รู้จักกับ health anxiety ความกังวลด้านสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม

รู้จักกับ health anxiety ความกังวลด้านสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม

เป็นที่รู้กันดีว่า การตรวจสุขภาพเป็นประจำและหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการป้องกันโรคร้ายแรง แต่ถ้าความกังวลเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยของคุณเริ่มมากกว่าความรุนแรงของอาการ ก็เป็นไปได้ว่าคุณจะเข้าข่ายเป็น health anxiety หรือโรควิตกกังวลกับความเจ็บป่วย บทความนี้ เราจะมาดูกันว่า health anxiety คืออะไร และมีวิธีการรับมืออย่างไรบ้าง

 

health anxiety เป็นอย่างไร?

 

หากใครเคยได้ยินเรื่องโรคนี้มาบ้างแล้ว จะพบว่า health anxiety มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น illness anxiety disorder แต่เดิมจะวินิจฉัยโรคนี้ว่า hypochondriasis หรือ hypochondria ซึ่งปัจจุบันได้เลิกใช้คำนี้ในการวินิจฉัยโรคอย่างเป็นทางการแล้ว โดยคู่มือวินิจฉัยสถิติและความผิดปกติทางจิตฉบับที่ 5 (DSM-5) ซึ่งเป็นคู่มือหลักฉบับล่าสุดที่ใช้วินิจฉัยอาการทางจิตได้เปลี่ยนมาใช้คำว่า illness anxiety disorder แทน


โดย health anxiety คือโรควิตกกังวลชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยจะกังวลมากเกินกว่าปกติว่าตัวเองอาจป่วยเป็นโรคร้ายแรง แม้ว่าจะไม่มีอาการทางกายใด ๆ ที่บ่งชี้ถึงโรค หรือมีอาการแสดงที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคร้ายแรง เช่น คิดว่าอาการเจ็บคอจากหวัดเป็นอาการของโรคมะเร็งในช่องคอ หรืออาการปวดหัวจากความเครียดเป็นสัญญาณของเนื้องอกในสมอง สิ่งที่สำคัญคือ โรคนี้จะต้องแยกให้ดีจากการเจ็บป่วยจริง หากคุณมีอาการผิดปกติ ควรเริ่มต้นจากการเข้าพบแพทย์ รวมถึงทำการทดสอบอื่น ๆ ที่จำเป็นตามที่แพทย์แนะนำ ทั้งนี้ คุณสามารถตรวจอาการเบื้องต้นกับ Doctor at Home.com เพื่อคัดกรองอาการเบื้องต้นได้ด้วยตัวเองก่อนไปพบแพทย์


แต่ถ้าหากผลการตรวจจากแพทย์พบแล้วว่าคุณไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงใด ๆ แต่ถึงกระนั้นคุณก็ยังหวาดระแวงว่าจะเกิดโรคร้ายกับตนอยู่ตลอดเวลา จนถึงระดับที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ก็ควรจะสงสัยว่าอาจเป็นโรควิตกกังวลมากกว่าโรคทางกาย


ยิ่งถ้าหากคุณมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย นอกเหนือจากความวิตกกังวลรุนแรงเรื่องโรคร้ายแล้ว ก็เป็นไปได้ว่าคุณอาจเป็น health anxiety

 

  • มักจะตีความสัญญาณเล็กน้อยทางกายว่าเป็นอาการของโรคร้ายแรง เช่น คิดว่าไฝที่มีสีสม่ำเสมอ มีขอบเรียบ ไม่เจ็บ ไม่คัน ขนาดเท่าเดิมไม่ได้ใหญ่ขึ้น ว่าเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งผิวหนัง
  • ไม่หายกังวลแม้ผลการตรวจจากโรงพยาบาลจะไม่พบสิ่งผิดปกติ
  • มักจะคอยตรวจร่างกายตัวเองซ้ำ ๆ เพื่อหาสัญญาณของโรค
  • หมกมุ่นกับการหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับสาเหตุของอาการต่าง ๆ
  • มักจะไปพบหมอหรือถามคนอื่นเพื่อให้ยืนยันว่าตนไม่ได้ป่วย ในทางกลับกัน บางคนก็อาจจะหลีกเลี่ยงการไปพบแพทย์หรืออ่านเกี่ยวกับเรื่องโรค เพราะกลัวแพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคร้ายแรง
  • หลีกเลี่ยงสถานที่หรือกิจกรรมหลาย ๆ อย่างเพราะกลัวความเสี่ยงต่อสุขภาพ

 

health anxiety ดูแลตัวเองอย่างไรได้บ้าง?


ถ้าผลการตรวจสุขภาพชัดเจนแล้วว่าคุณไม่มีอาการร้ายแรง แต่คุณก็ยังกังวลเป็นอย่างมากว่าจะเกิดโรคร้ายแรงกับตัวเอง หรือได้รับการวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญแล้วว่าเป็น health anxiety กิจกรรมต่อไปนี้อาจจะช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวลได้

 

  • พยายามลดจำนวนครั้งที่คุณขอให้คนอื่นหรือแพทย์ช่วยยืนยันให้คุณสบายใจ เพราะในระยะยาวสิ่งนี้จะทำให้คุณกังวลมากกว่าเดิม
  • หลีกเลี่ยงการหาข้อมูลอาการหรือโรคทางอินเตอร์เน็ตจากหลายแหล่งเกินไป หลายครั้งการอ่านเกี่ยวกับอาการหรือโรคอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องจะทำให้คุณเป็นกังวลมากกว่าเดิม หากคุณมีอาการน่ากังวลใด ๆ ที่ไม่ใช่อาการฉุกเฉินเร่งด่วน ควรรอเข้าปรึกษาแพทย์ตามเวลานัด
  • ปรับเปลี่ยนมุมมอง ลองหาวิธีการอธิบายอาการของคุณที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคร้ายแรง
  • หากคุณรู้สึกว่าเริ่มกังวลมากเกินไป ให้ลองหากิจกรรมอย่างอื่นทำ เช่น พูดคุยกับเพื่อนในเรื่องอื่นที่สนุกสนาน หรือทำงานอดิเรก
  • ค่อย ๆ เริ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะการออกกำลังกาย เพื่อช่วยลดความเครียด และทำให้ร่างกายแข็งแรง
  • ฝึกวิธีผ่อนคลายความเครียด เช่น การฝึกลมหายใจ

 

หากขั้นตอนข้างต้นไม่ได้ผล การรักษาด้วยจิตบำบัด โดยเฉพาะวิธีการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy หรือ CBT) จะช่วยให้คุณปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่ออาการของร่างกาย ให้เห็นว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงเสมอไป และเรียนรู้วิธีการจัดการกับความกังวลและความเครียด หากจิตแพทย์เห็นว่าเหมาะสม คุณอาจได้รับยาต้านเศร้า หรือยาสำหรับการรักษาโรควิตกกังวลอื่น ๆ ที่เป็นอาการร่วม มากไปกว่านั้น ผู้เชี่ยวชาญยังได้แนะนำไว้ว่า การจัดการกับความกลัวที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งก็คือความกลัวความตายและความไม่แน่นอนของชีวิต อาจเป็นวิธีการที่ถาวรกว่าในการแก้ปัญหาความวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพ หรือแม้แต่อาการวิตกกังวลอื่น ๆ

 

สรุป


ความกังวลเรื่องสุขภาพ โดยมากแล้วถือว่าเป็นเรื่องปกติ และการหมั่นสังเกตร่างกาย รวมถึงตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอก็เป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโรคร้ายแรง แต่หากความกังวลดังกล่าวมากเกินกว่าอาการที่เป็น และส่งผลต่อชีวิตประจำวัน ก็อาจเริ่มสงสัยได้ว่าเป็นโรควิตกกังวลกับความเจ็บป่วย แต่ท้ายที่สุดแล้ว วิธีที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้ที่จะยอมรับกับความไม่แน่นอนและความตายให้ได้ เพื่อให้เราดำเนินชีวิตต่อไปอย่างเข้มแข็ง ไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ก็ตาม


ลดความกังวลใจเรื่องสุขภาพ ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตัวเองง่าย ๆ ได้ที่ Smart Doctor โปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้นอัจฉริยะ จาก Doctor at Home

ข้อมูลล่าสุด : 29 ก.พ. 2567