อย่าวางใจ! รวมโรคเสี่ยงจาก “ฝุ่น PM 2.5” ที่ต้องระวัง

อย่าวางใจ! รวมโรคเสี่ยงจาก “ฝุ่น PM 2.5” ที่ต้องระวัง

 

หลายปีมานี้ เราไม่ได้สูดอากาศบริสุทธิ์อย่างเต็มปอด เพราะมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 ที่ทำให้ต้องทนหายใจท่ามกลางฝุ่นละเอียด จากสถิติพบว่า ฝุ่น PM 2.5 สามารถเพิ่มการเกิดมะเร็งปอดได้ 1-1.4 เท่า ทำให้เราพอจะเห็นเค้าลางถึงผลกระทบต่อสุขภาพไม่น้อย แล้วความเสี่ยงด้านสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 มีอะไรบ้าง เราขอไล่ให้ดูพร้อมคำแนะนำในการลดความเสี่ยงจากฝุ่นพิษรอบตัว


ฝุ่น PM 2.5 กับความเสี่ยงต่อสุขภาพ

 

  • เสี่ยงระบบทางเดินหายใจ

ความเสี่ยงระยะสั้นที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อเราหายใจเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าไป จะทำให้รู้สึกแสบจมูก แสบตา ระคายเคืองตา เจ็บคอ ไอ จาม มีเสมหะ 

 

  • เสี่ยงภูมิแพ้ หอบหืด

ฝุ่น PM 2.5 มีอนุภาคที่เล็กมาก ๆ พูดได้ว่าเล็กกว่าถึง 20 เท่า เมื่อเทียบกับเส้นผมของคนเรา ทำให้สามารถเข้าสู่ปอดและกระแสเลือด หากได้รับฝุ่น PM 2.5 ในปริมาณมากและยาวนาน จะเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคหอบหืด ภูมิแพ้ ถุงลมโป่งพอง หรือใครที่ป่วยอยู่แล้วอาจทำให้อาการกำเริบ นอกจากนี้ อาจมีอาการผื่นคันบริเวณผิวหนัง ระคายเคือง ปวดแสบปวดร้อน เกิดลมพิษบริเวณใบหน้า ข้อพับ ขาหนีบ ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่น เพราะฝุ่น PM 2.5 ทำลายเซลล์ผิวหนังได้

 

  • เสี่ยงมะเร็งปอด 

องค์ประกอบสารเคมีในฝุ่น PM 2.5 อย่างเช่น โพลีไซคลิกอะโรมาติก และไฮโครคาร์บอน ที่เกิดจากการเผาไหม้ของสารอินทรีย์ไม่สมบูรณ์นั้น เป็นสาเหตุที่อาจนำมาซึ่งโรค มะเร็งปอด (Lung cancer) จากการศึกษายังพบว่า หากได้รับฝุ่น PM 2.5 ปริมาณ 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 1 มวนเลยทีเดียว แม้ความเสี่ยงของฝุ่นจิ๋วนี้จะไม่เยอะเท่าการสูบบุหรี่ แต่หากได้รับฝุ่น PM 2.5 ในปริมาณมาก เป็นระยะเวลานาน ก็เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอด ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทยได้

 

  • เสี่ยงโรคเรื้อรัง 

อาจส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากได้รับฝุ่น PM 2.5 เป็นระยะเวลานานหลายปี เพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้นถึง 10 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มแนวโน้มให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน


ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นพิเศษ

 

  • มีโรคประจำตัว เช่น ภูมิแพ้ หอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคปอด โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับสมองและไต
  • เด็กเล็ก
  • ผู้สูงอายุ
  • คุณแม่ตั้งครรภ์

 

วิธีลดความเสี่ยงจากฝุ่น PM 2.5

 

1. ตรวจค่าฝุ่นเพื่อวางแผนกิจวัตรประจำวัน โดยสามารถเข้าไปเช็กค่าฝุ่น PM 2.5 (ค่ารายชั่วโมง) ได้ที่เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน Air4Thai

 

  • ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 

กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง บุคคลทั่วไปควรลดหรือปรับเวลาทำกิจกรรม และใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา

 

  • ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 

ทุกคนต้องงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง ยกเว้นผู้ทำหน้าที่บริการสาธารณะ ให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา

 

  • ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 

ทุกคนควรอยู่ในตัวอาคารที่มีระบบฟอกอากาศ ยกเว้นผู้ทำหน้าที่บริการสาธารณะ ให้ใส่หน้ากาก N95 และจำกัดช่วงเวลาปฏิบัติงานไม่เกินครั้งละ 60 นาที

 

2. ติดตั้งระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพภายในตัวอาคาร

 

3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควรเลี่ยงหรืองดออกกำลังกายกลางแจ้งเมื่อค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน และเมื่อออกกำลังกายในที่ร่มควรมีระบบฟอกอากาศ

 

4. ดื่มน้ำให้เพียงพอ จะช่วยเร่งขับฝุ่น PM 2.5 ที่เล็ดรอดเข้ากระแสเลือดให้ออกมากับปัสสาวะ

 

5. เพิ่มผักและผลไม้ในมื้ออาหาร เสริมระบบแอนติออกซิแดนท์ (Antioxidant) ช่วยลดการทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อจากพิษฝุ่นได้

 

สรุป

 

ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอด เมื่อได้รับในปริมาณมาก เป็นระยะเวลานาน ความเสี่ยงก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ดูแลตัวเองด้วยการเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งเท่าที่จะทำได้ หรือสวมหน้ากากอนามัยสำหรับป้องกันฝุ่น PM 2.5 หากจำเป็นต้องออกจากบ้าน และอย่าลืมตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
 

อ่านข้อมูล โรคมะเร็งปอด (Lung cancer) เพิ่มเติม

 

คุณสามารถเช็กอาการ เจ็บหน้าอกไข้ร่วมกับหอบ ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งปอด ได้ที่ Smart Doctor โปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้นอัจฉริยะ จาก Doctor at Home

ข้อมูลล่าสุด : 9 พ.ค. 2566