ภาวะหัวใจวายมีสาเหตุได้หลายประการ ที่พบได้บ่อย ได้แก่
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะหัวใจวายที่พบได้บ่อยที่สุด
- ความดันโลหิตสูง หากปล่อยให้เป็นอยู่นาน ๆ ทำให้หัวใจทำงานหนัก จนกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัวขึ้น ส่งผลให้สูญเสียความสามารถในการสูบฉีดเลือด
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด รวมทั้งไวรัสโควิด-19 ทำให้หัวใจห้องซ้ายวาย
- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น หัวใจเต้นช้าเกินหรือเร็วเกิน หรือเต้นระรัวไม่เป็นจังหวะ
- ภาวะลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว (เช่น โรคลิ้นหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคหัวใจรูมาติก) หรือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (congenital heart diseases มีภาวะผนังหัวใจหรือลิ้นหัวใจผิดปกติ) เป็นเหตุให้หัวใจทำงานหนัก และหัวใจวายได้
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ (cardiomyopathy) ซึ่งกล้ามเนื้อหัวใจมีความหนาตัวแต่อ่อนแอลง ทำให้หัวใจวาย โรคนี้เกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์จัด การเสพสารเสพติด (เช่น ยาบ้า โคเคน) เป็นเวลานาน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะอ้วน ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินหรือทำงานน้อย การติดเชื้อโควิด-19 โรคภูมิต้านตนเอง (เช่น เอสแอลอี ข้ออักเสบรูมาตอยด์) เป็นต้น
- เคมีบำบัดและรังสีบำบัด
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ, ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์, ยารักษาโรคเบาหวาน-ไพโอกลิทาโซน (pioglitazone), ยารักษามาลาเรีย-คลอโรควีน (chloroquine), ยาต้านเชื้อรา-ไอทราโคนาโซล (itraconazole) เป็นต้น
- อื่น ๆ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์จัด การสูบบุหรี่ ภาวะน้ำหนักเกิน เบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (คอพอกเป็นพิษ) หรือต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย (ภาวะขาดไทรอยด์) ภาวะไตวายเรื้อรัง ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง (เช่น ถุงลมปอดโป่งพอง) โรคหืด โลหิตจาง โรคเหน็บชา การติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้เกิดความผิดปกติทางโครงสร้าง (หลอดเลือดหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ) และการทำงานของหัวใจ (หัวใจทำงานหนัก สูบฉีดเลือดไม่ได้หรือได้น้อยลง) ทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย
ในระยะแรก มีอาการหอบเหนื่อยเฉพาะเวลาออกแรงมากหรือทำงานหนัก และอาจมีอาการไอและหายใจลำบากในตอนดึก ๆ ช่วงหลังเข้านอนแล้ว จนต้องลุกขึ้นนั่ง บางรายอาจมีอาการหอบคล้ายเป็นหืด ต้องลุกไปสูดหายใจที่ริมหน้าต่าง จึงรู้สึกค่อยยังชั่ว
บางรายอาจรู้สึกจุกแน่นอึดอัดในท้องหรือลิ้นปี่ ปวดบริเวณชายโครงด้านขวา มือบวม ข้อเท้าบวม
ในรายที่เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อาจมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก
เมื่อเป็นมากขึ้น จะมีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้น แม้ทำงานเพียงเล็กน้อยหรืออยู่เฉย ๆ ก็รู้สึกหายใจลำบาก อ่อนเพลีย นอนราบไม่ได้ ต้องนอนหรือนั่งพิงหมอนสูง ๆ (หมอนหลายใบ) ปัสสาวะออกน้อย หรือบางรายอาจปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน เท้าบวมขึ้น และอาจมีท้องบวม (ท้องมาน) โดยมากมักจะไม่บวมที่หน้าหรือหนังตาเช่นที่พบในผู้ป่วยเป็นโรคไต
ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวขึ้นรวดเร็ว เนื่องจากมีภาวะน้ำเกิน (มีการคั่งของน้ำตามส่วนต่าง ๆ) ในร่างกาย
เมื่อเป็นรุนแรง อาจมีอาการไอรุนแรง และมีเสมหะเป็นฟองสีแดงเรื่อ ๆ อาจมีอาการตัวเขียว ริมฝีปากเขียว กระสับกระส่าย ใจสั่น และหากไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการเรื้อรัง ซึ่งจะค่อย ๆ มีอาการมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป
ในรายที่มีภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการหอบหรือหายใจลำบาก แน่นอึดอัดในอก หายใจไม่ออก รู้สึกเหมือนขาดอากาศหายใจ อ่อนล้ามาก บางรายอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เท้าบวม ไอหรือหายใจมีเสียงดังวี้ด ๆ เจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่นหรือหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน มือเท้าเย็น ริมฝีปากเขียว เป็นลม หมดสติ เป็นต้น
บางรายอาจมีภาวะช็อกร่วมด้วย (ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของหัวใจ เรียกว่า "cardiogenic shock" ภาวะนี้พบในผู้ป่วยหัวใจวายเฉียบพลันเพียงบางราย ซึ่งมักเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน)
อาการหัวใจวายเฉียบพลัน ส่วนใหญ่เกิดจากการกำเริบ (เกิดอาการทรุดหนัก) ของภาวะหัวใจวายเรื้อรังที่เป็นอยู่ก่อน ส่วนน้อยอาจมีอาการเกิดขึ้นฉับพลันทันทีเป็นครั้งแรกหลังจากเกิดภาวะบางอย่าง เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน ภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤต ภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอดหรือหลอดเลือดปอดอุดตัน (pulmonary embolism) เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ได้แก่
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว (atrial fibrillation) ซึ่งอาจทำให้มีอันตรายร้ายแรงตามมาได้
- ลิ้นหัวใจพิการ เนื่องจากภาวะหัวใจวายทำให้หัวใจมีขนาดโตขึ้น และมีแรงดันภายในหัวใจมากขึ้น ส่งผลให้ลิ้นหัวใจเสื่อมลง ทำงานผิดปกติ
- ไตวายเรื้อรัง เนื่องจากภาวะหัวใจวาย ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตน้อยลง ไตค่อย ๆ เสื่อมลง จนถึงขั้นจำเป็นต้องทำการล้างไต (dialysis)
- ตับแข็ง เนื่องจากภาวะหัวใจวาย ทำให้มีการคั่งของน้ำในตับ เกิดแรงกดดันต่อเซลล์ตับ ส่งผลให้เซลล์ตับถูกทำลาย จนสูญเสียการทำหน้าที่ กลายเป็นโรคตับแข็ง
- น้ำท่วมปอดหรือปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) ทำให้มีอาการหายใจลำบาก
- ภาวะทุพโภชนาการ เนื่องจากมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร แน่นท้อง (ซึ่งเป็นผลมาจากอาการท้องบวมอันเกิดจากมีน้ำคั่งในช่องท้อง) ทำให้กินอาหารได้น้อย ขาดสารอาหาร
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งมีสิ่งตรวจพบ ดังนี้
หายใจหอบ นอนราบไม่ได้ หลอดเลือดที่คอโป่ง มือบวม เท้าบวม (กดที่ข้อเท้ามีรอยบุ๋ม) บางรายอาจมีท้องมาน
ชีพจรเต้นเร็ว บางครั้งอาจตรวจพบชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ
ใช้เครื่องฟังตรวจปอดมีเสียงกรอบแกรบ (crepitation) ทั้ง 2 ข้าง ซึ่งมักจะฟังชัดที่บริเวณใต้สะบัก บางรายอาจได้ยินเสียงวี้ด (wheezing) คล้ายหืดร่วมด้วย
มักคลำได้ตับโต
บางรายใช้เครื่องฟังตรวจหัวใจอาจได้ยินเสียงหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ หรือมีเสียงฟู่ (murmur) บางรายอาจมีความดันโลหิตสูง หรือมีอาการอื่น ๆ แล้วแต่สาเหตุที่เป็น
ในรายที่มีภาวะช็อก จะตรวจพบอาการเหงื่อออก ตัวเย็น ชีพจรเบาและเร็ว ความดันโลหิตต่ำ
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเลือด (ดูภาวะซีด, ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด, ทดสอบการทำงานของตับ ไต ต่อมไทรอยด์, ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด, อิเล็กโทรไลต์ เป็นต้น) ตรวจระดับ natriuretic peptide (BNP หรือ NT pro-BNP) ในเลือด (ซึ่งภาวะหัวใจวายจะพบว่าสูงกว่าปกติ) ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ถ่ายภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (echocardiogram) ถ่ายภาพหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การสวนหัวใจหรือการถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดหัวใจ (coronary angiogram) การตรวจชิ้นเนื้อหัวใจ (myocardial biopsy โดยการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อของกล้ามเนื้อหัวใจไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อวินิจฉัยชนิดของโรคกล้ามเนื้อหัวใจที่เป็นสาเหตุของหัวใจวาย) เป็นต้น
แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้การรักษาดังนี้
1. รักษาอาการหัวใจวายเฉียบพลัน เช่น แก้ไขภาวะการหายใจล้มเหลวด้วยการใส่ท่อช่วยหายใจ การใช้เครื่องช่วยหายใจ และการให้ออกซิเจนตามข้อบ่งชี้, แก้ไขภาวะน้ำเกิน (การคั่งของน้ำในร่างกาย) ด้วยยาขับปัสสาวะ (เช่น furosemide) การจำกัดปริมาณน้ำที่ดื่มและปริมาณเกลือโซเดียมที่บริโภค, แก้ไขภาวะช็อกที่พบร่วมด้วย เป็นต้น
นอกจากนี้ แพทย์จะพิจารณาใช้ยาอื่น ๆ (เช่น ยาขยายหลอดเลือด ยากระตุ้นหัวใจ ยาหดเกร็งหลอดเลือด เป็นต้น) และวิธีรักษาอื่น ๆ ตามความจำเป็นของผู้ป่วยแต่ละราย
2. ให้ยารักษาเพื่อควบคุมภาวะหัวใจวาย มียาหลายชนิดให้เลือกใช้ ซึ่งมักจะใช้ร่วมกัน ดังนี้
(1) ยาต้านเอซ (ACE Inhibitors เช่น enalapril, lisinopril, captopril) หรือยาเออาร์บี (angiotensin II receptor blockers/ARBs เช่น losartan, valsartan) ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น และหัวใจทำงานดีขึ้น
(2) ยาปิดกั้นบีตา (beta blockers เช่น bisoprolol, carvedilol) ช่วยให้หัวใจเต้นช้าลง ลดความดันโลหิต และหัวใจทำงานดีขึ้น
(3) ยาต้านแอลโดสเตอโรน (mineralocorticoid receptor antagonist/MRA เช่น spironolactone) โดยให้ยาในขนาดต่ำ ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการปรับสภาพโครงสร้างหัวใจที่ไม่พึงประสงค์ (เช่น การเกิดพังผืดในกล้ามเนื้อหัวใจ)
แพทย์จะให้ยาทั้ง 3 ชนิดข้างต้นร่วมกันเป็นพื้นฐาน* หากไม่ได้ผลเต็มที่ แพทย์จะพิจารณาปรับการใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วย โดยอาจให้ยากลุ่มอื่น (เช่น digoxin หรือ ivabradine) เพิ่มเติม หรืออาจใช้ยากลุ่มอื่นแทนยากลุ่มที่ (1) ข้างต้น เช่น ยากลุ่ม ARNI (ได้แก่ sacubitril/valsartan) สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่ม (1) แล้วเกิดผลข้างเคียง หรือมีข้อห้ามใช้ แพทย์อาจพิจารณาให้ hydralazine ร่วมกับ isosorbide แทน*
สำหรับผู้ป่วยที่ได้ยารักษาอย่างเต็มที่แล้ว ยังไม่ทุเลาดี แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การใส่เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า (ICD/Implantable cardioverter defibrillator), การใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ (CRT/Cardiac resynchronization therapy)
3. รักษาโรคที่พบร่วมหรือภาวะที่เป็นสาเหตุของหัวใจวาย อาทิ
- เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือภาวะโลหิตจาง ก็จะให้การรักษาด้วยยา
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แพทย์จะพิจารณาให้ผู้ป่วยใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP)
- โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือโรคหัวใจรูมาติก อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อาจต้องรักษาด้วยการทำบัลลูน หรือผ่าตัดบายพาส
4. สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจวายระยะสุดท้าย (เนื่องจากมีภาวะรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษา) แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดใส่เครื่องพยุงการทำงานของหัวใจ (mechanical circulatory support) หรือการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ
ผลการรักษา ขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของโรค หากได้รับการรักษาได้ทันการณ์และอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยให้อาการทุเลา ลดภาวะแทรกซ้อน ลดการกลับเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ป้องกันการเสียชีวิตได้ แต่หากมีภาวะหัวใจวายที่รุนแรง หรือมีสาเหตุจากโรคที่รุนแรง หรือไม่ได้ดูแลรักษาตามที่แพทย์แนะนำ ก็อาจมีอาการกำเริบรุนแรงได้บ่อยและต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลซ้ำซาก หรือเสียชีวิตได้
*อ้างอิง สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์. แนวทางเวชปฏิบัติเพื่อการวินิจฉัยและการดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว พ.ศ. 2562
หากมีอาการที่สงสัยว่าเป็นภาวะหัวใจวาย เช่น มีอาการเหนื่อยง่าย และเท้าบวม ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
ควรไปพบแพทย์ด่วน ถ้ามีอาการหอบหรือหายใจลำบาก เจ็บหน้าอกรุนแรง หรือเป็นลม
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ ควรดูแลตนเองดังนี้
1. ดูแลรักษา ปฏิบัติตัว และติดตามการรักษาตามที่แพทย์แนะนำ
2. ควรปฏิบัติตัว ดังนี้
- งดแอลกอฮอล์ และบุหรี่
- ห้ามตรากตรำงานหนัก
- ออกกำลังกายตามกำลังของตน เช่น การเดิน (โดยขอให้แพทย์ที่รักษาแนะนำวิธีที่เหมาะสม)
- กินอาหารที่มีประโยชน์ในการควบคุมโรค โดยเน้นผัก ผลไม้ ปลา เต้าหู้ ธัญพืช ถั่วต่าง ๆ นมพร่องมันเนย และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน มัน และเค็ม รวมทั้งน้ำตาล เครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาล เนื้อแดง เนื้อติดมัน
- จำกัดปริมาณน้ำที่ดื่ม และเกลือโซเดียมที่บริโภคต่อวัน (โดยขอคำแนะนำจากแพทย์ที่รักษาว่าควรเป็นเท่าไร) เพื่อลดบวมและป้องกันอาการกำเริบ
- ลดน้ำหนักถ้าน้ำหนักเกิน
- หมั่นตรวจดูอาการเท้าบวม และชั่งน้ำหนักเองที่บ้านทุกวัน หากพบว่ามีอาการเท้าบวมหรือน้ำหนักขึ้นเร็ว ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และผ่อนคลายความเครียด (เช่น ทำงานอดิเรก รดน้ำต้นไม้ ดูหนัง ฟังเพลง วาดภาพ ฝึกสมาธิ ชื่นชมธรรมชาติและศิลปกรรม เสวนากับผู้คนหรือร่วมกิจกรรมกลุ่มมิตรภาพบำบัด เป็นต้น)
- กินยาที่แพทย์สั่งใช้ให้ครบถ้วนอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรหยุดยาและปรับการใช้ยาเอง (ทั้งชนิดยา และขนาดยา) โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ก่อน
- หลีกเลี่ยงการซื้อยา สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาใช้เอง เพราะอาจมีผลทำให้โรคกำเริบ หรือเกิดปฏิกิริยาด้านลบกับยาที่ใช้รักษาอยู่ก่อน
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามที่แพทย์แนะนำ ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ
3. ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีอาการเหนื่อยง่าย หายใจอึดอัดเวลานอนราบ ท้องบวม มือบวม หรือเท้าบวม อ่อนล้ามาก หรือน้ำหนักตัวขึ้นเร็ว
- มีอาการไม่สบาย เช่น มีไข้สูง ปวดท้องมาก ท้องเดินมาก อาเจียนมาก หรือหน้าตาซีด เป็นต้น
- มีอาการนอนกรน และง่วงนอนตอนกลางวัน หรือสงสัยมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- ขาดยา ยาหาย หรือมีอาการสงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา
ควรปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวาย ดังนี้
- หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
- ไม่สูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ (ถ้าเลี่ยงไม่ได้ในบางโอกาส ควรดื่มในปริมาณเล็กน้อยที่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ)
- บริโภคอาหารที่ส่งเสริมสุขภาพ เน้นการกินผัก ผลไม้ ปลา เต้าหู้ ธัญพืชและถั่วต่าง ๆ ให้มาก ลดละอาหารหวาน น้ำตาล ไขมัน อาหารเค็ม
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดน้ำหนักถ้าน้ำหนักเกิน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ
- ป้องกันหรือรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุของหัวใจวาย เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง คอพอกเป็นพิษ เป็นต้น
- ควรป้องกันไม่ให้อาการหัวใจกำเริบซ้ำ โดยการดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
1. หัวใจวายเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง อาจมีอาการกำเริบได้บ่อย และเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาจรุนแรงถึงทำให้เสียชีวิตกะทันหันหรือภายในเวลา 5-10 ปีหลังมีอาการครั้งแรก ผู้ป่วยจำเป็นต้องติดตามรักษากับแพทย์อย่างใกล้ชิด และดูแลรักษาตนเองอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
ผู้ป่วยและญาติควรเรียนรู้ธรรมชาติของโรคและการดูแลรักษาตนเอง และนำไปปฏิบัติในการดูแลตนเองที่บ้านได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้มีชีวิตยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
2. ผู้ที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ถุงลมปอดโป่งพอง ไตวายเรื้อรัง โรคภูมิต้านตนเอง) หรือมีปัจจัยเสี่ยง (เช่น มีภาวะอ้วน สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์จัด) ควรดูแลรักษาโรคเหล่านี้อย่างจริงจังและปรับพฤติกรรมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงลง และควรสังเกตอาการด้วยตนเอง หากสงสัยว่ามีอาการหัวใจวายเกิดขึ้น ก็ควรไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการตรวจรักษาได้อย่างทันการณ์