รับมืออย่างไร ในวันที่ฝุ่น PM 2.5 เข้าขั้นวิกฤต

รับมืออย่างไร ในวันที่ฝุ่น PM 2.5 เข้าขั้นวิกฤต

 

ฝุ่นแดงก็มา ฝุ่นระดับสีม่วงก็มี! ทำเอากังวลไปตาม ๆ กัน หลังกรมอนามัยเผยว่าค่าฝุ่น PM 2.5 บริเวณภาคเหนือและภาคอีสานของไทยล่าสุด พุ่งสูงกว่าค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลกถึง 32 เท่า บอกเลยว่า ที่เธอเห็นไม่ใช่แค่ฝุ่นเข้าตา แต่กำลังจะเข้าไปทำลายระบบต่าง ๆ ในเซลล์ของปอดด้วย เราจึงอาสารวบรวมวิธีดูแลตัวเองจากฝุ่น PM 2.5 มาฝาก เพื่อให้พร้อมรับมือในวันที่สภาพอากาศเต็มไปด้วยมลพิษ

 

ป(ล)อด - ภัย จากฝุ่น PM 2.5

 

แน่นอนว่า ‘ปอด’ เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักที่ฝุ่น PM 2.5 มุ่งโจมตี เมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้เข้าสู่ทางเดินหายใจและปอด ทำให้เกิดการระคายเคือง ผู้สัมผัสฝุ่นมักมีอาการแสบเคืองตา คันตา ไอ แสบจมูก ระคายเคืองที่ผิวหนัง หายใจไม่สะดวก หรืออาจถึงขั้นรู้สึกแน่นหน้าอก สำหรับผู้ที่เป็นหอบหืด อาการจะกำเริบได้ คนที่ไม่เคยเป็นหอบหืดมาก่อน ก็อาจเป็นขึ้นมาได้ และหากหายใจเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าไปมาก ๆ นานวันเข้าอาจทำให้เกิดมะเร็งปอดได้อีกด้วย

 

ที่น่ากลัวและหลายคนยังไม่รู้คือ หากสูดเอาฝุ่น PM 2.5 ต่อเนื่องกันสักระยะอาจส่งผลต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลัน เพิ่มความเสี่ยงเกิดลิ่มเลือดในสมอง ตามมาด้วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ ที่อาจเป็นสาเหตุของโรคอัมพฤกษ์อัมพาตและทำให้เสียชีวิตได้

 

วิธีดูแลตัวเอง

 

  • ออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็น

ลดระยะเวลาและเลี่ยงการออกนอกอาคารหากทำได้ งดออกกำลังกายกลางแจ้ง

 

  • สวมหน้ากากอนามัย

หากจำเป็นต้องออกไปข้างนอกให้สวมหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้

 

  • ปิดห้องให้มิดชิด

เมื่ออยู่บ้าน ให้เลือกอยู่ในห้องที่ห่างจากถนน มีประตูหน้าต่างน้อยที่สุดและปิดให้มิดชิด ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาด นำสิ่งของที่เป็นแหล่งสะสมฝุ่นออกจากห้อง เพื่อให้ห้องปลอดฝุ่นมากที่สุด และอาจปลูกต้นไม้ดักฝุ่นช่วยอีกทาง

 

  • งดก่อฝุ่น

ไม่จุดธูป เผาใบไม้ หรือสูบบุหรี่

 

  • สังเกตอาการตัวเองและคนรอบข้าง

โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ภูมิแพ้ หากพบว่ามีอาการแน่นหน้าอก หรือหายใจไม่ออก ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
 

สรุป

 

สิ่งแรก ๆ ที่เราพอจะทำได้เพื่อดูแลตัวเองจากฝุ่น PM 2.5 คือสวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นเมื่ออยู่นอกบ้าน ออกไปข้างนอกเท่าที่จำเป็น หากรู้สึกแน่นหน้าอก หายใจลำบาก เหนื่อยง่ายกว่าปกติ หรือมีเสียงหวีดเวลาหายใจ ควรรีบพบแพทย์ทันที หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมอนามัย 1478 และสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

 

หากคุณกังวลเรื่องสุขภาพ ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ ด้วยโปรแกรม "Smart Doctor" โปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้นอัจฉริยะ จาก Doctor at Home

ข้อมูลล่าสุด : 11 พ.ค. 2566