ไฟลามทุ่ง (เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นตื้นอักเสบ) เป็นการอักเสบของผิวหนังชั้นหนังแท้และเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นตื้น ๆ รวมทั้งท่อน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง
ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ และสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มอื่น มักพบในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำจากโรค หรือจากยา (เช่น ยาสเตียรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกัน) หรือมีภาวะอุดตันของหลอดเลือด หรือท่อน้ำเหลือง หรือเกิดขึ้นในบริเวณที่มีอาการบวมเรื้อรัง หรือมีเนื้อตาย เชื้อจะเข้าทางรอยถลอกหรือรอยแยกของผิวหนัง (เช่น แมลงกัด หนามตำ ผิวหนังมีรอยขีดข่วน หรือฮ่องกงฟุต)
มักเกิดขึ้นฉับพลัน แรกเริ่มจะมีไข้สูงหนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาจะมีอาการเป็นผื่นแดงสด ต่อมาจะบวมแข็งตึงและผิวมีลักษณะมันคล้ายผิวส้ม ผื่นจะลุกลามขยายออกโดยรอบอย่างรวดเร็ว ผิวหนังในบริเวณนั้นจะนูนเป็นขอบแยกจากผิวหนังที่ปกติอย่างชัดเจน และคลำดูจะออกร้อนกว่าผิวหนังปกติ เมื่อกดตรงบริเวณนั้นสีจะจางลง และมีรอยบุ๋มเล็กน้อย ถ้าเป็นมากอาจมีตุ่มน้ำพอง ในระยะท้ายผื่นจะยุบลง ผิวหนังลอกเป็นขุย และเมื่อหายแล้วจะไม่เป็นแผลเป็น
มักเกิดที่บริเวณหน้า อาจเป็นที่แก้มข้างเดียว หรือ 2 ข้าง บางรายอาจเกิดที่แขนหรือขา
ถ้าเป็นบ่อย ๆ อาจทำให้ท่อน้ำเหลืองเกิดการพองตัวอย่างถาวร ถ้าเป็นที่เท้าหรือขา ทำให้ผิวหนังในบริเวณนั้นมีลักษณะขรุขระ
ไฟลามทุ่ง: รอยโรคที่ผิวมีลักษณะคล้ายผิวส้ม
เชื้ออาจลุกลามเข้าเนื้อเยื่อในชั้นที่อยู่ลึกลงไป ทำให้เกิดการอักเสบรุนแรงทำให้เนื้อตาย และอาจลุกลามเข้ากระแสเลือดกลายเป็นโลหิตเป็นพิษได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเบาหวาน กินยาสเตียรอยด์มานาน หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำจากสาเหตุอื่น
ในรายที่เกิดจากเชื้อบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ อาจทำให้เป็นหน่วยไตอักเสบเฉียบพลันได้ (มีอาการไข้สูง บวมทั้งตัว ปัสสาวะสีแดง) ซึ่งพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ถ้าจำเป็นแพทย์จะนำหนองจากรอยโรคไปตรวจหาเชื้อ เอกซเรย์ หรือนำเลือดไปเพาะเชื้อในรายที่มีภาวะโลหิตเป็นพิษ
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ให้ผู้ป่วยพักผ่อน พยายามอย่าเคลื่อนไหวส่วนที่อักเสบ ยกแขนหรือขาส่วนที่อักเสบให้สูง และใช้น้ำอุ่นจัด ๆ ประคบ
ผู้ป่วยสามารถกินอาหารได้ตามปกติ ไม่มีของแสลง ควรกินอาหารพวกโปรตีน (เนื้อ นม ไข่) ให้มาก ๆ ให้ยาแก้ปวดลดไข้ ถ้าปวดหรือมีไข้
2. ให้ยาปฏิชีวนะ (เช่น เพนิซิลลินวี, อีริโทรไมซิน, โคอะม็อกซิคลาฟ) ถ้าดีขึ้นให้ยาต่อจนครบ 10 วัน
3. ถ้าไม่ดีขึ้นใน 2-3 วัน หรือมีอาการรุนแรงหรือสงสัยมีภาวะโลหิตเป็นพิษแทรกซ้อน หรือพบในผู้ที่เป็นเบาหวานหรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีด บางรายอาจต้องทำการผ่าตัดระบายหนองหรือตัดเอาเนื้อตายออกไป
หากสงสัยเป็นไฟลามทุ่ง (เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นตื้นอักเสบ) ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นไฟลามทุ่ง(เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นตื้นอักเสบ) ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
- มีไข้สูง หนาวสั่น ซึม เบื่ออาหาร หรือการอักเสบรุนแรงมากขึ้น
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
เมื่อมีบาดแผล รอยถลอก หรือรอยแตกแยกของผิวหนัง (เช่น แมลงกัด หนามตำ ผิวหนังมีรอยขีดข่วน หรือฮ่องกงฟุต)
- ควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ทันที เพื่อชะล้างเอาสิ่งสกปรกออกไป
- ทารอบแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน
- อย่าให้แผลถูกน้ำ หรือใช้น้ำลาย น้ำหมาก หรือสิ่งสกปรกอื่น ๆ พอกที่แผล
- ควรพักส่วนที่เป็นบาดแผลให้มาก ๆ
- กินอาหารได้ตามปกติ ควรกินอาหารพวกโปรตีน ผักและผลไม้ให้มาก ๆ
- หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำในทะเล และระวังไม่ให้แผลถูกน้ำทะเล
- ถ้าบาดแผลสกปรก แผลถูกสัตว์หรือคนกัด ถูกตะปู หรือถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวกพอง หรือพบบาดแผลในผู้ป่วยเบาหวาน เอดส์ โรคตับเรื้อรัง หรือโรคไตเรื้อรัง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม
ผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ควรรีบไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่แรก หากปล่อยปละละเลยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นเบาหวานหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษเป็นอันตรายได้