มะเร็งกล่องเสียง พบได้ประมาณร้อยละ 3 ของมะเร็งทั้งหมด พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 10 เท่า และพบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉลี่ยอายุประมาณ 60-70 ปี
ยังไม่ทราบแน่ชัด พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งชนิดนี้ ได้แก่
- การสูบบุหรี่ และจะพบมากขึ้นในผู้ที่ดื่มสุราร่วมด้วย
- การดื่มสุราจัด
- การติดเชื้อเอชพีวี (human papilloma virus/HPV)
- การสัมผัสสารใยหิน นิกเกิล ฝุ่นไม้ สี และสารเคมีบางชนิด (เช่น กรดกำมะถัน)
- การระคายเคืองเรื้อรังจากโรคกรดไหลย้อน
- ภาวะขาดสารอาหารซึ่งมักพบร่วมกับผู้ที่ดื่มสุราจัด
- การมีประวัติมะเร็งกล่องเสียงในครอบครัว
มักมีอาการเสียงแหบเรื้อรังติดต่อกันนานเกิน 2-3 สัปดาห์ อาจมีอาการเจ็บคอเรื้อรัง ไอเรื้อรัง ปวดหู รู้สึกเจ็บเวลากลืนหรือกลืนลำบาก หรือสำลักร่วมด้วย
ต่อมาอาจพบมีเลือดออกปนกับเสมหะ ไอเป็นเลือด มีก้อนแข็งที่ข้างคอ น้ำหนักลด หายใจลำบากหรือหายใจมีเสียงดังฮี้ด (stridor)
อาจทำให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจ ทำให้หายใจลำบาก และเกิดภาวะแทรกซ้อนของอวัยวะต่าง ๆ ที่มะเร็งแพร่กระจายไป เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่คอ (ก้อนบวมโตที่ข้างคอ) ต่อมไทรอยด์ (คอโต คอพอก) หลอดอาหาร (กลืนลำบาก) หลอดลม (ไอ หายใจลำบาก) ปอด (เจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด หายใจหอบ) เป็นต้น
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย
การตรวจบริเวณคอ อาจพบก้อนแข็งที่ข้างคอ (ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองโตจากมะเร็งลุกลามในระยะท้าย ๆ ของโรค) การใช้เครื่องมือส่องตรวจภายในลำคอพบเนื้องอกที่กล่องเสียง
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยใช้กล้องส่องตรวจกล่องเสียง (laryngoscopy) และตัดชิ้นเนื้อนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ
หากพบว่าเป็นมะเร็ง ก็จะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ (เช่น เอกซเรย์, อัลตราซาวนด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า-MRI, การตรวจเพทสแกน-PET scan เป็นต้น) เพื่อประเมินว่าเป็นมะเร็งระยะใด
ถ้าเป็นระยะแรกเริ่มจะรักษาโดยการฉายรังสีเป็นหลัก หรือผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์ ทำให้รักษากล่องเสียงไว้ได้ และผู้ป่วยพูดได้เป็นปกติ แต่ถ้าเป็นระยะลุกลามก็จะรักษาด้วยการผ่าตัดกล่องเสียงร่วมกับการฉายรังสี บางรายอาจให้เคมีบำบัด และ/หรือการใช้ยาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy drugs) ร่วมด้วย
ผลการรักษา ถ้าเป็นระยะแรกสามารถรักษาให้หายขาดและพูดได้เป็นปกติ (มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี ประมาณร้อยละ 70-90)
ในรายที่เป็นระยะลุกลามไม่มากและผ่าตัดกล่องเสียง ก็มักจะมีชีวิตยืนยาว แต่พูดไม่ได้ และต้องฝึกพูดด้วยการเปล่งเสียงผ่านหลอดอาหาร (esophageal speech) หรือใช้อุปกรณ์ช่วยพูด (electrolarynx)
ในรายที่เป็นมะเร็งที่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น (มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีประมาณร้อยละ 30-45)
หากสงสัย เช่น มีอาการเสียงแหบนานเกิน 2 สัปดาห์, มีอาการเจ็บคอ ไอ ปวดหู หรือกลืนลำบากเรื้อรัง, มีเลือดออกปนกับเสมหะ, มีก้อนแข็งที่ข้างคอ เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งกล่องเสียง ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
- หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
- ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบและงานจิตอาสาเท่าที่ร่างกายจะอำนวย
- ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
- ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
- ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
- ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวดประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์และทีมสุขภาพที่ดูแล
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีอาการไม่สบาย เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก ซีด มีเลือดออก ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน กินไม่ได้ หายใจลำบาก เป็นต้น
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ)
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกล่องเสียงด้วยการปฏิบัติ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มสุรา
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารใยหิน ฝุ่นไม้
- กินผักและผลไม้ให้มาก ๆ และได้รับสารอาหารครบถ้วนและสมดุล
- ป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี โดยการหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เสรีหรือไม่ปลอดภัย รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก และปรึกษาแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี (HPV vaccine)
1. ผู้ที่มีอาการเสียงแหบเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด หากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ๆ ผู้ป่วยมักจะหายขาดและมีอายุยืนยาว สามารถทำงานได้ตามปกติ แต่จะพูดไม่ได้เพราะถูกตัดกล่องเสียง ผู้ป่วยสามารถฝึกพูดเพื่อสื่อสารกับผู้คนได้
2. ปัจจุบันมีวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคหายขาดหรือทุเลา หรือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง มีความมานะอดทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาที่อาจมีได้ อย่าเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากสนใจจะแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี
3. หลังการรักษาจนทุเลาดีแล้ว บางรายอาจมีมะเร็งกำเริบได้ ควรติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง