ฝีที่ผิวหนังส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มสแตฟีโลค็อกคัส อาจติดต่อโดยการสัมผัสถูกผู้ป่วยโดยตรง โดยเชื้อจะเข้าไปในบริเวณผิวหนังที่มีรอยแยกหรือรอยบาดแผลเล็ก ๆ ทำให้เกิดการอักเสบ กลายเป็นตุ่มฝีหรือถุงฝีซึ่งบรรจุด้วยเชื้อโรค เม็ดเลือดขาว และเซลล์ตาย
มักจะขึ้นเป็นตุ่ม หรือก้อนบวม รู้สึกปวด กดถูกเจ็บ ผิวหนังบริเวณนั้นมีลักษณะแดงร้อน
ในรายเป็นฝีที่เกิดจากรูขุมขนอักเสบ (boils) จะพบมีเส้นผมหรือขนอยู่ตรงกลาง
ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ร่วมด้วย
ระยะที่ขึ้นเป็นฝีใหม่ ๆ จะมีลักษณะแข็ง ตุ่มนี้จะขยายโตขึ้นและเจ็บมาก ต่อมาค่อย ๆ นุ่มลงและกลัดหนอง บางครั้งเมื่อฝีเป่งมาก ๆ อาจแตกเองได้ (หลังฝีขึ้นไม่กี่วัน หรือ 1-2 สัปดาห์) แล้วอาการเจ็บปวดและอาการไข้ที่อาจมีตอนแรกจะทุเลา
บางครั้งอาจพบต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงอักเสบด้วย เช่น ถ้าเป็นฝีที่เท้า อาจมีไข่ดัน (ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ) บวมและปวด ถ้าเป็นที่มือ ก็อาจมีการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ เป็นต้น
ส่วนใหญ่มักดูแลรักษาให้หายขาด และไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ยกเว้นอาจเป็นแผลเป็น
ผู้ที่เป็นเบาหวานหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจเป็นฝีได้บ่อย และหากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรกอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เชื้ออาจลุกลามเข้ากระแสเลือด ทำให้เป็นฝีที่ไต (perinephric abscess) กระดูกอักเสบเป็นหนอง (osteomyelitis) โลหิตเป็นพิษ
ถ้าเป็นฝีตรงบริเวณกลาง ๆ ใบหน้า (เช่น กลางสันจมูก หรือริมฝีปากบน) แล้วบีบแรง ๆ เชื้ออาจแพร่กระจายเข้าสมองเป็นอันตรายถึงตายได้
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ในบางรายแพทย์อาจจะดูดเอาหนองไปตรวจหาเชื้อ
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นจัด ๆ (ขนาดที่พอทนได้ อย่าร้อนจัด) ประคบวันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 10-15 นาที ช่วยให้ตุ่มฝีไม่โตขึ้น และสุกเร็วขึ้น
2. ให้ยาแก้ปวดลดไข้
3. ถ้ามีไข้ มีฝีหลายหัว หรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบร่วมด้วย แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน โคอะม็อกซิคลาฟ หรืออีริโทรไมซินนาน 5-7 วัน
4. ถ้าฝีสุก (ฝีนุ่มเต็มที่) อาจใช้เข็มเจาะดูด หรือผ่าระบายหนองออก พร้อมกับใส่ผ้าเป็นหมุดระบายหนอง ชะล้างแผลและเปลี่ยนหมุดทุกวัน จนกระทั่งแผลตื้น
หากสงสัยเป็นฝี ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นฝี ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
- อย่าบีบหัวฝี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าขึ้นตรงกลางใบหน้า
- หลีกเลี่ยงการกินยาชุด หรือยาลูกกลอน ซึ่งอาจมียาสเตียรอยด์ผสม ทำให้ฝีลุกลามได้
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
- มีไข้สูง หนาวสั่น เบื่ออาหาร หรือ ฝีลุกลามมากขึ้น
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
- รักษาความสะอาดของร่างกาย อาบน้ำฟอกสบู่วันละ 2 ครั้ง
- กินอาหารที่มีประโยชน์เป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงการกินยาชุด หรือยาลูกกลอนซึ่งอาจมียาสเตียรอยด์ผสม ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง
- เมื่อมีบาดแผลเล็กน้อยที่ผิวหนัง ควรดูแลแผลให้สะอาดและรักษาแผลให้หายดี
1. ถ้าเป็นฝีบ่อย ๆ อาจมีภูมิคุ้มกันต่ำ เนื่องจากขาดอาหาร โลหิตจาง เป็นเบาหวาน เอดส์ หรือกินสเตียรอยด์นาน ๆ
ควรตรวจหาสาเหตุ และให้การดูแลรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น ควรตรวจปัสสาวะ ถ้าพบมีน้ำตาล ก็อาจเป็นเบาหวาน ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล
2. ผู้ป่วยที่เป็นเมลิออยโดซิส อาจแสดงอาการของการติดเชื้อที่ผิวหนัง เช่น ตุ่มนูน ตุ่มหนอง ฝี แผลอักเสบ แผลเรื้อรัง เป็นต้น ถ้าให้การรักษาแล้วไม่ได้ผล หรือสงสัยเป็นเมลิออยโดซิส (เช่น พบในคนอีสานที่เป็นเบาหวาน) ก็ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด