1. โรคนี้เกิดจากไวรัส เพียงแต่ให้การดูแลรักษาตามอาการ ส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ การที่ชาวบ้านในสมัยก่อนหรือบางคนให้ผู้ป่วยกินยาเขียวแล้วหายได้นั้นก็เพราะเหตุนี้ อย่างไรก็ตาม ควรแนะนำให้มีการติดตามเฝ้าดูภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นในผู้ใหญ่ ซึ่งมักมีความรุนแรงและโรคแทรกซ้อนมากกว่าเด็ก
2. ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหาก อย่าให้คลุกคลีกับคนอื่นจนกว่าจะพ้นระยะติดต่อ (ระยะติดต่อตั้งแต่ 4 วัน ก่อนผื่นขึ้นจนกระทั่ง 4 วัน หลังเริ่มมีผื่นขึ้น)
3. อาการไข้จะเป็นอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ และเมื่อมีผื่นขึ้นที่เท้าไข้จะลดลง ถ้ายังไม่ลดหรือลดแล้วกลับกำเริบใหม่ ควรคิดถึงภาวะแทรกซ้อนจากแบคทีเรีย เช่น ปอดอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ
4. หญิงตั้งครรภ์และผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เมื่อเป็นหัดมักจะมีอาการรุนแรงและอาจเกิดโรคปอดอักเสบหรือสมองอักเสบได้มากกว่าคนทั่วไป จึงควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ถ้าสงสัยมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
ควรแนะนำให้ผู้หญิงที่ยังไม่เคยเป็นหัด ฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่ก่อนแต่งงานหรือก่อนตั้งครรภ์
5. ถ้าสงสัยเด็กมีภาวะขาดวิตามินเอ (เช่น อยู่ในท้องถิ่นที่มีปัญหานี้) เมื่อเป็นหัดควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาให้วิตามินเอเสริม ซึ่งจะช่วยลดความพิการและการเสียชีวิตลงได้
6. โรคนี้ไม่มีของแสลง เมื่อเด็กกินได้ควรบำรุงด้วยอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเนื้อ นม ไข่ ถั่วต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้มีภูมิต้านทานโรคได้มาก การอดของแสลงอาจทำให้เกิดโรคแทรกได้ง่ายขึ้น และอาจกลายเป็นโรคขาดอาหารได้
7. โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่กระจายรวดเร็ว เด็กที่ไม่เคยออกหัดหรือฉีดวัคซีนหัดมาก่อนจึงมีโอกาสเป็นกันเกือบทุกคน เมื่อเป็นแล้วมักมีภูมิคุ้มกันไปจนตลอดชีวิต
บางคนอาจเข้าใจผิดว่าลูกออกหัดหลายครั้ง ความจริงเด็กอาจเป็นไข้ผื่นขึ้นจากสาเหตุอื่นก็ได้ เช่น หัดเยอรมัน ส่าไข้ ผื่นแพ้ยา เป็นต้น (ตรวจอาการ
ไข้ร่วมกับมีผื่นหรือตุ่มขึ้น)
8. มีความเชื่อกันว่า ถ้าผู้ป่วยเป็นไข้สูงที่ชวนให้สงสัยว่าเป็นหัด แต่ไม่มีผื่นขึ้น มักจะมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง จึงเรียกอาการเช่นนี้ว่า หัดหลบใน และมักจะให้กินยาเขียวเพื่อ "กระทุ้ง" ให้ผื่นขึ้น
ความจริงคำว่า "หัดหลบใน" อาจมีความหมายได้สองแง่ แง่หนึ่งหมายถึง อาการไข้สูงที่เกิดจากโรคติดเชื้อร้ายแรง (เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ) ที่เกิดจากเชื้อตัวอื่น พวกนี้จะมีอาการคล้ายหัด แต่ไม่มีผื่น (ตรวจอาการ
ไข้ ประกอบ) เมื่อเป็นแล้วอาจตายได้
อีกแง่หนึ่ง อาจหมายถึงอาการของหัดในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เด็กขาดอาหาร ผู้ป่วยมะเร็งและเอดส์ หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน พวกนี้เมื่อเป็นหัดมักจะไม่มีผื่นขึ้น เพราะร่างกายไม่มีปฏิกิริยาต่อเชื้อหัด (ซึ่งจะแสดงออกมาเป็นผื่นตามตัว) จึงเรียกว่า หัดหลบใน ผู้ป่วยมักมีโรคแทรกรุนแรง (เช่น ปอดอักเสบ) ถึงตายได้
9. ผู้ป่วยมักมีไข้สูงตลอดเวลา ซึม เบื่ออาหาร หน้าแดง ตาแดง นอกจากหัดแล้วยังอาจเกิดจากไข้เลือดออก ต่างกันที่ไข้เลือดออกมักไม่มีน้ำมูก ไอ แต่อาจมีอาการปวดท้อง อาเจียนร่วมด้วย (ดู
ไข้เลือดออก)
10. ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยโรคนี้ หากมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ (เช่น ไข้ เจ็บคอ เสียงแหบ น้ำมูกไหล ไอ ท้องเดิน หายใจเหนื่อยหอบ) หรือทำการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจน (ATK) ด้วยตนเองให้ผลเป็นบวก ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว