มะเร็งเต้านม พบเป็นอันดับที่ 2 ของมะเร็งในผู้หญิง เริ่มพบได้ตั้งแต่วัยสาว และพบมากขึ้นตามอายุ ส่วนมากจะพบในช่วงอายุมากกว่า 40 ปี มะเร็งเต้านมพบว่ามีความสัมพันธ์กับการมีระดับเอสโทรเจนในเลือดสูงเป็นเวลานาน
ยังไม่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่าเกิดจากปฏิสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างปัจจัยทางกรรมพันธุ์กับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
พบว่าร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยมีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ คือ มียีนที่เรียกว่า "ยีนมะเร็งเต้านม (breast cancer gene, BRCA)" ซึ่งสามารถถ่ายทอดให้ลูกหลาน ผู้ที่มียีนนี้มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่
พบว่าโรคนี้มีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่
- มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน
- มีประวัติว่ามารดาหรือพี่น้องเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ ถ้ามีญาติเป็นมะเร็งเต้านมก่อนวัยหมดประจำเดือน ยิ่งมากคนก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น
- การมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี
- การมีภาวะหมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี
- การมีบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปี หรือการไม่มีบุตร
- การใช้ฮอร์โมนทดแทนหลังวัยหมดประจำเดือนนานเกิน 4 ปี
- การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดตั้งแต่อายุยังน้อยและใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมก่อนวัยหมดประจำเดือน
- ภาวะอ้วน
- การสูบบุหรี่
- การดื่มสุราจัด
- การได้รับรังสีตั้งแต่วัยเด็กหรือวัยสาว
ระยะแรกมักไม่มีอาการชัดเจน ต่อมาจะมีอาการคลำได้ก้อนที่เต้านม หัวนมบุ๋ม (จากเดิมที่ปกติ) เต้านมใหญ่ขึ้นหรือรูปทรงผิดปกติ มีน้ำเหลืองหรือเลือดออกจากหัวนม หรือผิวหนังตรงเต้านมมีสีแดงและขรุขระคล้ายผิวส้ม ในระยะท้ายอาจคลำได้ก้อนน้ำเหลืองที่รักแร้
ตำแหน่งอาการของมะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านมที่เป็นก้อนโตขึ้นอาจทำให้มีอาการเจ็บปวดทรมาน
ในระยะท้าย มะเร็งมักแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อน อาทิ
- ปอด ทำให้มีอาการเจ็บหน้าอก ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด ภาวะมีน้ำหรือเลือดในช่องเยื่อหุ้มปอด หายใจลำบาก
- ตับ ทำให้เจ็บใต้ชายโครงขวา อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตัวเหลืองตาเหลือง มีน้ำในท้อง (ท้องมาน)
- กระดูก ทำให้ปวดกระดูก กระดูกพรุน กระดูกหัก ปวดหลัง ไขสันหลังถูกกดทับ (ขาชาและเป็นอัมพาต มีความผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ) ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (ทำให้เป็นนิ่วไต ไตวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ สมองเสื่อม หมดสติ)
- สมอง ทำให้ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก เวียนศีรษะ บ้านหมุน เดินเซ แขนขาชาและเป็นอัมพาต ชัก หมดสติ สมองเสื่อม บุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
แพทย์จะวินิจฉัยโดยการตรวจอัลตราซาวนด์ ถ่ายภาพรังสีเต้านม (mammogram) และการผ่าหรือเจาะเอาชิ้นเนื้อเต้านมไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ (breast biopsy)
ถ้าพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เพื่อดูการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ปอด กระดูก สมอง ด้วยการตรวจอัลตราซาวนด์, เอกซเรย์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI), การตรวจสแกนกระดูก, การตรวจเพทสแกน (PET scan) เป็นต้น
แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัดเต้านม (อาจตัดเต้านมออกบางส่วน หรือตัดออกทั้งหมด) พร้อมกับเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออก
นอกจากนี้จะให้การรักษาเสริมด้วยรังสีบำบัด เคมีบำบัด ฮอร์โมนบำบัด (โดยให้กินยาทาม็อกซิเฟน-tamoxifen ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเอสโทรเจน) อิมมูนบำบัด (โดยการให้อินเตอร์เฟอรอน หรือ monoclonal antibody) และ/หรือการใช้ยาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy drug)
ผลการรักษา ส่วนใหญ่ได้ผลดี ถ้าเป็นระยะแรกมักจะมีชีวิตอยู่ได้นานหรือหายขาด (มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี มากกว่าร้อยละ 95) แต่ถ้ามะเร็งแพร่กระจายไปทั่วร่างกายแล้ว ก็มักจะได้ผลไม่สู้ดี (มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี ประมาณร้อยละ 20-25)
หากสงสัย เช่น คลำได้ก้อนที่เต้านม หรือสังเกตเห็นเต้านมมีลักษณะผิดปกติ เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
- หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
- ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบ และงานจิตอาสา เท่าที่ร่างกายจะอำนวย
- ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
- ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
- ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
- ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวด ประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีอาการไม่สบายหรืออาการผิดปกติ เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ชัก แขนขาชาหรืออ่อนแรง ซีด มีเลือดออก ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน เบื่ออาหารมาก กินไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ เป็นต้น
- ขาดยาหรือยาหาย
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมด้วยการปฏิบัติ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มสุราจัด และการใช้เอสโทรเจนเป็นเวลานาน
- หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
- กินผักและผลไม้ให้มาก ๆ
- ลดการบริโภคเนื้อแดง
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- หมั่นเลี้ยงบุตรด้วยนมตัวเอง (พบว่ามารดาที่ให้บุตรดื่มนมตัวเองนานเกิน 2 ปี ลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมลง)
- ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติโรคนี้ในครอบครัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาตรวจเลือดหา "ยีนมะเร็งเต้านม (breast cancer gene, BRCA)" และผู้ที่ตรวจพบว่ามีความเสี่ยงสูง แพทย์อาจพิจารณาให้กินยาป้องกัน ได้แก่ ยาต้านเอสโทรเจน (เช่น tamoxifen, raloxifene เป็นต้น) หรือในบางกรณีแพทย์อาจป้องกันด้วยการผ่าตัดเต้านมออกไป
1. เนื่องจากการค้นพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะแรกเริ่มมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นผู้หญิงทุกคนควรตรวจเต้านมด้วยตนเอง พบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมหรือถ่ายภาพรังสีเต้านม ตามเกณฑ์อายุดังนี้
- อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง
- อายุ 30-39 ปี ควรพบแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับการฝึกอบรม เพื่อตรวจเต้านมทุก 3 ปี และอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจปีละครั้ง
- อายุระหว่าง 40-44 ปี ควรเริ่มรับการตรวจหามะเร็งระยะแรกเริ่ม (โดยที่ยังเป็นปกติดี คือ ยังคลำไม่ได้ก้อนที่เต้านมแต่อย่างใด) ด้วยการถ่ายภาพรังสีเต้านม (mammography) เป็นครั้งแรก, อายุ 45-54 ปี ควรตรวจปีละครั้ง และอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุก 1-2 ปี
2. หากตรวจพบก้อนที่เต้านม ควรไปพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด ไม่ควรนิ่งนอนใจ ปล่อยปละละเลย หรือกลัวและไม่กล้าไปตรวจกับแพทย์ ทำให้เสียโอกาสที่จะได้รับการเยียวยารักษาให้ได้ผลดีตั้งแต่แรก จริง ๆ แล้วก้อนที่เต้านมไม่จำเป็นต้องเป็นมะเร็งเสมอไป แต่เนื่องจากการตรวจคลำด้วยมือไม่อาจแยกว่าเป็นเนื้อดีหรือร้ายได้ จำเป็นต้องให้แพทย์ทำการตรวจเพิ่มเติม
3. ปัจจุบันมีวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคหายขาดหรือทุเลา หรือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง มีความมานะอดทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาที่อาจมีได้ อย่าเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากสนใจจะแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี
การตรวจเต้านมด้วยตนเอง
1. การคลำเต้านมในท่ายืน ใช้ฝ่ามือด้านตรงข้ามคลำตรวจเต้านมทีละข้าง สังเกตดูว่ามีก้อนอะไรดันอยู่หรือสะดุดใต้ฝ่ามือหรือไม่ (มะเร็งของเต้านมมักจะพบที่ส่วนบนด้านนอกของเต้านมมากกว่าส่วนอื่น จึงควรสังเกตดูบริเวณนี้ให้ละเอียด)
2. และ 3. การดูเต้านมตรงหน้ากระจกเงา ในท่ามือเท้าเอวและท่าชูมือขึ้นเหนือศีรษะ สังเกตดูลักษณะเต้านมทั้ง 2 ข้างโดยละเอียด เปรียบเทียบดูขนาด รูปร่างของหัวนม และการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังทุกส่วนของเต้านม (เช่น รอยนูนขึ้นผิดปกติ รอยบุ๋ม หัวนมบอด ระดับของหัวนมไม่เท่ากัน)
4. การคลำเต้านมในท่านอน ควรใช้หมอนหรือผ้าห่มหนุนตรงสะบัก ให้อกด้านที่จะตรวจแอ่นขึ้น ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ
5. (ในท่านอน) ใช้ฝ่ามือข้างซ้ายคลำเต้านมข้างขวาโดยคลำไปรอบ ๆ หัวนมเป็นรูปวงกลม ไล่จากด้านนอกเข้ามายังหัวนม
6. แล้วใช้นิ้วบีบหัวนม สังเกตดูว่ามีน้ำเหลือง หรือเลือดออกจากหัวนมหรือไม่ ให้ทำการตรวจเต้านมข้างขวาโดยใช้มือซ้าย ทำซ้ำข้อ 4, 5, 6