ไขข้อข้องใจ ไข้หวัด vs ไข้หวัดใหญ่ ต่างกันอย่างไร?
ไขข้อข้องใจ ไข้หวัด vs ไข้หวัดใหญ่ ต่างกันอย่างไร?
ฤดูฝนใกล้เข้ามาแล้ว โรคที่มักจะพบได้บ่อยก็คือ “ไข้หวัด” และ “ไข้หวัดใหญ่” ถึงแม้สองโรคนี้จะพบได้ตลอดปี แต่มักพบมากในเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม ที่เป็นช่วงฤดูฝน หรือในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง ไข้หวัดธรรมดา และ ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสต่างสายพันธุ์ บทความนี้จะชวนมาดูความแตกต่างของทั้ง 2 โรคในในผู้ใหญ่ พร้อมส่งความห่วงใยด้วยวิธีดูแลตัวเองตลอดช่วงหน้าฝนนี้
อาการต่างกันอย่างไร
ไข้หวัดธรรมดา
- มีไข้เป็นพัก ๆ
- คัดจมูก จาม น้ำมูกไหล
- ครั่นเนื้อครั่นตัว
- ปวดศีรษะเล็กน้อย
- คอแห้งหรือเจ็บคอเล็กน้อย
- ไอแห้งหรือไอมีเสมหะสีขาวเล็กน้อย
ไข้หวัดใหญ่
- ไข้สูงฉับพลัน หนาว ๆ ร้อน ๆ
- ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่กระเบนเหน็บ ต้นแขน ต้นขา
- ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร ขมในคอ
- อาจมีอาการเจ็บในคอ ไอแห้ง ๆ
- อาจมีอาการคัดจมูก น้ำมูก หรือไม่มีก็ได้
- คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน จุกแน่นท้อง
สังเกตง่าย ๆ คือไข้หวัดใหญ่อาการมักจะเกิดขึ้นทันทีทันใด ด้วยไข้สูง หนาว ๆ ร้อน ๆ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก และมักมีอาการหวัด คัดจมูกน้อยกว่าไข้หวัดธรรมดา
ดูแลตัวเองเมื่อป่วย
- พักผ่อนมาก ๆ ห้ามทำงานหนักหรือออกกำลังกายมากเกินไป
- สวมเสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น
- อย่าถูกฝน หรืออากาศเย็นจัด และอย่าอาบน้ำเย็น
- ดื่มน้ำมาก ๆ ช่วยลดไข้ และทดแทนน้ำที่เสียไป
- หากรู้สึกอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว ควรนอนพัก
- รับประทานอาหารอ่อน เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม หรือเครื่องดื่มร้อน ๆ
- เช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นหรือน้ำก๊อกอุณหภูมิห้อง เมื่อมีไข้สูง ไม่ใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็ง
- งดสูบบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสควันบุหรี่
- กินยาพาราเซตามอลลดไข้
- ถ้ามีน้ำมูกมาก ให้กินยาแก้แพ้ลดน้ำมูก
- จิบน้ำอุ่น น้ำมะนาว น้ำขิง น้ำผึ้งผสมมะนาว หรือยาแก้ไอมะขามป้อม เมื่อมีอาการไอ
- หากมีไข้สูง หนาวสั่น อาการรุนแรง ควรไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
- และกินยาตามที่แพทย์แนะนำ
ป้องกันตัวเองจากไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่
- ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง
- ทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะเวลาที่อากาศเปลี่ยนแปลง
- ไม่ควรอาบน้ำหรือสระผมด้วยน้ำเย็นเกินไป
- เลี่ยงอยู่ในที่แออัด หากมีการระบาดของไข้หวัด หากเลี่ยงไม่ได้ควรสวมหน้ากากอนามัย
- หมั่นล้างมือกับสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์
- อย่าขยี้ตาหรือแคะจมูก
- อย่าเข้าใกล้หรือนอนรวมกับผู้ป่วย และควรเลี่ยงการสัมผัสมือผู้ป่วย
- ถ้าจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ควรสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือกับสบู่หรือใช้เจลแอลกอฮอล์
- อย่าใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง ในช่วงก่อนเข้าฤดูฝน
สรุป
อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยป้องกันไข้หวัดได้ดี คือการดูแลตัวเองตัวให้สุขภาพแข็งแรงอยู่เสมอ ไข้หวัดจากไวรัสสามารถหายเองได้ โดยไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ เพียงกินยาตามอาการ และพักผ่อนให้เพียงพอ หากพบอาการรุนแรง หรือมีไข้สูงผิดปกติ ควรรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด และหากมีปัจจัยเสี่ยงป่วยโควิด (COVID-19) ควรตรวจ ATK เพื่อความแน่ใจ ป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
อ่านข้อมูลโรค ไข้หวัด และ ไข้หวัดใหญ่ เพิ่มเติม
คุณสามารถเช็กอาการ คัดจมูก น้ำมูกไหล, เจ็บคอ ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคไข้หวัด
หรืออาการ ปวดหลัง, ไข้ร่วมกับน้ำมูกหรือไอ ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคไข้หวัดใหญ่
ได้ที่ Smart Doctor โปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้นอัจฉริยะ จาก Doctor at Home
ข้อมูลล่าสุด : 20 มิ.ย. 2566