หลอดเลือดแดงขมับอักเสบ (temporal arteritis) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ "หลอดเลือดแดงขนาดใหญ่อักเสบ (giant cell arteritis)" หมายถึงการอักเสบของผนังหลอดเลือดแดงขนาดกลางและใหญ่ ซึ่งมักเกิดกับหลอดเลือดแดงที่บริเวณคอและศีรษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลอดเลือดแดงที่บริเวณขมับ (temporal artery) จึงนิยมเรียกว่า "หลอดเลือดแดงขมับอักเสบ"
หลอดเลือดแดงขมับอักเสบ เป็นโรคที่รุนแรงถึงทำให้ตาบอดได้ นับว่าเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างเร่งด่วน
โรคนี้พบได้ค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่พบในคนอายุมากกว่า 50 ปี พบมากในช่วงอายุ 65-75 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2 เท่า
ผู้ที่มีญาติสายตรง (พ่อแม่หรือญาติพี่น้อง) เป็นโรคนี้ หรือผู้ที่มี "กลุ่มอาการปวดตึงกล้ามเนื้อหลายส่วน" (polymyalgia rheumatic)* มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป
*มีอาการปวดและตึงกล้ามเนื้อพร้อมกันหลายส่วนของร่างกาย เนื่องจากเกิดการอักเสบของข้อต่อกระดูกตรงบริเวณคอ ไหล่ ต้นแขน และสะโพก อันเกิดจากปฏิกิริยาภูมิต้านตัวเองโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นโรคที่พบได้น้อย และพบในคนอายุมากกว่า 50 ปี "กลุ่มอาการปวดตึงกล้ามเนื้อหลายส่วน" กับโรคหลอดเลือดแดงขมับอักเสบมักพบร่วมกันได้บ่อย
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เชื่อว่าเกิดจากปฏิกิริยาภูมิต้านตัวเอง (autoimmune reaction) กล่าวคือ ร่างกายเกิดมีภูมิคุ้มกันที่ไปทำปฏิกิริยาต่อผนังหลอดเลือดของตัวเอง ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงอักเสบ บวม ท่อหลอดเลือดตีบ เลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่าง ๆ ได้น้อยลง
แม้ว่าโรคนี้จะมีอาการแสดงชัดเจนปรากฏที่บริเวณขมับเนื่องมาจากหลอดเลือดแดงขมับอักเสบ แต่การอักเสบเกิดกับหลอดเลือดแดงขนาดกลางและใหญ่ได้ทุกส่วน ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดอาการตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายร่วมกับอาการปวดและเจ็บบริเวณขมับ
ปฏิกิริยาภูมิต้านตัวเองดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งปัจจัยด้านพันธุกรรมและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (เช่น การติดเชื้อ)
มีอาการปวดศีรษะที่บริเวณขมับข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว หรือบางรายอาจเกิดพร้อมกันทั้งสองข้าง อาการปวดมักเกิดขึ้นฉับพลันรุนแรง หรืออาจค่อย ๆ ปวดแรงขึ้นทีละน้อย มีลักษณะปวดตุบ หรือปวดหน่วง ๆ หรือปวดแสบปวดร้อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกว่าเป็นการปวดศีรษะที่รุนแรงแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และมักจะปวดมากจนทำให้นอนสะดุ้งตื่นหรือนอนไม่หลับ
มักจะสังเกตเห็นว่า บริเวณขมับข้างที่ปวดมีเส้นปูดขึ้น เวลาเอามือไปกดถูกจะรู้สึกเจ็บ ซึ่งเป็นอาการแสดงของหลอดเลือดแดงขมับอักเสบ
ผู้ป่วยมักรู้สึกปวดเจ็บหนังศีรษะเวลาหวีผม สวมหมวก สวมแว่นตา หรือนอนหนุนหมอน และอาจมีอาการปวดเมื่อยกรามเวลาเคี้ยวของที่เหนียว ๆ (เช่น เนื้อสัตว์ หมากฝรั่ง) หรือพูดนาน ๆ เนื่องมาจากหลอดเลือดแดงขากรรไกรอักเสบและตีบ ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนี้ขาดเลือดไปเลี้ยง
อาการปวดศีรษะมักจะเป็นรุนแรง เรื้อรังไม่หาย หรืออาจทุเลาเพียงชั่วคราว แล้วกลับมากำเริบใหม่
ผู้ป่วยมักมีอาการปวดไหล่ คอ ต้นแขน ปวดสะโพก ซึ่งเป็นอาการของ "กลุ่มอาการปวดตึงกล้ามเนื้อหลายส่วน" (polymyalgia rheumatic) ร่วมด้วย
ผู้ป่วยอาจมีไข้ต่ำ ๆ เหงื่อออกตอนกลางคืน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดร่วมด้วย หรือบางรายอาจมีอาการเหล่านี้โดยไม่มีอาการปวดศีรษะร่วมด้วยก็ได้
นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น มีอาการปวดร้าวไปที่ตา ตาพร่ามัว หนังตาตก เห็นภาพซ้อน (เนื่องจากกล้ามเนื้อกลอกลูกตาอ่อนแรงเพราะขาดเลือด) ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ลิ้นชา หรือปวดเมื่อย ไอ เจ็บคอ เสียงแหบ ปวดหู หูตึงหรือได้ยินไม่ชัด หูอื้อหรือมีเสียงในหู เป็นต้น
หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา บางรายอาจมีอาการตามืดบอด (มองไม่เห็นอย่างเฉียบพลัน แบบบางส่วนหรือทั้งหมด) ตามมา
เนื่องจากมีการอักเสบของหลอดเลือดแดงขนาดกลางและใหญ่หลายส่วนในร่างกาย หากไม่ได้รับการรักษา หลอดเลือดแดงอาจเกิดความผิดปกติ (ตีบตันหรือโป่งพอง) อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้
ที่พบได้บ่อยคือ อาการตาบอด เนื่องจากหลอดเลือดตาอักเสบ และตีบ ทำให้ประสาทตาขาดเลือดไปเลี้ยง ซึ่งมักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน โดยไม่มีอาการปวดตา ส่วนใหญ่เกิดที่ตาเพียงข้างใดข้างหนึ่ง ส่วนน้อยอาจเกิดพร้อมกันทั้งสองข้าง ทำให้ตาข้างนั้นบอดอย่างถาวร (มีรายงานการศึกษาว่า พบได้ประมาณร้อยละ 20-50 ของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา)
ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจพบได้ อาทิ
- การอักเสบของหลอดเลือดแดงใหญ่ (aorta) ทำให้เกิด ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง หรือ ภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ มีอันตรายถึงเสียชีวิตได้
- การอักเสบของหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดหลอดเลือดหัวใจตีบ เกิดโรคหัวใจขาดเลือด ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจวาย
- การอักเสบของหลอดเลือดสมอง ทำให้หลอดเลือดสมองตีบ เกิด โรคอัมพาตครึ่งซีก ความจำเสื่อม หรือเกิดอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน
- การอักเสบของหลอดเลือดส่วนปลาย ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (peripheral artery disease) ได้แก่ หลอดเลือดแดงแขนตีบ หลอดเลือดแดงขาตีบ
- หลอดเลือดแดงหลักของจอตาอุดตัน
แพทย์จะทำการวินิจฉัยเบื้องต้นจากการซักถามอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และตรวจร่างกายพบสิ่งผิดปกติ ที่สำคัญคือ ตรวจพบหลอดเลือดแดงที่บริเวณขมับข้างที่ปวด มีลักษณะเป็นเส้นปูด แข็งเป็นลำ ใช้มือกดจะรู้สึกเจ็บ และชีพจรเต้นเบาลงหรือคลำไม่ได้
อาจพบว่า การใช้มือลูบหนังศีรษะจะทำให้รู้สึกปวด หรือใช้มือกดหลอดเลือดแดงที่คอจะมีอาการเจ็บ หรือใช้เครื่องฟังตรวจที่หลอดเลือดแดงที่คอจะได้ยินเสียงฟู่ (bruit)
อาจตรวจพบความผิดปกติอื่น ๆ เช่น ไข้ น้ำหนักลด ชีพจรที่ข้อมือ (radial pulse) หรือหลังเท้า (dorsalis pedis) เต้นเบาลงหรือคลำไม่ได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ การตรวจตาด้วยเครื่องมือต่าง ๆ อาจพบมีความผิดปกติของหลอดเลือดในลูกตา จอตา และขั้วประสาทตา
