ปัจจุบันมีแนวโน้มพบมะเร็งไทรอยด์ได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน เหตุผลส่วนหนึ่งคือ เทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วยให้สามารถตรวจพบโรคตั้งแต่เริ่มก่อตัวเป็นมะเร็งขนาดเล็ก ๆ
มะเร็งไทรอยด์สามารถแบ่งเป็นหลายชนิด ซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกันไป ที่พบได้บ่อย ได้แก่
- มะเร็งไทรอยด์ชนิดแพพิลลารี (papillary) ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด (ประมาณร้อย 70 ของมะเร็งไทรอยด์) พบมากในคนอายุ 20-40 ปี กับในวัยสูงอายุ และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2-3 เท่า ก้อนมะเร็งจะโตช้า และมีความรุนแรงน้อย หลังการรักษาด้วยการผ่าตัด จะมีโอกาสมีชีวิตยืนยาวหรือหายขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าก้อนมะเร็งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางต่ำกว่า 2 ซม.
- มะเร็งไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลาร์ (follicular) ซึ่งพบได้ ประมาณร้อยละ 15 ของมะเร็งต่อมไทรอยด์ มักพบในผู้สูงอายุ จะมีความรุนแรงตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงมาก ถ้าเป็นชนิดรุนแรงมาก อาจลุกลามไปยังปอด กระดูกและสมอง และบางครั้งทำให้เกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน
ส่วนอีก 2 ชนิดพบได้ค่อนข้างน้อย ได้แก่ ชนิดเมดุลลารี (medullary) และชนิดอะนาพลาสติก (anaplastic) จะมีความรุนแรงสูง ก้อนมะเร็งจะโตเร็วและแพร่กระจายง่าย พบมากในผู้สูงอายุ ชนิดเมดุลลารีอาจมีประวัติว่ามีคนในครอบครัวเป็นด้วย
ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุ
ส่วนน้อยอาจเกิดจากการสัมผัสรังสี ซึ่งอาจพบในมะเร็งชนิดแพพิลลารี และฟอลลิคูลาร์ (เช่น ได้รับรังสีบำบัดที่บริเวณคอมาก่อน การรับรังสีจากอุบัติเหตุ) บางรายอาจสัมพันธ์กับปัจจัยทางกรรมพันธุ์ คือพบว่ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นมะเร็งไทรอยด์ (เช่น กรณีที่เป็นมะเร็งไทรอยด์ชนิดเมดุลลารี)
ผู้ป่วยจะมีอาการคอพอก (คอโต) หรือเป็นปุ่มเนื้อของต่อมไทรอยด์ ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นก้อนแข็งชนิดเดี่ยว ๆ ส่วนน้อยอาจเป็นหลายก้อน มักมีลักษณะติดแน่นกับเนื้อเยื่อโดยรอบ ขยับไปมาไม่ค่อยได้ และไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด ยกเว้นในรายที่มีเลือดออกซึมเข้าไปในก้อนมะเร็ง อาจทำให้มีอาการเจ็บปวดคล้ายต่อมไทรอยด์อักเสบได้
บางรายอาจมีอาการเสียงแหบ กลืนลำบาก หรือมีต่อมน้ำเหลืองข้างคอโตร่วมด้วย
ในรายที่ก้อนโตเร็ว อาจโตกดท่อลมหรือหลอดอาหาร ทำให้หายใจลำบากหรือกลืนลำบาก
ต่อมไทรอยด์ของผู้ป่วยส่วนมากยังหลั่งฮอร์โมนได้ตามปกติ มักไม่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินหรือภาวะขาดไทรอยด์
บางรายอาจไม่สังเกตเห็นความผิดปกติชัดเจน เนื่องจากก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก แต่แพทย์ตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพหรือผู้ป่วยไปพบแพทย์ด้วยโรคอื่น
เซลล์มะเร็งอาจแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอและประจันอก (mediastinum) หรือแพร่ผ่านกระแสเลือดไปที่สมอง ตับ ปอด และกระดูก
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
คลำพบต่อมไทรอยด์โตเป็นปุ่มหรือก้อนแข็ง หรือมีลักษณะโตเร็ว หรือติดแน่นกับเนื้อเยื่อโดยรอบ บางรายอาจมีต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอโตร่วมด้วย
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ (T4, free T4) และฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ในเลือด การตรวจอัลตราซาวนด์ต่อมไทรอยด์ การตรวจสแกนต่อมไทรอยด์ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ต่อมไทรอยด์ การตรวจชิ้นเนื้อไทรอยด์โดยการใช้เข็มเจาะดูด (fine needle aspiration biopsy)
