูกซี่โครง) อาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด
ต่อมาผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หายใจหอบเหนื่อย (จากภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด) และอาจมีปอดอักเสบแทรกซ้อน
มะเร็งปอดที่เป็นรุนแรงอาจทำให้มีอาการเจ็บปวดมาก หายใจหอบเหนื่อย ไอออกเป็นเลือดรุนแรง
หากมะเร็งลามไปยังอวัยวะข้างเคียง ก็อาจมีอาการเสียงแหบ กลืนลำบาก ปวดแขน แขนชาและอ่อนแรง หนังตาตกและรูม่านตาหดเล็กข้างหนึ่ง มีอาการบวมที่ใบหน้า คอ และหน้าอกส่วนบน หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ในระยะท้าย มะเร็งมักจะลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองที่คอหรือแอ่งไหปลาร้า และอวัยวะต่าง ๆ เช่น สมอง (มีอาการปวดศีรษะ สับสน ชัก) ตับ (ตับโต ตาเหลืองตัวเหลือง ท้องมาน) ไขสันหลัง (ขาชาและอ่อนแรง) กระดูก (ปวดกระดูก) เป็นต้น
บางครั้งผู้ป่วยอาจมาปรึกษาแพทย์ด้วยอาการที่มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะเหล่านี้มากกว่าอาการของมะเร็งปอดโดยตรง (ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด)
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการเอกซเรย์ปอด การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจหาเซลล์มะเร็งในเสมหะ การใช้กล้องส่องตรวจหลอดลม (bronchoscopy) การใช้เข็มเจาะเนื้อปอดนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ (needle biopsy)
หากพบว่าเป็นมะเร็งก็จะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ (เช่น เอกซเรย์, อัลตราซาวนด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า-MRI, การตรวจเพทสแกน- PET scan เป็นต้น) เพื่อประเมินว่าเป็นมะเร็งระยะใด
แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัด รังสีบำบัด เคมีบำบัด อิมมูนบำบัด และ/หรือการใช้ยาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy drugs) ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดและระยะของมะเร็งที่พบ
เนื่องจากมะเร็งปอดมักจะลุกลามเร็วและวินิจฉัยได้ในระยะที่มะเร็งแพร่กระจายออกนอกปอดแล้ว มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีต่ำกว่าร้อยละ 10 (โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดที่เรียกว่า small cell carcinoma ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 25 ของมะเร็งปอดทั้งหมด มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีประมาณร้อยละ 2) การรักษาจึงเป็นเพียงการประทังอาการซึ่งมักจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงระยะหนึ่ง
นอกจากในรายที่ตรวจพบในระยะแรก ๆ หรือเป็นชนิดที่ลุกลามช้าหรือตอบสนองต่อการรักษา ก็อาจอยู่ได้นานหลายปี (มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีประมาณร้อยละ 50-90)
หากสงสัย เช่น ไอหรือเจ็บหน้าอกเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ ไอเป็นเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปอด ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
- หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
- ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบ และงานจิตอาสา เท่าที่ร่างกายจะอำนวย
- ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
- ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
- ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
- ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวด ประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีอาการไม่สบายหรืออาการผิดปกติ เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ชัก แขนขาชาหรืออ่อนแรง ซีด มีเลือดออก ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน เบื่ออาหารมาก กินไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ เป็นต้น
- ขาดยาหรือยาหาย
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผลเต็มที่ แต่อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดด้วยการปฏิบัติ ดังนี้
- ไม่สูบบุหรี่
- เลิกบุหรี่สำหรับผู้ที่เคยสูบ หากสามารถเลิกได้ก็จะลดความเสี่ยงลงได้มาก แม้จะสูบมานานก็ตาม
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสควันบุหรี่ สารใยหิน มลพิษทางอากาศ และรังสีเรดอน (radon)
- หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
- กินผักและผลไม้ให้มาก ๆ
1. มะเร็งปอดแม้จะพบบ่อยในผู้ที่สูบบุหรี่ แต่ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ ดังนั้นทุกคนไม่ว่าจะมีประวัติสูบบุหรี่หรือไม่ก็ตาม หากมีอาการที่น่าสงสัย เช่น ไอหรือเจ็บหน้าอกเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ ไอเป็นเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์
2. ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจหามะเร็งปอดระยะแรกที่ได้ผลดี ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่รอให้มีอาการแสดงชัดแล้วค่อยไปพบแพทย์ให้ตรวจรักษา ซึ่งมักจะเป็นระยะที่มะเร็งมีการลุกลามแล้ว และรักษาได้ผลไม่สู้ดี ดังนั้นควรหาทางป้องกันด้วยการไม่สูบบุหรี่หรือเลิกบุหรี่ และหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
3. ปัจจุบันมีวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคหายขาดหรือทุเลา หรือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง มีความมานะอดทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาที่อาจมีได้ อย่าเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากสนใจจะแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี