ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย พบได้ตลอดทั้งปี แต่จะมีอุบัติการณ์สูงในช่วงฤดูฝน (มิถุนายนถึงตุลาคม) และฤดูหนาว (มกราคมถึงมีนาคม) บางปีอาจพบมีการระบาดใหญ่
พบเป็นสาเหตุอันดับแรก ๆ ของอาการไข้ที่เกิดขึ้นเฉียบพลันร่วมกับการปวดเมื่อยตามตัวที่พบในคนทั่วไป
เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสอินฟลูเอนซา (influenza virus) เชื้อนี้จัดอยู่ในกลุ่มไวรัสที่เรียกว่า orthomyxovirus
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ เอ บี และ ซี
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ มักก่อให้เกิดอาการรุนแรง อาจพบระบาดได้กว้างขวาง และสามารถกลายพันธุ์แตกแขนงเป็นสายพันธุ์ย่อย ๆ ได้ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดบี ก่อความรุนแรงและการระบาดของโรคได้น้อยกว่าเอ สามารถกลายพันธุ์ได้แต่ไม่มากเท่าชนิดเอ ส่วนไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดซี มักก่อให้เกิดอาการเพียงเล็กน้อยและไม่ค่อยพบระบาด
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ สามารถพบได้ทั้งในคนและสัตว์ (ส่วนอีก 2 ชนิดพบเฉพาะในคนเท่านั้น) แบ่งเป็นสายพันธุ์ย่อย ๆ โดยมีชื่อเรียกตามชนิดของโปรตีนที่พบบนผิวของเชื้อไวรัส โปรตีนดังกล่าวมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ฮีแม็กกลูตินิน (hemagglutinin เรียกย่อว่า H) ซึ่งมีอยู่ 16 ชนิดย่อย และนิวรามินิเดส (neuraminidase เรียกย่อว่า N) ซึ่งมีอยู่ 9 ชนิดย่อย ในการกำหนดชื่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ จึงใช้ตัวอักษร H ควบกับ N โดยมีตัวเลขกำกับท้ายตัวอักษรแต่ละตัว ตามชนิดของโปรตีน เช่น
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 (สายพันธุ์เก่า) เป็นต้นเหตุของการระบาดใหญ่ทั่วโลกในปี พ.ศ. 2461-2462 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนราว 20-40 ล้านคน เนื่องจากมีต้นตอจากสเปน จึงมีชื่อว่า ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish flu) และกลับมาระบาดใหญ่อีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2520 เนื่องจากมีต้นตอจากรัสเซียจึงเรียกว่า ไข้หวัดใหญ่รัสเซีย
ในปี พ.ศ. 2552 มีการระบาดใหญ่ทั่วโลกของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 สายพันธุ์ใหม่ (สายพันธุ์ 2009)* ซึ่งมีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์เก่า มีต้นตอจากประเทศเม็กซิโก**
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H2N2 เป็นต้นเหตุการระบาดของไข้หวัดใหญ่เอเชีย ในปี พ.ศ.2500-2501 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนราว 1 ล้านคน
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H3N2 เป็นต้นเหตุการระบาดของไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง ในปี พ.ศ.2511-2512 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนราว 7 แสนคน
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H5N1 เป็นต้นเหตุของไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก หรือไข้หวัดนก
วิธีการแพร่เชื้อ เชื้อไข้หวัดใหญ่จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด หรือโดยการสัมผัสถูกมือ สิ่งของเครื่องใช้ หรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อนเชื้อ แบบเดียวกับไข้หวัด
นอกจากนี้ เชื้อไข้หวัดใหญ่ยังสามารถแพร่กระจายทางอากาศ (airborne transmission) กล่าวคือ เชื้อจะติดอยู่ในฝอยละอองขนาดเล็ก (ขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน) เมื่อผู้ป่วยไอหรือจาม เชื้อสามารถกระจายออกไประยะไกลและแขวนลอยอยู่ในอากาศได้นาน เมื่อคนอื่นสูดเอาอากาศที่มีฝอยละอองนี้เข้าไปโดยไม่จำเป็นต้องไอหรือจามรดใส่กันตรง ๆ ก็สามารถติดโรคได้ ดังนั้น โรคนี้จึงสามารถระบาดได้รวดเร็ว
ระยะฟักตัว 1-4 วัน (ส่วนน้อยอาจนานเกิน 7 วัน)
**เชื้อสามารถแพร่กระจายตั้งแต่ 1 วัน ก่อนมีอาการ แพร่ได้มากสุดใน 3 วันแรกของการเจ็บป่วย และอาจแพร่ได้ถึงวันที่ 7 ของการเจ็บป่วย
มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใดด้วยอาการไข้สูง หนาว ๆ ร้อน ๆ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก (โดยเฉพาะที่กระเบนเหน็บ ต้นแขนต้นขา) ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ขมในคอ อาจมีอาการเจ็บในคอ คัดจมูก น้ำมูกใส ไอแห้ง ๆ จุกแน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน
แต่บางรายก็อาจไม่มีอาการคัดจมูก หรือเป็นหวัดเลยก็ได้ มีข้อสังเกตว่า ไข้หวัดใหญ่มักเป็นหวัดน้อย แต่ไข้หวัดน้อยมักเป็นหวัดมาก
อาการไข้จะเป็นอยู่ประมาณ 1-7 วัน (ที่พบบ่อยคือ 3-5 วัน)
อาการไอ และอ่อนเพลีย อาจเป็นอยู่ 1-4 สัปดาห์ แม้ว่าอาการอื่น ๆ จะทุเลาแล้วก็ตาม
บางรายเมื่อหายจากไข้หวัดใหญ่แล้วอาจมีอาการบ้านหมุน เนื่องจากอาการอักเสบของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน
ในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการแสดงของภาวะแทรกซ้อน เช่น มีน้ำมูกหรือเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว ปวดหู หูอื้อ หายใจหอบเหนื่อย เป็นต้น
ส่วนน้อยอาจมีภาวะแทรกซ้อน ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หูชั้นในอักเสบ หลอดลมอักเสบ หลอดลมพอง
ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ปอดอักเสบ ซึ่งมักจะเกิดจากแบคทีเรียพวกนิวโมค็อกคัส หรือสแตฟีโลค็อกคัส (เชื้อชนิดหลังนี้ มักจะทำให้เป็นปอดอักเสบร้ายแรงถึงตายได้) บางรายก็อาจจะเกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่
นอกจากนี้ยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) สมองอักเสบ หลอดเลือดดำอักเสบร่วมกับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (thrombophlebitis) เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง (เช่น ปอดอักเสบ) มักจะเกิดในผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก (ต่ำกว่า 2 ปี), ผู้สูงอายุ (มากกว่า 60 ปี), หญิงตั้งครรภ์หรือหลังคลอดไม่เกิน 14 วัน, คนอ้วน (มีดัชนีมวลกายมากกว่า 30 กก./เมตร2), เด็กที่มีพัฒนาการช้าหรือมีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง, ผู้ที่เป็นเบาหวาน มะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคตับเรื้อรัง หรือโรคไตเรื้อรัง, ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก
มักตรวจพบไข้ 38.5-40 องศาเซลเซียส หน้าแดง เปลือกตาแดง อาจมีน้ำมูกใส คอแดงเล็กน้อยหรือไม่แดงเลย (ทั้ง ๆ ที่ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บคอ)
ส่วนมากมักตรวจไม่พบอาการผิดปกติอื่น ๆ ยกเว้นในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน ก็อาจตรวจพบอาการของภาวะแทรกซ้อน เช่น แพทย์ทำการฟังปอดได้ยินเสียงกรอบแกรบ (crepitation) ในผู้ที่เป็นปอดอักเสบ เสียงอึ๊ด (rhonchi) ในผู้ที่เป็นหลอดลมอักเสบ เป็นต้น
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคนี้ให้แน่ชัดด้วยการตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในน้ำมูก หรือเสมหะในจมูกหรือคอหอย
ในรายที่จำเป็นต้องทำการวินิจฉัยโรคนี้ให้แน่ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง จะทำการตรวจพิเศษ เช่น ตรวจเลือด ตรวจหาเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จากสารคัดหลั่งที่จมูกหรือในลำคอ ซึ่งเก็บตัวอย่างโดยการใช้ไม้ป้ายจมูก/คอ (nasal/throat swab)
- ให้ยาบรรเทาตามอาการ เช่น พาราเซตามอลบรรเทาไข้ ยาแก้ไอ
- ในรายที่มีอาการไข้มานานไม่เกิน 48 ชั่วโมง (โดยแพทย์ตรวจพบเชื้อไข้หวัดใหญ่ หรือวินิจฉัยจากอาการและจากประวัติการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่) แพทย์จะพิจารณาให้ยาโอเซลทามีเวียร์เพื่อขจัดเชื้อไวรัส ช่วยให้อาการหายเร็วขึ้น แต่ถ้ามีอาการนานเกิน 48 ชั่วโมง ก็จะให้ยาบรรเทาตามอาการเท่านั้น เพราะการให้ยาต้านไวรัสไม่ได้ช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น
- ในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ (มีอาการปวดหัวคิ้วหรือโหนกแก้ม) หูชั้นกลางอักเสบ (มีอาการปวดหู หูอื้อ) เป็นต้น แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ (โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ เนื่องจากโรคนี้เกิดจากไวรัส ยาปฏิชีวนะซึ่งใช้ขจัดเชื้อแบคทีเรีย นอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้ว ยังอาจเกิดโทษจากผลข้างเคียงของยาได้อีกด้วย)
- ถ้ามีไข้เกิน 4 วัน หรือหลังให้ยาต้านไวรัสแล้วอาการไม่ดีขึ้นใน 48 ชั่วโมง หรือมีอาการเจ็บหน้าอกมาก หอบหรือหายใจเร็ว* หรือสงสัยปอดอักเสบ โดยเฉพาะถ้าพบในผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ ตรวจเลือด ตรวจเสมหะ เป็นต้น ถ้าพบว่าเป็นปอดอักเสบก็ให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่ตรวจพบ และรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล
- นอนพักมาก ๆ ห้ามตรากตรำงานหนัก
- ห้ามอาบน้ำเย็น
- ดื่มน้ำมาก ๆ
- ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเวลามีไข้สูง
- กินอาหารอ่อน (ข้าวต้ม โจ๊ก) ดื่มนม น้ำหวาน หรือน้ำผลไม้มาก ๆ
- ดูแลรักษาและใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ
ควรกลับไปพบแพทย์ เมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
- มีไข้เกิน 4 วัน ไข้สูงตลอดเวลา หรือมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย
- มีน้ำมูกหรือเสมหะสีเหลืองหรือเขียว
- มีอาการปวดไซนัส (บริเวณโหนกแก้ม หรือหัวคิ้ว) หรือปวดหู หูอื้อ
- เจ็บหน้าอกมาก หรือหายใจหอบเหนื่อย
- เบื่ออาหาร ดื่มน้ำได้น้อย อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดินมาก หรือตาเหลืองตัวเหลือง
- มีจุดแดงจ้ำเขียวตามตัว หรือมีเลือดออก หรือสงสัยเป็นไข้เลือดออก
- หลังกินยา มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
- มีความวิตกกังวล
1. ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งสามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ 3-4 สายพันธุ์ที่พบบ่อยในบ้านเรา ได้แก่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (H1N1 และ H3N2) และชนิดบี 1-2 สายพันธุ์ มักจะฉีดในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของเชื้อเหล่านี้
โดยทั่วไป ถ้าไม่มีการระบาดก็ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนแก่คนทั่วไป ยกเว้นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่จะเดินทางไปในถิ่นที่มีการระบาดของโรค ผู้ที่มีกิจกรรมจำเป็นที่ไม่อาจจะหยุดงานได้ (เช่น ตำรวจ นักแสดง นักกีฬา นักเดินทาง) ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปีที่ต้องกินแอสไพรินเป็นประจำ
การฉีดวัคซีนแต่ละครั้ง สามารถป้องกันได้นาน 1 ปี ถ้าจำเป็นควรฉีดปีละครั้งในช่วงก่อนเข้าฤดูฝน
2. หมั่นดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าตรากตรำงานหนักเกินไป ระวังรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะเวลาที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง ไม่ควรอาบน้ำหรือสระผมด้วยน้ำที่เย็นเกินไป โดยเฉพาะในเวลาที่มีอากาศเย็น
- หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด เช่น สถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า งานมหรสพ ห้องประชุม โรงพยาบาล เป็นต้น ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัย
- อยู่ห่างจากผู้ที่มีไข้ ไอ จาม หรือน้ำมูกไหล มากกว่า 1-2 เมตร
- หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่นาน 20 วินาที แล้วใช้กระดาษเช็ดให้แห้ง หรือชโลมมือด้วยแอลกอฮอล์ เจลแอลกอฮอล์ หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ (ที่มีแอลกอฮอล์เข้มข้นมากกว่าร้อยละ 70) แล้วปล่อยให้ระเหยแห้งเอง โดยไม่ต้องใช้กระดาษเช็ด
- หลีกเลี่ยงการใช้มือจับตามใบหน้า ขยี้ตา แคะไชจมูก ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ควรล้างมือให้สะอาดเสียก่อน
- อย่าเข้าใกล้หรือนอนรวมกับผู้ป่วย ถ้าจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ควรสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ หรือชโลมมือด้วยเจลแอลกอฮอล์
- อย่าใช้สิ่งของเครื่องใช้ (เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ เครื่องใช้ โทรศัพท์ ของเล่น เป็นต้น) ร่วมกับผู้ป่วย และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสมือผู้ป่วย
- ผู้ป่วยควรแยกตัวออกห่างจากผู้อื่น เวลาเข้าไปในที่ที่มีคนอยู่กันมาก ๆ ควรสวมหน้ากากอนามัย อย่านอนปะปนหรือคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น เวลาไอหรือจามควรใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชู หรือใช้ข้อศอกปิดปากและจมูก
5. ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยโรคนี้ หากมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ (เช่น ไข้ เจ็บคอ เสียงแหบ น้ำมูกไหล ไอ ท้องเดิน หายใจเหนื่อยหอบ) หรือทำการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจน (ATK) ด้วยตนเองให้ผลเป็นบวก ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว