สัญญาณบ่งชี้ “โรคสมาธิสั้น” ที่ผู้ปกครองควรรู้!
สัญญาณบ่งชี้ “โรคสมาธิสั้น” ที่ผู้ปกครองควรรู้!
เด็กซนแค่ไหนถึงเรียกว่าเป็นโรคสมาธิสั้น? ความสงสัยในใจของพ่อแม่ ผู้ปกครองหลายคนที่บ่นว่าลูกดื้อเหลือเกิน บทความนี้ ชวนมาสังเกตสัญญาณบ่งชี้ของ โรคสมาธิสั้น หรือ ภาวะสมาธิสั้น (Attention-Deficit/Hyperactivity Disorder “ADHD”) ที่พ่อแม่ ผู้ปกครองควรรู้ เพื่อจะได้รับมือและพร้อมช่วยเหลือลูกหลานเมื่อป่วย
โรคสมาธิสั้น ที่เกิดขึ้นกับเด็กวัยเรียน พบได้ในไทยเฉลี่ย 3-5 เปอร์เซ็นต์ พฤติกรรมซึ่งเห็นได้ชัดเจนคือ อยู่นิ่งไม่ได้ ซุกซน ความสามารถในการควบคุมตัวเองต่ำ ไม่มีสมาธิ มักพบอาการเหล่านี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี
โรคสมาธิสั้น ประเภทต่าง ๆ
โรคสมาธิสั้น ในเด็กบางคนจะเริ่มสังเกตเห็นได้ตั้งแต่อายุ 3 ปี อาจมีความรุนแรงไม่มาก ไปจนถึงระดับรุนแรงที่สุด และอาจมีอาการต่อเนื่องจนกระทั่งเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ มักเกิดกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง และแสดงอาการต่างกัน เช่น เด็กผู้ชายอาจแสดงพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่งมากกว่า ในขณะที่เด็กผู้หญิงมักขาดสมาธิแบบเงียบ ๆ
ผู้เชี่ยวชาญแบ่งโรคสมาธิสั้นออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1.มีอาการขาดสมาธิเป็นหลัก (Predominantly inattentive) อาการหลัก ๆ ที่พบคือเด็กจะไม่สามารถใส่ใจหรือโฟกัสสิ่งต่าง ๆ ได้ตามปกติ
2.มีอาการไม่อยู่นิ่งและหุนหันพลันแล่น (Predominantly hyperactive/impulsive) เด็กกลุ่มนี้จะวู่วาม ใจร้อน ไม่สามารถนั่งนิ่งได้
3.มีอาการทั้งสองประเภทรวมกัน (Combined) อาการของเด็กสมาธิสั้นกลุ่มนี้จะปรากฏทั้ง 2 รูปแบบคือ ไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ และอยู่นิ่งไม่ได้ด้วย
สัญญาณบ่งชี้ โรคสมาธิสั้น ในเด็ก
พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่ จากพฤติกรรมของเขา โดยเราจะแบ่งอาการเบื้องต้นออกเป็น 2 กลุ่ม
1.ขาดสมาธิเป็นหลัก
- ไม่ใส่ใจรายละเอียด สะเพร่าในการทำการบ้าน
- มีปัญหาเรื่องการจดจ่อ ไม่มีสมาธิ
- ดูเหมือนไม่ฟังเวลามีคนพูดด้วย
- ทำการบ้านไม่เสร็จ หรือไม่สามารถทำงานที่ครูหรือผู้ปกครองให้ทำจนสำเร็จได้
- จัดระเบียบการทำงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ได้ยาก
- เลี่ยงทำสิ่งที่ต้องใช้สมาธิหรือความพยายามสูง
- เมื่อถูกรบกวนจะวอกแวกง่าย
- มักทำของใช้ส่วนตัวหายบ่อย ๆ
- ขี้ลืม เช่น ลืมทำการบ้าน หรือลืมทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ได้รับมอบหมายให้ทำ
2.ไม่อยู่นิ่งและหุนหันพลันแล่น
- อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ ขยับตัวแทบจะตลอดเวลา
- ไม่ค่อยชอบนั่งอยู่กับที่
- ชอบกระโดดโลดเต้น วิ่ง ปีนป่าย ในเวลาที่ไม่เหมาะสม
- เล่นหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความเงียบไม่ได้
- พูดมาก ขัดจังหวะการสนทนา
- ไม่มีความอดทนรอ
- ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
สรุป
เมื่อเด็กเป็นโรคสมาธิสั้น ส่วนใหญ่มักขาดความสามารถในการทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งเป็นเวลานาน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองไม่ควรด่วนสรุปว่าเด็กที่มีพลังล้นเหลือตามธรรมชาติ หรือชอบวิ่งเล่น เป็นเด็กสมาธิสั้นเสมอไป หากสงสัยว่าลูกหลานมีความผิดปกติ ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับคำแนะนำอย่างถูกต้อง
หากคุณสนใจตรวจสุขภาพเบื้องต้นด้วยตัวเอง สามารถเข้าไปเช็กอาการได้ที่ Smart Doctor โปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้นอัจฉริยะ จาก Doctor at Home
ข้อมูลล่าสุด : 31 ต.ค. 2566