โรคหัวใจขาดเลือด/โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (ischemic heart disease/IHD) หรือโรคหลอดเลือดโคโรนารี (coronary artery disease/CAD) หมายถึง โรคหัวใจที่เกิดจากการตีบตันของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ดังที่เรียกว่า หลอดเลือดหัวใจ หรือหลอดเลือดโคโรนารี (coronary artery) ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลงหรือชะงักไป เมื่อผู้ป่วยมีภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจต้องการออกซิเจนมากขึ้น หรือมีออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อน้อยลง ก็จะทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกเป็นครั้งคราว โดยที่ยังไม่มีการตายของกล้ามเนื้อหัวใจเกิดขึ้น อาการดังกล่าวเรียกว่า โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ (angina pectoris)
แต่ถ้ากล้ามเนื้อหัวใจมีการตายเกิดขึ้นบางส่วน เนื่องจากหลอดเลือดหัวใจเกิดการอุดตันจากลิ่มเลือด เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้เลย ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง ซึ่งมักจะมีภาวะช็อกและหัวใจวายร่วมด้วย เรียกว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (myocardial infarction/MI)
โรคนี้มักจะพบได้มากขึ้นตามอายุ ส่วนมากจะมีอาการเริ่มแรกเมื่อมีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป มักไม่พบในผู้ชายอายุต่ำกว่า 30 ปี หรือผู้หญิงอายุต่ำกว่า 40 ปี ที่ไม่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อน พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
คนที่อยู่ดีกินดี คนที่มีอาชีพทำงานนั่งโต๊ะและคนในเมืองมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนยากจน คนที่มีอาชีพใช้แรงงาน และชาวชนบท
ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจมีประวัติว่ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย
ส่วนใหญ่เกิดจากหลอดเลือดหัวใจมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) ซึ่งเกิดจากความเสื่อมตามอายุหรือปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ (ดูภาวะแทรกซ้อนโรคความดันโลหิตสูง) เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ ความดันโลหิตสูง ความอ้วน การสูบบุหรี่จัด การขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบว่า ภาวะโฮโมซิสตีนในเลือดสูง (hyperhomocysteinemia)* ภาวะขาดไทรอยด์ ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งและโรคหัวใจขาดเลือดได้
ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจแข็ง จะมีไขมัน (คอเลสเตอรอลและไขมันชนิดอื่น ๆ) เกาะที่ภายในผนังหลอดเลือดหัวใจ เรียกว่า ตะกรันท่อเลือดแดง (atheroma/atherosclerotic plaque) ทำให้ช่องทางเดินของเลือดตีบแคบลง เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง และจะเกิดอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือดชั่วขณะเมื่อมีภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจต้องการออกซิเจนมากขึ้น (เช่น การออกแรงมาก ๆ ขณะร่วมเพศ การมีอารมณ์โกรธ หรือจิตใจเครียด) หรือมีออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจน้อยลง (เช่น ภาวะซีด หลอดเลือดหดตัวขณะสูบบุหรี่ เลือดไปเลี้ยงหัวใจน้อยลงหลังกินอาหารอิ่ม)
ส่วนน้อยอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบหรือรั่ว หัวใจห้องล่างซ้ายโตจากโรคความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจพิการ (cardiomyopathy) การหดเกร็ง (spasm) ของหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด การติดเชื้อหรือการอักเสบของหลอดเลือดหัวใจ การบาดเจ็บ การฉายรังสีบริเวณทรวงอก เป็นต้น
ส่วนโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ส่วนใหญ่เกิดจากมีลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดหัวใจซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันทันที ซึ่งเกิดในผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจแข็งและตีบมาก่อน มักเป็นผลจากตะกรันท่อเลือดแดงที่เกาะที่ผนังหลอดเลือดหัวใจมีการฉีกขาดหรือแตก เกล็ดเลือดจับเป็นลิ่มเลือดอุดตันช่องทางเดินเลือดอย่างสมบูรณ์ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและตายฉับพลัน
ส่วนน้อยอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ภาวะมีลิ่มเลือดในหัวใจแล้วหลุดลอยไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดหัวใจหดเกร็งรุนแรงจากยาเสพติด (ได้แก่ โคเคน แอมเฟตามีน) เป็นต้น
*โฮโมซิสตีนเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่ง อาจพบว่ามีระดับของสารนี้ในเลือดสูงในวัยหมดประจำเดือนและสูงอายุ ในผู้ป่วยที่มีภาวะขาดกรดโฟลิก วิตามินบี 6 หรือบี 12 ภาวะไตวาย มะเร็งบางชนิด สูบบุหรี่จัด หรือมีการใช้ยา (เช่น ไอโซไนอาซิด เฟนิโทอิน เมโทเทรกเซต) หรือผู้ที่มีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ทำให้หลอดเลือดหัวใจแข็งและตีบ รวมทั้งกระตุ้นให้เลือดจับเป็นลิ่มอุดตันหลอดเลือดหัวใจได้
ในรายที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ จะมีอาการปวดเค้นคล้ายมีอะไรกดทับหรือจุกแน่นที่ตรงกลางหน้าอกหรือยอดอก ซึ่งมักจะเจ็บร้าวมาที่ไหล่ซ้ายด้านในของแขนซ้าย บางรายอาจร้าวมาที่คอ ขากรรไกร หลัง หรือแขนขวา
บางรายอาจรู้สึกจุกแน่นที่ใต้ลิ้นปี่ คล้ายอาการอาหารไม่ย่อยหรือท้องอืดเฟ้อ
ผู้ป่วยมักมีอาการกำเริบเป็นบางครั้งบางคราวเวลาออกแรงมาก ๆ (เช่น ยกของหนัก เดินขึ้นที่สูง ออกกำลังแรง ๆ ทำงานหนัก ๆ แบบที่ไม่เคยทำมาก่อน) มีอารมณ์โกรธ ตื่นเต้น ตกใจ เสียใจ หรือจิตใจเคร่งเครียด ขณะร่วมเพศ หลังกินข้าวอิ่มจัด ขณะสูบบุหรี่ หรือเวลาถูกอากาศเย็น ๆ
ผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรง เป็นไข้ หรือหัวใจเต้นเร็ว (เช่น หลังดื่มกาแฟ หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคคอพอกเป็นพิษ) ก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคนี้ได้
อาการเจ็บหน้าอก มักจะเป็นอยู่นาน 2-3 นาที (มักไม่เกิน 10-15 นาที) แล้วหายไปเมื่อได้พักหรือหยุดกระทำสิ่งที่เป็นสาเหตุชักนำ หรือหลังจากได้อมยาขยายหลอดเลือด (เช่น ไนโตรกลีเซอรีน)
นอกจากนี้ ขณะมีอาการเจ็บหน้าอก ผู้ป่วยอาจมีอาการใจสั่น เหนื่อยหอบ เหงื่อออก เวียนศีรษะ คลื่นไส้ร่วมด้วย
ผู้ป่วยที่มีความรู้สึกเจ็บหน้าอกแบบแปลบ ๆ เวลาหายใจเข้าลึก ๆ ไอหรือจาม หรือเจ็บเวลาก้มหรือเอี้ยวตัว หรือกดถูกเจ็บ หรือรู้สึกเจ็บทั่วหน้าอกอยู่เรื่อย ๆ โดยที่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดีและเวลาออกกำลังกายหรือทำอะไรเพลิน ๆ หายเจ็บ มักไม่ใช่อาการแสดงของโรคหัวใจขาดเลือด (ตรวจอาการเจ็บหน้าอก เพิ่มเติม)