แพทย์จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ และให้ฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อลดการหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ (TSH) ซึ่งมีส่วนกระตุ้นการเติบโตของเซลล์มะเร็ง
ในบางรายอาจต้องให้สารไอโอดีนกัมมันตรังสี (I131) เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลือจากการผ่าตัด
ในรายที่เป็นชนิดรุนแรง หรือรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล แพทย์จะให้การรักษาด้วยรังสีบำบัด (การฉายรังสี) และ/หรือ เคมีบำบัด
ผลการรักษาขึ้นกับชนิดของมะเร็งและระยะของโรค
สำหรับมะเร็งไทรอยด์ชนิดแพพิลลารี ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด และมีความรุนแรงน้อย หลังการรักษาด้วยการผ่าตัด จะมีโอกาสมีชีวิตยืนยาวหรือหายขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าก้อนมะเร็งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางต่ำกว่า 2 ซม.
หากสงสัย เช่น คลำได้ก้อนไทรอยด์ หรือต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอ มีอาการเสียงแหบ หรือกลืนลำบากควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งไทรอยด์ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
- หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
- ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบ และงานจิตอาสา เท่าที่ร่างกายจะอำนวย
- ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
- ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
- ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
- ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวด ประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น น้ำหนักลด เจ็บคอ เสียงแหบ คอโตมากขึ้น มือจีบเกร็งหรือกล้ามเนื้อเป็นตะคริว
- ขาดยาหรือยาหาย
- กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
ส่วนใหญ่ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
ควรป้องกันไม่ให้โรคลุกลาม โดยการไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาแต่เนิ่น ๆ เมื่อสังเกตว่ามีอาการที่น่าสงสัย
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งไทรอยด์ชนิดเมดุลลารี เช่น มีประวัติโรคนี้ในครอบครัว แพทย์จะทำการตรวจสารพันธุกรรม ถ้าพบว่ามียีน (พันธุกรรม) ของมะเร็งชนิดนี้ แพทย์อาจทำการผ่าตัดไทรอยด์เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นมะเร็ง
1. ถ้าพบคอพอกมีลักษณะเป็นปุ่มหรือก้อนแข็ง เสียงแหบ กลืนลำบากหรือมีต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอโตร่วมด้วย ควรสงสัยว่าเป็นมะเร็งของไทรอยด์ และควรไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
2. มะเร็งไทรอยด์ส่วนใหญ่เป็นชนิดที่โตช้าและรุนแรงน้อย เมื่อได้รับการผ่าตัดร่วมกับการรักษาอื่น ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ก็มักหายขาดหรือมีชีวิตยืนยาว
3. อาการต่อมไทรอยด์โตเป็นก้อนเฉพาะแห่ง (โดยส่วนอื่น ๆ ของต่อมไทรอยด์เป็นปกติ) มีเพียงส่วนน้อยที่อาจเป็นมะเร็ง ส่วนมากจะมีสาเหตุที่ไม่ร้ายแรง เช่น ถุงน้ำไทรอยด์ (thyroid cyst) ซึ่งจะมีลักษณะค่อนข้างนุ่ม หรืออาจเป็นเนื้องอกไทรอยด์ (thyroid adenoma) ซึ่งมีลักษณะไม่แข็งมาก บางชนิดอาจทำให้เกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีก้อนที่คอ ควรแนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์ทุกราย และเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าไม่ใช่มะเร็ง ก็ขอให้สบายใจได้ การรักษาก้อนของต่อมไทรอยด์ที่ไม่ใช่มะเร็ง ถ้าก้อนขนาดเล็กอาจไม่ต้องทำอะไร ถ้าก้อนโตมากอาจต้องผ่าตัด