โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์คืออะไร? อันตรายแค่ไหน

โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์คืออะไร? อันตรายแค่ไหน

 

โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah virus disease) เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่แพร่จากสัตว์สู่คน โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อว่า “ไวรัสนิปาห์ (Nipah virus)” ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกจากการระบาดของโรคนี้ในฟาร์มสุกรที่มาเลเซีย ทำให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรงในสุกร และโรคสมองอักเสบในคน มีผู้ป่วยทั้งหมด 265 ราย และเสียชีวิต 105 ราย ต่อมาพบโรคนี้ระบาดในคนในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ อินเดีย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น และล่าสุดเมื่อปลายเดือนสิงหาคมถึงกลางเดือนกันยายน 2566 พบมีการระบาดของโรคนี้ครั้งใหม่ที่อินเดียตอนใต้ ทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิต 2 ราย

 

จากสถิติที่ผ่านมา พบว่าผู้ป่วยโรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ราว ๆ ร้อยละ 40 (ในมาเลเซีย) ถึง ร้อยละ 75 (ในบังกลาเทศ ระหว่างปี 2544-2555 มีผู้ป่วยทั้งหมด 214 ราย เสียชีวิต 166 ราย) แม้ว่าในปัจจุบัน (21 กันยายน 2566) ประเทศไทยจะยังไม่พบรายงานของผู้ติดเชื้อไวรัสนิปาห์ แต่ก็นับเป็นโรคติดต่อใหม่ที่ไม่ควรมองข้าม
 

Doctor at Home จึงขออาสาพามารู้จักกับไวรัสนิปาห์และการดูแลป้องกันตัวเองให้ปลอดภัย
 

เชื้อไวรัสนิปาห์มาจากค้างคาวผลไม้
 

ค้างคาวผลไม้ คือแหล่งกำเนิดของโรค เป็นพาหะนำโรคลำดับแรก โดยค้างคาวที่มีเชื้อไวรัสนิปาห์แฝงอยู่ในตัวจะไม่มีอาการป่วย แต่จะแพร่เชื้อไปยังสัตว์อื่น เช่น สุกร ม้า สุนัข แมว แพะ แกะ สัตว์พวกนี้หลังติดเชื้ออาจป่วยเป็นโรคหรือเป็นพาหะของโรคได้เช่นกัน

 

การศึกษาในประเทศไทย โดย ศ.นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา พบเชื้อไวรัสนิปาห์ในค้างคาวผลไม้ตามภูมิภาคต่าง ๆ ร้อยละ 7.8
 

ติดต่อจากสัตว์สู่คนและคนสู่คน
 

  • เชื้อไวรัสนิปาห์สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสถูกสัตว์ที่ติดเชื้อ (เช่น ค้างคาวผลไม้ สุกร ม้า) โดยตรง หรือสัมผัสถูกเนื้อสัตว์ (เนื้อหมู) ที่ปนเปื้อนเชื้อ
  • ติดต่อจากการรับประทานเนื้อของสัตว์ที่ติดเชื้อ (เช่น เนื้อหมู เนื้อม้า) ผลไม้ หรือผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนปัสสาวะ อุจจาระ หรือน้ำลายจากค้างคาวผลไม้หรือสัตว์ที่ติดเชื้อ
  • ติดต่อจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น เลือด หรือน้ำลายของผู้ติดเชื้อ มักพบในผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยในบ้าน หรือบุคลากรที่ดูแลรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล

 

อาการของผู้ติดเชื้อไวรัสนิปาห์

 

ผู้ติดเชื้อไวรัสนิปาห์ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 90) จะเริ่มแสดงอาการในช่วง 4-14 วันหลังติดเชื้อ และมีรายงานว่าบางรายเริ่มมีอาการหลังติดเชื้อนานถึง 45 วัน ผู้ติดเชื้อบางรายอาจไม่แสดงอาการเลย ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการอาจแสดงอาการต่าง ๆ ดังนี้
 

