ไขมันพอกตับ หมายถึงภาวะที่มีไขมันสะสมในตับมากกว่าปกติ (คือมีไขมันในตับหนักถึงร้อยละ 5-10 ของน้ำหนักตับ) ส่วนใหญ่ไม่มีอาการและไม่ก่อเกิดปัญหาที่ร้ายแรง ส่วนน้อยอาจทำให้กลายเป็นโรคตับอักเสบและตับแข็งตามมาได้
เป็นภาวะที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในผู้ที่ดื่มสุราจัด คนที่อ้วนลงพุง ผู้ที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หญิงวัยหมดประจำเดือนหรือผู้สูงอายุ
โรคนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. ไขมันพอกตับจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic fatty liver disease/AFLD) เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด*
2. ไขมันพอกตับที่ไม่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic fatty liver disease/NAFLD) พบในผู้ที่ไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่ชัดเจน แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อย ได้แก่ ภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน เบาหวานชนิดที่ 2 ไขมัน (ไตรกลีเซอไรด์/แอลดีแอลคอเลสเตอรอล) ในเลือดสูง กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายถุง ซึ่งมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance) กลุ่มอาการเมแทบอลิก (metabolic syndrome)** ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
นอกจากนี้ ยังอาจพบในผู้ป่วยตับอักเสบจากไวรัสซี ผู้ป่วยที่มีภาวะขาดไทรอยด์หรือภาวะต่อมใต้สมองทำงานน้อย ผู้ป่วยที่ผ่าตัดถุงน้ำดี หรือมีการใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์, อะมิโอดาโรน (amiodarone), ทาโมซิเฟน (tamoxifen), เมโทเทรกเซต (methotrexate) เป็นต้น
ที่พบได้น้อยแต่รุนแรง คือ ภาวะตั้งครรภ์ ซึ่งมักเกิดในไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ (แพทย์จำเป็นต้องให้การรักษาและช่วยให้คลอดบุตรให้เร็วที่สุด หลังคลอดภาวะไขมันพอกตับจะหายเป็นปกติ)
*ดื่มสัปดาห์ละ 15 ดื่มมาตรฐานหรือมากกว่า (สำหรับผู้ชาย) หรือ 8 ดื่มมาตรฐานหรือมากกว่า (สำหรับผู้หญิง)
1 ดื่มมาตรฐาน มีแอลกอฮอล์หนัก 10 กรัม ดูความหมายของแอลกอฮอล์ปริมาณ 1 ดื่มมาตรฐานในโรคความดันโลหิตสูง
มีงานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าผู้ชายที่ดื่มแอลกอฮอล์ วันละ 40-80 กรัม และผู้หญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์ วันละ 20-40 กรัม นานกว่า 10-12 ปี มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคตับที่รุนแรง
**หมายถึง ภาวะที่มีอาการอย่างน้อย 3 จาก 5 ประการดังต่อไปนี้ (1) ภาวะอ้วนลงพุง (ผู้ชายถ้ามีรอบเอวตั้งแต่ 90 เซนติเมตรขึ้นไป ผู้หญิงถ้ามีรอบเอวตั้งแต่ 80 เซนติเมตรขึ้นไป), (2) ความดันโลหิตสูงกว่าปกติ (มีค่าตั้งแต่ 130/85 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป), (3) น้ำตาลในเลือดสูง (มีระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารตั้งแต่ 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป), (4) ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง (ตั้งแต่ 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป) และ (5) เอสดีแอลคอเลสเตอรอล (HDL) ในเลือดต่ำ (น้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตรในผู้ชาย หรือน้อยกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตรในผู้หญิง)
ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ และตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติที่ชัดเจน แพทย์มักตรวจพบโดยบังเอิญขณะทำการตรวจเช็กสุขภาพ หรือตรวจอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ บางรายอาจรู้สึกอ่อนเพลีย ปวดแน่นบริเวณใต้ชายโครงขวา
สำหรับผู้ป่วยที่กลายเป็นตับอักเสบหรือตับแข็ง ก็จะมีอาการของโรคตับ เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ท้องอืดท้องเฟ้อ คลื่นไส้ ตาเหลืองตัวเหลือง เป็นต้น
หากปล่อยไว้ หรือไม่ได้ควบคุมสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยง เช่น ยังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด ไม่ลดน้ำหนัก ไม่ควบคุมโรคเบาหวานหรือไขมันในเลือดสูง ก็จะเกิดความผิดปกติของตับตามมา
โดยเริ่มแรกเกิดการอักเสบของตับ ถ้าเกิดขึ้นในผู้ที่เป็นไขมันพอกตับจากแอลกอฮอล์ เรียกว่า "Alcohalic steatohepatitis" ถ้าเกิดขึ้นในผู้ที่เป็นไขมันพอกตับที่ไม่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ เรียกว่า "Nonalcoholic steatohepatitis (NASH)" ซึ่งระยะนี้หากควบคุมสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงได้ การอักเสบก็กลับฟื้นหายขึ้นมาได้
ต่อมาจะค่อย ๆ เกิดพังผืด (fibrosis) ในตับ พอสะสมปริมาณมากเข้า ก็จะกลายเป็นโรคตับแข็งในที่สุด และมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งตับได้
แพทย์จะทำการซักถามประวัติการเจ็บป่วย (มีโรคหรือภาวะที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค) และจะทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องเป็นหลัก ซึ่งจะพบลักษณะที่มีไขมันสะสมในตับ
แพทย์จะทำการตรวจเลือด นอกจากดูการทำงานของตับ (ถ้าพบว่ามีค่าเอนไซม์ตับสูงก็บ่งชี้ว่ามีการอักเสบของตับ) แล้ว ยังตรวจหาปัจจัยที่ทำให้ไขมันพอกตับ (เช่น ตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบซี)
บางรายแพทย์อาจทำการตรวจวัดปริมาณพังผืดในตับ ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า "Transient elastography" โดยการใช้เครื่องอัลตราซาวนด์พิเศษ -"Fibroscan"
ในรายที่จำเป็นต้องการตรวจหาสาเหตุของตับอักเสบให้แน่ชัด หรือประเมินความรุนแรงของโรค แพทย์อาจทำการเจาะชิ้นเนื้อตับไปตรวจ (liver biopsy)
แพทย์จะทำการรักษาโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และแนะนำให้ผู้ป่วยลดน้ำหนัก (อย่างน้อยร้อยละ 5-10 ของน้ำหนักเดิม) หยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ผลการรักษา ส่วนใหญ่ถ้าได้ดูแลรักษาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดน้ำหนัก และการงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอกอฮอล์ มักจะช่วยให้ตับฟื้นคืนสู่ปกติและไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้
หากมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไขมันพอกตับควรปรึกษาแพทย์ เมื่อตรวจพบว่ามีภาวะนี้ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- ดูแลรักษา ปฏิบัติตัว และติดตามการรักษาตามที่แพทย์แนะนำ
- หยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ลดน้ำหนัก ด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย
- กินอาหารสุขภาพ เน้นผักผลไม้ ธัญพืช ปลา เต้าหู้ ให้มาก ลดน้ำตาล ของหวาน เนื้อแดง และอาหารที่มีไขมันสูง
- ออกกำลังกาย เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วันเป็นอย่างน้อย
- หลีกเลี่ยงการซื้อยามาใช้เอง เพราะยาบางชนิดอาจมีผลต่อตับ ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาควรปรึกษาแพทย์/เภสัชกร
ควรกลับไปปรึกษาแพทย์ ถ้ามีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ท้องอืดท้องเฟ้อ คลื่นไส้ ตาเหลืองตัวเหลือง ยาหาย ขาดยา หรือมีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดน้ำหนักถ้าน้ำหนักเกินหรืออ้วน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- กินอาหารสุขภาพ เน้น ผักผลไม้ ธัญพืช ปลา เต้าหู้ ให้มาก ลดน้ำตาล ของหวาน เนื้อแดง และอาหารที่มีไขมันสูง
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์จัดหรือดื่มเป็นประจำ ถ้าจะดื่มเป็นครั้งคราว ควรดื่มไม่เกิน 2 ดื่มมาตรฐานต่อวัน (สำหรับผู้ชาย) หรือไม่เกิน 1 ดื่มมาตรฐานต่อวัน (สำหรับผู้หญิง)
- หลีกเลี่ยงการซื้อยามาใช้เอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์/เภสัชกร
- หาทางป้องกันไม่ให้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ดูเรื่องการป้องกัน "ตับอักเสบจากไวรัส"
- หมั่นตรวจเช็กสุขภาพ และให้การดูแลรักษาโรคประจำตัวที่ตรวจพบ (เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น)
1. ภาวะไขมันพอกตับมักไม่มีอาการแสดงใด ๆ ให้รู้สึก และมักตรวจพบโดยบังเอิญเมื่อไปปรึกษาแพทย์ด้วยเหตุอื่น ภาวะนี้ถือว่าเป็นสัญญาณเตือนให้หันมาดูแลรักษาตนเองเพื่อไม่ให้กลายเป็นโรคตับที่ร้ายแรง (ตับแข็ง มะเร็งตับ)
2. การปฏิบัติตัวในการป้องกันและรักษาตัวเองสำหรับโรคนี้ที่สำคัญ ได้แก่ การไม่ดื่มแอลกอฮอล์จัดหรือเป็นประจำ และการลดน้ำหนักตัว นอกจากมีผลดีโดยตรงต่อโรคนี้แล้ว การลดน้ำหนักยังช่วยป้องกันและควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุของภาวะไขมันพอกตับ (เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ) อีกทางหนึ่งด้วย