รวมภัยซีเซียม-137 หายนะร้ายทำลายชีวิต

รวมภัยซีเซียม-137 หายนะร้ายทำลายชีวิต

 

ภายใต้ความตกอกตกใจ หลังเหตุการณ์ซีเซียม-137 สูญหายจากโรงไฟฟ้า จังหวัดปราจีนบุรี เชื่อว่าหลาย ๆ คนกังวลถึงความเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นเพราะรังสีปนเปื้อน ในบทความนี้ Doctor at Home จะชวนมาย้อนรอยผลกระทบด้านสุขภาพจากอุบัติเหตุสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ทั่วโลกที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

 

 

1.บราซิล

 

ย้อนกลับไปราว 30 กว่าปีก่อน ใน พ.ศ. 2530 คลินิกรักษาโรงมะเร็งที่ถูกทิ้งร้างคือจุดเริ่มต้นการแพร่กระจายของซีเซียม-137 ครั้งนี้ เมื่อคนขายของเก่าลักลอบขโมยชิ้นส่วนเครื่องบำบัดมะเร็ง ก่อนทำการรื้อแยกอุปกรณ์ พบซีเซียม-137 ในรูปแบบก้อนหินสีฟ้าเรืองแสง จึงพากันแจกจ่ายแก่คนรอบตัวด้วยความตื่นตาตื่นใจ ส่งผลให้รังสีแพร่กระจายไปไกลกว่า 160 กิโลเมตร หรือเป็นระยะทางประมาณกรุงเทพฯ ถึงระยอง

 

  • ผลกระทบด้านสุขภาพ

อาการที่พบส่วนใหญ่คือ อาเจียน ท้องเสีย มีไข้สูง ผมร่วง ปวดบวมตามตัว ผู้ที่สัมผัสโดยตรงมีเนื้อตาย จากนั้นเสียชีวิตในเวลาต่อมา และมีผู้ได้รับผลกระทบจากรังสีต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 250 ราย รวมถึงเฝ้าระวังการปนเปื้อนอีกราว ๆ 100,000 ราย

 

 

2.ยูเครน (ส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตในขณะนั้น)

 

เรียกว่าเป็นเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ เมื่อเตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล (Chernobyl) เกิดไฟไหม้และระเบิด หลังจากทดลองเดินเครื่อง ทำให้ซีเซียม-137 รั่วไหล และถูกระบุให้พื้นที่โดยรอบในระยะ 30 กิโลเมตร เป็นเขตปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีเข้มข้น นอกจากนี้ซีเซียม-137 ยังตกค้างในระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นพืชผัก เนื้อสัตว์ และนม

 

  • ผลกระทบด้านสุขภาพ

จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตทันที 47 ราย หลังจากนั้น 1 ปี พบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นกว่า 4,000 ราย และ 3-5 ปีให้หลัง พบว่าผู้ที่ได้รับรังสีจากซีเซียม-137 ป่วยเป็นโรค มะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid cancer) รวมถึงส่งผลต่อเด็ก ๆ ที่ต้องดื่มนมเป็นประจำ พบว่ามีเด็กป่วยเพิ่มขึ้น 7 เท่าหลังจากรังสีแพร่กระจาย

 

อีกเหตุการณ์ที่อาจไม่รุนแรงเท่าภัยพิบัติเชอร์โนบิล แต่ก็มีผู้ได้รับผลกระทบจากซีเซียม-137 เช่นกัน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นภายในอพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่ง เมื่อซีเซียม-137 ซึ่งถูกใช้เป็นอุปกรณ์วัดความหนาแน่นในเหมืองหินสูญหาย และได้บังเอิญปะปนเข้าไปอยู่ในผนังอพาร์ทเมนต์จากการก่อสร้างอาคาร ทำให้บริเวณโดยรอบมีรังสีแกมมาสูงผิดปกติ

 

  • ผลกระทบด้านสุขภาพ

ผู้พักอาศัยที่ได้รับรังสีแกมมาจากซีเซียม-137 ทำให้ป่วยเป็น มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemias) และเสียชีวิตทั้งสิ้นรวม 4 ราย นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยอีก 17 รายที่มีอาการป่วยเนื่องจากปนเปื้อนรังสีด้วย

 

 

3.สเปนและฝรั่งเศส

 

เหตุการณ์ที่สเปนเริ่มต้นขึ้นจากโรงงานผลิตเหล็กชื่อ Acerinox เมื่อซีเซียม-137 ที่ปนอยู่กับเศษเหล็กถูกส่งเข้าเตาหลอมกลายเป็นก๊าซ หลังจากนั้นกัมมันตรังสีจึงปนเปื้อนออกสู่บรรยากาศ เกิดเป็นก้อนเมฆกัมมันตรังสี (Radioactive cloud) หรือฝุ่นแดง แพร่กระจายไปกว่า 6 เมืองในประเทศสเปน รวมถึงแหล่งน้ำต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังพบเศษเหล็กปนเปื้อนรังสีจากกระบวนการหลอมโลหะอีกด้วย

 

ตัดภาพมาที่ฝรั่งเศส ปี พ.ศ. 2564 พบการปนเปื้อนของซีเซียม-137 เข้มข้นในทราย ซึ่งพัดมาจากทะเลทรายซาฮารา โดยฝุ่นทะเลทรายซาฮารา (Calima) ปนเปื้อนรังสีครั้งนี้ เกิดจากการทดสอบนิวเคลียร์ของฝรั่งเศสเมื่อ 60 ปีก่อน

 

  • ผลกระทบด้านสุขภาพ

มีรายงานยืนยันว่าไม่พบผู้เกี่ยวข้องได้รับรังสีโดยตรงจากอุบัติเหตุในโรงงานผลิตเหล็ก Acerinox แต่ซีเซียม-137 ที่ระเหยออกมาก็อาจเข้าไปปนเปื้อนอยู่ในผักผลไม้ได้ รวมถึงยังไม่พบว่าฝุ่นทะเลทรายซาฮาราปนเปื้อนอยู่ในระดับที่อันตราย

 

 

4.ญี่ปุ่น

 

ภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ พร้อมด้วยคลื่นสึนามิ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 ส่งผลให้เตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะได้รับความเสียหายอย่างหนัก จนเกิดการรั่วไหลของซีเซียม-137 ที่อยู่ภายใน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเผยว่าเหตุการณ์ครั้งนี้อาจไม่รุนแรงเท่าอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล เนื่องจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะตั้งอยู่ชายฝั่ง สารส่วนหนึ่งจึงถูกกระแสน้ำพัดไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกและเจือจางลง

 

  • ผลกระทบด้านสุขภาพ

แม้ว่าอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะจะรุนแรงน้อยกว่า แต่ในเวลาต่อมาพบว่ามีผู้ได้รับรังสีจากซีเซียม-137 เสียชีวิตเนื่องจาก มะเร็งปอด (Lung cancer) และป่วยด้วยโรค มะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid cancer) รวมถึงได้มีการตรวจการปนเปื้อนของซีเซียม-137 ในอาหารทะเลอย่างจริงจัง

 

 

สรุป

 

ความรุนแรงของซีเซียม-137 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพนั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับ และระยะห่างที่ผู้ป่วยได้สัมผัสกับรังสี หากสัมผัสโดยตรง อาจแสดงอาการป่วยคลื่นไส้ อาเจียน ผิวหนังอักเสบ หรือท้องเสีย ภายในไม่กี่ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญยังคงย้ำว่าเหตุการณ์ซีเซียม-137 สูญหายจากโรงไฟฟ้าในปราจีนบุรีครั้งนี้ไม่รุนแรง เมื่อเทียบกับเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด เรายังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพียงหลีกเลี่ยงพื้นที่อันตรายและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

ข้อมูลล่าสุด : 30 มี.ค. 2566