โรคติดเชื้อแบคทีเรียของผิวหนัง (bacterial infection of skin) ข้อมูลโรค พร้อมโปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้น
โรคติดเชื้อแบคทีเรียของผิวหนัง (bacterial infection of skin) อาการ สาเหตุ การป้องกันและรักษา พร้อมโปรแกรม “หมอประจำบ้าน” อัจฉริยะ Doctor at Home ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตัวเอง
ฝีที่ผิวหนังส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มสแตฟีโลค็อกคัส อาจติดต่อโดยการสัมผัสถูกผู้ป่วยโดยตรง โดยเชื้อจะเข้าไปในบริเวณผิวหนังที่มีรอยแยกหรือรอยบาดแผลเล็ก ๆ ทำให้เกิดการอักเสบ กลายเป็นตุ่มฝีหรือถุงฝีซึ่งบรรจุด้วยเชื้อโรค เม็ดเลือดขาว และเซลล์ตาย
มักจะขึ้นเป็นตุ่ม หรือก้อนบวม รู้สึกปวด กดถูกเจ็บ ผิวหนังบริเวณนั้นมีลักษณะแดงร้อน
ในรายเป็นฝีที่เกิดจากรูขุมขนอักเสบ (boils) จะพบมีเส้นผมหรือขนอยู่ตรงกลาง
ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ร่วมด้วย
ระยะที่ขึ้นเป็นฝีใหม่ ๆ จะมีลักษณะแข็ง ตุ่มนี้จะขยายโตขึ้นและเจ็บมาก ต่อมาค่อย ๆ นุ่มลงและกลัดหนอง บางครั้งเมื่อฝีเป่งมาก ๆ อาจแตกเองได้ (หลังฝีขึ้นไม่กี่วัน หรือ 1-2 สัปดาห์) แล้วอาการเจ็บปวดและอาการไข้ที่อาจมีตอนแรกจะทุเลา
บางครั้งอาจพบต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงอักเสบด้วย เช่น ถ้าเป็นฝีที่เท้า อาจมีไข่ดัน (ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ) บวมและปวด ถ้าเป็นที่มือ ก็อาจมีการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ เป็นต้น
ส่วนใหญ่มักดูแลรักษาให้หายขาด และไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ยกเว้นอาจเป็นแผลเป็น
ผู้ที่เป็นเบาหวานหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจเป็นฝีได้บ่อย และหากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรกอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เชื้ออาจลุกลามเข้ากระแสเลือด ทำให้เป็นฝีที่ไต (perinephric abscess) กระดูกอักเสบเป็นหนอง (osteomyelitis) โลหิตเป็นพิษ
ถ้าเป็นฝีตรงบริเวณกลาง ๆ ใบหน้า (เช่น กลางสันจมูก หรือริมฝีปากบน) แล้วบีบแรง ๆ เชื้ออาจแพร่กระจายเข้าสมองเป็นอันตรายถึงตายได้
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ในบางรายแพทย์อาจจะดูดเอาหนองไปตรวจหาเชื้อ
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นจัด ๆ (ขนาดที่พอทนได้ อย่าร้อนจัด) ประคบวันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 10-15 นาที ช่วยให้ตุ่มฝีไม่โตขึ้น และสุกเร็วขึ้น
2. ให้ยาแก้ปวดลดไข้
3. ถ้ามีไข้ มีฝีหลายหัว หรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบร่วมด้วย แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน โคอะม็อกซิคลาฟ หรืออีริโทรไมซินนาน 5-7 วัน
4. ถ้าฝีสุก (ฝีนุ่มเต็มที่) อาจใช้เข็มเจาะดูด หรือผ่าระบายหนองออก พร้อมกับใส่ผ้าเป็นหมุดระบายหนอง ชะล้างแผลและเปลี่ยนหมุดทุกวัน จนกระทั่งแผลตื้น
หากสงสัยเป็นฝี ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นฝี ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
- อย่าบีบหัวฝี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าขึ้นตรงกลางใบหน้า
- หลีกเลี่ยงการกินยาชุด หรือยาลูกกลอน ซึ่งอาจมียาสเตียรอยด์ผสม ทำให้ฝีลุกลามได้
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
- มีไข้สูง หนาวสั่น เบื่ออาหาร หรือ ฝีลุกลามมากขึ้น
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
- รักษาความสะอาดของร่างกาย อาบน้ำฟอกสบู่วันละ 2 ครั้ง
- กินอาหารที่มีประโยชน์เป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงการกินยาชุด หรือยาลูกกลอนซึ่งอาจมียาสเตียรอยด์ผสม ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง
- เมื่อมีบาดแผลเล็กน้อยที่ผิวหนัง ควรดูแลแผลให้สะอาดและรักษาแผลให้หายดี
1. ถ้าเป็นฝีบ่อย ๆ อาจมีภูมิคุ้มกันต่ำ เนื่องจากขาดอาหาร โลหิตจาง เป็นเบาหวาน เอดส์ หรือกินสเตียรอยด์นาน ๆ
ควรตรวจหาสาเหตุ และให้การดูแลรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น ควรตรวจปัสสาวะ ถ้าพบมีน้ำตาล ก็อาจเป็นเบาหวาน ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล
2. ผู้ป่วยที่เป็นเมลิออยโดซิส อาจแสดงอาการของการติดเชื้อที่ผิวหนัง เช่น ตุ่มนูน ตุ่มหนอง ฝี แผลอักเสบ แผลเรื้อรัง เป็นต้น ถ้าให้การรักษาแล้วไม่ได้ผล หรือสงสัยเป็นเมลิออยโดซิส (เช่น พบในคนอีสานที่เป็นเบาหวาน) ก็ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด
แผลพุพอง เป็นการอักเสบของผิวหนังแบบหนึ่งซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มักพบในทารกและเด็กวัยเรียนที่มีสุขอนามัยที่ไม่ดี ไม่ค่อยดูแลความสะอาดของตัวเอง หรือมีบาดแผลเล็กน้อยก็ปล่อยปละละเลย โรคนี้ติดต่อกันง่ายภายในบ้าน สถานเลี้ยงเด็ก และโรงเรียน
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟีโลค็อกคัสออเรียส หรือสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
1. แผลพุพองชนิดตื้น (impetigo) เป็นการติดเชื้อของหนังกำพร้าชั้นนอกสุด (stratum corneum) เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่ขาดการรักษาความสะอาด และไม่ใส่ใจดูแลบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายและรวดเร็ว ติดต่อโดยการสัมผัสถูกผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่ก่อน หรือสัมผัสถูกเชื้อที่ปนเปื้อนตามสิ่งของเครื่องใช้ที่ผู้ป่วยสัมผัส เชื้อจะเข้าสู่ผิวหนังทางรอยถลอก
2. แผลพุพองชนิดลึก (ecthyma) เป็นการติดเชื้อลึกถึงชั้นหนังแท้ มักพบในเด็กวัยเรียนหรือผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จักรักษาความสะอาด ผิวหนังสกปรก ไว้เล็บยาว ไม่ใส่ใจดูแลบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น รอยถลอกรอยขีดข่วน รอยแผลจากยุง แมลงกัด หรืออาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคผิวหนังอื่น ๆ เช่น หิด เหา อีสุกอีใส เริม งูสวัด ผื่นแพ้ ผื่นคัน เป็นต้น
1. แผลพุพองชนิดตื้น แสดงอาการได้ 2 แบบ
แบบที่ 1 เกิดจากการติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ แรกเริ่มเป็นผื่นแดงและคัน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสเล็ก ๆ มีฐานสีแดง ต่อมากลายเป็นตุ่มหนอง ซึ่งจะแตกง่าย กลายเป็นสีแดง และมีน้ำเหลืองเหนียว ๆ ติดเยิ้ม แล้วกลายเป็นสะเก็ดเหลืองกรังติดอยู่ มีลักษณะคล้ายรอยบุหรี่ เมื่อผื่นอันแรกแตก มักจะมีผื่นบริวารขึ้นตามในบริเวณข้างเคียงหลาย ๆ อัน และอาจลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเกา
บางรายอาจมีไข้ต่ำหรือต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย มักขึ้นตามใบหน้า ใบหู จมูก ปาก ศีรษะ ก้น และบริเวณนอกร่มผ้า (เช่น มือ ขา หัวเข่า) เมื่อหายแล้วจะไม่เป็นแผลเป็น
ถ้าเป็นพุพองที่ศีรษะ ชาวบ้านเรียกว่า ชันนะตุ
แบบที่ 2 เกิดจากการติดเชื้อสแตฟีโลค็อกคัสออเรียส ซึ่งพบได้น้อยกว่าแบบที่ 1 มีอาการพุขึ้นเป็นตุ่มน้ำพอง ฐานไม่แดง ระยะแรกน้ำภายในตุ่มพองมีลักษณะใส ต่อมาจะเริ่มขุ่น แล้วบางตุ่มจะแตก มีน้ำเหลืองแห้งกรังเป็นสีน้ำตาล ในทารกที่ยังมีภูมิคุ้มกันต่ำ มักมีไข้ และตุ่มน้ำพองมีขนาดใหญ่
2. แผลพุพองชนิดลึก (อาจเกิดจากสแตฟีโลค็อกคัสออเรียส หรือสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอก็ได้) แรกเริ่มขึ้นเป็นตุ่มแดง ตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนองเล็ก ๆ มีฐานสีแดง แล้วโตขึ้นช้า ๆ มีขนาด 1-3 ซม. ต่อมามีสะเก็ดหนาปกคลุม ลักษณะเป็นสะเก็ดแข็งสีคล้ำติดแน่น ข้างใต้เป็นน้ำหนอง ถ้าเป็นนาน ๆ ขอบแผลจะยกนูนออกเป็นสีคล้ำ เมื่อหายแล้วจะกลายเป็นแผลเป็น มักพบที่บริเวณขา
แผลพุพอง
ส่วนใหญ่มักดูแลรักษาให้หายขาด และไม่มีภาวะแทรกซ้อน และส่วนใหญ่ไม่เป็นแผลเป็น ยกเว้นในรายที่เป็นแผลพุพองชนิดลึกที่มักเป็นแผลเป็นเมื่อหายแล้ว
ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรกอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เชื้อลุกลามกลายเป็น เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ (cellulitis) และเชื้ออาจลุกลามเข้ากระแสเลือด ทำให้เป็นโลหิตเป็นพิษได้ ถ้าพบในทารก อาจมีอันตรายร้ายแรงได้
ในรายที่เกิดจากเชื้อบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ อาจทำให้เป็นหน่วยไตอักเสบเฉียบพลันได้ (มีอาการไข้สูง บวมทั้งตัว ปัสสาวะสีแดง)
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ในบางรายแพทย์อาจนำหนองจากรอยโรคไปตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. อาบน้ำฟอกด้วยสบู่วันละ 2 ครั้ง และใช้น้ำด่างทับทิมชะล้างเอาคราบสะเก็ดออกไป
สำหรับแผลพุพองที่มีสะเก็ดแข็ง ทำการประคบด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ และชุ่ม ๆ เพื่อให้สะเก็ดนุ่มและหลุดออกเร็ว
2. ถ้าคันมากให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน
3. ทาแผลด้วยขี้ผึ้งเตตราไซคลีน หรือครีมเจนตาไมซิน หรือเจนเชียนไวโอเลต หลังอาบน้ำทุกครั้ง
4. ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี, อีริโทรไมซิน, ไดคล็อกซาซิลลิน, โคอะม็อกซิคลาฟ เป็นต้น เป็นเวลา 5-7 วัน สำหรับเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส
สำหรับเชื้อสเตรปโตค็อกคัสจะให้กินยานาน 10 วัน เพื่อป้องกันโรคหน่วยไตอักเสบเฉียบพลันใน
สำหรับแผลพุพองชนิดลึก (ที่มีสะเก็ดแข็งสีคล้ำติดแน่น) จะให้กินยานาน 2-3 สัปดาห์
5. ถ้าไม่ดีขึ้นหรือพบในทารก แพทย์จะนำหนองจากรอยโรคไปทำการย้อมเชื้อหรือเพาะเชื้อ และให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่ตรวจพบ
หากสงสัยเป็นแผลพุพอง ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นแผลพุพอง ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
- ลดการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น โดยหยุดไปสถานเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียน และพักอยู่ที่บ้านจนกว่าจะไม่แพร่เชื้อ (คือ หลังกินยาปฏิชีวนะได้ 24 ชั่วโมงไปแล้ว), ชะล้างแผลให้สะอาดและใช้ผ้าปิดแผล, หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่, ตัดเล็บให้สั้น, ไม่ใช้เสื้อผ้า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
- มีไข้สูง หนาวสั่น ซึม เบื่ออาหาร เท้าบวม ปัสสาวะเป็นสีแดง หรือมีอาการชัก
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
- หมั่นรักษาความสะอาดของผิวหนัง
- หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่
- ตัดเล็บให้สั้น
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกแผลพุพองที่ผู้ป่วยเป็น
- ไม่ใช้เสื้อผ้า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้ป่วย
- หากมีบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือโรคผิวหนัง (เช่น หิด เหา เริม งูสวัด อีสุกอีใส) ควรให้การดูแล อย่างจริงจัง
แผลพุพองชนิดตื้นที่เกิดจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ ควรกินยาปฏิชีวนะให้ครบระยะเวลาตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน
แผลอักเสบเป็นภาวะติดเชื้อแทรกซ้อนของบาดแผล (เช่น แผลถลอก มีดบาด ตะปูตำ หนามเกี่ยว สัตว์กัด เป็นต้น)
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (สเตรปโตค็อกคัส หรือสแตฟีโลค็อกคัส) เข้าไปทำให้อักเสบเป็นหนอง
บาดแผลมีลักษณะปวด บวม แดง ร้อน หรือเป็นหนอง บางรายอาจมีไข้หรือต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงโตร่วมด้วย
ส่วนใหญ่มักดูแลรักษาให้หายขาด และไม่มีภาวะแทรกซ้อน
ผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ มีแผลอักเสบรุนแรง หรือไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรก เชื้ออาจลุกลามเข้ากระแสเลือด ทำให้เป็นโลหิตเป็นพิษได้
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ในบางรายแพทย์อาจนำหนองจากรอยโรคไปตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ชะล้างแผลด้วยน้ำเกลือ (ใช้เกลือ 1 ช้อนโต๊ะใส่ในน้ำ 1 ลิตร ต้มให้เดือด) หรือน้ำเกลือนอร์มัล (normal saline)
ถ้าเป็นหนองเฟะ ควรชะล้างด้วยไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ แล้วล้างด้วยน้ำเกลือ ใช้น้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อมเข้มข้น (น้ำตาลทราย 1 กก. ผสมในน้ำ 1 ลิตร เคี่ยวบนเตาไฟ) ใส่แผล แล้วปิดด้วยผ้าก๊อซสะอาด ควรทำแผลอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง เมื่อเนื้อแผลแดงไม่มีหนองแล้ว ควรชะแผลด้วยน้ำเกลือเพียงอย่างเดียว ไม่ควรใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ รวมทั้งไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ ชะตรงเนื้อแผล
2. ถ้ามีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต หรือแผลอักเสบมากให้ยาแก้ปวดลดไข้ และยาปฏิชีวนะ (เช่น เพนิซิลลินวี, ไดคล็อกซาซิลลิน, อีริโทรไมซิน, โคอะม็อกซิคลาฟ) นาน 5-7 วัน
3. ถ้าไข้ไม่ลดใน 3 วัน ซีดเหลือง หรือสงสัยเป็นโลหิตเป็นพิษ หรือบาดแผลมีลักษณะอักเสบรุนแรงในผู้ที่เป็นเบาหวานอยู่ก่อน มักจะต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
หากสงสัยเป็นแผลอักเสบ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นแผลอักเสบ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
- มีไข้สูง หนาวสั่น ซึม หรือเบื่ออาหาร
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
แผลอักเสบเป็นหนองมักเกิดจากการดูแลบาดแผลสด (เช่น แผลถลอก มีดบาด) ที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น จึงควรแนะนำการดูแลบาดแผลสด ดังนี้
- เมื่อมีบาดแผลสด ควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ทันที เพื่อชะล้างเอาสิ่งสกปรกออกไป
- ทารอบแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน อย่าใช้น้ำยาฆ่าเชื้อรวมทั้ง ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ทาหรือฟอกตรงเนื้อแผล เนื่องจากน้ำยาฆ่าเชื้ออาจทำลายเนื้อเยื่อ ทำให้แผลหายช้าได้
- อย่าให้แผลถูกน้ำ หรือใช้น้ำลาย น้ำหมาก หรือสิ่งสกปรกอื่น ๆ พอกที่แผล
- ควรพักส่วนที่เป็นบาดแผลให้มาก ๆ
- กินอาหารได้ตามปกติ ควรกินอาหารพวกโปรตีน ผักและผลไม้ให้มาก ๆ
- ถ้าบาดแผลสกปรก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ยาปฏิชีวนะ
1. ควรพักแขนขาส่วนที่มีบาดแผล (เช่น อย่าเดินหรือใช้งานมาก) และยกส่วนนั้นให้สูง เช่น ถ้ามีบาดแผลที่เท้า ควรนอนพักและใช้หมอนรองเท้าให้สูงกว่าระดับหน้าอก ถ้ามีบาดแผลที่มือ ควรใช้ผ้าคล้องแขนกับลำคอให้บาดแผลอยู่สูงกว่าระดับหัวใจ
2. ไม่มีอาหารใด ๆ ที่แสลงต่อบาดแผล ไม่ว่าจะเป็น ไข่ เนื้อ ส้ม (ดังที่ชาวบ้านมักเชื่อกันอย่างผิด ๆ) ตรงกันข้ามควรบำรุงด้วยอาหารพวกโปรตีน (เช่น เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่าง ๆ) ให้มาก ๆ จะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
3. ไม่ควรทาแผลด้วยเพนิซิลลิน (ทั้งชนิดขี้ผึ้งหรือยาฉีดที่เรียกว่า โปรเคน) หรือซัลฟา (ทั้งชนิดขี้ผึ้งหรือยาผง) ยานี้ระยะแรก ๆ อาจทำให้แผลแห้ง แต่ทาต่อไปจะทำให้เกิดการแพ้ มีอาการบวมคัน และแผลกลับเฟะได้ ถ้าจะใช้ยาทาควรใช้ขี้ผึ้งเตตราไซคลีนหรือครีมเจนตาไมซิน น้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อม
4. ผู้ที่เป็นแผลเรื้อรังไม่หายขาด อาจเนื่องจากมีภาวะซีดหรือขาดอาหาร จึงควรบำรุงอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารพวกโปรตีน
นอกจากนี้อาจมีสาเหตุจากเบาหวาน ควรตรวจดูน้ำตาลในปัสสาวะหรือในเลือด ถ้าสงสัยเป็นเบาหวาน ควรส่งโรงพยาบาล
5. ฉีดยาป้องกันบาดทะยักในรายที่จำเป็น (ดูโรค "บาดทะยัก" เพิ่มเติม)
เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ เป็นการอักเสบของผิวหนังชั้นหนังแท้และเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นที่อยู่ลึก (ชั้นไขมัน)
ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ ซึ่งติดมาจากทางเดินหายใจ และสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มอื่น ส่วนน้อยอาจเกิดจากเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส นิวโมค็อกคัส เชื้อแบคทีเรียแกรมลบ (เช่น วิบริโอวาลนิฟิคัส*) เชื้อเข้าไปทางบาดแผล รอยถลอก หรือรอยแตกแยกของผิวหนัง (เช่น แมลงกัด หนามตำ ผิวหนังมีรอยขีดข่วน)
ผู้ที่เป็นเบาหวาน เอดส์ กินยาสเตียรอยด์เป็นประจำ หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ คนอ้วน หรือมีบาดแผลหรือโรคผิวหนัง (เช่น ผิวหนังอักเสบ อีสุกอีใส งูสวัด ฮ่องกงฟุต โซริอาซิสหรือสะเก็ดเงิน) แขนขาบวมเรื้อรัง หรือเคยเป็นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบมาก่อน มีความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบมากกว่าปกติ
ผิวหนังมีลักษณะเป็นผื่นแดงจัด ลามออกอย่างรวดเร็ว กดเจ็บ และคลำดูออกร้อน ขอบผื่นไม่ชัดเจน และไม่ยกนูนจากผิวหนังปกติ (จะกลืนไปกับผิวหนังปกติ) ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่บริเวณขาและเท้า อาจพบที่ใบหน้า แขน มือ หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
อาจมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงอาจโตและกดเจ็บ มีท่อน้ำเหลืองอักเสบเห็นเป็นเส้นสีแดง
บางรายอาจมีตุ่มน้ำหรือฝีร่วมด้วย ซึ่งเมื่อแตกจะมีเนื้อตายเกิดขึ้น
อาการแสดงของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ
หากเป็นโรคนี้ซ้ำซาก อาจทำลายระบบทางเดินน้ำเหลือง ทำให้เท้าข้างเป็นโรคบวมเรื้อรังได้
เชื้ออาจลุกลามเข้าเนื้อเยื่อในชั้นที่อยู่ลึกลงไป ทำให้เกิดการอักเสบรุนแรง ทำให้เนื้อตาย และอาจลุกลามเข้ากระแสเลือดกลายเป็นโลหิตเป็นพิษได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเบาหวาน กินยาสเตียรอยด์มานาน หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำจากสาเหตุอื่น
ในรายที่เกิดจากเชื้อบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ อาจทำให้เป็นหน่วยไตอักเสบเฉียบพลันได้ (มีอาการไข้สูง บวมทั้งตัว ปัสสาวะสีแดง) ซึ่งพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ถ้าจำเป็นแพทย์จะนำหนองจากรอยโรคไปตรวจหาเชื้อ เอกซเรย์ หรือนำเลือดไปเพาะเชื้อในรายที่มีภาวะโลหิตเป็นพิษ
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ให้ผู้ป่วยพักผ่อน พยายามอย่าเคลื่อนไหวส่วนที่อักเสบ และยกแขนหรือขาส่วนที่อักเสบให้สูง และใช้น้ำอุ่นจัด ๆ ประคบ
ผู้ป่วยสามารถกินอาหารได้ตามปกติ ไม่มีของแสลง ควรกินอาหารพวกโปรตีน (เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่าง ๆ) ให้มาก ๆ
ให้ยาแก้ปวดลดไข้ ถ้าปวดหรือมีไข้
2. ให้ยาปฏิชีวนะ (เช่น เพนิซิลลินวี, อีริโทรไมซิน, โคอะม็อกซิคราฟ) ถ้าดีขึ้นให้ยาปฏิชีวนะต่อจนครบ 10 วัน
3. ถ้าไม่ดีขึ้นใน 2-3 วัน หรือมีอาการรุนแรงหรือสงสัยมีภาวะโลหิตเป็นพิษแทรกซ้อน หรือพบในผู้ที่เป็นเบาหวานหรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีด บางรายอาจต้องทำการผ่าตัดระบายหนองหรือตัดเอาเนื้อตายออกไป
หากสงสัยเป็นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
- มีไข้สูง หนาวสั่น ซึม เบื่ออาหาร หรือการอักเสบรุนแรงมากขึ้น
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
เมื่อมีบาดแผล รอยถลอก หรือรอยแตกแยกของผิวหนัง (เช่น แมลงกัด หนามตำ ผิวหนังมีรอยขีดข่วน หรือ ฮ่องกงฟุต)
- ควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ทันที เพื่อชะล้างเอาสิ่งสกปรกออกไป
- ทารอบแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน
- อย่าให้แผลถูกน้ำ หรือใช้น้ำลาย น้ำหมาก หรือสิ่งสกปรกอื่น ๆ พอกที่แผล
- ควรพักส่วนที่เป็นบาดแผลให้มาก ๆ
- กินอาหารได้ตามปกติ ควรกินอาหารพวกโปรตีน ผักและผลไม้ให้มาก ๆ
- หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำในทะเล และระวังไม่ให้แผลถูกน้ำทะเล
- ถ้าบาดแผลสกปรก แผลถูกสัตว์หรือคนกัด ถูกตะปู หรือถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวกพอง หรือพบบาดแผลในผู้ป่วยเบาหวาน เอดส์ โรคตับเรื้อรัง หรือโรคไตเรื้อรัง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม
ผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่แรก หากปล่อยปละละเลย อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นเบาหวานหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ เป็นอันตรายได้
ไฟลามทุ่ง (เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นตื้นอักเสบ) เป็นการอักเสบของผิวหนังชั้นหนังแท้และเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นตื้น ๆ รวมทั้งท่อน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง
ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ และสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มอื่น มักพบในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำจากโรค หรือจากยา (เช่น ยาสเตียรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกัน) หรือมีภาวะอุดตันของหลอดเลือด หรือท่อน้ำเหลือง หรือเกิดขึ้นในบริเวณที่มีอาการบวมเรื้อรัง หรือมีเนื้อตาย เชื้อจะเข้าทางรอยถลอกหรือรอยแยกของผิวหนัง (เช่น แมลงกัด หนามตำ ผิวหนังมีรอยขีดข่วน หรือฮ่องกงฟุต)
มักเกิดขึ้นฉับพลัน แรกเริ่มจะมีไข้สูงหนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาจะมีอาการเป็นผื่นแดงสด ต่อมาจะบวมแข็งตึงและผิวมีลักษณะมันคล้ายผิวส้ม ผื่นจะลุกลามขยายออกโดยรอบอย่างรวดเร็ว ผิวหนังในบริเวณนั้นจะนูนเป็นขอบแยกจากผิวหนังที่ปกติอย่างชัดเจน และคลำดูจะออกร้อนกว่าผิวหนังปกติ เมื่อกดตรงบริเวณนั้นสีจะจางลง และมีรอยบุ๋มเล็กน้อย ถ้าเป็นมากอาจมีตุ่มน้ำพอง ในระยะท้ายผื่นจะยุบลง ผิวหนังลอกเป็นขุย และเมื่อหายแล้วจะไม่เป็นแผลเป็น
มักเกิดที่บริเวณหน้า อาจเป็นที่แก้มข้างเดียว หรือ 2 ข้าง บางรายอาจเกิดที่แขนหรือขา
ถ้าเป็นบ่อย ๆ อาจทำให้ท่อน้ำเหลืองเกิดการพองตัวอย่างถาวร ถ้าเป็นที่เท้าหรือขา ทำให้ผิวหนังในบริเวณนั้นมีลักษณะขรุขระ
ไฟลามทุ่ง: รอยโรคที่ผิวมีลักษณะคล้ายผิวส้ม
เชื้ออาจลุกลามเข้าเนื้อเยื่อในชั้นที่อยู่ลึกลงไป ทำให้เกิดการอักเสบรุนแรงทำให้เนื้อตาย และอาจลุกลามเข้ากระแสเลือดกลายเป็นโลหิตเป็นพิษได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเบาหวาน กินยาสเตียรอยด์มานาน หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำจากสาเหตุอื่น
ในรายที่เกิดจากเชื้อบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ อาจทำให้เป็นหน่วยไตอักเสบเฉียบพลันได้ (มีอาการไข้สูง บวมทั้งตัว ปัสสาวะสีแดง) ซึ่งพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ถ้าจำเป็นแพทย์จะนำหนองจากรอยโรคไปตรวจหาเชื้อ เอกซเรย์ หรือนำเลือดไปเพาะเชื้อในรายที่มีภาวะโลหิตเป็นพิษ
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ให้ผู้ป่วยพักผ่อน พยายามอย่าเคลื่อนไหวส่วนที่อักเสบ ยกแขนหรือขาส่วนที่อักเสบให้สูง และใช้น้ำอุ่นจัด ๆ ประคบ
ผู้ป่วยสามารถกินอาหารได้ตามปกติ ไม่มีของแสลง ควรกินอาหารพวกโปรตีน (เนื้อ นม ไข่) ให้มาก ๆ ให้ยาแก้ปวดลดไข้ ถ้าปวดหรือมีไข้
2. ให้ยาปฏิชีวนะ (เช่น เพนิซิลลินวี, อีริโทรไมซิน, โคอะม็อกซิคลาฟ) ถ้าดีขึ้นให้ยาต่อจนครบ 10 วัน
3. ถ้าไม่ดีขึ้นใน 2-3 วัน หรือมีอาการรุนแรงหรือสงสัยมีภาวะโลหิตเป็นพิษแทรกซ้อน หรือพบในผู้ที่เป็นเบาหวานหรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีด บางรายอาจต้องทำการผ่าตัดระบายหนองหรือตัดเอาเนื้อตายออกไป
หากสงสัยเป็นไฟลามทุ่ง (เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นตื้นอักเสบ) ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นไฟลามทุ่ง(เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นตื้นอักเสบ) ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
- มีไข้สูง หนาวสั่น ซึม เบื่ออาหาร หรือการอักเสบรุนแรงมากขึ้น
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
เมื่อมีบาดแผล รอยถลอก หรือรอยแตกแยกของผิวหนัง (เช่น แมลงกัด หนามตำ ผิวหนังมีรอยขีดข่วน หรือฮ่องกงฟุต)
- ควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ทันที เพื่อชะล้างเอาสิ่งสกปรกออกไป
- ทารอบแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน
- อย่าให้แผลถูกน้ำ หรือใช้น้ำลาย น้ำหมาก หรือสิ่งสกปรกอื่น ๆ พอกที่แผล
- ควรพักส่วนที่เป็นบาดแผลให้มาก ๆ
- กินอาหารได้ตามปกติ ควรกินอาหารพวกโปรตีน ผักและผลไม้ให้มาก ๆ
- หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำในทะเล และระวังไม่ให้แผลถูกน้ำทะเล
- ถ้าบาดแผลสกปรก แผลถูกสัตว์หรือคนกัด ถูกตะปู หรือถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวกพอง หรือพบบาดแผลในผู้ป่วยเบาหวาน เอดส์ โรคตับเรื้อรัง หรือโรคไตเรื้อรัง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม
ผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ควรรีบไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่แรก หากปล่อยปละละเลยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นเบาหวานหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษเป็นอันตรายได้
Smart Doctor© โปรแกรม "หมอประจำบ้าน" อัจฉริยะ
โปรดเลือกอาการที่เป็นสัญญาณของ "โรคติดเชื้อแบคทีเรียของผิวหนัง (bacterial infection of skin)" เพื่อตรวจอาการเบื้องต้น ก่อนไปพบแพทย์