จิตวิตยาน่ารู้: โลกหลายใบ เป็นนิสัย หรือ โรคทางจิต?

จิตวิตยาน่ารู้: โลกหลายใบ เป็นนิสัย หรือ โรคทางจิต?

ช่วงนี้มีข่าวที่คนให้ความสนใจเป็นอย่างมากก็คือ คดีฆาตกรรมของ ‘ใหม่’ หนุ่มโรงงาน ที่ถูกพบเป็นศพในสภาพถูกมัดมือเท้าและเสียชีวิตจากการถูกยิงเข้าที่กลางศีรษะ ซึ่งตอนนี้ตำรวจได้จับกุมผู้ก่อเหตุ ‘ช่างกิต’ และพวกอีก 4 คน โดยช่างกิตเป็นชายที่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ ‘พร’ ภรรยาของผู้ตาย โดยในช่วงเวลาขณะเกิดเหตุที่ช่างกิตทำการอุ้มฆ่าใหม่นั้น พรกลับไปอยู่กับ ‘เอกชัย’ เพื่อนชายที่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งอีกคนหนึ่ง แม้หลายคนเองจะตั้งข้อสงสัย แต่พรได้ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมใหม่ และตำรวจเองยังไม่ได้มีหลักฐานอะไรที่มาเปิดเผยกับสาธารณชนในการเชื่อมโยงการกระทำความผิดไปถึงตัวพรอีกด้วย

 

ต่อมาก็มีข่าวออกมาว่า นอกจากช่างกิตกับเอกชัยแล้ว พรยังมีโลกอีกหลายใบตลอดระยะเวลา 17 ปี ที่แต่งงานกับใหม่ ซึ่งตรงนี้เองทำให้หลายคนถึงกับนำพรไปเปรียบเทียบอย่างเสีย ๆ หาย ๆ กับนางในวรรณคดีไทยต่าง ๆ ที่มีพฤติกรรมหลายรักและคบซ้อนกันเลยทีเดียว เหตุเพราะสังคมช็อกและไม่พอใจกับพฤติกรรมการคบซ้อนของผู้หญิงในระดับที่มีโลกถึง 8 ใบ และเป็นเหตุให้ใหม่ต้องมาจบชีวิตแบบนี้ และตั้งคำถามต่อไปว่าพฤติกรรมของคนที่คบซ้อนแบบ ‘มัลติเวิร์ส’ ระดับนี้นั้นไม่ว่าจะเป็นเพศใดเป็นนิสัยทั่วไปของคนเจ้าชู้หรือว่าเป็นพฤติกรรมของคนที่อาจมีโรคทางจิตหรือไม่ โดยบทความนี้จะมาหาคำตอบกัน

 

1. การนอกใจซ้ำ ๆ (serial cheating) 


ก่อนที่จะพูดถึงโรคทางจิตที่จะทำให้เกิดพฤติกรรมการคบซ้อนนั้น ผู้เขียนขออธิบายถึงพฤติกรรมนอกใจซ้ำ ๆ ก่อน โดยบุคคลที่มีพฤติกรรมการนอกใจบ่อยครั้ง รวมถึงการคบซ้อนหลายคนในเวลาเดียวกันโดยที่อีกฝ่ายไม่รู้หรือไม่ได้ยินยอมด้วย โดยผู้ที่นอกใจซ้ำ ๆ มักมีลักษณะและพฤติกรรมดังต่อไปนี้คือ

  • ชอบโกหก
  • ไม่ค่อยยอมรับผิดในพฤติกรรมของตนเองที่มีผลต่อความสัมพันธ์
  • มักนอกใจบ่อย ๆ
  • มักหาข้ออ้างมาแก้ตัวในการนอกใจ
  • มีปัญหาในการรู้จักยับยั้งชั่งใจตนเอง
  • มองว่าการนอกใจไม่ใช่เรื่องใหญ่และไม่ค่อยให้ค่ากับความสัมพันธ์แบบรักเดียวใจเดียว

วัตถุประสงค์และแรงจูงใจเบื้องหลังพฤติกรรมการนอกใจซ้ำ ๆ มีได้หลากหลาย เช่น อาจเป็นการแสวงหาความตื่นเต้น อยากรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า และการเรียกร้องความสนใจ นอกจากนี้ อาจเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องความผูกพัน หรือมาจากปมในใจในระดับจิตใต้สำนึกที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา เช่น บาดแผลทางใจหรือปมในใจที่เกิดขึ้นในวัยเด็กของตน เป็นต้น

 

2. การนอกใจซ้ำ ๆ กับโรคทางจิต

 

ไม่ใช่ทุกคนที่มีพฤติกรรมนอกใจซ้ำ ๆ จะเป็นโรคทางจิต และคนที่เป็นโรคทางจิตทุกคนก็ไม่ได้มีพฤติกรรมนอกใจซ้ำ ๆ 
อย่างไรก็ดี โรคทางจิตบางอย่างก็อาจสนับสนุนให้เกิดการกระทำพฤติกรรมนอกใจซ้ำ ๆ ได้ เช่น โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่าง ๆ, โรคพฤติกรรมหมกมุ่นทางเพศ หรือโรคเสพติดเซ็กส์, โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และปัญหาเรื่องความผูกพัน

 

2.1. โรคบุคลิกภาพผิดปกติ

 

คู่มือวินิจฉัยและสถิติความผิดปกติทางจิต ฉบับที่ 5 (DSM-5) ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด โดยสมาคมจิตแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาได้กำหนดถึงโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่าง ๆ ไว้ หลายแบบด้วยกัน โดยผู้เขียนจะขอกล่าวถึงโรคบุคลิกภาพผิดปกติที่อาจเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมนอกใจซ้ำ ๆ ดังนี้

 

2.1.1. โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบฮิสทริโอนิก (Histrionic Personality Disorder หรือ HPD): ผู้เป็นโรคนี้จะแสดงออกทางอารมณ์มากกว่าปกติและอยากได้รับความสนใจจากคนรอบข้างมากเป็นพิเศษ ผู้ป่วยมักมีอารมณ์รุนแรง ไม่คงที่ และเห็นภาพลักษณ์ของตัวเองที่บิดเบือนจากความจริง 


สำหรับผู้ป่วย HPD นั้น ความมั่นใจในตนเองและคุณค่าของตัวเองจะขึ้นอยู่กับการยอมรับและความสนใจจากผู้อื่น เนื่องจากผู้ป่วยมีความปรารถนาอย่างมากที่จะได้รับความสนใจและเป็นจุดสนใจอยู่ตลอด ผู้ป่วยมักจะแสดงพฤติกรรมที่มากเกินกว่าเหตุหรือไม่เหมาะสม บ่อยครั้งจะแต่งตัวโป๊หรือแสดงออกอย่างยั่วยวน มักเบื่อง่ายและเปลี่ยนกิจกรรมบ่อย มักทำอะไรไม่คิดหน้าคิดหลัง เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง และมักห่วงตัวเองเป็นหลัก โดยโรคนี้พบได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่จะพบบ่อยกว่าในผู้หญิง 


ทั้งนี้ ผู้ป่วย HPD อาจเป็นผู้ที่นอกใจซ้ำ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่จะเรียกร้องความสนใจตลอดเวลา ด้วยบุคลิกผู้ป่วย HPD มักมีเสน่ห์ดึงดูด และมักแสดงพฤติกรรมเย้ายวนใจ ผู้ป่วย HPD จึงสามารถดึงดูดความสนใจทางเพศจากผู้อื่นได้อยู่เสมอแม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกอาจไม่ได้โดดเด่นก็ตาม (ทั้งนี้ คนที่เป็นโรค HPD หลายคนนั้น มักดูแลรูปลักษณ์ภายนอกให้ดูดีอยู่เสมอด้วย แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน) และอาจนำไปสู่การมีคู่รักใหม่ ๆ ได้ง่าย นอกจากนี้ ด้วยนิสัยเบื่อง่าย เห็นแก่ตัว และมีอารมณ์ตื้นเขิน ผู้ป่วย HPD จึงมักจะมุ่งสนองความต้องการของตัวเอง โดยไม่ค่อยสนใจความรู้สึกของคนรักตัวเองว่าจะรู้สึกอย่างไรหากตนคบซ้อนซ้ำ ๆ  


โรค HPD นี้ใช่โรคเดียวกันกับโรคฮิสทีเรียมั้ย?

