มุมมองจิตวิทยาน่ารู้: ถอดบทเรียนจากโศกนาฏกรรมเรือดำน้ำไททันเพื่อป้องกัน “หายนะ” ทางสุขภาพของคุณ

มุมมองจิตวิทยาน่ารู้: ถอดบทเรียนจากโศกนาฏกรรมเรือดำน้ำไททันเพื่อป้องกัน “หายนะ” ทางสุขภาพของคุณ

 

1. โศกนาฏกรรมเรือดำน้ำไททันซ้ำรอยเรือไททานิก

 

เมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2566 (ตามเวลาในประเทศไทย) หน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกาแถลงข่าวว่าได้พบซากชิ้นส่วนของเรือดำน้ำไททัน (Titan) กระจายอยู่ห่างจากบริเวณด้านหน้าของซากเรือไททานิคประมาณ 488 เมตร และคนในเรือดำน้ำทั้ง 5 คน  ได้เสียชีวิตทั้งหมดจากที่เรือดำน้ำไททันเกิดการระเบิดแบบ “อิมโพลชัน” (Implosion) ซึ่งเป็นการถูกบีบอัดจากด้านนอกเข้ามาด้านในจากแรงดันมหาศาลใต้ทะเลลึก

 

ในหลายวันของการค้นหา ทั่วทุกมุมโลก หลาย ๆ คน ต่างก็คอยลุ้นให้เกิดปาฏิหาริย์ และแม้ผลลัพธ์คือการสูญเสีย แต่อย่างน้อยที่สุด การจากไปของทั้ง 5 ชีวิต ในเรือดำน้ำไททันนั้นไม่ได้มีความทรมานเพราะการเสียชีวิตเกิดขึ้นฉับพลันเพียงเศษเสี้ยวของวินาทีซึ่งเร็วเกินกว่าที่สมองของผู้เสียชีวิตจะรับรู้ได้  อย่างไรก็ดี หลายคนต่างตั้งคำถามตามว่า การสูญเสียครั้งนี้จริง ๆ แล้ว สามารถป้องกันได้หรือไม่

 

เจมส์ คาเมรอน ผู้กำกับชื่อดังเจ้าของรางวัลออสการ์ ซึ่งได้กำกับหนังเรื่อง “ไททานิก” และยังเป็นผู้สร้างเรือดำน้ำและนักสำรวจทะเลลึกมากประสบการณ์ เขาเคยดำลงไปสำรวจซากเรือไททานิกด้วยเรือดำน้ำมาแล้วหลายสิบรอบ เขาได้ให้ความเห็นว่า โศกนาฏกรรมครั้งนี้ที่จริงแล้วสามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่กลับเกิดขึ้นเพราะผู้บริหารและเจ้าของบริษัท โอเชียนเกต เอ็กพิดิชัน (บริษัทที่คิดค้นเรือดำน้ำไททันและดำเนินธุรกิจนำนักท่องเที่ยวชมซากเรือไททานิกด้วยเรือดำน้ำไททันด้วยราคาตั๋วโดยสารที่ละ 250,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 8.8 ล้านบาท) ได้เพิกเฉยต่อการเตือนภัยโดยผู้เชี่ยวชาญหลายท่านในอุตสาหกรรมการดำน้ำลึก

 

รวมทั้งพนักงานของบริษัท โอเชี่ยนเกต เอ็กพิดิชัน ก็เคยได้ออกคำเตือนเรื่องความปลอดภัยแก่ผู้บริหาร แต่กลับถูกไล่ออกจากบริษัท โดยวัสดุที่นำมาทำเรือดำน้ำเป็นวัสดุที่ไม่เคยนำไปใช้งานในการดำน้ำลึก ทุกคนกังวลถึงการนำวัสดุแบบนี้มาใช้งานเพื่อบริการนักท่องเที่ยวในการดำน้ำชมซากเรือไททานิกโดยไม่มีการทดสอบอย่างเพียงพอว่าวัสดุจะสามารถทนต่อแรงกดดันของน้ำลึกได้มากน้อยแค่ไหนเมื่อมีการนำมาใช้หลายครั้ง ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการระเบิดของเรือดำน้ำครั้งนี้ หลายท่านจึงไม่แปลกใจเพราะได้คาดการณ์ไว้แล้วว่าอาจจะเกิดขึ้นได้

 