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เคยมีอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือดชั่วขณะเป็นครั้งคราว หากต่อมามีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงขึ้น กำเริบบ่อยขึ้นหรือมีอาการเจ็บหน้าอกแม้ขณะพักหรือออกแรงเพียงเล็กน้อย ให้สงสัยว่าตะกรันท่อเลือดแดงอาจสะสมมากขึ้นจนหลอดเลือดหัวใจเกิดการอุดตันมากขึ้น หรือตะกรันเริ่มแตกหรือมีลิ่มเลือดเกิดขึ้น อาการเช่นนี้ เรียกว่า โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะแบบไม่คงที่ (unstable angina) ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉิน เพราะอาจเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันตามมาได้
ในรายที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ส่วนใหญ่จะมีอาการเจ็บหน้าอกในลักษณะเดียวกับโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ แต่จะเจ็บรุนแรงและต่อเนื่องนานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน ๆ แม้จะได้นอนพักก็ไม่ทุเลา บางรายอาจมีอาการปวดแน่นท้องคล้ายโรคกระเพาะหรือไม่มีอาการเจ็บหน้าอกก็ได้
ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ใจสั่น หน้ามืด เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย
ถ้าเป็นรุนแรง จะมีอาการหายใจหอบเหนื่อย เนื่องจากมีภาวะหัวใจวาย หรือเกิดภาวะช็อก (เหงื่อออก ตัวเย็น กระสับกระส่าย ใจหวิว เป็นลม) หรือชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ
ผู้ป่วยอาจเป็นลมหมดสติ หรือตายในทันทีทันใด
บางรายอาจมีประวัติว่า เคยมีอาการเจ็บหน้าอกเป็นครั้งคราวนำมาก่อน เป็นเวลาหลายสัปดาห์
บางรายอาจไม่มีอาการเจ็บหน้าอกมาก่อนเลยก็ได้
อาจทำให้เกิดภาวะช็อก หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจห้องล่างแตก (ventricular rupture) ซึ่งอาจเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้
บางรายอาจมีเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) แทรกซ้อนหลังเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย 10 วันถึง 2 เดือน (มีอาการไข้ ภาวะมีน้ำในช่องหุ้มหัวใจ) หรือมีลิ่มเลือดหลุดลอยไปอุดตันหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดทั่วร่างกาย
บางรายอาจมีภาวะซึมเศร้าหลังจากฟื้นตัวจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
ในรายที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ อาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติอะไร ในบางรายอาจตรวจพบความดันโลหิตสูง เบาหวาน รูปร่างอ้วน
ส่วนในรายที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย อาจตรวจพบภาวะช็อก (ชีพจรเต้นเร็ว ความดันต่ำ) ภาวะหัวใจวาย (ฟังปอดมีเสียงกรอบแกรบ) หัวใจเต้นผิดจังหวะ
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และตรวจพิเศษอื่น ๆ
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ในรายที่สงสัยเป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ (มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเพียงชั่วขณะ เป็นบางครั้งบางคราว) แพทย์มักจะวินิจฉัยโดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiography/ECG/EKG) ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ (ดูว่าเป็นเบาหวาน มีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ หรือปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ หรือไม่)
ในกรณีที่คลื่นไฟฟ้าหัวใจบอกผลได้ไม่ชัดเจน* อาจจำเป็นต้องทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจซ้ำ หรือทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (exercise stress test) โดยการวิ่งบนสายพานหรือปั่นจักรยาน การถ่ายภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (echocardiography) การถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดหัวใจ (coronary angiography) เป็นต้น
การรักษา แพทย์จะให้ยาขยายหลอดเลือดหัวใจกลุ่มไนเทรต เพื่อป้องกันและบรรเทาอาการเจ็บหน้าอก ได้แก่ ไนโตรกลีเซอรีน (nitroglycerine) หรือไอโซซอร์ไบด์ (isosorbide) อมใต้ลิ้นทันทีเมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก ยานี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการปวดศีรษะแบบตุบ ๆ ที่ขมับคล้ายไมเกรน เนื่องจากหลอดเลือดที่ขมับขยายตัว บางรายอาจมีอาการเป็นลมขณะลุกขึ้นยืน ดังนั้นเวลาจะอมยากลุ่มนี้ ควรนั่งลงเสียก่อนอย่าอยู่ในท่ายืน
นอกจากนี้ อาจให้ยาขยายหลอดเลือดหัวใจชนิดออกฤทธิ์นาน เช่น ไอโซซอร์ไบด์ (isosorbide) ไดไพริดาโมล (dipyridamole) เพนตาอีริไทรทอล (pentaerythritol) เพื่อป้องกันมิให้เกิดอาการ
ผู้ป่วยทุกราย แพทย์จะให้ยาต้านเกล็ดเลือด ได้แก่ แอสไพริน ขนาด 81-325 มก. วันละครั้ง เพื่อไม่ให้เกล็ดเลือดจับเป็นลิ่มเกาะที่ผนังหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น ถ้าแพ้แอสไพรินหรือมีข้อห้ามใช้ยานี้อาจให้ไทโคลพิดีน (ticlopidine) 250 มก. วันละ 2 ครั้ง หรือโคลพิโดเกรล (clopidogrel) 75 มก. วันละครั้ง
บางครั้งอาจต้องให้ยาปิดกั้นบีตา ยาต้านแคลเซียม หรือยาต้านเอซ ซึ่งสามารถลดการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย และป้องกันการเสียชีวิตได้
ถ้าผู้ป่วยมีโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ก็ต้องให้ยารักษาโรคเหล่านี้ร่วมด้วย
ในรายที่มีอาการเจ็บหน้าอกบ่อย หรือใช้ยาไม่ได้ผล แพทย์จะทำการสวนหัวใจและฉีดสีถ่ายภาพหลอดเลือดหัวใจ (cardiac catheterization and angiogram) ถ้าพบว่ามีการอุดกั้นรุนแรงหรือหลายแห่ง ก็จะทำการแก้ไขโดยการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน (นิยมเรียกว่า การทำบอลลูน)** และใส่หลอดลวดตาข่าย (stent) คาไว้ในหลอดเลือดบริเวณที่ตีบตัน
ในบางครั้งแพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดเปิดทางระบาย (ทางเบี่ยง) ของหลอดเลือดหัวใจ (นิยมเรียกว่า การผ่าตัดบายพาส)*** วิธีนี้มักใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง ใช้ยารักษาไม่ได้ผล หรือไม่สามารถทำบอลลูนหรือทำบอลลูนไม่ได้ผล
2. ถ้ามีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงหรือต่อเนื่องเป็นชั่วโมง ๆ ถึงเป็นวัน ๆ มีภาวะหัวใจวาย ช็อกหรือหมดสติ หรือมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงและบ่อยขึ้นกว่าเดิม หรือมีอาการเจ็บหน้าอกขณะพักหรือออกแรงเพียงเล็กน้อย
แพทย์จะทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจเลือด (มักพบระดับ creatine kinase-MB และ troponin ในเลือดสูงกว่าปกติในผู้ป่วยที่มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน) และตรวจพิเศษอื่น ๆ ถ้าพบว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะแบบไม่คงที่ (unstable angina) ก็จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล
การรักษา ในรายที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน แพทย์จะให้แอสไพรินเคี้ยวก่อนกลืน (ถ้ายังไม่ได้รับมาก่อน ซึ่งจะช่วยลดขนาดของลิ่มเลือดที่อุดตัน ช่วยให้รอดชีวิตได้) ให้ยาปิดกั้นบีตา (เพื่อลดอัตราการเต้นของหัวใจ ลดการทำงานของหัวใจ ป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายมากขึ้น) ให้ยาต้านเอซ (เพื่อลดการพองตัวของหัวใจ รักษาภาวะหัวใจวาย ช่วยลดการตายลงได้) ฉีดมอร์ฟีนระงับปวด และให้ออกซิเจน
นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาขั้นต่อไป คือ การให้ยาละลายลิ่มเลือด (thrombolytic agent ได้แก่ ทีพีเอ (tPA/recombinant tissuetype plasminogen activator) หรือสเตรปโตไคเนส (streptokinase) ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ (ซึ่งจะได้ผลดีเมื่อให้ภายใน 6 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ) หรือไม่ก็อาจพิจารณาทำบอลลูนหรือผ่าตัดบายพาสแบบฉุกเฉิน
บางกรณี แพทย์อาจให้สารกันเลือดเป็นลิ่ม ได้แก่ เฮพารินชนิดน้ำหนักโมเลกุลต่ำ (low molecular weight heparin/LMWH) เสริมในรายที่ให้ทีพีเอ (tPA) หรือทำบอลลูน
ใน 2-3 วันแรก ผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนพักอยู่บนเตียง (ห้ามลงจากเตียง) ผู้ป่วยต้องงดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด แพทย์จะให้ยาระบายเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเบ่งถ่ายอุจจาระเพราะท้องผูก ให้ยาจิตประสาทเพื่อควบคุมภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้า โดยทั่วไปหากไม่มีภาวะแทรกซ้อนผู้ป่วยจำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน 5-7 วัน เมื่ออาการทุเลาดีแล้ว ก็จะเริ่มทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูสภาพหัวใจให้แข็งแรง และให้ยารักษาแบบเดียวกับโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะอย่างต่อเนื่องต่อไป
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะแบบไม่คงที่ แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ให้ยาแบบเดียวกับโรคหัวใจขาดเลือดทั่วไป รวมทั้งให้สารกันเลือดเป็นลิ่ม (ได้แก่ เฮพาริน) และยาต้านเกล็ดเลือด (เช่น แอสไพริน ไทโคลพิดีน หรือโคลพิโดเกรล) ให้ยาปิดกั้นบีตา และให้ไนโตรกลีเซอรีนชนิดฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อลดการทำงานของหัวใจ ถ้าไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยา ก็จะทำการถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดหัวใจและทำบอลลูนหรือผ่าตัดบายพาส
ผลการรักษา ขึ้นกับความรุนแรงของโรค สภาพของผู้ป่วย โรคที่พบร่วม และวิธีรักษา
ในรายที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะแบบเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง มักได้ผลการรักษาที่ดี การใช้แอสไพรินสามารถป้องกันไม่ให้กลายเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย และลดการตายลงได้ ส่วนการทำบอลลูนและการผ่าตัดบายพาส ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงอยู่รอดปลอดภัยมากขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้ผลการรักษาไม่สู้ดี ได้แก่ ผู้ป่วยอายุมาก เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ มีอาการรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อน (เช่น หัวใจวาย)
ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดแบบไม่คงที่ ถ้าเริ่มมีกล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วน หรือมีความล่าช้าในการถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดหัวใจและการบำบัดที่เหมาะสม ผลการรักษามักจะไม่ดี
ผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ถ้าเป็นรุนแรงหรือกล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายปริมาณมาก ก็มักจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็วหรือทันทีทันใด ในรายที่สามารถมีชีวิตรอดได้ 2-3 วันหลังเกิดอาการก็มักจะฟื้นตัวจนเป็นปกติได้ ซึ่งบางรายอาจกำเริบซ้ำและเสียชีวิตภายใน 3-4 เดือนถึง 1 ปีต่อมา ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการต่อเนื่อง เช่น เจ็บหน้าอกเป็นครั้งคราว หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือภาวะหัวใจวาย มักพบอัตราตายและการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน หรือมีภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว ร่วมด้วย
ส่วนในรายที่ได้รับการทำบอลลูนหรือผ่าตัดบายพาส มักจะฟื้นสภาพได้ดี และมีชีวิตได้ยืนยาวขึ้น แต่บางรายก็อาจมีหลอดเลือดหัวใจตีบตันซ้ำ ซึ่งอาจต้องทำบอลลูนหรือผ่าตัดบายพาสซ้ำ
*การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจมีความไวในการวินิจฉัยโรคนี้ประมาณร้อยละ 50-75 หมายความว่า ประมาณร้อยละ 50-75 ของผู้ที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะบอกว่าผิดปกติ และประมาณร้อยละ 25-50 ผลการตรวจจะบอกว่าปกติ เรียกว่า ผลลบลวง (false negative) อาจทำให้วินิจฉัยผิดได้
**การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน (percutaneous transluminal coronary angioplasty/PTCA) แพทย์จะใช้สายที่มีบอลลูน (balloon) อยู่ตรงปลาย สอดใส่เข้าหลอดเลือดแดงต้นขา (femoral artery) แล้วแยงขึ้นไปจนเข้าไปตรงบริเวณหลอดเลือดหัวใจที่ตีบตัน แล้วเป่าลมให้บอลลูนพองตัว ดันตะกรันท่อเลือดแดง (atheroma) ให้แฟบและทำการขยายหลอดเลือด
***การผ่าตัดบายพาส (bypass surgery หรือ coronary artery bypass grafting/CABG) เป็นการผ่าตัดโดยนำหลอดเลือดจากส่วนอื่น (เช่น หลอดเลือดขา) ไปต่อเชื่อมระหว่างหลอดเลือดหัวใจ (ส่วนที่ยังไม่มีการตีบตัน) กับหลอดเลือดแดงใหญ่
หากสงสัย เช่น มีอาการปวดเค้นคล้ายมีอะไรกดทับหรือจุกแน่นที่ตรงกลางหน้าอกหรือยอดอก ซึ่งมักจะเจ็บร้าวมาที่คอ ขากรรไกร หลัง หรือแขน เป็นบางครั้งบางคราวเวลาออกแรงมาก ๆ มีอารมณ์โกรธ ตื่นเต้น ตกใจ เสียใจ หรือจิตใจเคร่งเครียด ขณะร่วมเพศ หลังกินข้าวอิ่มจัด ขณะสูบบุหรี่ หรือเวลาถูกอากาศเย็น ควรปรึกษาแพทย์
หากมีอาการ เจ็บหน้าอกรุนแรง หรือมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมกับอาการใจสั่น เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลมร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ควรดูแลตนเอง ดังนี้
1. ดูแลรักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
2. ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
3. ควรปฏิบัติตัว ดังนี้
- เลิกสูบบุหรี่เด็ดขาด
- ถ้าอ้วน ควรหาทางลดน้ำหนัก
- อย่ากินอาหารที่มีไขมันสัตว์สูง และใช้น้ำมันจากพืช (ยกเว้นกะทิ) แทนน้ำมันหมู
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังที่หักโหม และควรค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย ทางที่ดีควรขอคำแนะนำจากแพทย์เสียก่อนที่จะออกกำลังกายมาก ๆ การออกกำลังกายที่แนะนำให้ทำกัน ได้แก่ เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการโรคหัวใจกำเริบ เช่น อย่าทำงานหักโหมเกินไป อย่ากินข้าวอิ่มเกินไป ระวังอย่าให้ท้องผูกโดยการดื่มน้ำมาก ๆ กินผลไม้ให้มาก ๆ และควรกินยาระบายเวลาท้องผูก
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้อารมณ์เครียด ตื่นเต้นตกใจ หรือการกระทบกระเทือนทางจิตใจ และทำจิตใจให้เบิกบานอยู่เสมอ
- งดดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่ใส่กาเฟอีน
- หลีกเลี่ยงการซื้อยากินเอง เพราะอาจมีผลทำให้โรคกำเริบ หรือเกิดปฏิกิริยาด้านลบกับยาที่ใช้รักษาอยู่ก่อน
4. ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีอาการเจ็บจุกหน้าอกกำเริบ หรือรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หรือเท้าบวม
- มีอาการจุกแน่นลิ้นปี่คล้ายโรคกระเพาะ และกินยารักษาโรคกระเพาะไม่ทุเลา
- มีอาการไม่สบาย เช่น มีไข้สูง ปวดท้องมาก ท้องเดินมาก อาเจียนมาก หรือหน้าตาซีด เป็นต้น
- ขาดยาหรือยาหาย
- กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
โรคนี้สามารถป้องกันโดยการปฏิบัติดังนี้
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ไม่สูบบุหรี่
- ระวังอย่าให้อ้วน
- ลดการกินอาหารที่มีไขมันสูง
- ผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ (ความเครียดอาจทำให้ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และภาวะไขมันในเลือดสูงกำเริบ หรือชักนำให้ผู้ป่วยสูบบุหรี่ได้)
- รักษาภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้อย่างต่อเนื่อง
- กินยาป้องกันไม่ให้โรคหัวใจขาดเลือดกำเริบ (เช่นแอสไพริน) ตามคำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่เคยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมาก่อน
1. โรคนี้มักเป็นเรื้อรัง และอาจมีอันตรายร้ายแรงเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ควรติดต่อรักษากับแพทย์ประจำและควรพกยาไนโตรกลีเซอรีน หรือไอโซซอร์ไบด์ชนิดอมใต้ลิ้น ติดตัวไว้ใช้เวลามีอาการ
2. สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย เมื่อกลับจากโรงพยาบาลแล้ว ควรพักฟื้นที่บ้านอีกสักระยะหนึ่ง อย่าทำงานหนัก และงดการร่วมเพศเป็นเวลา 4-5 สัปดาห์
ผู้ป่วยสามารถเริ่มกลับไปทำงานได้หลังมีอาการ 8-12 สัปดาห์ แต่ห้ามทำงานที่ต้องใช้แรงมาก
ผู้ป่วยควรป้องกันมิให้มีอาการกำเริบอีก โดยการกินยาตามแพทย์สั่งเป็นประจำ และปฏิบัติตัวดังในข้อ 6 สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากก็อาจมีโอกาสหายขาดและมีชีวิตยืนยาวเช่นคนปกติได้ ส่วนในรายที่กำเริบใหม่มักมีโรคอื่นแทรกซ้อนอยู่ก่อนหรือหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจมีการตีบตันจำนวนมาก
3. ผู้ที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดบางรายอาจไม่มีอาการเจ็บจุกหน้าอกชัดเจน แต่อาจรู้สึกคล้ายมีอาการปวดเมื่อยที่ขากรรไกร หัวไหล่ หรือท้ายทอย ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเพียงอาการปวดกล้ามเนื้อหรือกระดูก บางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอกกำเริบขณะอยู่ในท่านอน (เรียกว่า angina decubitus) หรือเจ็บหน้าอกขณะพัก (ซึ่งพบในผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากการหดเกร็งของหลอดเลือดหัวใจแขนงใหญ่) ดังนั้น ถ้าพบผู้ป่วยมีอาการกำเริบบ่อย และมีอายุมากหรือปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ (เช่น สูบบุหรี่จัด ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง อ้วน เป็นต้น) ก็ควรจะตรวจเช็กให้แน่ใจ
4. โรคนี้บางครั้งอาจมีอาการจุกแน่นลิ้นปี่ เหมือนอาการอาหารไม่ย่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นหลังกินอาหารใหม่ ๆ อาจทำให้วินิจฉัยผิดว่าเป็นโรคกระเพาะหรืออาหารไม่ย่อยได้ ดังนั้น ถ้าพบอาการจุกแน่นลิ้นปี่ในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีประวัติสูบบุหรี่ หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ก็ควรจะตรวจเช็กให้แน่ใจ ก่อนที่จะวินิจฉัยว่าเป็นเพียงโรคกระเพาะหรืออาหารไม่ย่อย
5. บางรายอาจมีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบโดยไม่ปรากฏอาการก็ได้ ดังนั้นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคนี้ควรตรวจเช็กหัวใจ และอาจต้องให้การรักษาตามความเหมาะสมต่อไป