 

HPD มีรากฐานทางประวัติศาสตร์ที่สืบทอดมาจากแนวคิดเรื่องฮิสทีเรีย (hysteria) ในอดีต โดยฮิสทีเรียนั้นถูกพูดถึงมาตั้งแต่ 2000 ปีก่อนคริสตกาล (2000 BC) และฮิสทีเรียถือเป็นโรคเฉพาะผู้หญิงโรคแรกนับตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ ซึ่งในประเทศไทยนั้น เราอาจเห็นจากละครว่า ฮิสทีเรียเป็นโรคที่เกิดในผู้หญิงที่มีอาการขาดผู้ชายไม่ได้ หรือในผู้หญิงมีอาการคลั่งเซ็กส์ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ความความหมายของโรคฮิสทีเรียที่ถูกต้องทีเดียวนัก โดยในสมัยก่อนนั้น โรคฮิสทีเรียเป็นโรคที่เกี่ยวกับอาการทางกาย และโรคภัยไข้เจ็บที่หาสาเหตุไม่ได้ รวมทั้งอาการทางจิตหลากหลายรูปแบบ (รวมถึงอารมณ์ที่รุนแรงเกินไป การแสดงออกอย่างโอเวอร์มากเกินจริง และพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจ ซึ่งในส่วนนี้จะมีส่วนสอดคล้องกับอาการบางอย่างของโรค HPD) โดยคำว่า "ฮิสทีเรีย" มาจากภาษากรีก "hystera" ซึ่งแปลว่ามดลูก สะท้อนถึงความเชื่อสมัยโบราณที่มองว่าโรคนี้เกี่ยวข้องกับผู้หญิงและมดลูกโดยเฉพาะ โดยเชื่อว่าโรคเกิดจาการเคลื่อนที่ของมดลูกไปทั่วร่างกาย จึงไม่ใช่โรคในผู้ชาย ซึ่งแนวคิดเรื่องโรคฮิสทีเรียในสมัยก่อนนี้ส่งผลให้เกิดอคติทางเพศต่อผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงถูกตีตรา ซึ่งอคติทางเพศนี้กลายเป็นเครื่องมือในการเพิกเฉยไม่สนใจต่อความรู้สึกที่แท้จริงของผู้หญิงและปลูกฝังอคติที่ว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาทางอารมณ์และทางจิตสูงกว่าผู้ชาย และถูกมองว่าเป็นเพศที่ไม่มั่นคงทางอารมณ์ และไร้เหตุผล โดยอคตินี้ทำให้ในสมัยวิกตอเรีย (ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20) นั้น หากผู้หญิงมีอาการบางอย่างแต่แพทย์หาสาเหตุไม่ได้ว่าเป็นโรคอะไร ก็จะเหมารวมไว้ก่อนว่าเป็นฮิสทีเรีย แม้กระทั่งอาการทั่ว ๆ ไป เช่น ปวดหัว วิตกกังวล ซึมเศร้า เป็นลม พูดหยาบคาย ขี้ลืม มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ปวดประจำเดือน เท้าบวม ปวดหลัง หรือแม้กระทั่งดูแก่ขึ้น รวมทั้งอาการอื่น ๆ ที่หาสาเหตุไม่เจอ หลายครั้งก็ถูกเหมารวมว่าเป็นอาการของโรคฮิสทีเรียเช่นกัน โดยการเหมารวมนี้มีมากขนาดที่ว่า มีงานศึกษาหนึ่ง โดยนายแพทย์ Havelock Ellis ชาวอังกฤษและฝรั่งเศส ในยุควิกตอเรีย ผู้แต่งหนังสือจิตวิทยาทางเพศ (Psychology of Sex) ประมาณการไว้ในปี ค.ศ. 1913 ว่ามีผู้หญิงถึง 75% ที่เป็นโรคฮิสทีเรีย  

 

ต่อมา ในช่วงปี ค.ศ. 1968 คำว่าโรคประสาทชนิดฮิสทีเรีย (hysterical neurosis) ก็ได้ถูกกำหนดไว้ว่าเป็นโรคทางจิตอย่างเป็นทางการในคู่มือวินิจฉัยและสถิติความผิดปกติทางจิต ฉบับที่ 2 (DSM-2) โดยสมาคมจิตแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา แต่ต่อมาด้วยความเข้าใจด้านสุขภาพจิตที่พัฒนามากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี ค.ศ. 1980 โรคฮิสทีเรียจึงไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นโรคทางจิตอีกต่อไปในคู่มือวินิจฉัยและสถิติความผิดปกติทางจิต ฉบับที่ 3 (DSM-3) และในปัจจุบันนี้ คู่มือวินิจฉัยและสถิติความผิดปกติทางจิต ฉบับที่ 5 (DSM-5) ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด ก็ไม่มีชื่อโรคฮิสทีเรีย โดยอาการต่าง ๆ ที่เคยเข้าใจว่าเป็นโรคฮิสทีเรีย ปัจจุบันได้มีการศึกษาและทำความเข้าใจมากขึ้น จึงแยกออกไปเป็นชื่อโรคเฉพาะอื่น ๆ แทน เช่น โรควิตกกังวล (anxiety disorders), โรคที่พบอาการทางระบบประสาทซึ่งอาจมีอาการทางจิตร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ (functional neurological symptom disorder), โรคทางจิตที่เกิดจากความกังวลเกี่ยวกับโรคทางกายโดยมีอาการทางร่างกายร่วมด้วย (somatic symptom disorders) และโรค HPD ที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น (ซึ่งหลายคนในไทยยังเรียก HPD ว่า โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบฮิสทีเรีย ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ควรเรียกชื่อนี้อีกต่อไป ควรเรียกว่า โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบฮิสทริโอนิก เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างโรค HPD และโรคฮิสทีเรียหรือโรคประสาทชนิดทฮีสทีเรียในอดีต) 
 

2.1.2. โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder หรือ NPD): มักมีลักษณะพิเศษ คือ มีความรู้สึกสำคัญเกินจริง รู้สึกว่าตนเองเก่งเกินจริง มองไม่เห็นข้อผิดพลาดของตนเอง ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และต้องการการชื่นชมอยู่ตลอด บทความที่ตีพิมพ์ในเว็บไซต์จิตวิทยาวันนี้ (Psychology Today) กล่าวว่า ผู้ป่วย NPD อาจนอกใจเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของคู่ของตน

 

2.1.3. โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบก้ำกึ่ง (Borderline Personality Disorder หรือ BPD) หรืออาจเรียกว่าโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบอารมณ์ไม่คงที่: มักมีอารมณ์ไม่คงที่ พฤติกรรมหุนหันพลันแล่นไม่คิดหน้าคิดหลัง และมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่เข้มข้นรุนแรงและขึ้นลง ผู้ป่วย BPD มักมี "ความกลัวการถูกทอดทิ้ง" อย่างรุนแรง นำไปสู่พฤติกรรมเรียกร้องความสนใจหรือพยายามป้องกันการถูกทิ้งที่ตนคิดว่าจะเกิดขึ้น บทความจาก Johns Hopkins Medicine เกี่ยวกับ BPD ระบุว่า อาการที่อาจเกิดขึ้นคือ พฤติกรรมทำร้ายตัวเอง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยกับหลายคน

 

2.1.4. โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder หรือ ASPD): มักแสดงพฤติกรรมไม่คำนึงถึงสิทธิของผู้อื่น ชอบโน้มน้าวคนอื่นให้ทำตามสิ่งที่ตัวเองต้องการด้วยการหลอกลวงไม่จริงใจ และสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับผู้อื่นได้ยาก ไม่มีความรู้สึกสำนึกผิดในการกระทำของตนเอง จากข้อมูลของ Mayo Clinic ผู้ป่วย ASPD มักไม่แยกแยะผิดชอบชั่วดี โกหกเพื่อเอาเปรียบและไม่เคารพผู้อื่น ไม่รู้สึกผิดแม้ทำร้ายผู้อื่น และใช้เสน่ห์หรือไหวพริบและความฉลาดในการหลอกลวงโน้มน้าวคนอื่นให้ทำตามสิ่งที่ตัวเองต้องการเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ลักษณะเหล่านี้อาจนำไปสู่การนอกใจซ้ำซากโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของคนรักของตน
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบหนึ่งสามารถเป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบอื่น ๆ ได้ พร้อม ๆ กันด้วย 
 

2.2 โรคพฤติกรรมหมกมุ่นทางเพศ (Compulsive Sexual Behavior Disorder หรือ CSBD) หรือ โรคเสพติดเซ็กส์: โรคเสพติดเซ็กส์นั้น คู่มือวินิจฉัยและสถิติความผิดปกติทางจิต ฉบับที่ 4 (DSM-4) กำหนดไว้ว่าเป็นโรคทางจิต โดยนับเป็นหนึ่งในโรคความผิดปกติทางเพศ (Sexual Disorders) ต่อมาในฉบับที่ 5 (DSM-5) ที่เป็นฉบับล่าสุดที่ออกมาในปี ค.ศ. 2013 นั้น ไม่ได้กำหนดว่าเป็นโรคทางจิตเพราะจิตแพทย์ของสมาคมจิตแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกามีความเห็นที่ไม่ตรงกันและไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าอะไรควรเป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัย อย่างไรก็ดี บัญชีจําแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องฉบับที่ 11 (ICD-11) โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีการยอมรับโรคเสพติดเซ็กส์ว่าเป็นโรคทางจิตโดยใช้ชื่อว่า โรคพฤติกรรมหมกมุ่นทางเพศ (Compulsive Sexual Behavior Disorder หรือ CSBD) ซึ่งมีลักษณะคือ มีพฤติกรรมทางเพศต่อเนื่องที่ไม่สามารถควบคุมแรงผลักดันหรือความต้องการทางเพศที่สูงและบ่อยได้ โดยส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตของบุคคลนั้น ถึงขั้นละเลยการดูแลสุขภาพหรือสุขอนามัยส่วนตัว หรือละเลยความสนใจต่อกิจกรรมและความรับผิดชอบอื่น ๆ ของตน และแม้จะมีความพยายามหลายครั้งที่จะลดพฤติกรรมหมกมุ่นทางเพศลงแต่ก็ไม่สำเร็จ และแม้ว่าจะได้รับผลเสียตามมา หรือเมื่อพฤติกรรมทางเพศนั้นจะไม่ได้ทำให้เกิดความพึงพอใจหรือเกิดความพึงพอใจเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก็ยังไม่สามารถหยุดพฤติกรรมหมกมุ่นทางเพศได้ เป็นเหตุให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกทุกข์ใจเป็นอย่างมาก หรือเกิดความบกพร่องในหน้าที่ส่วนบุคคล ครอบครัว สังคม การเรียน การทำงาน หรือด้านอื่น ๆ ที่สำคัญอย่างชัดเจน 


คนที่เป็นโรคเสพติดเซ็กส์หรือโรคพฤติกรรมหมกมุ่นทางเพศนั้น หากเป็นผู้หญิง ในสมัยก่อนอาจถูกเรียกว่า "นิมโฟมาเนีย" (Nymphomania) เป็นคำศัพท์ในอดีตที่ใช้เรียกผู้หญิงที่มีพฤติกรรมทางเพศมากเกินไป หรือควบคุมไม่ได้ ซึ่งในประเทศไทยคำศัพท์ที่คนทั่วไปเข้าใจว่าโรคนิมโฟมาเนียก็คือโรคขาดผู้ชายไม่ได้ อย่างไรก็ตามนั้น ปัจจุบันวงการจิตวิทยาและจิตเวชศาสตร์เปลี่ยนมาใช้ศัพท์ที่แม่นยำและมีนิยามทางการแพทย์ที่ชัดเจนมากขึ้น และเพื่อไม่ให้เป็นการสร้างอคติทางเพศ ดังนั้น ในวงการวิชาชีพสมัยใหม่ "นิมโฟมาเนีย" จึงถือเป็นคำที่ล้าสมัยและไม่มีอยู่ในคู่มือวินิจฉัยโรคทั้ง ICD หรือ DSM อีกต่อไป และให้ใช้คำว่า โรคเสพติดเซ็กส์หรือโรคพฤติกรรมหมกมุ่นทางเพศแทน ซึ่งเป็นคำที่ใช้ได้ทุกเพศ 
 

2.3. โรคซึมเศร้า (depression) โรควิตกกังวล (anxiety) และปัญหาเรื่องความผูกพัน (attachment issue): ถึงแม้จะไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงของการนอกใจ แต่อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการนอกใจ ความผูกพันที่ไม่มั่นคง ซึ่งมักเกิดจากประสบการณ์ในวัยเด็กตอนต้น สามารถส่งผลต่อวิธีที่บุคคลสร้างและรักษาความสัมพันธ์ ความรู้สึกโดดเดี่ยว ความมั่นใจในตัวเองต่ำ และความกลัวการอยู่คนเดียวอาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเช่นการนอกใจเพื่อแสวงหาการยอมรับหรือความสัมพันธ์จากคู่ครองหลายคนได้

 

บทวิเคราะห์

 

สำหรับกรณีของพรแล้ว จากข่าวที่เกิดขึ้น (ซึ่งข้อเท็จจริงยังไม่ได้รับการพิสูจน์ยืนยันว่าเป็นจริงตามนั้นหรือไม่ แต่ขออนุญาตใช้ข้อเท็จจริงตามข่าวเพื่อเป็นสมมติฐานของการคาดการณ์ในเรื่องโรคทางจิตของพร) พรก็อาจมีพฤติกรรมหลายอย่างที่เข้าข่าย เช่น การมีเสน่ห์แรงและเป็นที่ต้องการของผู้ชายหลายคนโดยเฉพาะในวงการรถกระบะตู้ทึบที่พรทำงานอยู่, มีการคบซ้อนและนอกใจซ้ำ ๆ เป็นเวลาหลายปี, มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงเวลามีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันทั้งที่มีความสัมพันธ์กับคนหลายคนในเวลาเดียวกัน, สนใจความต้องการและความรู้สึกของตนเองเป็นหลัก เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง โดยขาดความสนใจความรู้สึกของคู่รักคนอื่น ๆ ของตน และโกหกหลอกลวงทั้งสามีและเพื่อนชายของตนเองหลายคนด้วย ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายสุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นสัญญาณของโรคทางจิตได้ เช่น โรค HPD ASPD และ CSBD 

 

อย่างไรก็ตาม การจะวินิจฉัยอย่างเป็นทางการว่าบุคคลใดมีอาการป่วยเป็นโรคทางจิตหรือไม่นั้น ในประเทศไทยจะต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น (ในต่างประเทศหลาย ๆ ประเทศ นักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัดที่มีใบประกอบวิชาชีพสามารถทำการวินิจฉัยโรคทางจิตได้) โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะต้องพูดคุยกับคนไข้และได้รับข้อมูลหลายด้านประกอบกันด้วย บางครั้งต้องสัมภาษณ์จากคนใกล้ตัวประกอบด้วยจึงจะสามารถทำการวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง ส่วนการรักษาสามารถพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นักจิตวิทยา และนักจิตบำบัดที่เชี่ยวชาญได้


สรุป

 

ความรักนั้นเป็นสิ่งสวยงาม ความรักเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก แต่เมื่อบางคนใช้ความรักเป็นเครื่องมือในการเอาเปรียบอีกบุคคลหนึ่งในความสัมพันธ์ ความรักก็สามารถสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวได้อย่างมหาศาล และอาจจะนำมาซึ่งการสูญเสียทั้งทางจิตใจ ทรัพย์สิน หน้าที่การงาน หรือแม้แต่การสูญเสียชีวิตของอีกฝ่าย 


หากตัวคุณเอง คนที่รู้จัก หรือคนที่รักเป็นคนที่มีโลกหลายใบชอบนอกใจซ้ำ ๆ และสงสัยว่าอาจป่วยเป็นโรคทางจิตแล้ว ก็ควรรีบพบแพทย์และผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาเพื่อทำการวินิจฉัยและรักษา เพื่อหยุดวงจรของการทำร้ายทั้งตนเอง คนที่รัก และผู้อื่นที่เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุด 
 

บทความโดย ตุลาพร อาชานานุภาพ ที่ปรึกษาทางจิตวิทยา (ปริญญาโทจิตวิทยาการปรึกษา สาขาการบำบัดคู่สมรสและครอบครัว University of San Francisco)

 

อ่านข้อมูล โรคอารมณ์แปรปรวน โรคซึมเศร้า และ โรควิตกกังวล เพิ่มเติม

 

คุณสามารถตรวจอาการ ใจสั่น, นอนไม่หลับ, เบื่ออาหาร ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคอารมณ์แปรปรวน โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล ได้ที่ Smart Doctor โปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้นอัจฉริยะ จาก Doctor at Home

ข้อมูลล่าสุด : 16 ก.พ. 2567