HIV ตรวจง่ายด้วยตัวเอง! รู้เท่าทัน ป้องกันได้

HIV ตรวจง่ายด้วยตัวเอง! รู้เท่าทัน ป้องกันได้

 

นอกจากคนไทยจะใช้สิทธิ์ตรวจ HIV ได้ฟรีปีละ 2 ครั้งแล้ว ปัจจุบันนี้เรายังสามารถหาซื้อชุดตรวจมาใช้ได้เองตามปกติอีกด้วย หลายคนอาจสับสนว่า HIV ต่างกับโรคเอดส์ (AIDS) หรือไม่ จริง ๆ แล้วต่างกัน HIV คือเชื้อไวรัสที่เข้าไปยึดจับและทำลายเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ในร่างกาย จนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันบกพร่อง เมื่อระดับเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ลดลงเรื่อย ๆ จะทำให้ป่วยเป็นโรคเอดส์ได้ในที่สุด

 

สถานการณ์ในไทยเมื่อปี 2564 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ย 16 คน/วัน และมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 31 ราย/วัน พูดได้ว่า HIV ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เราจึงชวนมาดูวิธีตรวจเอชไอวีง่าย ๆ รวมถึงการป้องกัน เพื่อให้ทุกความสัมพันธ์มีความสุขและปลอดภัย

 

อยู่บ้านก็ตรวจ HIV ได้

 

เมื่อก่อนหลายคนอาจคิดว่าการตรวจ HIV เป็นเรื่องใหญ่และยุ่งยาก แต่ปัจจุบันเราสามารถตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีได้ด้วยตนเอง (HIV self-test) โดยชุดตรวจเอชไอวีจะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ชุดตรวจจากการเจาะเลือดที่ปลายนิ้วมือ หลังตรวจแล้ว รู้ผลเร็วภายใน 1-20 นาที และชุดตรวจโดยใช้สารน้ำในช่องปาก รู้ผลภายใน 20 นาที โดยทั้ง 2 ประเภท สามารถซื้อได้เองจากร้านขายยา

 

หากตรวจแล้วพบเชื้อเอชไอวี คือมีผลเป็นบวก ให้ไปตรวจยืนยันอีกครั้งที่สถานพยาบาลเพื่อความมั่นใจ หรือหากผลตรวจเป็นลบ เมื่อตรวจในช่วง 90 วัน (Window period) หลังจากมีความเสี่ยง ให้ไปตรวจยืนยันอีกครั้งที่สถานพยาบาลเช่นกัน ในกรณีที่ชุดตรวจด้วยตัวเองไม่สามารถแปลผลได้ (INVALID RESULT) ให้ใช้ชุดตรวจอันใหม่ หรือไปตรวจเพิ่มเติมที่สถานพยาบาล

 

หากตรวจคัดกรองหลังจากมีความเสี่ยงมากกว่า 90 วัน มีผลตรวจเป็นลบ และป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์ โดยวิธีใด วิธีหนึ่ง เช่น ใช้ถุงยางอนามัย, รับประทานยาเพร็พ (PrEP) หรือยาเป๊ป (PEP) ให้เข้ารับการตรวจเอชไอวีสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

 

HIV ตรวจง่าย ๆ ได้ที่ไหนบ้าง

 

นอกจากชุดตรวจแล้ว ยังมีสถานที่ตรวจเอชไอวีรองรับทั่วประเทศ ตรวจและรู้ผลได้ภายในวันเดียว ซึ่งคนไทยมีสิทธิ์ตรวจเอชไอวีปีละ 2 ครั้ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และครอบคลุมทุกสิทธิ์การรักษา หากมีพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยง เราสามารถเลือกเดินทางไปยังสถานที่ตรวจใกล้บ้านได้ ดังนี้

 

  • โรงพยาบาลภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั่วประเทศ
  • อาคารศูนย์การแพทย์บางรัก กรมควบคุมโรค (คลินิกบางรัก ชั้น 9)
  • คลีนิคนิรนาม สภากาชาดไทย
  • คลินิกชุมชนสีลม @ทรอปเมด
  • มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING)
  • สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย คลินิกเทคนิคการแพทย์ฟ้าสีรุ้ง
  • ศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร 69 แห่ง
  • คลินิกรักษ์เพื่อน
  • คลินิก ฮักษา กลางเวียง (Hugsa Clinic) จ.เชียงใหม่
  • แคร์แมท เชียงใหม่ (CAREMAT Chiangmai)
  • ศูนย์บริการสุขภาพชุมชนมูลนิธิเอ็มเฟรนด์อุดรธานี (M-Friends Udonthani Foundation)
  • แอ๊คทีม (Actteam) จ.ขอนแก่น
  • มูลนิธิเอ็มพลัส
     

กลุ่มเสี่ยงที่ควรตรวจ HIV

 

  • กลุ่มคู่รักเพศเดียวกัน (Homosexual) และชายที่รักสองเพศ (Bisexual) 
  • ผู้ที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หรือถุงยางอนามัยรั่ว/แตก
  • ผู้ที่มีพฤติกรรมการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีคู่นอนหลายคน
  • ผู้ที่ใช้เข็มร่วมกับคนอื่น เช่น เข็มฉีดยา สัก เจาะ และโบท็อกซ์
  • ตนเองหรือคู่นอนเคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ 
  • ผู้ที่ทำงานขายบริการทางเพศ 
  • หญิงตั้งครรภ์ที่ทำการฝากครรภ์
  • เด็กที่มีแม่ติดเชื้อเอชไอวี
  • ผู้ที่สัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้อื่นขณะมีบาดแผล
  • ผู้ป่วยโรควัณโรค
     

วิธีป้องกันตัวเองและคู่จากเชื้อ HIV

 

  • สวมถุงยางอนามัยที่ได้มาตรฐานทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • เลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก และผู้ที่ไม่ใช่คู่สมรส
  • ไม่ใช้เข็มฉีดยาหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • ตรวจเลือดก่อนแต่งงาน เพื่อตรวจเชื้อ HIV และตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
  • เข้ารับการตรวจเลือดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง 
  • ระมัดระวังไม่ให้แผลสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ
  • รับประทานยาเพร็พ (Pre-Exposure Prophylaxis : PrEP) ก่อนสัมผัสโรค สำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อแต่มีภาวะเสี่ยงสูง
  • รับประทานยาเป๊ป (Post-Exposure Prophylaxis : PEP) หลังสัมผัสโรค ภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อทำให้ร่างกายสร้างระบบภูมิคุ้มกันป้องกันเชื้อเอชไอวี 
  • ควรตรวจเลือดก่อนการฝากครรภ์ หรือระหว่างฝากครรภ์ เพื่อให้การรักษาได้ถูกต้องและทันท่วงที

 

สรุป

 

สิ่งสำคัญคือควรมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันทุกครั้ง และปัจจุบันเชื้อ HIV สามารถตรวจง่าย ๆ ได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่เรื่องน่าอาย นอกจากนี้ HIV สามารถรักษาได้ โดยผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาและกินยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ห่างไกลโรคเอดส์ มีอายุยืนยาว และใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป

 

อ่านข้อมูล โรคเอดส์ (AIDS) เพิ่มเติม

 

คุณสามารถเช็กอาการ คางบวม/คอบวมจุดแดง จ้ำเขียว ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคเอดส์ (AIDS) ได้ที่ Smart Doctor โปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้นอัจฉริยะ จาก Doctor at Home

ข้อมูลล่าสุด : 29 พ.ค. 2566