
เนื้องอกไขสันหลัง (Spinal cord tumor)
เรียบเรียงข้อมูลโดย รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
เนื้องอกไขสันหลัง (Spinal cord tumor) ข้อมูลโรค พร้อมโปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้น
เนื้องอกไขสันหลัง (Spinal cord tumor) อาการ สาเหตุ การป้องกันและรักษา พร้อมโปรแกรม “หมอประจำบ้าน” อัจฉริยะ Doctor at Home ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตัวเอง

เนื้องอกไขสันหลัง หมายถึง เนื้องอกที่เกิดขึ้นที่ไขสันหลัง ซึ่งแบ่งเป็นชนิดปฐมภูมิ (มีต้นกำเนิดจากเซลล์หรือเนื้อเยื่อต่าง ๆ ที่อยู่ในและรอบ ๆ ไขสันหลัง ซึ่งมีทั้งชนิดไม่ร้ายและชนิดร้าย) และชนิดทุติยภูมิ (มะเร็งที่แพร่กระจายจากที่อื่น) ซึ่งพบได้บ่อยกว่าชนิดปฐมภูมิ
โรคนี้พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนเนื้องอกชนิดทุติยภูมิมักพบในคนวัยกลางคนและวัยสูงอายุ
เนื้องอกไขสันหลังพบได้น้อยกว่าเนื้องอกสมอง
สาเหตุ
เนื้องอกไขสันหลังชนิดปฐมภูมิ ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เชื่อว่าอาจเกี่ยวกับปัจจัยทางกรรมพันธุ์ร่วมกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
เนื้องอกไขสันหลังชนิดทุติยภูมิ ส่วนใหญ่เกิดจากการแพร่กระจายมาจากมะเร็งปอด เต้านม ต่อมลูกหมาก ต่อมไทรอยด์ ไต และต่อมน้ำเหลือง มาที่กระดูกสันหลังและกดถูกประสาทสันหลัง
อาการ
มักมีอาการเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
แรกเริ่มจะมีอาการปวดหลัง และบางครั้งอาจมีอาการปวดเสียวตรงบริเวณสะโพกและขาแบบอาการของรากประสาทถูกกดทับ เนื่องจากก้อนเนื้องอกไปกดรากประสาท ซึ่งจะเป็นมากขึ้นเวลาไอ จาม*
อาการดังกล่าวอาจเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ ๆ หรือเป็นเดือน ๆ แล้วต่อมาจะมีอาการชาและอ่อนแรงของขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง อาการอ่อนแรงจะค่อย ๆ เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเดินไม่ได้
ผู้ป่วยอาจมีอาการถ่ายปัสสาวะอุจจาระเองไม่ได้หรือกลั้นไม่อยู่ และมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (องคชาตไม่แข็งตัว) ร่วมด้วย
ในรายที่มีเนื้องอกที่ไขสันหลังในบริเวณคอ อาจกดถูกประสาทที่ควบคุมแขน อาจทำให้แขนชาและอ่อนแรงได้
* อาการแบบนี้มักพบในเนื้องอกที่อยู่รอบ ๆ ไขสันหลัง ซึ่งงอกมากดทับรากประสาท ส่วนเนื้องอกที่อยู่ภายในไขสันหลังจะไม่มีอาการแบบนี้ แต่จะมีอาการขาชา อ่อนแรง และกล้ามเนื้อลีบ และอาการควบคุมการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะไม่ได้มักเกิดขึ้นเร็ว
ภาวะแทรกซ้อน
แขนขาเป็นอัมพาต ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลกดทับ และทางเดินปัสสาวะอักเสบ
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ และการตรวจพบขามีอาการชา อ่อนแรง กล้ามเนื้อลีบ
บางรายอาจมีอาการชาและอ่อนแรงของแขน
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการเอกซเรย์กระดูกสันหลัง เจาะหลัง ถ่ายภาพรังสีไขสันหลังโดยการฉีดสารทึบรังสี (myelography) ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งจะช่วยให้หายปวดหลัง และแขนขามีแรงขึ้น
ในรายที่เป็นเนื้องอกชนิดร้าย (มะเร็ง) อาจต้องรักษาด้วยการฉายรังสี
ผลการรักษา ขึ้นกับชนิดของเนื้องอก และความรุนแรงของโรค
ถ้าเป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา เช่น meningioma, neurofibroma และอาการไม่รุนแรงก็มีทางหายขาดได้
ถ้าประสาทสันหลังถูกทำลายมาก หรือเป็นเนื้องอกชนิดร้ายหรือมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากที่อื่น ก็อาจเป็นอัมพาตครึ่งล่างหรืออัมพาตหมดทั้งแขนขา แล้วอาจเป็นแผลกดทับหรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบแทรกซ้อน และผู้ป่วยอาจมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการชาและอ่อนแรงของขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นเนื้องอกไขสันหลัง ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การป้องกัน
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
ควรป้องกันไม่ให้โรคลุกลาม โดยการไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาแต่เนิ่น ๆ เมื่อสังเกตว่ามีอาการที่น่าสงสัย
ข้อแนะนำ
ผู้ที่สังเกตว่ามีอาการแขนหรือขาชาและอ่อนแรงข้างหนึ่งหรือ 2 ข้าง ควรปรึกษาแพทย์ อาจเกิดจากความผิดปกติของสมองและไขสันหลังได้
ข้อมูลล่าสุด : 16 ก.ย. 2564
Doctor at Home
โปรแกรม "หมอประจำบ้าน" อัจฉริยะ ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตัวเอง
โปรดเลือกอาการที่เป็นสัญญาณของ "เนื้องอกไขสันหลัง (Spinal cord tumor)" เพื่อตรวจอาการเบื้องต้น ก่อนไปพบแพทย์
Doctor at Home
โปรแกรม "หมอประจำบ้าน" อัจฉริยะ ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตัวเอง
โปรดเลือกอาการที่เป็นสัญญาณของ "เนื้องอกไขสันหลัง (Spinal cord tumor)" เพื่อตรวจอาการเบื้องต้น ก่อนไปพบแพทย์