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการตรวจชิ้นเนื้อ (biopsy) คือการตัดชิ้นเนื้อของหลอดเลือดนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ (พบเซลล์ที่อักเสบเป็นเซลล์ตัวใหญ่หรือ giant cell ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรคว่า "Giant cell arteritis" นั่นเอง) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรคนี้ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน (ทำให้ตาบอดได้ฉับพลัน) หากแพทย์ตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นพบว่าอาการเข้าได้กับโรคนี้ ก็อาจทำการรักษาก่อนที่จะทำการตรวจหรือรอผลยืนยันของชิ้นเนื้อ
การตรวจเลือดจะพบค่าอีเอสอาร์ (ESR/erythrocyte sedimentation rate) หรือ CRP (C-reactive protein) ขึ้นสูงกว่าปกติ ซึ่งบ่งบอกว่ามีการอักเสบของหลอดเลือด
นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัยและการติดตามผลการรักษา เช่น การถ่ายภาพการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (doppler ultrasound), การถ่ายภาพหลอดเลือดด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าร่วมกับการฉีดสี (MRA/magnetic resonance angiography), การตรวจหลอดเลือดด้วยเพตสแกน (PET scan)
แพทย์จะให้การรักษาทันทีที่วินิจฉัยโรคนี้ ในรายที่มีอาการรุนแรง หรือมีปัญหาไม่สามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล
การรักษา แพทย์จะให้ยาสเตียรอยด์ (เช่น เพร็ดนิโซโลน) ขนาดสูงในระยะแรก เพื่อลดการอักเสบของหลอดเลือดทันทีโดยไม่ต้องรอผลการตรวจชิ้นเนื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีอาการทางตา (เช่น ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน) ร่วมด้วย เนื่องจากหากให้การรักษาล่าช้า อาจทำให้เกิดภาวะตาบอดอย่างถาวรได้
เมื่ออาการดีขึ้นหลังให้ยาประมาณ 2-4 สัปดาห์ แพทย์ก็จะค่อย ๆ ปรับลดขนาดยาลง จนเหลือขนาดต่ำสุด ก็จะให้ยาในขนาดนั้นต่อเนื่องนานอย่างน้อย 1-2 ปี (บางรายอาจนานถึง 5 ปี) เพื่อป้องกันการกำเริบของโรค
บางรายแพทย์อาจให้ยาลดการอักเสบชนิดอื่นร่วมด้วย เช่น methotrexate (ซึ่งเป็นยาลดการอักเสบด้วยการออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน หรือ immunosuppressant), tocilizumab (ซึ่งเป็นยาลดการอักเสบด้วยการออกฤทธิ์ต้าน interleukin-6 หรือ interleukin-6 receptor antagonist) ซึ่งจะช่วยเสริมประสิทธิผลในการรักษา และลดขนาดของยาสเตียรอยด์ที่ใช้ซึ่งช่วยลดผลข้างเคียงของยาสเตียรอยด์
แพทย์จะให้ผู้ป่วยกินยาแอสไพรินขนาดต่ำ (วันละ 75-150 มก.) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือด เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในตา หัวใจ และสมอง, ให้กินวิตามินดีและแคลเซียม เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนจากการใช้ยาสเตียรอยด์นาน ๆ
แพทย์จะนัดผู้ป่วยมารับการตรวจรักษาเป็นระยะ เพื่อติดตามดูอาการและภาวะแทรกซ้อนของโรค และตรวจดูภาวะที่เกิดจากผลข้างเคียงของยาสเตียรอยด์ (เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ต้อกระจก โรคกระดูกพรุน เป็นต้น)
ผลการรักษา ส่วนใหญ่หลังให้การรักษาด้วยยาสเตียรอยด์แล้ว อาการจะทุเลาเป็นปกติได้ภายในเวลาไม่นาน และสามารถลดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง (ได้แก่ ตาบอด โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง) ลงได้
ส่วนในรายที่มาพบแพทย์ช้า คือมีอาการตาบอดเกิดขึ้นแล้ว การรักษาก็ไม่ช่วยให้อาการตาบอดนั้นดีขึ้น
ในรายที่กินยาสเตียรอยด์จนครบและแพทย์ให้หยุดยา บางรายอาจมีอาการกำเริบใหม่ในเวลาต่อมาได้ ดังนั้นเมื่อหยุดยาแล้ว ควรเฝ้าสังเกตอาการและไปพบแพทย์ตามนัด หากโรคกำเริบ แพทย์ก็จะให้ยารักษารอบใหม่
นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาสเตียรอยด์นาน ๆ อาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง เช่น ภูมิคุ้มกันต่ำ (ทำให้เกิดโรคติดเชื้อง่ายและรุนแรง) ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ต้อกระจก โรคกระดูกพรุน (เกิดกระดูกหักตามมา) เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะเฝ้าติดตาม และทำการป้องกันและรักษาผลข้างเคียงดังกล่าว
หากสงสัย เช่น มีอาการปวดศีรษะที่บริเวณขมับข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว หรือสองข้างอย่างรุนแรง คลำได้เส้นปูดเป็นลำแข็งตรงขมับข้างที่ปวด และกดถูกเจ็บ, หรือมีอาการปวดขมับ ร่วมกับอาการปวดหนังศีรษะ (เวลาหวีผม สวมหมวก สวมแว่นตา หรือนอนหนุนหมอน) หรือปวดเมื่อยกราม (เวลาเคี้ยวอาหาร หรือพูดนานๆ), หรือมีอาการปวดขมับร่วมกับมีไข้ หรืออาการตาพร่ามัวหรือเห็นภาพซ้อน, หรือมีอาการปวดขมับรุนแรงเป็นครั้งแรก และปวดมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในคนอายุมากกว่า 50 ปี ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดแดงขมับอักเสบ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
- ลดความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาสเตียรอยด์
- กินวิตามินดีและแคลเซียมตามที่แพทย์แนะนำ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีการตามืดมัว เจ็บหน้าอก หรือแขนขาชาหรืออ่อนแรง
- มีไข้ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ บ้านหมุน หน้ามืด เป็นลม ซีด ใจสั่น หรือเบื่ออาหาร
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระดำ หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
ยังไม่มีวิธีป้องกัน เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
1. โรคนี้มีอาการปวดที่ขมับ (ข้างเดียวหรือสองข้าง) คล้ายโรคไมเกรน ไมเกรนมักมีอาการปวดตุบ ๆ ที่ขมับ เป็น ๆ หาย ๆ ตั้งแต่วัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว มักมีเหตุกำเริบ (เช่น แสง เสียง กลิ่น อากาศร้อน หิว อดนอน เครียด เป็นต้น) แต่ละครั้งจะเป็นอยู่นาน 4-72 ชั่วโมง และมักจะทุเลาได้เร็วหากได้นอนพัก หรือกินยาแก้ปวดทันทีที่เริ่มมีอาการ
แต่ถ้าพบว่ามีอาการปวดที่ขมับเกิดขึ้นอย่างฉับพลันต่อเนื่อง และรุนแรงแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน (หรือปวดต่างจากอาการปวดไมเกรนในรายที่เคยเป็นไมเกรนมาก่อน) ปวดจนนอนสะดุ้งตื่นหรือนอนไม่หลับ และมีเส้นปูดที่ขมับข้างที่ปวด เป็นลำแข็ง กดเจ็บ และชีพจรเต้นเบา (ต่างจากไมเกรนที่อาจมีเส้นปูดที่ขมับข้างที่ปวด แต่เป็นเส้นนุ่ม กดถูกไม่เจ็บ และมีชีพจรเต้นตุบ ๆ) หรือมีอาการปวดหนังศีรษะ ปวดเมื่อยกราม หรือมีอาการตาเห็นภาพซ้อน หรือตาพร่ามัวร่วมกับปวดศีรษะ (ต่างจากไมเกรนที่อาจพบอาการตาเห็นภาพผิดปกติก่อนมีอาการปวดศีรษะ ซึ่งเป็นเพียงชั่วคราวและจะทุเลาลงไปเมื่อมีอาการปวดศีรษะ) ก็ให้สงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดขมับอักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นอาการที่พบครั้งแรกในคนอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
2. โรคนี้ถึงแม้พบได้น้อย แต่มีความร้ายแรง ทำให้ตาบอดได้อย่างฉับพลันและถาวร และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงอื่น ๆ หากมีอาการสงสัย ควรไปพบแพทย์ทันที และดูแลรักษากับแพทย์ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง