*ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) เกิดจากการมีไขมันสะสมที่ผนังด้านในของหลอดเลือดแดงเป็นแผ่น เรียกว่า “แผ่นคราบไขมัน (atherosclerotic plaque)” หรือ “ตะกรันท่อเลือดแดง (atheroma)” ซึ่งประกอบด้วยไขมัน คอเลสเตอรอล และสารอื่น เช่น แคลเซียม เนื้อเยื่อเส้นใย เม็ดเลือดขาว-มาโครฟาจ (macrophage)
เมื่อแผ่นคราบหรือตะกรันดังกล่าวหนาตัวขึ้น ทำให้หลอดเลือดมีรูที่ตีบแคบ เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ (เช่น หัวใจ สมอง ไต แขนขา) น้อยลง อวัยวะนั้น ๆ เกิดภาวะขาดเลือด ทำให้เซลล์ของอวัยวะนั้นตายหรืออวัยวะนั้นเสื่อมได้ เช่น ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (แขนขา) ตีบ ไตวายเรื้อรัง เป็นต้น
นอกจากนี้ แผ่นคราบไขมันอาจมีความเปราะและแตกได้ ทำให้มีลิ่มเลือดเกิดขึ้นตรงรอยแตกของแผ่นคราบ เกิดการอุดตันหลอดเลือดโดยตรง หรือหลุดลอยไปอุดตันหลอดเลือดแขนงที่มีขนาดเล็กกว่า ขณะเดียวกัน อาจมีเศษของแผ่นคราบที่แตกหลุดลอยไปอุดตันหลอดเลือดแขนงเล็กได้เช่นกัน เช่น แผ่นคราบหรือลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในหลอดเลือดคาโรติด (หลอดเลือดแดงที่คอ ซึ่งมีขนาดใหญ่) หลุดลอยไปอุดตันหลอดเลือดขนาดเล็กในสมอง ทำให้เกิดโรคสมองขาดเลือดชั่วขณะ (TIA) หรือโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (สโตรก) ได้
*โรคสมองขาดเลือดชั่วขณะ (TIA) เกิดจากสมองขาดเลือดจากการอุดตันเพียงชั่วขณะ อาจเกิดจากหลอดเลือดแดงในสมองหรือหลอดเลือดแดงที่คอตีบตัน หรือมีสิ่งหลุดจากหลอดเลือดแดงที่อยู่นอกกะโหลกศีรษะลอยไปอุดตันในหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการแสดง สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง และการป้องกันแบบเดียวกับโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (สโตรก) ต่างกันตรงที่โรคสมองขาดเลือดชั่วขณะจะมีอาการอยู่นานไม่เกิน 24 ชั่วโมง (ส่วนใหญ่จะเป็นเพียง 2-30 นาที) แล้วหายได้เอง โดยร่างกายเกิดกลไกธรรมชาติที่สามารถทำให้การอุดตันนั้นหายไปได้อย่างรวดเร็ว เปิดทางให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมองได้เป็นปกติ
เนื่องจากพบว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคสมองขาดเลือดชั่วขณะหากไม่ได้รับการรักษา ประมาณร้อยละ 10-20 จะกลายเป็นสโตรกตามมาภายใน 3 เดือน (ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเป็นสโตรกภายใน 2 วันหลังเป็นโรคสมองขาดเลือดชั่วขณะ) และผู้ที่เป็นสโตรก ประมาณร้อยละ 15-30 จะมีประวัติว่าเคยมีอาการของโรคสมองขาดเลือดชั่วขณะมาก่อน โรคสมองขาดเลือดชั่วขณะจึงถือเป็นสัญญาณเตือนภัยของการเกิดโรคสโตรก ดังนั้น หากมีอาการสมองขาดเลือด (เช่น แขนขาซีกหนึ่งอ่อนแรง พูดอ้อแอ้ ปากเบี้ยว) ไม่ว่าสงสัยจะเป็นโรคสโตรกหรือโรคสมองขาดเลือดชั่วขณะ ก็ควรรีบไปโรงพยาบาลด่วน ทั้ง 2 โรคนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว ซึ่งจะป้องกันไม่ให้กลายเป็นอัมพาตครึ่งซีกอย่างถาวร
- มีอาการแขนขาอ่อนแรง เคลื่อนไหว หรือเดินลำบาก อาจทำให้หกล้ม กระดูกหัก หรือศีรษะได้รับบาดเจ็บได้
- ปากเบี้ยว พูดลำบาก กลืนอาหารลำบาก หรือสำลักอาหาร (เกิดภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจหรือปอดอักเสบ)
- ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง มีความรู้สึกเป็นภาระให้คนอื่น สูญเสียความมั่นใจในตนเอง เก็บตัว ไม่เข้าสังคม
- บางรายอาจมีความจำเสื่อม คิดช้า ไม่เข้าใจเหตุผล หรือตัดสินใจไม่ได้
- ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ หงุดหงิดง่าย หรือเป็นโรคซึมเศร้า
- ในรายที่เป็นอัมพาตเรื้อรังและนอนติดเตียง อาจเกิดแผลกดทับ (bed sores) ที่ก้น หลัง และข้อต่าง ๆ อาจเป็นปอดอักเสบ หรือโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบแทรกซ้อนได้บ่อย ๆ ซึ่งอาจเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษที่ร้ายแรงตามมาได้
นอกจากนี้การนอนติดเตียงนาน ๆ อาจทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด ซึ่งทำให้เกิดภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด เป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้
- ในรายที่เป็นรุนแรงหรือมีโรคที่พบร่วม (เช่น โรคหัวใจ ชีพจรเต้นผิดจังหวะ) อาจเสียชีวิตด้วยโรคแทรกซ้อนทางสมอง หรือโรคหัวใจ
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย
การตรวจร่างกาย นอกจากอาการอัมพาตของแขนขาซีกหนึ่งแล้ว อาจมีอาการปากเบี้ยว พูดไม่ได้ ซึม ความดันโลหิตสูง รีเฟล็กซ์ของข้อ (tendon reflex) ไวกว่าปกติ อาจมีอาการหายใจช้าหรือหายใจไม่สม่ำเสมอ
แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาตามสาเหตุ ดังนี้
- ดูแลรักษา กินยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
- กินอาหารสุขภาพ (ลดอาหารหวาน มัน เค็ม) ลดน้ำหนัก (ถ้าน้ำหนักเกิน) นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หาทางผ่อนคลายความเครียด (เช่น สวดมนต์ ไหว้พระ ทำสมาธิ) เคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังกาย (เท่าที่ร่างกายจะอำนวย)
- ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการซื้อยา สมุนไพร อาหารเสริมมาใช้เอง หากจะใช้ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลดีและความปลอดภัย เนื่องจากสิ่งเหล่านี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้ตับอักเสบหรือไตเสื่อมได้ หรืออาจมีปฏิกิริยากับยาที่รักษา (เสริมหรือต้านฤทธิ์ยา) เกิดผลเสียต่อการควบคุมโรคหรือเกิดผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตราย (เช่น เลือดออก น้ำตาลในเลือดต่ำ) ได้
- ฝึกทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์/นักกายภาพบำบัด เช่น พยายามบริหารข้อโดยการเหยียดและงอแขนขาตรงทุก ๆ ข้อต่อบ่อย ๆ เพื่อป้องกันมิให้ข้อเกร็งแข็ง, หมั่นบริหารกล้ามเนื้อ และพยายามใช้แขนขาเพื่อให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น (ถ้าผู้ป่วยนอนเฉย ๆ ไม่พยายามใช้แขนขา กล้ามเนื้อก็จะลีบและข้อแข็ง) ฝึกเดิน ฝึกพูด ฝึกเขียนหนังสือ
- ในกรณีที่นอนติดเตียง ควรใช้ที่นอนที่ลดแรงกดทับ (เช่น ที่นอนน้ำ ที่นอนลม) และผู้ดูแลควรทำการพลิกตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมงเพื่อป้องกันแผลกดทับ (bed sores) ที่ก้น หลัง ข้อต่าง ๆ
- ให้อาหารและน้ำให้เพียงพอ บางรายอาจต้องป้อนทางสายยาง (ที่ใส่ผ่านจมูกหรือหน้าท้องเข้าไปที่กระเพาะอาหาร) ถ้าขาดน้ำ ผู้ป่วยจะซึม หรืออาการเลวลง ระมัดระวังในการป้อนอาหารแก่ผู้ป่วย อย่าให้สำลัก
- ถ้ามีสายสวนปัสสาวะ หรือสายป้อนอาหาร ควรดูแลให้สะอาดปลอดภัย และคอยเปลี่ยนสายใหม่ตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล
- มีไข้สูง หนาวสั่น ท้องเดิน อาเจียน ปัสสาวะขุ่นหรือมีเลือดปน
- ปวดศีรษะรุนแรง สับสน ซึม ไม่ค่อยรู้สึกตัว ชัก หรือหายใจหอบหรือลำบาก
- กินอาหาร หรือดื่มน้ำได้น้อย
- มีแผลกดทับเกิดขึ้น
- ยาหาย ขาดยา หรือมีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
- มีความวิตกกังวล
- งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์จัด ลดเกลือและน้ำตาล ลดอาหารที่มีไขมันมาก ลดน้ำหนัก (ถ้าอ้วน) และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อป้องกันมิให้มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งเร็ว
- ตรวจเช็กความดันโลหิต เบาหวาน ภาวะไขมันในเลือด ถ้ามีภาวะผิดปกติควรรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เมื่อควบคุมโรคเหล่านี้ได้ ก็จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
- ถ้ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรทำการรักษา รวมทั้งควบคุมปัจจัยเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนของภาวะนี้ (เช่น ภาวะอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน) เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
- ถ้าเคยมีอาการแขนขาอ่อนแรงชั่วคราวจากสมองขาดเลือดชั่วขณะ (TIA) ควรรีบปรึกษาแพทย์ ดูแลรักษาและกินยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคสโตรกจากลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดสมอง
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจรูมาติก ผู้ป่วยผ่าตัดใส่ลิ้นหัวใจเทียม หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นต้น ควรดูแลรักษา และกินยาแอสไพรินหรือยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือดตามที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันมิให้เกิดลิ่มเลือดที่หัวใจแล้วหลุดลอยไปอุดตันในหลอดเลือดสมอง
1. โรคสมองขาดเลือดชั่วขณะ (TIA) ซึ่งจะมีอาการเพียงระยะสั้น ๆ แล้วหายไปได้เองตั้งแต่ที่บ้านหรือระหว่างเดินทางไปโรงพยาบาล อาจทำให้ผู้ป่วยและญาติคิดว่าไม่เป็นไร และชะล่าใจไม่ไปตรวจรักษากับแพทย์ ผู้ป่วยมีโอกาสสูงที่จะเกิดอาการกำเริบใหม่ หรือกลายเป็นโรคสโตรกในเวลาต่อมาได้ ดังนั้นหากมีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ก็ควรไปโรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อทำการบำบัดรักษาให้ปลอดภัยและไม่กลายเป็นคนพิการ
2. โรคนี้มักเป็นเรื้อรัง บางรายอาจฟื้นตัวได้เร็วและช่วยตัวเองได้ บางรายอาจฟื้นตัวช้า หรือพิการตลอดไป แต่สติปัญญาของผู้ป่วยส่วนมากยังดีเช่นปกติ ญาติควรแสดงความเห็นอกเห็นใจ พูดคุย ให้กำลังใจผู้ป่วย และให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ (การอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ งานอดิเรก การออกสังคม) เท่าที่ร่างกายจะอำนวย เพื่อฝึกสมองและสร้างคุณค่าในตัวผู้ป่วย
3. สำหรับผู้ที่ร่างกายฟื้นตัวเป็นปกติหรือมีอาการอ่อนแรงเพียงเล็กน้อยซึ่งสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีแล้ว สามารถทำงานและดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งอาจต้องมีคนคอยร่วมเดินทางไปด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยก็ยังต้องดูแลรักษาตัวเองและติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง และคอยเฝ้าระวังอาการที่อาจกำเริบขึ้นได้