ซึ่งการตัดสินใจของผู้บริหารของเรือดำน้ำไททันโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและเพิกเฉยต่อคำเตือนนั้น เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับผู้บริหารและกัปตันของเรือไททานิกมาแล้วเช่นกัน โดยกัปตันเรือไททานิกได้รับคำเตือนหลายครั้งเกี่ยวกับภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ในเส้นทางเดินเรือ แต่ก็ยังคงแล่นเรือด้วยความเร็วเต็มพิกัดในคืนข้างแรมที่วิสัยทัศน์จำกัดเพราะผู้บริหารได้กดดันกัปตันของเรือไททานิกให้เร่งเดินเรือให้ถึงที่หมายเพื่อจะได้เป็นข่าวดังว่าสามารถเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้อย่างรวดเร็วกว่าเรืออื่น จนสุดท้ายเรือไททานิกก็ชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็งและจมลงสู่ก้นมหาสมุทรพร้อมตัวกัปตันเอง

 

2. ทำไมผู้บริหารจึงไม่เชื่อคำเตือน

 

หลายคนแปลกใจว่าทำไมผู้บริหารและเจ้าของบริษัท โอเชียนเกต เอ็กพิดิชัน ซึ่งเป็นผู้ควบคุมเรือดำน้ำไททันในครั้งนี้จึงไม่เชื่อคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญ หนำซ้ำยังลงโทษพนักงานบริษัทของตนที่ออกคำเตือนด้วยการไล่ออกจากงานอีกด้วย ซึ่งก็เหมือนกับกัปตันเรือไททานิกที่ไม่ยอมฟังคำเตือนเกี่ยวกับภูเขาน้ำแข็งเช่นกัน นี่เป็นเพราะทั้งสองคนนี้มีลักษณะเฉพาะตัว เช่น ดื้อ อีโก้สูง ชอบเสี่ยง หรือเพราะเหตุอื่นใดที่ทำให้ตัดสินใจโดยไม่ฟังคำเตือน? หรืออันที่จริงแล้ว มนุษย์เราทุกคนก็มีคุณลักษณะบางอย่างที่ทำให้เราตัดสินใจที่จะไม่เชื่อคำเตือนของผู้อื่นในเรื่องต่าง ๆ

 

ในเรื่องลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคน เช่น บุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่กระทบต่อการตัดสินใจของแต่ละคน ซึ่งในเรื่องลักษณะนิสัยของทั้งสองคนนี้ ผู้เขียนขอไม่ก้าวล่วง แต่อย่างไรก็ดี มีปัจจัยหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของมนุษย์เราทุกคนซึ่งผู้เขียนจะขออธิบายเพิ่มเติม ก็คือเรื่อง “ความไม่เป็นกลางในการตัดสินใจ” (Cognitive bias) โดยมนุษย์เราทุกคนมีความเอนเอียง หรือที่เรียกว่าอคติ ที่แต่ละคนนำมาใช้ในการตัดสินใจ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “ความเอนเอียงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปกติ” (Normalcy bias) ซึ่งอ่านว่า นอร์มอลซี ไบเอส หรือเรียกว่า “ความหลงผิดว่าปกติ” ซึ่งเป็นอคติที่หลาย ๆ คนมี

 

กล่าวคือ เวลาที่เกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้น เราก็คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่นั้นเป็นปกติ คงไม่มีอะไรร้ายแรง หรือคิดว่าเดี๋ยวเหตุการณ์ก็จะกลับไปเป็นปกติได้เอง เช่น ตอนเกิดสึนามิที่ญี่ปุน พ.ศ. 2554 มีหลายคนได้ยินเสียงเตือนภัยว่ากำลังจะเกิดคลื่นสึนามิพัดเข้าชายฝั่ง แต่ก็ไม่ได้รีบอพยพ เพราะเคยเกิดการเตือนภัยในอดีตซึ่งคลื่นก็ไม่เคยซัดเข้ามาถึงบ้านของตนเอง คิดว่าไม่น่ามีอะไรร้ายแรง เลยไม่ได้วิ่งหนี แต่ครั้งนี้คลื่นสึนามิซัดเข้ามาในระดับที่สูงกว่าที่เคย ทำให้หลายคนไม่สามารถหนีได้ทันและจมน้ำเสียชีวิต ส่วนบางคนที่มีความระมัดระวังตัวมากกว่าคนอื่นก็รีบอพยพออกจากบ้านไปบนที่สูงและรอดชีวิตมาได้  

 

ทั้งนี้ ในเหตุการณ์ร้ายแรงต่าง ๆ คนส่วนใหญ่ที่ประสบภัยจะแสดง “ความหลงผิดว่าปกติ” เช่น เวลาเกิดเหตุเพลิงไหม้หรือแผ่นดินไหวในอาคาร พนักงานหลายคนก็ไม่ยอมอพยพในทันที คิดว่าคงไม่มีอะไร หรือแม้กระทั่งตอนที่เรือไททานิกชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็งและได้มีการสั่งอพยพผู้โดยสารแล้วก็ตาม ผู้โดยสารหลายรายก็ไม่เชื่อว่าเรือจะจมลงและไม่ยอมให้ความร่วมมือในการอพยพตั้งแต่เนิ่น ๆ

 

ในสายงานความปลอดภัยและการเตือนอันตรายในองค์กรนั้น มักจะประสบอุปสรรคต่องานจากผู้บริหารที่มี “ความหลงผิดว่าปกติ” เช่น แม้จะมีงบประมาณเหลือเฟือในการจัดซื้อระบบป้องกันไฟไหม้และอุปกรณ์เตือนภัยอย่างครบถ้วนและสร้างความปลอดภัยในระดับสูงสุดก็ตาม แต่ผู้บริหารก็ไม่ยอมจัดซื้อเพราะคิดว่าคงไม่เกิดเหตุไฟไหม้กับสถานประกอบการของตน เห็นว่าทุกอย่างเป็นปกติไม่จำเป็นต้องจัดซื้อเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แม้ว่าหากเกิดเหตุขึ้นมาจริง ๆ อุปกรณ์ที่ดีกว่าย่อมทำให้เกิดความปลอดภัยกับคนและทรัพย์สินขององค์กรมากกว่าก็ตาม

 

สำหรับอคติที่เกี่ยวข้องกับโศกนาฏกรรมของเรือไททานิกนั้น ผู้บริหารหลายคนของบริษัทที่เป็นเจ้าของเรือไททานิกมี “ความหลงผิดว่าปกติ” เช่น รองประธานบริษัทผู้เคยกล่าวว่าเรือไททานิกเป็นเรือที่ไม่มีวันจม และกัปตันที่มีประวัติการทำงานที่ยอดเยี่ยมอย่างยาวนาน 40 ปี ทั้งคู่ไม่คาดคิดว่าเรือไททานิกซึ่งเป็นเรือที่หรูหราและเต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าในสมัยนั้นจะจมลงได้ กัปตันจึงไม่ฟังคำเตือนหลายครั้งเรื่องภูเขาน้ำแข็ง และสั่งให้เรือแล่นด้วยความเร็วสูงสุดจนทำให้ไททานิกจมตั้งแต่การเดินทางออกจากท่าครั้งแรก

 

ซึ่งก็เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับการเกิดโศกนาฏกรรมของเรือดำน้ำไททัน ที่เห็นว่าผู้บริหารก็มี “ความหลงผิดว่าปกติ” ซึ่งแสดงออกมาไม่ว่าจะเป็นการใช้วัสดุที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นการแหกกฎความปลอดภัยของการสร้างเรือดำน้ำลึก แต่ผู้บริหารก็พูดอย่างภูมิใจว่าการสร้างนวัตกรรมจำเป็นต้องมีการแหกกฎที่คนในวงการตั้งไว้เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีกว่า โดยผู้บริหารมองว่ายังปลอดภัยเหมือนเดิม ก็เพราะผู้บริหารเชื่อว่าเรือดำน้ำของตนสามารถทนแรงดันน้ำลึกได้ (ซึ่งเรือดำน้ำไททันได้ดำสำรวจเรือไททานิกสำเร็จมาแล้วจำนวน 3 ครั้ง แต่วัสดุที่ใช้หลายชนิดกับเรือดำน้ำไททันไม่เคยถูกทดสอบว่าจะทนการสำรวจน้ำลึกได้กี่ครั้งก่อนที่จะเสียหาย)

 

ผู้บริหารได้เพิกเฉยต่อคำเตือนของหลายฝ่าย โดยเฉพาะการนำเรือไปใช้ให้บริการการท่องเที่ยวโดยมีการเก็บเงินนักท่องเที่ยวทั้ง ๆ ที่ยังไม่เคยทดสอบความปลอดภัยอย่างพอเพียง (เรือดำน้ำไททันเป็นเรือดำน้ำลึกกว่า 12,000 ฟุตลำเดียวในโลกจาก 10 ลำที่ไม่นำเรือเข้ารับการตรวจสอบจากองค์กรอิสระต่าง ๆ เพื่อขอใบรับรองความปลอดภัย) จนสุดท้ายเกิดโศกนาฏกรรมโดยซากเรือที่ระเบิดก็จมก้นทะเลตามไททานิกไปตกอยู่ใกล้ ๆ กัน

 

เราควรทำความเข้าใจเรื่อง “ความหลงผิดว่าปกติ” และสรุปบทเรียนจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้ เพื่อลองปรับใช้กับเรื่องการดูแลสุขภาพของตัวเรา

 

3. การป้องกันไม่ให้เกิด “หายนะ” ทางสุขภาพ

 

“ความหลงผิดว่าปกติ” นั้น เกิดขึ้นกับหลายคนเวลาเจ็บป่วย เช่น เวลาเราเจ็บป่วยด้วยอาการที่เคยเป็น เช่น ปวดท้อง เราอาจไม่ได้คิดว่าสิ่งนี้เป็นโรคร้ายแรงจึงไม่ได้ไปพบแพทย์ ก็ซื้อยามาทานบรรเทาอาการไป สุดท้ายเมื่อเป็นมากขึ้นจนทนไม่ไหวจึงค่อยไปพบแพทย์ และมารู้ว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารเมื่อสายเกินกว่าจะรักษาได้ นี่ก็เพราะเราคิดว่าเราคงไม่เป็นอะไร

 

อีกตัวอย่างสำคัญก็คือเรื่องการให้ความสำคัญกับการป้องกันการเจ็บป่วย คนเรามักจะไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องของพฤติกรรมต่าง ๆ ของเราไม่ว่าจะเป็นการทานอาหารที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ การออกกำลังกายที่สม่ำเสมอ การฝึกจิตใจไม่ให้เกิดความเครียด การไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เกินพอดี หรือการทานอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น อาหารหวาน มัน เค็ม เพราะเรามักจะคิดว่าเราไม่มีทางเป็นโรคร้ายแรง หรือเป็นก็คงรักษาได้ไม่ยากเพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม้เทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าไปไกลก็ตาม การรักษาก็มีความยากลำบาก เพราะขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น และการตรวจพบโรคที่ร้ายแรงได้เร็วแค่ไหน สามารถรักษาได้ทันหรือไม่

 

ดังนั้น การรับมือและป้องกันไม่ให้เกิด “หายนะ" ทางสุขภาพ เราควรจัดการไม่ให้เกิด “ความหลงผิดว่าปกติ” โดยปฏิบัติตัวดังนี้

 

1. สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้กับตัวเอง
2. ตรวจสุขภาพเป็นประจำตามที่แพทย์แนะนำ
3. สร้างแผนเตรียมรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายที่สุดและมีสติรับมือกับสถานการณ์จริงที่เกิดตามมาได้อย่างดีที่สุด
4. รับฟังมุมมองใหม่ ๆ และคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญ
 

หากเราสามารถปฏิบัติได้ตามข้อแนะนำข้างต้น “ความหลงผิดว่าปกติ” ก็จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจของเรา และเราก็จะสามารถรับฟังและตัดสินใจได้อย่างมีสติ รอบคอบ และระมัดระวัง ทำให้สามารถมีสุขภาพที่ดีและมีชีวิตยืนยาวอย่างมีคุณภาพได้

 

ทั้งนี้ หากท่านมีอาการเจ็บป่วยใด ๆ อย่านิ่งนอนใจ มาตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเองกับ Smart Doctor โปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้นอัจฉริยะจาก Doctor at Home

 

ติดตามข่าวสารสุขภาพดี ๆ เพื่อคนรักสุขภาพ ได้ที่ Doctor at Home

 

บทความโดย ตุลาพร อาชานานุภาพ ที่ปรึกษาทางจิตวิทยา (ปริญญาโทจิตวิทยาการปรึกษา สาขาการบำบัดคู่สมรสและครอบครัว University of San Francisco)

ข้อมูลล่าสุด : 3 ต.ค. 2566