1. ในทารกแรกเกิดและเด็กเล็ก อาจมีสาเหตุที่สำคัญและพบบ่อย ดังนี้
ก. ทารกกลืนขี้เทาหรือเลือดแม่ จะมีอาการเกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงแรกหลังคลอด เนื่องจากการกลืนเอาขี้เทา (meconium) หรือเลือดมารดาเข้าไป ทำให้มีการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร เด็กจะมีอาการอาเจียนไม่มาก และไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ มักจะหายได้เอง ระหว่างที่มีอาการอาเจียน ควรให้ทารกดูดน้ำกลูโคส หรือผสมน้ำตาลทีละน้อย แต่บ่อย ๆ
ข. ทารกได้รับบาดเจ็บระหว่างคลอด มักมีประวัติการคลอดลำบาก หลังคลอดจะมีอาการอาเจียน ซึม ชัก กระหม่อมโป่งตึง เป็นภาวะที่ร้ายแรงซึ่งแพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล
(ดู
อาการชักในเด็ก เพิ่มเติม
)
ค. กระเพาะหรือลำไส้อุดกั้น กระเพาะส่วนปลายตีบแต่กำเนิด ลำไส้กลืนกันเอง มักมีอาการอาเจียนรุนแรง หรือปวดท้องรุนแรง เป็นภาวะที่ร้ายแรงซึ่งแพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล (ดู
ภาวะกระเพาะหรือลำไส้อุดกั้น เพิ่มเติม)
ง. โรคติดเชื้อ ในเด็กเล็ก เมื่อมีโรคติดเชื้อเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกระบบทางเดินอาหาร มักจะมีอาการอาเจียนร่วมด้วยเสมอ สาเหตุที่ร้ายแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบ โลหิตเป็นพิษ เป็นต้น สาเหตุที่ไม่ร้ายแรง เช่น ไข้หวัด ทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไอกรน บิด ท้องเดิน กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น รายละเอียดดูตามหัวข้อของโรคที่เป็นสาเหตุร่วม
จ. โรคเชื้อราในช่องปาก อาการอาเจียนมักไม่รุนแรง มักตรวจพบมีฝ้าขาวที่ลิ้น โดยไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ รักษาด้วยการใช้เจนเชียนไวโอเลต ป้ายลิ้นวันละ 2-3 ครั้ง
ฉ. เด็กเล็กสำรอกนม มักเกิดจากทารกกินนมอิ่มเกินไป หรือกลืนอากาศเข้าไประหว่างดูดนม ทำให้มีลมจุกแน่นในกระเพาะอาหาร ทารกจะสำรอกหรือขย้อนเป็นคราบนมปนน้ำออกมา โดยที่ยังสามารถดูดนมได้ดี ท่าทางแข็งแรงไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ และน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็นปกติ อาการสำรอกนมถือว่าเป็นภาวะที่ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด ควรแนะนำให้มารดาอย่าป้อนนมลูกจนอิ่มเกินไป และหลังให้นมควรอุ้มทารกขึ้นพาดบ่าสักครู่ เพื่อให้ทารกเรอเอาลมออกมาจากกระเพาะเสียก่อน
ช. โรคกรดไหลย้อน เด็กจะมีอาการอาเจียนบ่อย ไอตอนกลางคืนบ่อย เบื่ออาหาร น้ำหนักไม่ขึ้น (ดู
โรคกรดไหลย้อน เพิ่มเติม)
2. ในเด็กโต อาจมีสาเหตุ ดังนี้
ก. ลำไส้อักเสบ จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน มักเกิดจากการติดเชื้อ ให้รักษาแบบอาการท้องเดิน
ข. การหมุนตัวผิดปกติของลำไส้ (malrotation of intestines) ซึ่งมักจะเป็นมาแต่กำเนิด เป็นภาวะที่พบได้น้อย แต่รุนแรง เด็กมักมีอาการอาเจียนและปวดท้องรุนแรงแบบเดียวกับลำไส้อุดกั้น อาเจียนมักมีน้ำดี (สีเขียวและขม) ปนออกมาด้วย บางรายอาจมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังได้ แพทย์จะรับตัวไว้ในโรงพยาบาล และทำการผ่าตัดแก้ไข
ค. ไส้ติ่งอักเสบ หรือ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ มักมีอาการปวดรุนแรง กดเจ็บที่หน้าท้อง อาเจียนและมีไข้ร่วมด้วย แพทย์จะรับตัวไว้ในโรงพยาบาล และทำการผ่าตัดแก้ไข
ง. โรคพยาธิไส้เดือน เด็กบางคนอาจมีอาการปวดท้องและอาเจียนแบบไม่รุนแรงเป็นครั้งคราว โดยมากมักเป็นหลังกินอาหารสักพัก มีอาการอยู่ชั่วประเดี๋ยวก็หายได้เอง แต่จะเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง บางครั้งอาจอาเจียนหรือถ่ายเป็นตัวไส้เดือนออกมาด้วย รักษาด้วยการให้ยาถ่ายพยาธิ (ดู
โรคพยาธิไส้เดือน เพิ่มเติม)
จ. ความเครียดทางจิตใจ เด็กบางคนเมื่อมีความเครียดทางจิตใจ (เช่น เด็กที่เพิ่งเข้าโรงเรียนในปีแรก ๆ) อาจมีอาการอาเจียนได้ ซึ่งมักจะไม่มีอาการรุนแรง แต่อาจเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังได้