ภาวะตั้งครรภ์ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การโตขึ้นของมดลูกตามอายุครรภ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฮอร์โมนหลายชนิดที่รกสร้าง และการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจและอารมณ์ ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ที่พบร่วมกันในหญิงตั้งครรภ์ และอาจทำให้เกิดโรคและภาวะผิดปกติในหญิงตั้งครรภ์บางราย
แพ้ท้อง สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าเป็นผลมาจากร่างกายมีระดับเอสโทรเจนและฮอร์โมนเอชซีจี (human chorionic gonadotropin/HCG ที่รกสร้าง) สูง นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์กับภาวะจิตใจและอารมณ์ ซึ่งพบว่าผู้ที่มีอารมณ์อ่อนไหว เครียด วิตกกังวล จะมีอาการแพ้ท้องได้มาก
ผู้ที่เคยมีอาการแพ้มาก่อน หรือผู้ที่เคยมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนจากโรคไมเกรน จากการได้กลิ่นหรือรสอาหารบางอย่าง หรือจากการใช้ยาเอสโทรเจน (เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด) มีโอกาสเกิดอาการแพ้ท้องได้มากกว่าคนปกติทั่วไป
ผู้หญิงที่มีครรภ์แฝด หรือครรภ์ไข่ปลาอุก อาจมีอาการแพ้ท้องรุนแรง เรียกว่า “ภาวะแพ้ท้องอย่างแรง (hyperemesis gravidarum)” เชื่อว่าสัมพันธ์กับระดับเอชซีจีที่สูง นอกจากนี้ภาวะแพ้ท้องอย่างแรงยังอาจพบในผู้ที่มีประวัติเคยมีภาวะนี้ในครรภ์ก่อน ๆ หรือมีประวัติคนในครอบครัวมีภาวะนี้
ระยะแรกเริ่มมักมีอาการอ่อนเพลีย เต้านมคัดและเจ็บ ปัสสาวะบ่อย และอาจมีอาการเบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากขึ้น ร่วมกับมีประวัติขาดประจำเดือนหรือประจำเดือนเลยกำหนดเป็นสัปดาห์
ส่วนผู้ที่มีอาการแพ้ท้อง มักมีอาการคลื่นไส้ พะอืดพะอม บางครั้งอาเจียน ส่วนใหญ่มักเป็นมากตอนเช้าหลังตื่นนอน แต่ก็อาจมีอาการในช่วงกลางวันและตอนเย็นก็ได้ ผู้ป่วยมักมีความรู้สึกไม่ชอบกลิ่นอาหาร (เช่น กาแฟ เนื้อ) กลิ่นน้ำหอมที่เคยชอบกลับไม่ชอบ อยากกินของเปรี้ยว เช่น มะม่วง มะกอก มะดัน
เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น จะมีอาการท้องโต (ท้องป่อง) และอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย
อาการเปลี่ยนแปลงของหญิงตั้งครรภ์
ผู้หญิงตั้งครรภ์มักมีอาการเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้
- รู้สึกอ่อนเพลีย ซึ่งพบในไตรมาสแรก (เนื่องจากปริมาตรของเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น) หลังจากนั้นจะทุเลาไป และกลับมีอาการอ่อนเพลียเมื่อย่างเข้าไตรมาสที่ 3 เนื่องจากน้ำหนักตัวที่มากขึ้น
- รู้สึกอยากนอน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน รวมทั้งนอนไม่พอเนื่องจากเด็กดิ้น และต้องตื่นขึ้นปัสสาวะบ่อย
- เต้านมคัดและเจ็บ เนื่องจากการขยายของเต้านมจากอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโทรเจน ลานหัวนมจะขยายออกและมีสีคล้ำขึ้น และจะมีนมน้ำเหลือง (colostrum) ไหลจากหัวนมเวลาบีบ
