ในบ้านเราพบโรคนี้ประมาณร้อยละ 9 ของประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และพบเป็นมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ผู้ที่มีอายุ 15-29 ปีพบได้ประมาณร้อยละ 2 ในขณะที่อายุ 60-69 ปีขึ้นไปพบได้ถึงร้อยละประมาณ 20
ผู้ที่เป็นเบาหวานมักมีประวัติว่ามีพ่อแม่ หรือญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ และมักมีภาวะน้ำหนักเกินร่วมด้วย
เกิดจากความพบพร่องของฮอร์โมนอินซูลิน
อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ผลิตโดยตับอ่อน (ส่วนที่เรียกว่า บีตาเซลล์) ทำหน้าที่ช่วยนำน้ำตาลหรือกลูโคสในเลือด (ซึ่งได้จากอาหารที่กิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกแป้ง คาร์โบไฮเดรต ของหวาน) เข้าสู่เซลล์ทั่วร่างกาย เพื่อเผาผลาญให้เป็นพลังงานสำหรับการทำหน้าที่ของอวัยวะต่าง ๆ
ผู้ที่เป็นเบาหวานจะพบว่าตับอ่อนผลิตอินซูลินได้น้อยหรือไม่ได้เลย หรือผลิตได้ปกติ แต่ประสิทธิภาพของอินซูลินลดลง (เรียกว่า ภาวะดื้อต่ออินซูลิน หรือ insulin resistance เช่นที่พบในคนอ้วน) เมื่อขาดอินซูลินหรืออินซูลินทำหน้าที่ไม่ได้ น้ำตาลในเลือดจึงเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ ได้น้อยกว่าปกติ จึงเกิดการคั่งของน้ำตาลในเลือด และน้ำตาลก็ถูกขับออกมาทางปัสสาวะ จึงเรียกว่า เบาหวาน
ผู้ป่วยที่เป็นมาก คือมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก มักจะมีอาการปัสสาวะบ่อยและมาก เนื่องจากน้ำตาลที่ออกมาทางไตจะดึงเอาน้ำออกมาด้วย จึงทำให้มีปัสสาวะมากกว่าปกติ เมื่อถ่ายปัสสาวะมาก ก็ทำให้รู้สึกกระหายน้ำต้องคอยดื่มน้ำบ่อย ๆ และเนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถนำน้ำตาลมาเผาผลาญเป็นพลังงานจึงหันมาเผาผลาญกล้ามเนื้อและไขมันแทน ทำให้ร่างกายผ่ายผอม ไม่มีไขมัน กล้ามเนื้อฝ่อลีบ อ่อนเปลี้ยเพลียแรง
นอกจากนี้ การมีน้ำตาลในเลือดสูงนาน ๆ ทำให้อวัยวะต่าง ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงผิดปกติ และนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนมากมาย
เบาหวานสามารถแบ่งออกเป็นหลายชนิด ซึ่งมีสาเหตุ ความรุนแรง และการรักษาต่างกัน ที่สำคัญได้แก่
1. เบาหวานชนิดที่ 1 (type 1 diabetes mellitus) เป็นชนิดที่พบได้น้อย แต่มีความรุนแรงและอันตรายสูง มักพบในเด็กและผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี แต่ก็อาจพบในผู้สูงอายุได้บ้าง ตับอ่อนของผู้ป่วยชนิดนี้จะผลิตอินซูลินไม่ได้เลยหรือได้น้อยมาก เชื่อว่าร่างกายมีการสร้างสารภูมิต้านทานขึ้นต่อต้านทำลายตับอ่อนของตนเองจนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ ดังที่เรียกว่า โรคภูมิต้านตนเอง (autoimmune) ทั้งนี้เป็นผลมาจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ร่วมกับการติดเชื้อ หรือการได้รับสารพิษจากภายนอก
ผู้ป่วยจะมีรูปร่างผอม มีอาการของโรคชัดเจน และจำเป็นต้องพึ่งพาการฉีดอินซูลินเข้าทดแทนทุกวันไปตลอดชีวิต จึงจะสามารถเผาผลาญน้ำตาลได้เป็นปกติ มิเช่นนั้นร่างกายจะหันไปเผาผลาญไขมันแทนจนทำให้ผ่ายผอมอย่างรวดเร็ว และถ้าเป็นรุนแรงจะมีการคั่งของสารคีโตน (ketones) ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการเผาผลาญไขมัน สารนี้จะเป็นพิษต่อระบบประสาททำให้ผู้ป่วยหมดสติถึงตายได้รวดเร็ว เรียกว่า ภาวะคั่งสารคีโตน (ketosis)
ผู้ป่วยกลุ่มนี้แต่เดิมเรียกว่า เบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน (insulin-dependent diabetes mellitus/IDDM)
2. เบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes mellitus) เป็นเบาหวานชนิดที่พบเห็นกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมักมีความรุนแรงน้อย มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป และมีแนวโน้มพบในเด็ก/วัยรุ่นมากขึ้น ตับอ่อนของผู้ป่วยชนิดนี้ยังสามารถผลิตอินซูลินได้ แต่ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย หรือผลิตได้พอ แต่เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน จึงทำให้มีน้ำตาลคั่งในเลือดกลายเป็นเบาหวานได้ ผู้ป่วยชนิดนี้มักมีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน สาเหตุอาจเกิดจากกรรมพันธุ์หรืออ้วนเกินไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการชัดเจน และมักไม่เกิดภาวะคีโตซีสเช่นที่เกิดกับชนิดที่ 1 การควบคุมอาหารหรือการใช้ยาเบาหวานชนิดกิน มักได้ผลในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติได้ หรือบางครั้งถ้าระดับน้ำตาลสูงมาก ๆ ก็อาจต้องใช้อินซูลินฉีดเป็นครั้งคราว ยกเว้นในรายที่ดื้อต่อยากินอาจต้องใช้อินซูลินตลอดไป
ผู้ป่วยกลุ่มนี้แต่เดิมเรียกว่า เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน (non-insulin-dependent diabetes mellitus /NIDDM) และเนื่องจากเป็นกลุ่มที่พบได้บ่อย เมื่อพูดถึงโรคเบาหวาน จึงมักหมายถึงเบาหวานชนิดนี้
3. เบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะอื่น ๆ อาทิ
- เกิดจากยา เช่น สเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะไทอาไซด์ กรดนิโคตินิก ฮอร์โมนไทรอยด์
- พบร่วมกับโรคหรือภาวะผิดปกติทางกรรมพันธุ์ เช่น
- พบร่วมกับโรคติดเชื้อ เช่น คางทูม หัดเยอรมันโดยกำเนิด โรคติดเชื้อไวรัสไซโตเมกะโล (cytomegalovirus)
- พบร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น มะเร็งตับอ่อน ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ซึ่งมักพบในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด โรคคุชชิง กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง อะโครเมกาลี (acromegaly) ฟีโอโครโมไซโตมา (pheochromocytoma ซึ่งเป็นเนื้องอกของต่อมหมวกไตชนิดหนึ่ง)
ถ้าเกิดจากสาเหตุที่แก้ไขได้ เช่น ผ่าตัดเนื้องอกออกไป หรือหยุดยาที่เป็นต้นเหตุ โรคเบาหวานก็สามารถหายได้
4. เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes mellitus/GDM) ขณะตั้งครรภ์รกสร้างฮอร์โมนหลายชนิดซึ่งเข้าไปในร่างกายหญิงตั้งครรภ์ ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน เป็นเหตุให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนกลายเป็นเบาหวานได้ หลังคลอดระดับน้ำตาลในเลือดมารดามักจะกลับสู่ปกติ
หญิงกลุ่มนี้อาจคลอดทารกตัวโต (น้ำหนักแรกเกิดมากกว่า 4 กก.) มักเป็นเบาหวานซ้ำอีกเมื่อตั้งครรภ์ใหม่ และมีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานเรื้อรังตามมาในระยะยาว
ในรายที่เป็นไม่มาก ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เกิน 200 มก./ดล. ซึ่งพบในกลุ่มเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นส่วนใหญ่ ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายดีและไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ มักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจปัสสาวะ หรือตรวจเลือดขณะไปพบแพทย์ด้วยเรื่องอื่น หรือจากการตรวจเช็กสุขภาพ
ในรายที่เป็นมาก ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 200 มก./ดล. ซึ่งพบในกลุ่มเบาหวานชนิดที่ 1 และบางส่วนของเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นถึงขั้นรุนแรง ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะบ่อยและออกครั้งละมาก ๆ กระหายน้ำบ่อย หิวบ่อยหรือกินข้าวจุ อ่อนเปลี้ยเพลียแรง บางรายอาจสังเกตว่าปัสสาวะมีมดขึ้น
ในรายที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 อาการต่าง ๆ มักเกิดขึ้นรวดเร็วร่วมกับน้ำหนักตัวลดลงฮวบฮาบ (กินเวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน) ผู้ป่วยเด็กบางรายอาจมีอาการปัสสาวะรดที่นอนตอนกลางคืน ผู้ป่วยบางรายอาจมาโรงพยาบาลด้วยอาการหมดสติด้วยภาวะคีโตแอซิโดชิส (ketoacidosis) ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอายุน้อยและรูปร่างผอม
ในรายที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแสดงชัดเจน ส่วนน้อยจะมีอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้น น้ำหนักตัวอาจลดลงบ้างเล็กน้อย บางรายอาจมีน้ำหนักขึ้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนอยู่แต่เดิม ในรายที่เป็นเรื้อรังมานาน (ทั้งที่มีอาการหรือไม่มีอาการปัสสาวะบ่อยมาก่อน) อาจมีอาการคันตามตัว เป็นฝีหรือโรคติดเชื้อราที่ผิวหนังบ่อย หรือเป็นแผลเรื้อรัง หรืออาจมาพบแพทย์ด้วยภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ชาหรือปวดแสบปวดร้อนตามปลายมือปลายเท้า ตามัวลงทุกที หรือต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อย เจ็บจุกหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น
มักเกิดกับผู้ป่วยเบาหวานที่ปล่อยปละละเลย ขาดการรักษา หรือดูแลรักษาไม่ถูกต้อง
ภาวะแทรกซ้อนมีทั้งประเภทเฉียบพลัน (เช่น หมดสติ ติดเชื้อรุนแรง) และประเภทเรื้อรัง
ภาวะแทรกซ้อนประเภทเรื้อรัง มักเกิดในกลุ่มผู้ป่วยที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้อยู่เป็นเวลานาน (บางคนอาจใช้เวลา 5-10 ปีขึ้นไป) ทำให้หลอดเลือดแดงทั้งขนาดเล็กและใหญ่แข็งและตีบตัน ส่งผลให้อวัยวะหลายส่วน (เช่น ตา ไต ระบบประสาท เท้า สมอง หัวใจ) ขาดเลือดไปเลี้ยง เป็นเหตุให้อวัยวะเหล่านี้เสื่อมสมรรถภาพ พิการ หรือเสียหน้าที่
ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากภูมิคุ้มกันโรคต่ำ (เม็ดเลือดขาวทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรคได้น้อยลง)
นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะอื่น ๆ เป็นเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้อีกหลากหลาย
ในที่นี้จะขอกล่าวถึงภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญหรือพบบ่อย ได้แก่
1. ภาวะหมดสติจากเบาหวาน เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นเฉียบพลันและรุนแรง หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้
สาเหตุที่พบได้บ่อย คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จะพบในผู้ป่วยเบาหวานที่กินยาหรือฉีดยาเบาหวานสม่ำเสมอ หรือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ค่อนข้างดีอยู่แต่เดิม ภาวะแทรกซ้อนชนิดนี้มักเกิดจากผู้ป่วยใช้ยาเบาหวานเกินขนาด อดอาหาร กินอาหารน้อยเกินไป หรือกินอาหารผิดเวลานานเกินไป ดื่มแอลกอฮอล์มาก หรือมีการออกแรงกายหนักและนานเกินไป
อาการ ในระยะแรกผู้ป่วยจะรู้สึกหิว ใจสั่น มือสั่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หงุดหงิด กระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น ตาพร่ามัว หรือเห็นภาพซ้อน ถ้าผู้ป่วยรีบกินน้ำตาลหรือน้ำหวาน อาการต่าง ๆ จะทุเลาได้ภายในเวลาสั้น ๆ แต่หากไม่ทำการแก้ไขดังกล่าว ก็จะมีอาการขากรรไกรแข็ง ชักเกร็ง ไม่ค่อยรู้สึกตัวหรือหมดสติ ตรวจเลือดจะพบว่าน้ำตาลในเลือดต่ำ ตรวจปัสสาวะจะไม่พบน้ำตาลในปัสสาวะ (ดูรายละเอียดใน “ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ”)
นอกจากนี้ ภาวะหมดสติจากเบาหวาน ยังอาจเกิดจากสาเหตุร้ายแรงอื่น ๆ ได้แก่
- ภาวะคีโตแอซิโดซิส (ketoacidosis) พบเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ขาดการฉีดอินซูลินนาน ๆ หรือพบในภาวะติดเชื้อหรือได้รับบาดเจ็บ ซึ่งร่างกายต้องการอินซูลินมากขึ้นร่างกายจะมีการเผาผลาญไขมันแทนน้ำตาลทำให้เกิดการคั่งของสารคีโตนในเลือด จนเกิดภาวะเลือดเป็นกรด (เรียกว่า diabetic ketoacidosis/DKA) ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำอย่างมาก หายใจหอบลึก และลมหายใจมีกลิ่นหอม (กลิ่นของสารคีโตน) มีไข้ กระวนกระวาย มีภาวะขาดน้ำรุนแรง (ตาโบ๋ หนังเหี่ยว ความดันต่ำ ชีพจรเบาเร็ว) อาจมีอาการปวดท้อง ท้องเดิน ผู้ป่วยจะซึมลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งหมดสติ จะตรวจพบน้ำตาลในเลือดสูง พบน้ำตาลในปัสสาวะและพบสารคีโตนในเลือดและในปัสสาวะ
- ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงรุนแรง (non-ketotic hyperglycemic hyperosmolar coma/NKHHC) มักพบในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เป็นโรคโดยไม่รู้ตัว หรือที่ขาดการรักษา หรือมีภาวะติดเชื้อรุนแรง (เช่น ปอดอักเสบ กรวยไตอักเสบ โลหิตเป็นพิษ) หรือมีการใช้ยาบางชนิด (เช่น สเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ) ร่วมด้วย ทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก ๆ (สูงเกิน 600 มก./ดล. ขึ้นไป) ผู้ป่วยจะเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง ซึม เพ้อ ชัก หมดสติ โดยก่อนหน้าจะหมดสติเป็นวันหรือสัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย
2. การติดเชื้อ ผู้ป่วยเบาหวานจะเป็นโรคติดเชื้อง่ายเนื่องจากภูมิคุ้มกันต่ำ อาจเป็นการติดเชื้อซ้ำซาก เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กลาก โรคเชื้อราเคนดิดา ช่องคลอดอักเสบ เป็นฝีหรือพุพอง เป็นต้น อาจจะเป็นการติดเชื้อรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน หูชั้นนอกอักเสบรุนแรง เท้าเป็นแผลติดเชื้อซึ่งอาจลุกลามจนเท้าเน่า เป็นต้น หรืออาจจะเป็นโรคติดเชื้อเรื้อรัง เช่น วัณโรคปอด
3. ภาวะแทรกซ้อนของตา ที่สำคัญคือ จอประสาทตาเสื่อม (retinopathy) เกิดจากการตีบตันของหลอดเลือดแดงขนาดเล็กที่มาเลี้ยงจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาและหลอดเลือดในบริเวณนี้เกิดความผิดปกติแบบค่อยเป็นค่อยไป ในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่รู้สึกผิดปกติ จนกระทั่งเป็นมากแล้วก็จะเกิดอาการตามัว ตาบอดได้ ดังนั้นจึงควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจเช็กตาปีละครั้ง (ผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรตรวจตาตั้งแต่อายุครรภ์ 3 เดือนแรก และตรวจเป็นระยะจนกระทั่งหลังคลอด 1 ปี เนื่องจากการตั้งครรภ์อาจทำให้จอประสาทตาเสื่อมมากขึ้น) ถ้าพบเป็นตั้งแต่ระยะแรกเริ่มจะได้ให้การรักษา (ประกอบด้วยการยิงเลเซอร์ไปที่หลอดเลือดที่ผิดปกติ) ป้องกันตาบอด
นอกจากนี้ ยังอาจพบว่าผู้ป่วยเบาหวานเป็นต้อกระจกก่อนวัย หรือต้อหินเรื้อรัง เลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา (vitreous hemorrhage) จอตาลอก หลอดเลือดแดงหลักของจอตาอุดตัน ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ตาบอดได้
4. ภาวะแทรกซ้อนของไต ที่สำคัญ คือ ไตเสื่อม หรือไตวายเรื้อรัง (nephropathy หรือ chronic renal failure) เกิดจากการตีบตันของหลอดเลือดแดงขนาดเล็กที่มาเลี้ยงไต ทำให้ไตเสื่อมลงแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้า ๆ ในระยะแรกจะพบว่ามีสารไข่ขาว (แอลบูมิน) หลุดออกมาในปัสสาวะจำนวนน้อย (30-299 มก./วัน ซึ่งเรียกว่า microalbuminuria) ระยะนี้ยังมีทางบำบัดเพื่อป้องกันภาวะไตเสื่อมได้ ดังนั้นจึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสารไข่ขาวในปัสสาวะอย่างน้อยปีละครั้ง หากปล่อยปละละเลยจนไตเสื่อมถึงที่สุด ก็จะกลายเป็นไตวายเรื้อรัง ซึ่งในที่สุดอาจต้องทำการฟอกล้างของเสียหรือล้างไต (dialysis) หรือผ่าตัดปลูกถ่ายไต
5. ภาวะแทรกซ้อนของระบบประสาท ได้แก่ ระบบประสาทเสื่อม (neuropathy) เนื่องจากหลอดเลือดแดงขนาดเล็กที่มาเลี้ยงระบบประสาทเกิดการแข็งและตีบ ถ้าเกิดกับประสาทส่วนปลายที่เลี้ยงแขนขา ในระยะแรกอาจมีอาการปลายมือปลายเท้าแสบร้อน หรือเจ็บเหมือนถูกเข็มทิ่มแทง มักเป็นมากตอนกลางคืน จนบางรายนอนไม่หลับ อาการจะทุเลาหรือหายได้เมื่อคุมเบาหวานได้ดี
ถ้าปล่อยให้น้ำตาลในเลือดสูงต่อไปนาน ๆ ก็จะเกิดอาการชาปลายมือปลายเท้า ซึ่งจะค่อย ๆ ลุกลามสูงขึ้นมาเรื่อย ๆ (คล้ายใส่ถุงมือถุงเท้า) อาการชาดังกล่าวเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะไม่หายแม้ว่าต่อมาจะคุมเบาหวานได้ดีขึ้นก็ตาม จนในที่สุดจะไม่มีความรู้สึก จึงเกิดบาดแผลที่เท้าง่ายเมื่อเหยียบถูกของมีคมหรือของร้อน ๆ หรือถูกของแหลมทิ่มตำ เมื่อเกิดบาดแผลก็มีโอกาสติดเชื้ออักเสบเนื่องจากภูมิคุ้มกันต่ำ และเนื่องจากมีภาวะขาดเลือดจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและตีบ ทำให้แผลหายยาก บางครั้งอาจลุกลามรุนแรง หรือเป็นเนื้อเน่าตาย (gangrene) จำเป็นต้องตัดนิ้วเท้าหรือข้อเท้า เกิดความพิการได้ ผู้ป่วยเบาหวานควรหมั่นดูแลเท้าอย่าให้เกิดบาดแผล และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะจะเสริมให้หลอดเลือดแข็งและตีบมากขึ้น
บางรายอาจมีประสาทเลี้ยงกล้ามเนื้อตาเสื่อม ทำให้กล้ามเนื้อตาเป็นอัมพาต มีอาการตาเหล่ หนังตาตก หลับตาไม่สนิท รูม่านตาขยาย มองเห็นภาพซ้อน อาการเหล่านี้มักหายได้เองภายใน 6-12 สัปดาห์
นอกจากนี้ ยังอาจมีความเสื่อมของระบบประสาทอัตโนมัติ (autonomic neuropathy) ซึ่งควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะจากภาวะความดันตกในท่ายืน อาการอาหารไม่ย่อยหรือแสบลิ้นปี่จากโรคกรดไหลย้อน ปวดท้อง ท้องเดิน หรือท้องผูกเรื้อรังจากโรคลำไส้แปรปรวน กระเพาะปัสสาวะหย่อนสมรรถภาพ (ทำให้ถ่ายปัสสาวะออกไม่หมด เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง) ต่อมเหงื่อไม่ทำงาน (ทำให้ผิวแห้ง) องคชาตไม่แข็งตัว (erectile dysfunction ซึ่งนอกจากเกิดจากประสาทที่ไปเลี้ยงองคชาตเสื่อมแล้ว ยังเป็นผลมาจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงองคชาตเกิดการแข็งและตีบอีกด้วย)
6. ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) ทำให้หลอดเลือดตีบตัน ขาดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญ ๆ ได้แก่ หัวใจ สมอง ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ อ้วน สูบบุหรี่ เป็นต้น ก็ยิ่งมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงขาและเท้าก็เกิดการตีบตันได้ เรียกว่า "โรคหลอดเลือดแดงขาตีบ" มีภาวะเลือดไปเลี้ยงขาและเท้าไม่พอ ทำให้เกิดอาการปวดขาเวลาเดิน และอาจพบเป็นตะคริวตอนกลางคืนได้บ่อย
7. ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ผู้ป่วยเบาหวานยังอาจเป็นปัจจัยของการเกิดโรคอื่น ๆ อีก เช่น สมองเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์ ภาวะซึมเศร้า หูตึง ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง นิ่วน้ำดี เส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจพิการ (cardiomyopathy ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย) ได้ ภาวะไขมันสะสมในตับ (fatty liver ซึ่งอาจทำให้กลายเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับ) รวมทั้งมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับอ่อนมากขึ้น
สำหรับคนทั่วไป (ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์) หากมีอาการของเบาหวาน (เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย) หรือไม่มีอาการแต่ตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะหรือน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ หรือเป็นผู้ที่เสี่ยงต่อโรคนี้ (เช่น อ้วน มีญาติสายตรงเป็นเบาหวาน) ควรส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ดังนี้
1. กรณีผู้ป่วยไม่มีอาการแสดง ควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบเจาะที่แขน (venous blood) หลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (fasting plasma glucose/FPG) ซึ่งสามารถแปลผล ดังนี้
- ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (FPG) มีค่าต่ำกว่า 100 มก./ดล. ถือว่าปกติ
- ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (FPG) มีค่าเท่ากับ 100-125 มก./ดล. ถือว่าเป็นระดับน้ำตาลสูงผิดปกติ (impaired fasting glucose/IFG) เรียกว่า กลุ่มเสี่ยงสูงต่อเบาหวาน (categories of increased risk for diabetes) ควรตรวจยืนยันด้วยการทดสอบความทนต่อน้ำตาล (oral glucose tolerance test/OGTT)*
- ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (FPG) มีค่าตั้งแต่ 126 มก./ดล. ขึ้นไป หรือระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มกลูโคส 2 ชั่วโมงมีค่าตั้งแต่ 200 มก./ดล. ขึ้นไป ให้สงสัยว่าอาจเป็นเบาหวาน ควรทำการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด (FPG หรือ OGTT แล้วแต่กรณี) ซ้ำอีกครั้งในวันหลัง ถ้ายังมีค่าสูงอยู่ในระดับดังกล่าวอีกก็วินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน
นอกจากนี้ ยังสามารถวินิจฉัยโรคเบาหวานจากการตรวจพบระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA1C) มีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 6.5%** จากการตรวจ 2 ครั้งในต่างวันกัน
2. กรณีผู้ป่วยมีอาการชัดเจน ควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบสุ่มตรวจ คือ ตรวจได้ทันทีไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใด ถ้าพบว่ามีค่าตั้งแต่ 200 มก./ดล. ขึ้นไป ก็สามารถวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน
เกณฑ์การวินิจฉัยโรคเบาหวาน (สำหรับหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์)***
1. กรณีผู้ป่วยไม่มีอาการของโรคเบาหวาน จะวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานตามข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
2. กรณีผู้ป่วยมีอาการของโรคเบาหวานชัดเจน เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย จะวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานเมื่อ
1. ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน (ดัชนีมวลกาย ≥ 23 กก./ม² ถ้าตรวจพบเป็นปกติ ให้ตรวจซ้ำทุก 3 ปี
2. ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน ร่วมกับปัจจัยเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ควรตรวจกรองเบาหวานเมื่ออายุต่ำกว่า 35 ปี หรือควรกรองให้ถี่ขึ้น
- ขาดการออกกำลังกาย
- มีพ่อแม่พี่น้องเป็นเบาหวาน
- เคยตรวจพบว่ามีภาวะเบาหวานแฝง (ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมงมีค่า 100-125 มก./ดล. หรือระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มกลูโคส 75 กรัมไปแล้ว 2 ชั่วโมง มีค่า 140 -199 มก./ดล.)
- เคยมีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (GDM) หรือคลอดบุตรน้ำหนักมากกว่า 4 กก.
- มีความดันโลหิตสูง (≥ 140/90 มม.ปรอทขึ้นไป)
- มีไขมันเอชดีแอล (HDL) <35 มก./ดล. และ/หรือไตรกลีเซอไรด์ >250 มก./ดล.
- มีโรคหรือภาวะอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กับภาวะดื้อต่ออินซูลิน เช่น กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง ผิวหนังเป็นปื้นหนาสีน้ำตาลหรือดำ (acanthosis nigricans****) เป็นต้น
- มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดแข็งและตีบ (vacular disease)
ในการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ถ้าผู้ป่วยมีประวัติกินยาที่อาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูงอยู่ก่อน เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาเม็ดคุมกำเนิด สเตียรอยด์ กรดนิโคตินิก เฟนิโทอิน เป็นต้น ควรให้ผู้ป่วยงดยาก่อนที่จะทำการตรวจเลือด
** ค่าปกติต่ำกว่า 5% ถ้ามีค่า 5.7-6.4% ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อเบาหวาน
***สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ใช้เกณฑ์ข้อที่ 1 ก. และ 2 ก. ในการวินิจฉัยได้เช่นเดียวกัน
ส่วนระดับน้ำตาลในเลือดจากการทดสอบความทนต่อกลูโคส โดยการดื่มกลูโคส 100 กรัม (100 g OGTT) ใช้เกณฑ์ดังนี้
1. ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง ≥ 95 มก./ดล.
2. ระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มกลูโคส 1 ชั่วโมง ≥ 180 มก./ดล.
3. ระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มกลูโคส 2 ชั่วโมง ≥ 155 มก./ดล.
4. ระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มกลูโคส 3 ชั่วโมง ≥ 140 มก./ดล.
การวินิจฉัยภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (GDM) ต้องมีค่าน้ำตาลสูงตามเกณฑ์ดังกล่าว ตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป
**** ผิวหนังเป็นปื้นหนาสีน้ำตาลหรือดำคล้ายกำมะหยี่ พบบ่อยที่บริเวณหลังคอ รักแร้ ขาหนีบ ข้อนิ้วมือ ใต้นม ต้นขาด้านใน รอบช่องคลอด เป็นต้น ซึ่งมักเป็นพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง (แบบสมมาตร) บางครั้งอาจมีติ่งหนัง (skin tag) อยู่ในหรือรอบ ๆ บริเวณที่เป็นปื้นหนา
1. เมื่อตรวจพบว่าเป็นเบาหวาน แพทย์จะให้สุขศึกษาแนะนำข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วย และพิจารณาให้ยารักษาเบาหวานเมื่อมีข้อบ่งชี้ นอกจากนี้แพทย์จะประเมินภาวะเสี่ยงอื่น ๆ (เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ ภาวะน้ำหนักเกิน เป็นต้น) และทำการควบคุมภาวะเสี่ยงต่าง ๆ (เช่น ให้ยาลดความดัน ยาลดไขมัน) ควบคู่กันไปให้ได้ตามเป้าหมาย (ดูตารางเป้าหมายของการควบคุมโรคเบาหวาน) ถ้าควบคุมได้ดีอย่างต่อเนื่อง ก็จะลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ลงได้
2. ในการติดตามผลการรักษา จะทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ เพื่อดูว่าระดับน้ำตาลมีค่าเท่าไร สูงหรือต่ำเกินไปไหม มีประโยชน์ในการนำไปใช้แนวทางในการปรับเปลี่ยนยาและพฤติกรรมของผู้ป่วย
สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 (ซึ่งใช้ยาฉีดอินซูลิน) ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดวันละ 2-4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน ถ้ามีการปรับเปลี่ยนอาหารออกแรงกาย หรือมีการเจ็บป่วยอื่น ๆ ร่วมด้วย อาจต้องตรวจบ่อยขึ้น ในกรณีที่สามารถควบคุมน้ำตาลได้ดีอย่างสม่ำเสมอแล้ว อาจตรวจน้ำตาลในเลือดสัปดาห์ละ 1 วัน (ตรวจ 4-5 ครั้งในวันนั้น) หรือตรวจวันละครั้งก่อนอาหารหรือก่อนนอน แต่ละวันเปลี่ยนเวลาตรวจให้ต่างกันไป
สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ถ้ารักษาโดยการควบคุมอาหารอย่างเดียวหรือร่วมกับยาเบาหวานชนิดกิน (เช่น glipizide, metformin) ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดสัปดาห์ละ 1-2 วัน วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า 1 ครั้ง อีก 1 ครั้งคือหลังอาหาร 2 ชั่วโมงหรือก่อนนอน ถ้าใช้ยาฉีดอินซูลินตรวจสัปดาห์ละ 2 วัน วันละ 4 ครั้ง หรือตรวจวันละ 1 ครั้งก่อนอาหารหรือก่อนนอน โดยแต่ละวันเปลี่ยนเวลาตรวจให้ต่างกันไป
ผู้ที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดวันละ 5 ครั้ง คือ ก่อนอาหารเช้า หลังอาหาร 2 ชั่วโมง (เช้า-กลางวัน-เย็น ) และก่อนนอน
การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ควรฝึกให้ผู้ป่วยตรวจเองที่บ้าน หรือไปตรวจที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน โดยใช้เครื่องตรวจแบบพกพา (เจาะปลายนิ้ว)
นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานทุกชนิดควรตรวจระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม หรือ เฮโมโกลบินเอ 1 ซี (HbA1C) ซึ่งเป็นวิธีตรวจหาระดับน้ำตาลที่เกาะกับเม็ดเลือดแดง สามารถบอกค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ควรตรวจทุก 3 เดือน (ในรายที่ยังควบคุมน้ำตาลไม่ดี) หรือ 6 เดือน (ในรายที่ควบคุมน้ำตาลได้ดี)
3. การตรวจกรองภาวะแทรกซ้อนและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ
- ประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างน้อยปีละครั้ง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ ภาวะมีสารไข่ขาวในปัสสาวะ (albuminuria) ประวัติการสูบบุหรี่ ประวัติโรคหัวใจ และหลอดเลือดในครอบครัว
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ exercise stress test ปีละครั้ง
- ตรวจระดับครีอะตินีนในเลือด ดูภาวะไตวาย ปีละครั้ง
- ตรวจตาโดยจักษุแพทย์ปีละครั้ง ควรตรวจถี่ขึ้นสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ตั้งครรภ์
- ตรวจความผิดปกติของเท้า (เช่น อาการชา ลักษณะการเต้นของชีพจรที่เท้า) ปีละครั้ง ในปัจจุบันมีการใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า เส้นใยเดี่ยว (monofilament) ตรวจหาความเสื่อมของประสาทส่วนปลายก่อนที่ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกชาปลายมือปลายเท้าได้
ทั้งนี้ ถ้าพบความผิดปกติจะได้หาทางป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือชะลอความรุนแรงลง เช่น ให้แอสไพริน กินวันละ 81-162 มก. ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดในกลุ่มเสี่ยง (อายุมากกว่า 50 ปีในผู้ชาย หรือ 60 ปีในผู้หญิง และมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคนี้ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง และถ้ามีความดันสูง ควรให้ยาควบคุมความดันให้ได้ก่อน มิเช่นนั้นอาจทำให้มีเลือดออกในสมองได้), ในผู้ที่ตรวจพบสารไข่ขาวในปัสสาวะ แพทย์จะให้ยากลุ่มต้านเอซ หรือกลุ่ม angiotensin receptor blockers (ARB) เพื่อป้องกันภาวะไตวายเรื้อรังเป็นต้น
ในรายที่เคยมีโรคหัวใจและหลอดเลือดแทรกซ้อนมาก่อน แพทย์จะ ให้ยากลุ่มต้านเอซ ยาต้านเกล็ดเลือด (เช่น แอสไพริน) และ สแตติน กินป้องกันไม่ให้กำเริบซ้ำ
4. ถ้าพบผู้ป่วยมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าเกิดจากภาวะแทรกซ้อน เช่น เจ็บหน้าอก (โรคหัวใจขาดเลือด) แขนขาชาหรืออ่อนแรง (หลอดเลือดสมองตีบตัน) สายตามืดมัว (ภาวะแทรกซ้อนทางตา) เท้าบวม (ไตวาย) และมีแผลที่เท้าและผิวหนังบริเวณนั้นเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำลุกลามเร็ว (แผลติดเชื้อรุนแรง) ปลายนิ้วเท้ามีสีดำคล้ำและเย็นลงอย่างรวดเร็ว (ภาวะอุดตันของหลอดเลือดที่ขา) มีไข้สูง หนาวสั่น (โลหิตเป็นพิษ กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน) เป็นลม หมดสติ (ภาวะหมดสติจากเบาหวาน) เป็นต้น ควรส่งไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีอาการรุนแรง (เช่น อัมพาตเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน) แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล และให้การรักษาตามอาการและภาวะที่พบ
5. ผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะการตั้งครรภ์ โรคติดเชื้อรุนแรงหรือบาดเจ็บรุนแรง อาจมีระดับน้ำตาลสูง จะทำการตรวจวัดน้ำตาลในเลือดและ มักจะต้องใช้ยาฉีดอินซูลินแทนยากิน ในรายที่เป็นมากอาจต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
ผู้หญิงที่เป็นเบาหวานก่อนตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์โรคจะกำเริบมากขึ้น อาจทำให้มารดาและทารกเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ทารกพิการหรือตายมากขึ้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการรักษาจากสูติแพทย์ ร่วมกับอายุรแพทย์อย่างใกล้ชิด และควรควบคุมระดับน้ำตาลให้ได้ตามเป้าหมาย ดังนี้
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (FPG) < 95 มก./ดล. หรือ
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหาร 1 ชั่วโมง < 140 มก./ดล. หรือ
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหาร 2 ชั่วโมง 120 มก./ดล.
6. ผู้ป่วยที่เป็นแผลอักเสบ เป็นฝีหรือพุพอง แพทย์จะให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาชิลลิน หรือ โคอะม็อกซิคลาฟ หากมีอาการอักเสบรุนแรง อาจต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
7. ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ร่วมด้วย (เช่น ไข้หวัด ท้องเดิน) และมีอาการอาเจียน หรือเบื่ออาหารอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรตรวจน้ำตาลในเลือดวันละ 4 ครั้ง แนะนำให้กินข้าวต้ม โจ๊ก น้ำผลไม้ นมถั่วเหลือง นมพร่องมันเนย น้ำซุป ถ้ากินไม่ได้เลย ควรให้ดื่มน้ำหวานหรือน้ำอัดลม เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ถ้าพบว่ามีระดับน้ำตาลสูงหรือต่ำเกินไปอาจต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
หากสงสัย เช่น มีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย หิวข้าวบ่อย อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เป็นต้น หรือ เป็นผู้ที่เข้าข่ายของ “เกณฑ์การตรวจกรองโรคในผู้ที่ไม่มีอาการ” ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นเบาหวานควรดูแลตนเอง ดังนี้
1. พบแพทย์และตรวจเลือดตามนัด ขอย้ำว่า ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูงเล็กน้อย (140-200 มก./ดล.) มักไม่มีอาการผิดปกติให้รู้สึกได้ อาจทำให้ผู้ป่วยชะล่าใจ ปล่อยตัวจนอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวได้ ถือว่าโรคนี้เป็นภัยเงียบ (silent killer) ชนิดหนึ่ง หากเป็นไปได้ควรตรวจดูระดับน้ำตาลในเลือดทุกวัน หรือทุกสัปดาห์
2. กินยาลดน้ำตาลหรือฉีดอินซูลินตามขนาดที่แพทย์สั่ง อย่าลดยาหรือปรับยาตามความรู้สึก หรือการคาดเดาของตัวเองเป็นอันขาด การใช้ยาเกินขนาดอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ส่วนการใช้ยาต่ำกว่าขนาด อาจทำให้ระดับน้ำตาลสูง ควบคุมโรคไม่ได้
3. ควบคุมอาหารการกินอย่างเคร่งครัด โดยมีหลักง่าย ๆ ดังนี้
- กินอาหารวันละ 3 มื้อ กินให้ตรงเวลา ไม่งดมื้อใดมื้อหนึ่ง กินในปริมาณใกล้เคียงกันทุกวัน ทุกมื้อ รู้จักใช้หลักการแลกเปลี่ยนอาหาร (food exchange) ของอาหารแต่ละหมู่ เพื่อให้ได้ปริมาณแคลอรีที่ใกล้เคียงกัน
- อย่ากินจุบจิบ ไม่เป็นเวลา
- ในแต่ละมื้อ ให้กินอาหารที่มีทั้งแป้ง เนื้อสัตว์ ไขมัน และผัก
- หลีกเลี่ยงการกินน้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้สำเร็จรูป เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ขนมหวาน ขนมเชื่อมน้ำตาล นมหวาน (ให้ดื่มนมจืดแทน) ผลไม้ที่มีรสหวานจัด (เช่น ทุเรียน ขนุน ลำไย ลิ้นจี่ องุ่น ละมุด อ้อย เป็นต้น) ผลไม้กระป๋อง ผลไม้แช่อิ่มหรือเชื่อมน้ำตาล
- ถ้าชอบหวาน ให้ใช้น้ำตาลเทียมแทน
- ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ รวมทั้งยาดองเหล้า
- หลีกเลี่ยงการกินเครื่องในสัตว์ ไขมันสัตว์ น้ำมันหมู เนย มันหมู มันไก่ เนื้อติดมัน หมูสามชั้น ครีม กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ไข่แดง หอยนางรม อาหารทอด (เช่น ไก่ทอด กล้วยแขก ปาท่องโก๋ มันทอด ข้าวเกรียบทอด เป็นต้น)
- หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด และอาหารสำเร็จรูป (เช่น ไส้กรอก กุนเชียง เป็นต้น)
- กินอาหารประเภทแป้ง เช่น ข้าว ขนมจีน ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ถั่ว ข้าวโพด เผือก มัน ขนมปัง ในจำนวนพอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป
- กินผักให้มาก ๆ (ปริมาณไม่จำกัด) โดยเฉพาะผักประเภทใบและถั่วสด เช่น ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักบุ้ง ผักกระเฉด มะระ มะเขือยาว ถั่วงอก ถั่วแขก ถั่วฝักยาว เป็นต้น
- กินผลไม้ที่มีรสหวานไม่มาก ได้มื้อละ 6-8 คำ เช่น ส้ม มังคุด มะม่วง มะละกอ พุทรา ฝรั่ง สับปะรด แอปเปิ้ล ชมพู่ กล้วย เป็นต้น
4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ หรือทำงานออกแรงกายให้มาก (เช่น ทำสวน ขุดดิน ยกของ กวาดบ้าน ถูบ้าน ล้างรถ) ควรทำในปริมาณพอ ๆ กันทุกวัน อย่าหักโหม (ถ้าออกกำลังมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้) ทั้งการควบคุมอาหารและการออกกำลังควรให้เกิดความพอเหมาะ ที่จะช่วยควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ถ้าอ้วนเกินแสดงว่ายังปฏิบัติทั้ง 2 เรื่องนี้ไม่ได้เต็มที่
5. พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ร่าเริง อย่าให้เครียด หรือวิตกกังวล (ความเครียดอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้)
ถ้ามีโอกาสควรทำงานอาสาสมัครหรือสาธารณกุศล เข้าสมาคมชมรมหรือกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ จะช่วยให้รู้สึกตัวเองมีคุณค่าและหายเครียด
6. ควรเลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด และถ้ามีความดันโลหิตสูง หรือภาวะไขมันในเลือดสูง ควรดูแลรักษาจนสามารถควบคุมโรคได้ มิเช่นนั้นอาจทำให้หลอดเลือดแดงแข็งเร็วขึ้น ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ
7. หมั่นดูแลรักษาสุขภาพฟันและช่องปาก ด้วยการแปรงฟันให้ถูกวิธี และใช้ไหมขัดฟันวันละ 2 ครั้ง และไปพบทันตแพทย์ตามนัด
8. หมั่นดูแลรักษาเท้า ดังนี้
- ทำความสะอาดเท้า และดูแลผิวหนังทุกวัน เวลาอาบน้ำควรล้างและฟอกสบู่ตามซอกนิ้วเท้าและส่วนต่าง ๆ ของเท้าอย่างทั่วถึง หลังล้างเท้าเรียบร้อยแล้วซับทุกส่วนโดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้าให้แห้งด้วยผ้าขนหนู ระวังอย่าเช็ดแรงเกินไปเพราะผิวหนังอาจถลอกเป็นแผลได้
- ถ้าผิวหนังที่เท้าแห้งเกินไป ควรใช้ครีมทาผิวทาบาง ๆ โดยเว้นบริเวณซอกนิ้วเท้า และรอบเล็บเท้า
- ตรวจเท้าอย่างละเอียดทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า ฝ่าเท้า บริเวณที่เป็นจุดรับน้ำหนักและรอบเล็บเท้า เพื่อดูว่ามีรอยช้ำ บาดแผล หรือการอักเสบหรือไม่ หากมีแผลที่เท้าต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
- การตัดเล็บ ควรตัดด้วยความระมัดระวังเพื่อป้องกันมิให้เกิดเล็บขบ ซึ่งอาจลุกลาม และเป็นสาเหตุของการถูกตัดขาได้
- ควรตัดเล็บในแนวตรง ๆ และอย่าให้สั้นชิดผิวหนังจนเกินไป
- ไม่ควรใช้วัตถุแข็งแคะซอกเล็บ
- การตัดเล็บ ควรทำหลังล้างเท้าหรืออาบน้ำใหม่ ๆ เพราะเล็บจะอ่อนและตัดง่าย ถ้าสายตามองเห็นไม่ชัด ควรให้ผู้อื่นตัดเล็บให้ - ป้องกันการบาดเจ็บและเกิดแผล โดยการสวมรองเท้าทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน (อย่าเดินเท้าเปล่า) ควรเลือกรองเท้าที่สามารถหุ้มรอบเท้าได้ทุกส่วน รวมทั้งข้อเท้า (เช่น รองเท้าผ้าใบ) และสวมพอดี ไม่หลวม ไม่บีบรัด พื้นนุ่ม มีการระบายอากาศและความชื้นได้ ควรสวมถุงเท้าด้วยเสมอ โดยเลือกสวมถุงเท้าที่สะอาด ไม่รัดแน่น และเปลี่ยนทุกวัน ก่อนสวมรองเท้า ควรตรวจดูว่ามีวัตถุมีคมตกอยู่ในรองเท้าหรือไม่ สำหรับรองเท้าคู่ใหม่ ในระยะแรกเริ่มควรใส่เพียงชั่วเวลาสั้น ๆ ในแต่ละวัน เพื่อให้รองเท้าค่อย ๆ ขยายปรับตัวเข้ากับเท้าได้ดี
- หลีกเลี่ยงการตัด ดึง หรือแกะหนังแข็ง ๆ หรือตาปลาที่ฝ่าเท้า และไม่ควรซื้อยากัดลอกตาปลามาใช้เอง
- ถ้ารู้สึกว่าเท้าชา ห้ามวางขวดหรือกระเป๋าน้ำร้อน หรือประคบด้วยของร้อนใด ๆ จะทำให้เกิดแผลไหม้พองขึ้นได้ (วิธีเหล่านี้ไม่ช่วยให้อาการชาดีขึ้นแต่อย่างใด)
- ถ้ามีตุ่มหนอง มีบาดแผล หรือการอักเสบที่เท้า อย่าใช้เข็มบ่งเอง หรือใช้ทิงเจอร์ไอโอดีน หรือไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ชะแผล ควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ และปิดแผลด้วยผ้าก๊อซที่ปลอดเชื้อ และติดด้วยปลาสเตอร์อย่างนิ่ม (เช่น ไมโครพอร์) อย่าปิดด้วยปลาสเตอร์ธรรมดา และควรรีบไปพบแพทย์
9. ผู้ที่กินยาหรือฉีดยารักษาเบาหวานอยู่ประจำทุกวัน ถ้าหากมีอาการหิว ใจหวิว ใจสั่น หน้ามืด ตาลาย ตัวเย็น อาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรรีบกินน้ำตาลหรือของหวาน (ผู้ป่วยควรสังเกตอาการดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่กินอาหารน้อยหรือกินผิดเวลา หรือทำงาน หรือออกกำลังกายหักโหมกว่าปกติ หรือใช้ยาเกินขนาด)
ผู้ป่วยควรพกน้ำตาล ลูกอม หรือของหวานติดตัวเวลาเดินทางไปไหนมาไหน ไว้ใช้กินทันทีที่มีอาการสงสัยว่าอาจเกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
10. หมั่นตรวจน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ จะช่วยให้ทราบว่าควบคุมเบาหวานได้ดีเพียงไร ควรปรึกษาแพทย์ถึงเทคนิคการตรวจและความถี่ของการตรวจ การสังเกตจากอาการเพียงอย่างเดียว บอกไม่ได้ว่าควบคุมโรคได้หรือไม่ ถ้าเป็นไปได้ควรซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดซึ่งมีเทคนิคการตรวจอย่างง่าย ๆ ไว้ตรวจเองที่บ้าน จะช่วยให้สามารถประเมินผลการรักษา และปรับอาหารให้สอดคล้องกับระดับน้ำตาลในเลือดได้ดียิ่งขึ้น
11. ควรพกสมุดหรือบัตรประจำตัวที่ระบุถึงโรคที่เป็นและยาที่ใช้รักษา หากระหว่างเดินทางไปไหนมาไหนประสบอุบัติเหตุ หรือเป็นลมหมดสติ แพทย์จะได้ให้การช่วยเหลือที่ถูกต้องและทันการณ์
ควรกลับไปพบแพทย์โดยเร็ว ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีอาการเป็นลม หมดสติ ไม่ค่อยรู้ตัว สับสน หายใจหอบ เจ็บหน้าอกมาก แขนขาชาหรืออ่อนแรง ขามีอาการชาร่วมกับซีดและเย็น หรือมีอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำและกินน้ำตาลหรือของหวานแล้วไม่ทุเลา ควรไปพบแพทย์ทันที
- มีไข้สูง หนาวสั่น ท้องเดิน เหงือกบวมอักเสบหรือมีเลือดออก เป็นฝี ตุ่มหนอง บาดแผล หรือแผลอักเสบ หรือ เท้าบวม
- ขาดยาหรือยาหาย
- สงสัยมีผลข้างเคียงของยา เช่น ปากคอขม เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดมวนท้อง ท้องเดิน มีภาวะน้ำตาลต่ำ (รู้สึกหิวง่ายจะเป็นลมและทุเลาหลังกินข้าวหรือของหวาน หรือตรวจเลือดพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ) เป็นลมพิษ ผื่นคัน ปากบวม หนังตาบวม เป็นต้น
สำหรับคนทั่วไป และผู้ที่ตรวจพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อเบาหวาน ควรปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นเบาหวาน ดังนี้
1. ควบคุมอาหาร โดยลดของหวาน ๆ และไขมัน กินข้าวเป็นอาหารหลักสลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ กินพืชผัก ผลไม้ และเมล็ดธัญพืชให้มาก กินปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่วเหลือง เต้าหู้เป็นประจำ
2. ออกกำลังกายเป็นประจำ
3. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ มีส่วนช่วยป้องกันมิให้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
- ดัชนีมวลกาย 18.5-22.9 กก./ตร.ม.
- เส้นรอบเอว ทั้งชายและหญิงไม่ให้เกินครึ่งหนึ่งของส่วนสูง เช่น สูง 160 ซม.เส้นรอบเอวไม่ให้เกิน 80 ซม.
4. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์จัด (อาจทำให้ตับอ่อนอักเสบหรือตับแข็ง ซึ่งทำให้เป็นเบาหวานตามมาได้) และอย่าซื้อยาชุดยาลูกกลอนที่ใส่ยาสเตียรอยด์มาใช้เอง
1. เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาติดต่อกันเป็นเวลานานหรือตลอดชีวิต ซึ่งหากได้รับการรักษาอย่างจริงจัง และสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ก็จะมีชีวิตเหมือนคนปกติได้ แต่ถ้ารักษาไม่จริงจังนอกจากอาจมีอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนแล้ว การปล่อยให้มีระดับน้ำตาลสูงจะทำให้บีตาเซลล์ของตับอ่อนถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง ตับอ่อนผลิตอินซูลินได้น้อยลงไปอีก ส่งผลให้เบาหวานเป็นรุนแรงขึ้น และดื้อต่อการรักษามากขึ้น จนในที่สุดต้องใช้ยาฉีดอินซูลิน
ดังนั้น ผู้ป่วยและญาติควรเรียนรู้ให้เข้าใจธรรมชาติของโรครวมทั้งปัจจัยที่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อให้เห็นประโยชน์และแนวทางในการควบคุมโรค มิเช่นนั้น ผู้ป่วยอาจละเลยในการดูแลตนเอง ดิ้นรนเปลี่ยนหมอไปเรื่อย ๆ หรือหันไปหายากินเองอย่างไม่เหมาะสม ควรปรึกษาแพทย์หากจะหันไปใช้วิธีรักษาแบบทางเลือก
2. ผู้ป่วยที่กินยาหรือฉีดยารักษาเบาหวานอยู่ บางครั้งอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ คือมีอาการใจหวิว ใจสั่น หน้ามืด ตาลาย เหงื่อออก ตัวเย็นเหมือนเวลาหิวข้าว ถ้าเป็นมาก ๆ อาจเป็นลม หมดสติหรือชักได้ เมื่อเริ่มให้ยารักษาเบาหวาน ผู้ป่วยควรระวังดูอาการดังกล่าว และควรพกน้ำตาล ลูกอมหรือของหวานติดตัวประจำ ถ้าเริ่มรู้สึกมีอาการดังกล่าว ให้รีบกินน้ำตาล ลูกอมหรือของหวาน จะช่วยให้หายเป็นปลิดทิ้งทันที
ผู้ป่วยควรทบทวนดูว่า กินอาหารน้อยไป กินหรือฉีดยาเบาหวานขนาดมากเกินไป หรือออกแรงกายมากไปกว่าที่เคยทำอยู่หรือไม่ หรือมีการใช้ยาอื่นที่อาจเสริมฤทธิ์ยาเบาหวานหรือไม่ ควรปรับปัจจัยเหล่านี้ให้ดีจะช่วยป้องกันมิให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ถ้ายังเป็นอยู่บ่อย ๆ ควรไปปรึกษาแพทย์ที่รักษาเพื่อค้นหาสาเหตุและให้การแก้ไขตามสาเหตุต่อไป
ผู้ป่วยที่กินอาหารผิดเวลา ก็อาจเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน จึงต้องหมั่นกินข้าวให้ตรงเวลาทุกมื้อ
3. ผู้ป่วยอย่าซื้อยาชุดกินเอง เพราะยาบางอย่างอาจเพิ่มน้ำตาลในเลือดได้ เช่น สเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น และยาบางอย่างอาจเสริมฤทธิ์ของยารักษาเบาหวาน ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำได้ เช่น แอสไพรินและ ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนก ไพร็อกซิแคม นาโพรเซน) ที่นิยมใช้แก้ปวด แก้ข้ออักเสบ, ยากลุ่มซัลฟา (เช่น โคไตรม็อกซาโซล) เป็นต้น
4. ผู้ที่มีความเสี่ยงควรไปรับการตรวจกรองโรคเบาหวาน (ดูตาราง “เกณฑ์การตรวจกรองโรคเบาหวานในผู้ที่ไม่มีอาการแสดง” ในหัวข้อการวินิจฉัย)
สำหรับผู้ที่ตรวจพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อเบาหวาน (มีระดับน้ำตาลสูงผิดปกติเล็กน้อย) ควรปฏิบัติตัวเช่นเดียวกับ “การป้องกันโรคเบาหวาน” หากไม่ได้ผลแพทย์อาจพิจารณาให้กินยาเมตฟอร์มิน (metformin ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาเบาหวานชนิดหนึ่ง) ป้องกัน
สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่เคยมีประวัติเป็นเบาหวานมาก่อน ควรไปรับการตรวจวัดน้ำตาลในเลือดเพื่อดูว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (GDM) หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง* ถ้าพบว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรได้รับการดูแลจากสูติแพทย์ร่วมกับอายุรแพทย์อย่างจริงจัง
- อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
- มีน้ำหนักตัวเกิน (ดัชนีมวลกาย ≥ 23 กก./ม.2) ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
- ตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะ
- เคยคลอดทารกพิการแต่กำเนิด
- มีประวัติเป็นกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง
- มีประวัติว่ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นเบาหวาน
- เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน
- เคยคลอดทารกน้ำหนักมากกว่า 4 กก.
- เคยคลอดทารกที่เสียชีวิตในครรภ์โดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีภาวะน้ำคร่ำมากกว่าปกติ (amniotic fluid index > 25 ซม.)