สรุปชัด ๆ ซีเซียม-137 คืออะไร? อันตรายแค่ไหน? รับมืออย่างไร?

สรุปชัด ๆ ซีเซียม-137 คืออะไร? อันตรายแค่ไหน? รับมืออย่างไร?

 

จากกรณีวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 สูญหายที่จังหวัดปราจีนบุรี จะเห็นได้ว่าหลายคนเริ่มหวั่นวิตกถึงผลกระทบต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก ในบทความนี้ จะพามารู้จัก “ซีเซียม-137” พร้อมทั้งอธิบายอาการป่วยที่อาจเกิดหลังสัมผัสสารกัมมันตรังสีให้เข้าใจง่าย ๆ ตลอดจนการปฏิบัติตัวเบื้องต้นเมื่อโดนรังสีหรืออาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ปนเปื้อน

 

ซีเซียม-137 คืออะไร

 

ซีเซียม-137 (Cesium-137) เป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุซีเซียม ที่ปล่อยรังสีเบต้าและแกมมา ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม มีค่าครึ่งชีวิต 30 ปี ไร้กลิ่น ไร้สี เราจึงไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยตัวเองหากเผลอสัมผัสไอของซีเซียม-137 แต่ส่วนใหญ่มักจับตัวกับคลอไรด์กลายเป็นผงผลึก คล้ายผงเกลือ

 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นสร้างความรุนแรงจนซีเซียม-137 รั่วออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เข้าไปปนเปื้อนกับสิ่งแวดล้อม กระจายอยู่ในดิน น้ำ ส่งผลต่อวงจรอาหาร ไม่ว่าจะเป็นพืชผลทางการเกษตร อาหารทะเลต่าง ๆ จนต้องมีการสุ่มตรวจครั้งใหญ่ นอกจากนี้ ยังเคยมีการทดลองให้ซีเซียม-137 กับสุนัข จำนวน 44 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม พบว่าสุนัขที่ได้รับซีเซียม-137 เสียชีวิตภายใน 3 สัปดาห์ต่อมา

 

อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของรังสีขึ้นอยู่กับปริมาณ และระยะความใกล้ไกลที่ได้รับ ซึ่งจากการแถลงข่าวของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าซีเซียม-137 ที่พบในปราจีนบุรีครั้งนี้มีปริมาณไม่มากพอที่จะสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างได้ และมีแนวโน้มส่งผลกระทบเฉพาะผู้ที่สัมผัสกับสารซีเซียม-137 โดยตรงเท่านั้น ไม่สามารถนำกรณีเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดในอดีตซึ่งรุนแรงมากมาเปรียบเทียบกับกรณีนี้ได้

 

ซีเซียม-137 และผลกระทบต่อร่างกายเรา

 

เมื่อซีเซียม-137 เข้าสู่ร่างกาย สารกัมมันตรังสีบางส่วนจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะและเหงื่อ เรารับรังสีจากซีเซียม-137 ได้ด้วยการสัมผัส หายใจ เข้าไปอยู่ในบริเวณที่รั่วไหล บริโภคอาหารหรือน้ำดื่มปนเปื้อน หลังจากนั้นร่างกายจะเริ่มแสดงอาการออกมาทางระบบต่าง ๆ โดยเฉพาะเนื้อเยื่ออ่อน ผิวหนัง กล้ามเนื้อและไขกระดูก จนถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

หากซีเซียม-137 ถูกหลอมเผาไหม้และกลายเป็นไอ จะมีความเสี่ยงส่งผลกระทบต่อสุขภาพร้ายแรง นำมาซึ่ง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และ ไทรอยด์ เนื่องจากอนุภาคเบต้าและรังสีแกมมาที่แผ่ออกมาจะเข้าไปทำลาย DNA และทำให้เกิดการกลายพันธุ์หรือการผ่าเหล่า (Mutation)

 

เราสามารถแบ่งอาการที่เกิดหลังสัมผัสซีเซียม-137 ออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มอาการเฉียบพลันจากรังสี (Acute Radiation Syndrome) และกลุ่มอาการด้านผิวหนังจากรังสี (Cutaneous Radiation Syndrome)

 

- กลุ่มอาการเฉียบพลันจากรังสี (Acute Radiation Syndrome) 

 

มักเกิดขึ้นกับผู้ที่ได้รับรังสีในปริมาณสูงมาก มีแหล่งที่มารังสีจากภายนอก โดยรังสีโดนเกือบทุกส่วนของร่างกาย ไม่ใช่ส่วนใดส่วนหนึ่ง และรังสีเหล่านั้นถูกปล่อยออกมาเป็นเวลาสั้น ๆ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอาการ ได้แก่

 

1. กลุ่มอาการกดไขกระดูก (ระบบเลือด)

หลังโดนรังสี 1 ชั่วโมงถึง 2 วัน ในระยะแรกจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และอาจเป็นอยู่หลายนาทีถึงหลายวัน ระยะต่อมาหลังผ่านไป 1-6 สัปดาห์ ผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการใด ๆ หลังจากนั้นระยะที่สามจะเริ่มมีไข้ อ่อนเพลีย เนื่องจากปริมาณเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกร็ดเลือดลดระดับลงเรื่อย ๆ ในระยะเวลา 2-3 เดือน ผู้ป่วยมักติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเลือดไหลไม่หยุด อาจทำให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา แต่หากเข้าสู่ระยะฟื้นตัวได้ อาการจะดีขึ้นตั้งแต่ 2 สัปดาห์ถึง 2 ปี

 

2. กลุ่มอาการทางเดินอาหาร (Gastrointestinal syndrome)

2-3 ชั่วโมง หลังโดนรังสี ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องเสีย ในระยะแรก เมื่อเริ่มเข้าสู่ระยะที่สองมักไม่แสดงอาการในสัปดาห์แรก หลังจากนั้นจะเข้าสู่ระยะที่สามคือ มีไข้ อ่อนเพลีย กินข้าวไม่ได้ ท้องเสีย ขาดน้ำ แต่หากได้รับรังสีเป็นจำนวนมาก มีโอกาสเสียชีวิตภายใน 2 สัปดาห์ เนื่องจากติดเชื้อ รวมถึงขาดน้ำและเกลือแร่

 

3. กลุ่มอาการทางระบบหัวใจหลอดเลือดหรือระบบประสาท

ในระยะแรกมักมีอาการวุ่นวายไม่ค่อยรู้ตัว คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวอย่างหนัก ผิวไหม้ อาจกลับมาเป็นปกติไม่กี่ชั่วโมง หลังจากโดนรังสีประมาณ 5-6 ชั่วโมงจะเข้าสู่ระยะที่สาม คือท้องเสียมาก อาเจียน ร่วมกับอาการชัก โคม่า โดยกลุ่มอาการนี้ไม่มีระยะฟื้นตัว ผู้ป่วยมักเสียชีวิตภายใน 3 วัน

 

- กลุ่มอาการด้านผิวหนังจากรังสี (Cutaneous Radiation Syndrome)

 

หากสัมผัสซีเซียม-137 ที่บริเวณผิวหนังหรือเสื้อผ้า จะเกิดการอักเสบ เส้นขนหรือผมหลุดร่วง ผิวหนังแดงมากขึ้นเรื่อย ๆ มีถุงน้ำและแผลอักเสบ (Ulcer) ต่อมเหงื่อโดนทำลาย ผิวหนังตาย เกิดการอักเสบเรื้อรัง เกิดพังผืดหรือผิวหนังฝ่อ จนผิวหนังเสียหายถาวรในที่สุด

 

ทำอย่างไรหากสัมผัส ซีเซียม-137

 

  • ถอดเสื้อผ้าเก็บใส่ถุงให้มิดชิด
  • ล้างมือ อาบน้ำ สระผม ชำระร่างกายด้วยสบู่ ไม่ใช้ครีมนวดผม ล้างตาโดยให้น้ำไหลจากหัวตาไปหางตา 
  • ไปโรงพยาบาลพร้อมแจ้งประวัติสัมผัสสารกัมมันตรังสีกับเจ้าหน้าที่
  • ลงทะเบียนกับหน่วยงานที่กำหนด เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่กระจายของซีเซียม-137 
  • ไม่สัมผัสวัตถุทุกชนิดโดยรอบบริเวณ งดสูบบุหรี่ งดรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มในจุดอันตราย

 

ป้องกันตัวเองจาก ซีเซียม-137

 

โดยปกติแล้วเราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงรังสีที่อยู่ในบริเวณรั่วไหลได้ แม้ว่าปัจจุบันมียาที่ชื่อว่า ปรัสเซียนบลู (Prussian blue) ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายขับซีเซียม-137 ออกมาได้เร็วขึ้น แต่ก็ควรป้องกันตัวเองด้วยการพยายามเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงเท่าที่จะทำได้ ล้างมือก่อนรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม

 

ที่สำคัญ ควรไปลงทะเบียนผู้สัมผัสสารกัมมันตรังสีกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ พร้อมทั้งรวบรวมสิ่งของหรือเสื้อผ้าที่คาดว่าจะปนเปื้อนให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ รวมถึงหมั่นติดตามข้อมูลข่าวสาร และปฏิบัติตามประกาศอย่างเคร่งครัด

 

สรุป

 

ซีเซียม-137 จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับปริมาณและความใกล้ไกลของผู้ได้รับรังสี หากใครเข้าใกล้บริเวณที่คาดว่าจะได้รับซีเซียม-137 ควรสังเกตตัวเองว่ามีอาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียน หนาวสั่น ถ่ายเหลว ชักเกร็ง มีเลือดออกบริเวณใดบริเวณหนึ่งหรือไม่ เมื่อสงสัยว่ามีอาการดังกล่าว สามารถติดต่อพร้อมแจ้งประวัติการสัมผัสสารกัมมันตรังสีที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี โทร 037-211626 ต่อ 102 หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน

ข้อมูลล่าสุด : 24 มี.ค. 2566