- มดลูกค่อย ๆ โตขึ้น จนเห็นท้องป่องเมื่ออายุครรภ์ได้ 12 สัปดาห์ โตขึ้นระดับสะดือเมื่ออายุครรภ์ 20 สัปดาห์ และถึงระดับใต้ลิ้นปี่เมื่ออายุครรภ์ 36 สัปดาห์ มดลูกที่โตขึ้นจะกดทางเดินอาหารและทางเดินปัสสาวะให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา
- ตกขาว ออกเป็นเมือกใสหรือสีขาว และมีปริมาณมากขึ้น ซึ่งถือเป็นภาวะปกติ ถ้าออกเป็นสีเหลืองสีเขียว มีกลิ่น หรือแสบคันในช่องคลอด ถือว่าผิดปกติ
- หัวใจทำงานหนักขึ้นเนื่องจากปริมาตรของเลือดที่เพิ่มขึ้น ทำให้ชีพจรเต้นเร็ว (เพิ่มจาก 70 ครั้ง/นาที เป็น 80-90 ครั้ง/นาที) ผู้ป่วยอาจรู้สึกใจสั่น ชีพจรอาจเต้นไม่สม่ำเสมอเป็นบางครั้ง การฟังเสียงหัวใจอาจมีเสียงฟู่ (murmur) ซึ่งถือว่าเป็นภาวะปกติ แต่ควรแยกออกจากภาวะผิดปกติของหัวใจ
- มีอาการคัดจมูก นอนกรน เลือดกำเดาไหล มีเสียงดังในหูหรือหูอื้อ (จากท่อยูสเตเชียนบวม) เนื่องจากเยื่อเมือกบวมเพราะมีเลือดไปคั่งมากขึ้น
- หายใจเร็วและลึกขึ้น เนื่องจากโพรเจสเทอโรนกระตุ้นให้สมองสั่งให้ร่างกายขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้มีระดับต่ำในเลือด
- เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม เนื่องจากการขยายตัวของหลอดเลือด (ทำให้ความดันโลหิตต่ำ) ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ รวมทั้งภาวะโลหิตจาง ซึ่งอาจพบในผู้ป่วยบางราย
- คลื่นไส้ พะอืดพะอม บางครั้งอาเจียน
- แสบลิ้นปี่จากโรคกรดไหลย้อน เนื่องจากกล้ามเนื้อหูรูดส่วนปลายหลอดอาหารหย่อนคลาย (เนื่องจากฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน) และการดันของมดลูก พบได้บ่อยในช่วงไตรมาสที่ 3
- ท้องผูก เนื่องจากอิทธิพลของโพรเจสเทอโรน ร่วมกับการกดของมดลูกต่อลำไส้ใหญ่
- ปัสสาวะบ่อย เนื่องจากไตขับปัสสาวะมากขึ้น ร่วมกับมดลูกกดกระเพาะปัสสาวะ (ในช่วงไตรมาสแรก) และศีรษะทารกกดกระเพาะปัสสาวะ (ในช่วงใกล้คลอด) ทำให้มีความจุลดลง จึงเกิดอาการปวดถ่ายปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะเวลาเข้านอนตอนกลางคืน จะพบในช่วงไตรมาสแรกและช่วงใกล้คลอด
- เท้าบวม หลอดเลือดขอดที่ขาและช่องคลอด และริดสีดวงทวาร เนื่องจากมดลูกกดท่อเลือดดำในช่องท้อง ทำให้เลือดดำจากเท้าและบริเวณเชิงกรานไหลกลับเข้าสู่หัวใจไม่ได้
- มีฝ้าหรือปื้นสีน้ำตาลขึ้นที่หน้าผาก โหนกแก้มและคอ ผิวหนังที่หน้าท้องออกแดงและแตกเป็นรอย (บางครั้งพบที่บริเวณหน้าขาและเต้านม) และตรงกลางของบริเวณหน้าท้อง มีเส้นสีน้ำตาลดำ เชื่อว่าเกิดจากรกสร้างฮอร์โมนกระตุ้นเซลล์เม็ดสี (melanocyte stimulating hormone) ให้สร้างเม็ดสี (melanin) มากขึ้น
- จุดแดงรูปแมงมุม (spider nevi) เนื่องจากการพองตัวของหลอดเลือดฝอย พบที่บริเวณหน้าท้อง หน้าอก จมูก
- ปวดหลังส่วนล่าง เนื่องจากกระดูกสันหลังแอ่นมากขึ้น เพื่อปรับความสมดุลของร่างกายจากการโตขึ้นของมดลูก
- น้ำหนักตัวค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยประมาณดังนี้ อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ 650 กรัม 20 สัปดาห์ 4 กก. 30 สัปดาห์ 8.5 กก. และ 40 สัปดาห์ 12.5 กก.
การตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายลักษณะจากสาเหตุต่าง ๆ (อ่านเพิ่มเติมที่ "ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์” ด้านล่าง)
หญิงตั้งครรภ์ประมาณ 1 คน ใน 500 คน อาจมีภาวะแพ้ท้องอย่างแรง (hyperemesis gravidarum) ซึ่งจะมีอาการอาเจียนรุนแรงจนกินได้น้อย อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ, ภาวะเลือดเป็นกรด, น้ำหนักลด และขาดสารอาหารได้ (ซึ่งอาจส่งผลให้ทารกตัวเล็ก และขาดสารอาหารได้), ทารกคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งบุตร, มารดามีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน, อาจทำให้หญิงตั้งครรภ์เกิดภาวะเซลล์ตับตาย (necrosis) และมีภาวะไขมันสะสมในตับ (fatty liver) ซึ่งทำให้เกิดอาการดีซ่าน, อาจทำให้หญิงตั้งครรภ์มีภาวะหลอดอาหารทะลุ หรือปอดทะลุ, ไตวาย, ภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด หรือภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด
ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงที่อาจพบได้ในรายที่มีอาการแพ้ท้องอย่างแรงอีกประการหนึ่งก็คือ อาจทำให้จอตาอักเสบและมีเลือดออก (hemorrhagic retinitis) ทำให้ตาบอดได้ ถ้าพบจำเป็นต้องรีบยุติการตั้งครรภ์
ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์
- จากการโตขึ้นของมดลูก อาจทำให้เกิดผล เช่น การกีดขวางการไหลกลับของเลือดดำจากเท้าและบริเวณอุ้งเชิงกราน ทำให้เกิดหลอดเลือดขอดที่ขา และช่องคลอด ริดสีดวงทวาร เท้าบวม การอุดกั้นทางเดินปัสสาวะทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ การดันกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน
- จากภาวะขาดสารอาหารที่ร่างกายมีความต้องการมากขึ้นขณะตั้งครรภ์ เช่น โลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็ก ความผิดปกติโดยกำเนิดของระบบประสาทและสมอง (เช่น ภาวะไม่มีสมอง ความผิดปกติของไขสันหลังหรือ spina bifida) จากภาวะขาดกรดโฟลิก
- จากภาวะดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance) เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่หลั่งจากรก อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และโรคเบาหวานที่เป็นอยู่เดิมกำเริบมากขึ้น
- ความผิดปกติจากการตั้งครรภ์ เช่น ครรภ์เป็นพิษ แท้งบุตร ครรภ์นอกมดลูก ครรภ์ไข่ปลาอุก รกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด
- ขณะตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดโรคบางชนิดได้บ่อยกว่าคนทั่วไป เช่น โรคกรดไหลย้อน อัมพาตเบลล์ เส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น ความดันโลหิตสูงที่เกิดจากการตั้งครรภ์ (pregnancy-induced hypertension) ซึ่งจะลดลงเป็นปกติหลังคลอด เป็นต้น และโรคที่เคยเป็นอยู่ก่อนตั้งครรภ์มีอาการกำเริบมากขึ้น เช่น หืด ริดสีดวงทวาร ไมแอสทีเนียเกรวิส ไอทีพี
- ภาวะแทรกซ้อนต่อทารกในครรภ์ อาจทำให้แท้งบุตร ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกเสียชีวิต พิการ หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคที่มารดาเป็นขณะตั้งครรภ์ เช่น คอพอกจากภาวะขาดไอโอดีน ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เอสแอลอี โรคลมชัก โรคหัดเยอรมัน อีสุกอีใส ซิฟิลิส มาลาเรีย เป็นต้น
- ภาวะแทรกซ้อนจากการคลอด ได้แก่ การคลอดยากเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ (เช่น ทารกตัวโต หรืออุ้งเชิงกรานมีขนาดเล็ก ทารกท่าก้น ทารกท่าขวาง ทารกแฝดหลายคน มารดาอายุมาก เป็นต้น) มารดามีส่วนสูง < 150 ซม. ภาวะตกเลือดหลังคลอด โรคชีแฮน
- ภาวะไขมันสะสมในตับ (fatty liver) ซึ่งพบได้น้อยมากในระยะท้ายของการตั้งครรภ์ ภาวะนี้เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ดีซ่าน และอาจเกิดภาวะตับวายได้
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
ในระยะแรกเริ่มอาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน หากสงสัยควรทำการตรวจปัสสาวะ โดยชุดตรวจปัสสาวะสำเร็จรูป ซึ่งมักจะให้ผลบวกในรายที่มีการตั้งครรภ์ หากครั้งแรกให้ผลลบ ควรตรวจซ้ำอีกครั้งใน 1 สัปดาห์
เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นจะพบอาการท้องป่อง เต้านมคัด ลานหัวนมมีสีคล้ำ ฝ้าขึ้น หน้าท้องออกแดงและแตกเป็นลาย จุดแดงรูปแมงมุม เท้าบวม หลอดเลือดขอดที่ขา การตรวจพบการเต้นของหัวใจทารก การคลำได้ส่วนต่าง ๆ ของทารก
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยทำการทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยการใช้ชุดตรวจปัสสาวะสำเร็จรูป หากตรวจ 2 ครั้งแล้วให้ผลลบ อาจต้องส่งตรวจหาระดับฮอร์โมนเอชซีจีในเลือด ซึ่งให้ผลแน่นอนกว่าและสามารถตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกของการตั้งครรภ์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ตรวจเช็กสุขภาพทั่วไปของมารดาและทารกในครรภ์ ประเมินอายุครรภ์* และความเสี่ยง โดยการซักประวัติตรวจร่างกายอย่างละเอียด และทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจระดับความเข้มข้นของเลือด รวมทั้งขนาดและลักษณะของเม็ดเลือดแดง กลุ่มเลือด (ABO และ Rh) ตรวจกรองโรคเบาหวาน (ดู "โรคเบาหวาน" เพิ่มเติม) โรคติดเชื้อ (เช่น ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบี เอดส์ หัดเยอรมัน เป็นต้น) ทาลัสซีเมีย
บางรายแพทย์อาจทำการตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อดูลักษณะและความผิดปกติของทารกในครรภ์
2. ให้การดูแลภาวะเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ให้ยาบำรุงโลหิต ในรายที่มีภาวะโลหิตจาง ให้ยาควบคุมความดันโลหิตสูง เบาหวาน เอดส์ เป็นต้น
ถ้าพบว่ามีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น แท้งบุตร รกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด ครรภ์เป็นพิษ ครรภ์ไข่ปลาอุก เป็นต้น ก็ให้การดูแลรักษาให้ปลอดภัย บางกรณีอาจจำเป็นต้องรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล
3. แพทย์จะให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับหญิงตั้งครรภ์ และการดูแลตนเองสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ท้อง
โดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะมีอาการแพ้ท้องอยู่นาน 14-16 สัปดาห์ แล้วทุเลาไปได้เอง
ในรายที่มีอาการอาเจียนมากจนกินอาหารไม่ได้ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาแก้อาเจียน เช่น ไดเฟนไฮดรามีน ไดเมนไฮดริเนต หรือดอมเพอริโดน
ในรายที่มีอาการอาเจียนรุนแรงและต่อเนื่อง มีภาวะขาดน้ำ ภาวะเลือดเป็นกรด (มีอาการหายใจหอบลึก) ขาดสารอาหาร ตาพร่ามัวซึ่งเกิดขึ้นฉับพลัน หรือดีซ่าน หรือสงสัยเป็นอาการแพ้ท้องอย่างแรง แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล มักจะต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ และให้อาหารทางสายยางหรือหลอดเลือด ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอาจต้องทำการยุติการตั้งครรภ์เพื่อป้องกันมิให้มารดาได้รับอันตราย
4. ให้ยาบำรุงโลหิต เช่น เฟอร์รัสฟูมาเรต 200 มก./วัน เพื่อป้องกันภาวะโลหิตจาง ในรายที่กินอาหารได้น้อย ควรให้วิตามินและแร่ธาตุอื่น ๆ เสริม
5. ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก (ดู "โรคบาดทะยัก" เพิ่มเติม)
ภาวะครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง
- มารดาอายุ ≤ 15 ปี อาจเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ และทารกน้ำหนักน้อย
- มารดาอายุ ≥ 35 ปี อาจเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes mellitus) ภาวะแทรกซ้อนขณะคลอด
- น้ำหนักตัวมารดา < 40 กก. มักจะคลอดบุตรน้ำหนักน้อย
- น้ำหนักตัวมารดามากกว่าปกติ อาจเสี่ยงต่อโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ ทารกตัวโตและคลอดยาก
- มารดามีส่วนสูง < 150 ซม. อาจเสี่ยงต่อการคลอดยาก ทารกคลอดก่อนกำหนด
- มารดามีอาชีพที่สัมผัสสารเคมี รังสี หรือโรคติดเชื้อ เสี่ยงต่อทารกพิการ
- มารดามีโรคหรือภาวะผิดปกติ เช่น โลหิตจาง เบาหวาน ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคลมชัก เอสแอลอี โรคติดเชื้อ (ซิฟิลิส เอดส์ ไวรัสตับอักเสบบี หัดเยอรมัน อีสุกอีใส) อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในมารดาและทารก
อาการที่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ/รีบไปพบแพทย์
- ปวดศีรษะอย่างต่อเนื่องหรือรุนแรง
- คลื่นไส้ อาเจียนอย่างต่อเนื่องหรือรุนแรง
- เวียนศีรษะหน้ามืด
- ตามัว หรือสายตาผิดปกติ
- ปวดท้องน้อย
- มดลูกบีบตัว
- เลือดออกทางช่องคลอด
- น้ำคร่ำรั่ว (มีน้ำใส ๆ ออกทางช่องคลอด)
- มือหรือเท้าบวม
- ปัสสาวะออกมากหรือน้อยกว่าปกติ
- มีการติดเชื้อหรือการเจ็บป่วยอื่น ๆ
- ทารกที่เคยดิ้นแล้วไม่ดิ้นหรือดิ้นน้อยลง
*คำนวณวันกำหนดคลอด (expected date of confinement/EDC) = วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย (LMP) + 9 เดือน + 7 วัน เช่น LPM คือ 20 มีนาคม 2550 วันกำหนดคลอด คือวันที่ 27 ธันวาคม 2550 ประมาณร้อยละ 90 จะมีการคลอดจริงภายใน 2 สัปดาห์ก่อนหรือหลังวันกำหนดคลอดที่คำนวณได้
หากสงสัยตั้งครรภ์ (เช่นประจำเดือนขาด) หรือมีอาการแพ้ท้อง (เช่น คลื่นไส้ อาเจียนบ่อย) ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าตั้งครรภ์หรือแพ้ท้อง ควรรักษา กินยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด
สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ท้อง ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- ดื่มนมหรือเครื่องดื่มร้อน ๆ หลังตื่นนอน พร้อมกับกินขนมขบเคี้ยวที่ไม่หวาน (เช่น ขนมปังกรอบ บิสกิต) แล้วควรนอนพักสัก 15 นาทีก่อนลุกจากเตียง เพื่อไม่ให้ท้องว่าง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน
- กินอาหารที่ย่อยง่าย ควรกินอาหารที่ยังอุ่น ๆ แบ่งเป็นมื้อย่อย ๆ วันละ 5-6 มื้อ
- หลีกเลี่ยงอาหารมัน ของทอด อาหารรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด ของหมักดอง รวมทั้งอาหารและกลิ่นที่กระตุ้นให้รู้สึกคลื่นไส้มากขึ้น
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยการจิบน้ำทีละน้อยแต่บ่อย ๆ
- เมื่อรู้สึกคลื่นไส้ จิบน้ำอุ่น หรือดื่มน้ำขิงอุ่น ๆ
- ถ้าแพ้ท้องมาก กินอะไรออกหมด ให้อมลูกอมบ่อย ๆ จิบน้ำหวานหรือน้ำผลไม้ทีละน้อยบ่อย ๆเพื่อให้พลังงานและป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- หลังอาเจียน ควรดื่มน้ำอุ่น ๆ และกลั้วคอล้างกลิ่นที่อาจทำให้รู้สึกคลื่นไส้พะอืดพะอม
- นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ หาอะไรทำเพลิน ๆ เพื่อคลายเครียดและลืมความรู้สึกคลื่นไส้พะอืดพะอม
- อยู่ในที่ ๆ มีอากาศถ่ายเทสะดวก และหมั่นเดินเล่นสูดอากาศบริสุทธิ์นอกบ้านทุกวัน
สำหรับหญิงตั้งครรภ์ทุกท่านทั้งที่มีและไม่มีอาการแพ้ท้อง ควรปฏิบัติตัวดังนี้
- กินอาหารพวกโปรตีน (เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่วเหลือง เต้าหู้) อาหารที่มีธาตุเหล็ก (เช่น ตับ เครื่องในสัตว์ นม ไข่) แคลเซียม (เช่น นม เต้าหู้ก้อนแข็ง ยาเม็ดแคลเซียม) ผักและผลไม้ให้มาก ๆ
- งดแอลกอฮอล์ (อาจทำให้ทารกพิการหรือปัญญาอ่อน) และบุหรี่ (อาจทำให้ทารกตัวเล็กคลอดก่อนกำหนด หรือแท้ง)
- อย่าซื้อยาใช้เอง เพราะอาจได้รับยาที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ (ดูเพิ่มเติมในข้อ "ควรระวังในการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์")
- ทำงานและกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ สามารถออกกำลังกายได้ แต่ไม่ควรหักโหมจนเกินไป
- พักผ่อนนอนหลับให้มากขึ้น เมื่อครรภ์ใหญ่ขึ้นควรนอนตะแคง หลีกเลี่ยงการนอนหงาย เพราะมดลูกอาจกดหลอดเลือดใหญ่และท่อเลือดดำได้
- ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป ในรายที่เต้านมใหญ่ควรเปลี่ยนเสื้อชั้นในที่สามารถประคองเต้านม
- หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง เพราะอาจทำให้ปวดหลังได้ง่าย
- สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้จนกระทั่งประมาณ 4 สัปดาห์ก่อนวันกำหนดคลอด โดยหลีกเลี่ยงท่าที่ฝ่ายชายทาบทับที่ท้องโดยตรง ถ้ามีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดหรือเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดควรงดการมีเพศสัมพันธ์
- ควรฝากครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งคลอด โดยทั่วไปก่อนอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ จะนัดตรวจทุก 4 สัปดาห์ อายุครรภ์ 28-38 สัปดาห์ จะนัดตรวจทุก 2 สัปดาห์ และอายุครรภ์ 38 สัปดาห์ขึ้นไปจะนัดตรวจทุก 1 สัปดาห์
- ถ้าหากมีอาการผิดปกติ ควรรีบกลับไปแจ้งให้แพทย์ทราบ (อ่านเพิ่มเติมที่ “อาการที่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ” หัวข้อการรักษาโดยแพทย์ ด้านบน)
- ในระยะใกล้คลอด ควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพริน และยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพราะอาจทำให้มดลูกไม่บีบตัว ไม่มีแรงเบ่งคลอด คลอดยากได้
ยังไม่มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดอาการแพ้ท้องที่ได้ผล แต่เมื่อมีอาการแพ้ท้องเกิดขึ้น อาจลดอาการให้น้อยลงได้ด้วยการดูแลตนเองดังที่กล่าวไว้ในหัวข้อ "การดูแลตนเอง” ด้านบน
1. หญิงตั้งครรภ์ควรศึกษาให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ภาวะเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ การดูแลรักษาครรภ์ และการปฏิบัติตัวต่าง ๆ การเตรียมตัวเตรียมใจในการคลอดและการเลี้ยงดูทารก รวมทั้งประโยชน์และการเตรียมตัวในการเลี้ยงทารกด้วยนมมารดา
2. สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ท้อง ควรให้ความมั่นใจว่าอาการจะหายได้เองภายหลังตั้งครรภ์ได้ 14-16 สัปดาห์ ควรแนะนำให้สามีและญาติเห็นใจ ให้กำลังใจ ดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย
3. อาการอาเจียน นอกจากเกิดจากภาวะแพ้ท้องแล้ว ยังอาจมีสาเหตุจากโรคตับ โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ตับอ่อนอักเสบ กระเพาะลำไส้อุดกั้น โรคทางกระเพาะลำไส้ โรคทางสมอง เป็นต้น ถ้าหากมีอาการอาเจียนรุนแรงหรือต่อเนื่อง ก็ควรตรวจหาสาเหตุดังกล่าว
4. หญิงตั้งครรภ์มีโอกาสเป็นโรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะได้ง่าย และบางครั้งอาจไม่มีอาการแสดง จึงควรตรวจปัสสาวะเป็นครั้งคราวขณะฝากครรภ์ หากพบจะได้ให้การรักษาเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน
5. ถ้าสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยหัดเยอรมันหรืออีสุกอีใส ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อตรวจดูว่ามีการติดเชื้อไวรัสเหล่านี้หรือไม่ เพราะการติดเชื้อไวรัสเหล่านี้อาจทำให้ทารกพิการได้
6. ขณะตั้งครรภ์ โรคบางชนิด เช่น ไมเกรน เยื่อบุมดลูกต่างที่ มักจะทุเลาหรือปลอดจากอาการได้ในไตรมาสที่ 2 และ 3 แต่หลังคลอดก็จะกำเริบได้ใหม่
7. ในปัจจุบันแพทย์สามารถทำการตรวจวินิจฉัยทารกก่อนคลอด (prenatal diagnosis) ซึ่งมีอยู่หลายวิธี เช่น
- การตรวจกรองความผิดปกติของโครโมโซมและระบบประสาทของทารก เช่น กลุ่มอาการดาวน์ (Down’s syndrome)* ภาวะไม่มีสมอง (anencephaly) ความผิดปกติของไขสันหลัง (spina bifida) โดยการเจาะเลือดมารดาตรวจระดับ alpha-fetoprotein (AFP), beta-HCG และ unconjugated estriol เทียบกับค่ามาตรฐาน
- มารดาที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป (ซึ่งเสี่ยงต่อมีบุตรเป็นกลุ่มอาการดาวน์) มารดาเคยคลอดบุตรที่มีโครโมโซมผิดปกติ มารดามีประวัติการแท้งเป็นอาจิณ บิดาและมารดาเป็นโรคหรือมียีนแฝงของทาลัสซีเมีย (ซึ่งบุตรมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคทาลัสซีเมีย) ตรวจกรองเลือดมารดาแล้วพบความผิดปกติของโครโมโซม หรือตรวจอัลตราซาวนด์แล้วพบความพิการ สูติแพทย์จะทำการเจาะดูดน้ำคร่ำ (amniocentesics) หรือเก็บตัวอย่างเนื้อรก (chorionic villus sampling) เพื่อตรวจหาความผิดปกติของโครโมโซม
8. การป้องกันความผิดปกติของทารก บางกรณีควรกระทำตั้งแต่ก่อนจะตั้งครรภ์ เช่น
- ในรายที่ยังไม่เคยเป็นหัดเยอรมัน และอีสุกอีใส (ตรวจเลือดไม่พบสารภูมิต้านทานต่อโรคเหล่านี้) ควรฉีดวัคซีนป้องกัน (ดู “โรคหัด” และ “โรคอีสุกอีใส”)
- ป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาท (neural tube defect) เช่น spida bifida โดยการกินกรดโฟลิก (folic acid) 4 มก. วันละครั้ง ตั้งแต่ 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์จนกระทั่งพ้นระยะตั้งครรภ์ไตรมาสแรก