หาหมออย่างฉลาดใน 3 ขั้นตอน

หาหมออย่างฉลาดใน 3 ขั้นตอน

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยประสบปัญหาเวลาไปหาหมอ เช่น ลืมบัตร คุยกับคุณหมอไม่เข้าใจ ไม่รู้จะบอกอาการคุณหมอยังไง หรืออื่น ๆ การไปหาหมออาจทำให้คุณเสียทั้งเวลา เสียทั้งเงิน โดยที่ไม่ได้อะไรเลย Doctor at Home ชวนมาเปลี่ยนวิธีการไปหาหมอแบบเดิมๆ ให้เป็นการไปหาหมออย่างฉลาด และได้ประสิทธิภาพมากที่สุด

 

ป่วยแค่ไหน เมื่อไหร่ ถึงต้องไปหาหมอ?

 
  • เมื่อรักษาตามอาการแล้วไม่หาย โดยปกติเรามักใช้ยาสามัญประจำบ้านรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น แต่หากว่าใช้แล้วไม่หาย มีอาการรุนแรงขึ้น หรือเริ่มมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ก็คงถึงเวลาที่เราควรจะไปหาหมอ 
  • มีอาการป่วยเป็น ๆ หาย ๆ จนวิตกกังวล  เมื่อมีอาการป่วยแม้เพียงเล็กน้อย แต่มีอาการต่อเนื่องนานเกินไป หรือเป็น ๆ หาย ๆ และมีผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวัน หรือทำให้เกิดความวิตกกังวล กรณีนี้ก็ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจให้ละเอียดต่อไป


หาหมออะไรดี?
 

เมื่อเราป่วย แต่ยังไม่รู้ว่าป่วยเป็นอะไร หรือเพราะอะไร คุณหมอคนแรกที่เราควรไปหาคือหมอเวชศาสตร์ครอบครัว/หมออายุรกรรมทั่วไป ซึ่งคุณหมอจะทำการวินิจฉัยโรค ค้นหาสาเหตุ และอธิบายให้เราฟังได้ว่าเราป่วยเป็นอะไร และควรต้องทำการรักษาอย่างไร แต่หากโรคนั้นเป็นโรคที่ต้องรักษาโดยหมอเฉพาะทาง คุณหมอก็จะส่งตัวเราไปให้หมอเฉพาะทางทำการรักษาต่อไป หมอเวชศาสตร์ครอบครัว/หมออายุรกรรมทั่วไปจึงเป็นเหมือนประตูบานแรกที่เปิดรับคนไข้ แต่สำหรับโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง อาจมีพยาบาลช่วยคัดกรองผู้ป่วยและส่งต่อไปพบแพทย์เฉพาะทางเลยก็ได้

ในกรณีที่รู้อยู่แล้วว่าเราป่วยเป็นอะไร เช่นเคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ หากเกิดปวดท้องลักษณะเดิมอีกครั้ง เราจะไปหาหมอเฉพาะทางระบบทางเดินอาหารเลยก็ได้ 

การเจ็บป่วยบางอย่าง เราสามารถไปหาหมอเฉพาะทางได้เลย เช่น มีอาการเกี่ยวกับตา ต้องไปพบจักษุแพทย์ หากมีอาการที่คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องผู้หญิง ๆ ก็ไปพบสูตินรีแพทย์ หากเป็นเด็กก็ควรจะพาไปพบกุมารแพทย์ เป็นต้น

 

ก่อนพบคุณหมอ

 

ไปหาหมอ ต้องเตรียมอะไรบ้าง?

 

1.เตรียมเอกสารส่วนตัว
 

  • เอกสารเพื่อเข้ารับบริการและรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น บัตรประชาชน ใบนัด ใบส่งตัว เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการรักษา เช่น ฟิล์ม x-ray หรือ ผล Ultrasound และเอกสารสำคัญอีกอย่างที่ลืมไม่ได้นั่นก็คือ เอกสารเกี่ยวกับการใช้สิทธิประกันสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นบัตรทอง บัตรประกันสังคม หรือบัตรประกันสุขภาพ

2. รวบรวมข้อมูลที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วย
 

  • รายละเอียดอาการเจ็บป่วยและระยะเวลาที่เป็น เช่น ปวดหัวข้างเดียว เป็นมานานกว่า 1 สัปดาห์ 
  • พฤติกรรมที่น่าจะเกี่ยวข้องกับอาการป่วย เช่น กินอาหารรสจัด นอนดึก หรือดื่มแอลกอฮอล์
  • ประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว ข้อมูลส่วนนี้สำคัญสำหรับโรคทางพันธุกรรม เช่น ธาลัสซีเมีย และโรคอื่น ๆ ที่หากมีคนในครอบครัวเป็น จะทำให้เรามีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนั้นได้มากกว่าคนทั่วไป เช่น โรคมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่


3. เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับยาและอาการแพ้
 

  • ข้อมูลการใช้ยา เช่น ปัจจุบันกินยาหรือใช้ยาอะไร ใช้มากน้อยแค่ไหน ทั้งยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ วิตามิน และอาหารเสริมต่าง ๆ หากเป็นไปได้ควรเตรียมยาที่ใช้ทั้งหมดไปด้วย ถ้าไม่สะดวกอาจถ่ายรูปเก็บไว้ในโทรศัพท์
  • ประวัติการแพ้ยาและอาหาร ลิสต์ชื่อยาและอาหารที่แพ้ อาการที่เกิดเมื่อแพ้ หากมี “บัตรแพ้ยา” ที่โรงพยาบาลออกให้ ควรนำติดตัวไปด้วย ถ้ามีอาการข้างเคียงของยาที่รับไม่ไหว เช่น เวียนหัวมาก ท้องเสีย ให้แจ้งคุณหมอ


4. ศึกษาข้อมูลอาการและโรคที่สงสัยว่าจะเป็นก่อนไปพบคุณหมอ
 

  • ข้อมูลของหลาย ๆ โรคเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก ทั้งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค อาการร่วมของโรค การรักษาและการดูแลตัวเอง จะดีกว่าไหม ถ้าเราศึกษาข้อมูลไว้ก่อนล่วงหน้า ทำให้เราเข้าใจสิ่งที่คุณหมออธิบายได้ง่ายขึ้นและปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง การรักษาโรคก็จะเป็นไปได้อย่างราบรื่น ก่อนจะไปพบคุณหมอ เราสามารถตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ที่ Smart Doctor โปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้นอัจฉริยะ จาก Doctor at Home เพื่อค้นหาข้อมูลเบื้องต้นของโรคที่เราอาจจะเป็น พร้อมรับคำแนะนำและวิธีปฏิบัติตัวก่อนไปพบคุณหมอ
  • เตรียมคำถามหากมีข้อสงสัย เมื่อศึกษาข้อมูลโรคเบื้องต้นแล้วมีข้อสงสัย ให้จดคำถามไว้ในสมุดบันทึกหรือโทรศัพท์เพื่อกันลืม โดยให้ลิสต์คำถามเรียงตามลำดับความสำคัญที่เราอยากได้คำตอบจากคุณหมอ เนื่องจากเวลาในการเข้าพบคุณหมอมีจำกัด โดยเฉพาะในโรงพยาบาลรัฐ ทำให้ไม่เสียเวลากับคำถามที่ไม่สำคัญจนหมดเวลา


5. พาเพื่อนหรือญาติมาด้วย หากช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
 

  • ในกรณีที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น ต้องรับยาหรือทำการตรวจรักษาที่มีผลข้างเคียง อาทิ มีอาการง่วง อาการเวียนศีรษะ หรือ ตามัว
 

พบคุณหมอ


คุยกับคุณหมอ กล้าถาม กล้าตอบ


1. เล่าอาการ
 

  • เมื่อพบคุณหมอให้เล่าอาการของตัวเองให้คุณหมอฟังอย่างละเอียด


2. กล้าที่จะถามคำถาม
 

  • หากคิดว่าอาการหรือโรคที่เป็นอยู่มีความซับซ้อน และกลัวว่าจะจำที่คุณหมออธิบายไม่ได้ ให้นำกระดาษ ปากกา หรือโทรศัพท์มือถือเข้าไปในห้องตรวจเพื่อจดสิ่งที่คุณหมอพูด
  • ถามถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย ความรุนแรงของโรค ระยะเวลาในการรักษาและการปฏิบัติตัว
  • หากคุณหมออธิบายแล้วยังไม่เข้าใจ เช่น ศัพท์ทางการแพทย์ หรือมีความกังวลใจเกี่ยวกับผลข้างเคียงของการรักษา ให้ถามคุณหมอ 
  • หากมีข้อสงสัยเรื่องยา ให้ถามคุณหมอ เช่น ปริมาณของยาที่จะใช้ วิธีใช้ยา และผลข้างเคียงต่าง ๆ
  • ถ้าจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติม ให้ถามคุณหมอถึงขั้นตอนการตรวจ หรือความจำเป็นในการตรวจเพิ่มเติม อย่ากลัวที่จะถาม


3. ตอบคำถามตามความเป็นจริง
 

  • เมื่อคุณหมอถาม ให้ตอบคำถามตามความเป็นจริง ไม่ควรโกหกและไม่ต้องอาย เช่น คำถามเกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์ การมีเพศสัมพันธ์ การใช้สารเสพติด การใช้ยาสมุนไพร หรือการรักษาโดยแพทย์ทางเลือก

หลังพบคุณหมอ


1. ตรวจสอบสิทธิหากต้องตรวจรักษาเพิ่มเติม

 

  • ในกรณีที่คุณหมอสั่งให้มีการตรวจเพิ่มเติม ทำการรักษา ผ่าตัด หรือทำกายภาพบำบัด ให้ตรวจสอบสิทธิความคุ้มครองตามบัตรทอง ประกันสังคม หรือประกันสุขภาพว่าได้รับความคุ้มครองหรือไม่ หากได้รับความคุ้มครองจะได้มากน้อยเพียงใด เช่น การทำ MRI แม้จะสามารถเบิกประกันสุขภาพได้ แต่ก็มีขั้นตอนการใช้สิทธิที่ค่อนข้างซับซ้อน และมีข้อจำกัดในบางกรณี หากไม่ตรวจสอบข้อมูลให้ดีอาจไม่สามารถใช้สิทธิได้


2. ตรวจสอบยาและใบนัด
 

  • ตรวจสอบว่าได้ยาอะไรมาบ้าง ครบตามจำนวนที่แพทย์สั่งหรือไม่ รวมถึงคำถามเกี่ยวกับการใช้ยาที่สามารถสอบถามเภสัชกรได้โดยตรง เช่น ยาก่อนอาหารหรือหลังอาหารต้องกินก่อนหรือหลังอาหารกี่นาที หากอาการดีขึ้นแล้วต้องกินยาที่ได้มาให้หมดเลยหรือไม่ หรือยาบางชนิดห้ามกินกับอาหารบางอย่าง คำถามพวกนี้สามารถถามได้ทันที


3. สังเกตอาการตัวเองหลังพบคุณหมอ
 

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ และสังเกตอาการของตัวเองตั้งแต่หลังเข้ารับการรักษา รวมถึงสังเกตอาการแพ้และผลข้างเคียงของการใช้ยา เพื่อเป็นข้อมูลในการไปพบคุณหมอครั้งต่อไป

สรุป

เมื่อการไปหาหมอเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในยามป่วย การใส่ใจเตรียมความพร้อมในการรักษาจึงเป็นเรื่องสำคัญ ควรเตรียมตัวเองให้พร้อมทุกครั้งก่อนไปหาหมอด้วยหลักการง่ายๆเพียง 3 ขั้นตอน เพียงแค่นี้ก็สามารถทำให้การหาหมอของคุณได้ประสิทธิภาพสูงที่สุด

ข้อมูลล่าสุด : 20 มิ.ย. 2566