“มือ-เท้า-ปาก” โรคระบาดในเด็กที่ต้องระวัง
“มือ-เท้า-ปาก” โรคระบาดในเด็กที่ต้องระวัง
เปิดเทอมแล้ว นอกจากการดูแลเรื่องอื่น ๆ สิ่งที่ต้องระวังก็คือโรคระบาดที่มักพบในเด็ก อย่างเช่น “มือ-เท้า-ปาก (Hand-foot-and-mouth disease)” ไข้ออกผื่นชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโร (enterovirus) ซึ่งติดต่อได้ง่าย มีอาการไม่รุนแรงและหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ มักระบาดตามโรงเรียนอนุบาลและในช่วงฤดูฝน กลายเป็นหนึ่งในความกังวลของพ่อแม่ผู้ปกครอง เราเลยชวนมาดูวิธีรับมือกับโรคมือ-เท้า-ปากในเด็ก เพื่อให้ดูแลลูกหลานได้ทันท่วงที
มือ-เท้า-ปาก ติดต่อทางไหน
โดยส่วนมากแล้ว เชื้อไวรัสโรคมือ-เท้า-ปาก มักแพร่ผ่านทางการหายใจและระบบทางเดินอาหาร สามารถติดต่อได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังนี้
- อาหารและน้ำดื่ม
- เด็กดูดเลียนิ้วมือ
- ใช้สิ่งของปนเปื้อนเชื้อ ที่มากับอุจจาระ น้ำเหลืองจากตุ่มน้ำที่ผิวหนัง หรือละอองน้ำมูก น้ำลาย
- สูดเอาฝอยละอองน้ำมูก น้ำลาย ที่ผู้ป่วยไอจามรด
อาการของโรคมือ-เท้า-ปาก
- มีไข้ อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร
- มีน้ำมูก
- เจ็บปาก เจ็บคอ
- มีจุดนูนแดงหรือมีน้ำใสอยู่ข้างใต้ ขึ้นตามเยื่อบุปาก ลิ้น และเหงือก เมื่อตุ่มน้ำในช่องปากจะแตกกลายเป็นแผลตื้น ๆ ทำให้รู้สึกเจ็บ
- มีตุ่มผื่นขึ้นเป็นจุดแดงที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ซอกนิ้วมือ แก้มก้น แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำ
- หากมีอาการรุนแรง อาจปวดศีรษะ อาเจียน ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว ชัก แขนขาอ่อนแรง หรือหายใจหอบ
โดยที่ผู้ป่วยอาจมีไข้ประมาณ 3-4 วัน หลังจากนั้นไข้จะเริ่มลดลง ส่วนแผลในปากมักหายได้เองภายใน 7 วัน ตุ่มที่มือและเท้า จะใช้เวลาประมาณ 10 วัน จึงหายได้เอง ส่วนใหญ่ไม่เป็นแผลเป็น อาจพบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มักไม่รุนแรง และหายได้เองใน 10 วัน นอกจากนี้ ในบางรายที่เป็นรุนแรงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น สมองอักเสบ ปอดบวมน้ำ เลือดออกในปอด และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งพบเป็นส่วนน้อย
ดูแลอย่างไรเมื่อเป็นโรคมือ-เท้า-ปาก
- กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ดื่มน้ำมาก ๆ จนปัสสาวะใส เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- กินอาหารเหลว เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด นม น้ำเต้าหู้ ของหวาน
- อมน้ำแข็งก้อนเล็ก ๆ หรือกินไอศกรีม ดื่มน้ำหรือนมเย็น
- บ้วนปากด้วยน้ำอุ่นผสมเกลือครึ่งช้อนชาต่อน้ำหนึ่งแก้ว เพื่อลดอาการเจ็บแผล
- ในเด็กทารก ให้ใช้ช้อนป้อนหรือใช้กระบอกฉีดยาค่อย ๆ หยอดเข้าปากแทนการดูดจากขวด
หากเด็ก ๆ กินอาหารและดื่มน้ำได้น้อย หรือปัสสาวะออกน้อย กินยาไม่ได้ อาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน เซื่องซึมผิดปกติ ไม่ค่อยรู้สึกตัว เพ้อคลั่ง มีอาการปวดศีรษะมาก อาเจียน หายใจหอบ เจ็บหน้าอกมาก ชัก ควรรีบกลับไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
วิธีป้องกันโรคมือ-เท้า-ปาก
- ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย
- ในช่วงเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ หรือจนกว่าตุ่มแผลจะหายดี ผู้ป่วยควรแยกตัวจากผู้อื่น
- ใช้ผ้าปิดปากและจมูก เมื่อไอหรือจาม
- ล้างมือด้วยน้ำกับสบู่หลังถ่ายอุจจาระ เปลี่ยนผ้าอ้อม
- เลี่ยงใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด และขวดนม โดยเฉพาะในช่วงการระบาด
- ฝึกให้เด็กมีสุขนิสัยที่ดี ไม่นำนิ้วมือหรือของเล่นเข้าปาก
สรุป
แม้ว่าโรคมือ-เท้า-ปาก จะหายได้เองภายใน 7-10 วัน หรือไม่เกิน 2 สัปดาห์ แต่ก็สร้างความเจ็บปวดไม่น้อย พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้คือ มีไข้ร่วมกับมีแผลในปาก เด็ก ๆ มักรู้สึกเจ็บที่ปากและคอ รวมถึงมีผื่นตุ่มขึ้นบริเวณมือและเท้า หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์
อ่านข้อมูล โรคมือ-เท้า-ปาก เพิ่มเติม
คุณสามารถเช็กอาการ ไข้ร่วมกับมีผื่นหรือตุ่มขึ้น, กลืนลำบาก ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคมือ-เท้า-ปาก ได้ที่ Smart Doctor โปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้นอัจฉริยะ จาก Doctor at Home
ข้อมูลล่าสุด : 30 พ.ค. 2566