  • ในรายที่ไม่รุนแรง จะมีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน เจ็บคอ
  • ในรายที่รุนแรง (พบได้ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย) อาจมีอาการของโรคสมองอักเสบ หรือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ซึ่งอาจเสียชีวิตได้หากเข้ารับการรักษาไม่ทันเวลา

 

ผู้ป่วยที่เป็นสมองอักเสบ จะมีอาการไข้ ปวดศีรษะมาก อาเจียน ซึม สับสน ชัก และหมดสติภายใน 24-48 ชั่วโมง หากได้รับการรักษาได้ทันท่วงทีมักจะหายเป็นปกติ แต่ผู้ป่วยร้อยละ 20 อาจมีอาการทางระบบประสาทหลงเหลืออยู่ เช่น มีอาการชัก หรือบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงหลังจากฟื้นตัว  

 

ผู้ป่วยร้อยละ 5-10 อาจมีอาการกลับมาเป็นซ้ำ (สำหรับผู้ที่หายจากโรคนี้ที่เป็นในตอนแรก) หรือเป็นโรคสมองอักเสบตามมาในภายหลัง (สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการของโรคสมองอักเสบในตอนแรก) 
 

ผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง จะมีอาการของโรคปอดอักเสบ (ไข้ เจ็บหน้าอก หายใจหอบ) หรือมีอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (หายใจลำบาก หายใจเร็ว หอบเหนื่อย อ่อนล้ารุนแรง สับสน ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ ผิวหนังหรือเล็บเปลี่ยนเป็นสีม่วงหรือสีเขียวเนื่องจากภาวะขาดออกซิเจน) ซึ่งมักทำให้เสียชีวิตได้
 

การรักษา

 

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยเฉพาะ แพทย์จะทำการรักษาตามอาการ หากมีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงก็จะหายได้ แต่ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงก็มักจะเสียชีวิต
 

การป้องกัน


แม้ว่าปัจจุบันในบ้านเรายังไม่พบผู้ป่วยโรคนี้ แต่พบว่ามีค้างคาวผลไม้ที่เป็นพาหะนำโรคตามภูมิภาคต่าง ๆ จึงควรระมัดระวังป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อไวรัสนิปาห์ ดังนี้ 

 

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสค้างคาวผลไม้และสัตว์อื่นที่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสนิปาห์
  • สวมถุงมือและชุดป้องกันขณะจับสัตว์ป่วย หรือขณะชำแหละเนื้อสัตว์ที่สงสัยมีการปนเปื้อนเชื้อไวรัสนิปาห์
  • หากพบซากสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่ควรนำมารับประทาน และควรทำลายซากด้วยการเผาหรือฝัง
  • เมื่อต้องสัมผัสกับสัตว์ เนื้อสัตว์ ซากสัตว์ที่สงสัยมีการติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (โดยเฉพาะค้างคาวผลไม้ สุกร ม้า แมว แพะ แกะ) หลังสัมผัสควรรีบล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาด
  • ห้ามรับประทานเนื้อสัตว์สุก ๆ ดิบ ๆ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้ที่มีโอกาสปนเปื้อนน้ำลาย อุจจาระ หรือปัสสาวะของค้างคาวผลไม้ รวมทั้งไม่รับประทานผลไม้ที่ตกอยู่บนพื้น โดยเฉพาะที่มีรอยกัดแทะของสัตว์
  • หากพบผู้ที่ติดเชื้อไวรัสนิปาห์ อย่าเข้าไปสัมผัสใกล้ชิด

 

สรุป
 

โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ร้ายแรงชนิดหนึ่ง ซึ่งยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค และยังไม่มียารักษาที่ได้ผล ทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตสูง แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่พบผู้ป่วยโรคนี้ในบ้านเรา แต่ก็ไม่ควรประมาท และควรระมัดระวังป้องกันตนเองให้ดี ๆ
 

รู้ทันความเสี่ยงสุขภาพ คุณสามารถตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตัวเองได้เลยที่ Smart Doctor โปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้นอัจฉริยะ จาก Doctor at Home

ข้อมูลล่าสุด : 7 พ.ย. 2566