รกลอกตัวก่อนกำหนด หมายถึง ภาวะที่รกลอกหลุดจากผนังมดลูกก่อนกำหนดการคลอด ทำให้มีเลือดออกอยู่ภายในมดลูก (ซึ่งอาจไม่ออกมาจากทางช่องคลอดให้เห็นก็ได้) และอาจทำให้ทารกในครรภ์ขาดเลือดเลี้ยง เป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่อาจเป็นภาวะฉุกเฉินที่มีอันตรายร้ายแรงต่อมารดาและทารกในครรภ์ได้ มักจะเกิดในครรภ์อายุมากกว่า 7 เดือนขึ้นไป
ยังไม่ทราบแน่ชัด ส่วนน้อยอาจเกิดจากการบาดเจ็บที่บริเวณท้อง (เช่น หกล้ม อุบัติเหตุจากรถยนต์) หรือสูญเสียน้ำคร่ำมากเนื่องจากเยื่อถุงน้ำคร่ำแตก (น้ำเดิน) ก่อนกำหนด
ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 40 ปี หรือเป็นความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่หรือเสพโคเคน มีครรภ์แฝดหรือครรภ์เป็นพิษ มีการอักเสบภายในถุงน้ำคร่ำ หรือเคยมีภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดมาก่อน มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้มากกว่าปกติ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง ปวดหลัง และท้องเกร็งแข็งเป็นพัก ๆ คล้ายการคลอดบุตร อาจมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อยหรือไม่มีเลือดออกให้เห็น
ในรายที่มีเลือดออกรุนแรงจะมีอาการซีด ตัวเย็น เหงื่อออก ชีพจรเร็ว ความดันตก ใช้เครื่องฟังตรวจเสียงหัวใจของทารกในท้องจะไม่ได้ยิน
ในรายที่มีเลือดออกไม่มาก อาจมีอาการเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อยเป็นครั้งเป็นคราว ทารกในครรภ์มีตัวเล็กกว่าปกติเนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยง
มารดาอาจเกิดภาวะช็อกจากการตกเลือด หากรักษาไม่ทัน อาจทำให้มารดาและทารกตายได้
บางรายอาจเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน หรือมีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดแทรกซ้อนได้
ทารกอาจคลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักน้อย หรือทารกตายในครรภ์
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ และจะวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจอัลตราซาวนด์ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ
ในรายที่เลือดออกไม่มาก และทารกยังแข็งแรงดี (ได้ยินเสียงหัวใจของทารกเป็นปกติ) หากอายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์ แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนพักในโรงพยาบาลจนกว่าเลือดจะหยุด หลังจากนั้นให้ผู้ป่วยกลับบ้าน และนัดมาตรวจอย่างใกล้ชิด ในบางรายแพทย์อาจให้มารดากินยาสเตียรอยด์เพื่อช่วยเร่งให้ปอดของทารกเจริญได้เต็มที่ หากจำเป็นต้องทำคลอดก่อนกำหนด
ในรายที่เลือดออกไม่มาก และทารกยังแข็งแรงดี หากอายุครรภ์มากกว่า 34 สัปดาห์ แพทย์อาจทำการคลอดทางช่องคลอดตามปกติ
ถ้าเลือดออกมากอาจต้องให้เลือดและทำการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องโดยด่วน
หากสงสัย เช่น หญิงตั้งครรภ์มีอาการปวดท้อง ปวดหลัง และท้องเกร็งแข็งเป็นพัก ๆ มีเลือดออกทางช่องคลอด ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นรกลอกตัวก่อนกำหนด ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีอาการเลือดออกทางช่องคลอด หรือปวดท้อง
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล แต่อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ได้ด้วยการไม่สูบบุหรี่ และไม่เสพโคเคน ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูงควรควบคุมให้ได้ผล เวลานั่งรถให้คาดเข็มขัดนิรภัยเพื่อป้องกันการได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หากมีการบาดเจ็บที่บริเวณท้อง ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
ผู้ที่เคยมีประวัติเกิดภาวะนี้มาก่อน เมื่อตั้งครรภ์ครั้งใหม่ควรไปฝากครรภ์กับแพทย์แต่เนิ่น ๆ
หญิงตั้งครรภ์ที่มีเลือดออกทางช่องคลอด ควรรีบไปพบแพทย์ทุกราย เพราะอาจเกิดจากแท้งบุตร รกเกาะต่ำหรือรกลอกตัวก่อนกำหนดได้