อาจทำให้มีอาการปวดหลังเรื้อรัง กล้ามเนื้อสะโพกและขาเกร็งตัวและปวด อาการแขนขาเป็นอัมพาต ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล
ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน (Acute transverse myelitis)
ข้อมูลโดย รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ อดีตอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน (Acute transverse myelitis) ข้อมูลโรค พร้อมโปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้น
ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน (Acute transverse myelitis) อาการ สาเหตุ การป้องกันและรักษา พร้อมโปรแกรม “หมอประจำบ้าน” อัจฉริยะ Doctor at Home ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตัวเอง
ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน หมายถึง การอักเสบของเนื้อเยื่อประสาทตรงระดับใดระดับหนึ่งของไขสันหลัง ทำให้เกิดการขัดขวางการส่งทอดกระแสประสาท เป็นเหตุให้เกิดอาการอัมพาตอย่างฉับพลันของขาทั้ง 2 ข้าง (อัมพาตครึ่งล่าง) หรือแขนขาทั้ง 4 ข้าง (อัมพาตหมดทั้งแขนขา)
เป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่อาจเป็นรุนแรงถึงตาย หรือพิการตลอดชีวิตได้ พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ พบบ่อยในช่วงอายุ 10-19 ปี และ 30-39 ปี
สาเหตุ
ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ เชื่อว่าเป็นปฏิกิริยาภูมิต้านตนเองที่พบในโรคติดเชื้อ โรคภูมิต้านตนเอง มะเร็ง และการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ยังอาจเกี่ยวข้องกับการขาดเลือดไปเลี้ยงประสาทไขสันหลัง
โรคนี้มักเกิดขึ้นหลังการติดเชื้อไวรัส (เช่น เริม อีสุกอีใส งูสวัด หัดเยอรมัน ไวรัสเอนเทอโร เอชไอวี ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น) แบคทีเรีย (เช่น วัณโรค ซิฟิลิส ไมโคพลาสมา เป็นต้น) หรือหลังการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า
ส่วนน้อยอาจพบร่วมกับโรคภูมิต้านตนเอง (เช่น เอสแอลอี) มะเร็งบางชนิด และอาจเกิดจากภาวะไขสันหลังขาดเลือด เช่น หลอดเลือดอักเสบ (vasculitis) จากการฉีดเฮโรอีน ภาวะมีลิ่มเลือดในหลอดเลือดไขสันหลัง
อาการ
แรกเริ่มมีอาการชาและอ่อนแรงที่ปลายเท้าทั้ง 2 ข้าง ซึ่งค่อย ๆ ลุกลามขึ้นไปที่ขาทั้ง 2 ข้าง ในบางรายอาจมีอาการปวดหลังแบบฉับพลันนำมาก่อน
หลังจากนั้นขาจะอ่อนแรงลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งเป็นอัมพาต เดินไม่ได้ ถ่ายปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้ อาการเหล่านี้มักเป็นรุนแรงมากขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงถึงหลายวัน (โดยเฉลี่ยภายใน 24 ชั่วโมง)
ผู้ป่วยอาจมีอาการไข้ เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ปวดคอ ร่วมด้วย
น้อยรายที่การอักเสบจะเกิดที่ไขสันหลังระดับคอ ซึ่งทำให้แขนเป็นอัมพาต หรือหยุดหายใจเนื่องจากกล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาต
ในบางรายอาจมีอาการไข้และไอคล้ายไข้หวัด หรือเป็นโรคเยื่อตาขาวอักเสบจากเชื้อไวรัสนำมาก่อน
ภาวะแทรกซ้อน
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
ขา 2 ข้างเป็นอัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก ไม่มีความรู้สึกเจ็บ (เข็มแทงไม่เจ็บ) รีเฟล็กซ์ของข้อ (tendon reflex) ไม่มี
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการเอกซเรย์ เจาะหลัง ถ่ายภาพไขสันหลังด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และตรวจพิเศษอื่น ๆ
การรักษาโดยแพทย์
การรักษา ให้การรักษาตามอาการร่วมกับการทำกายภาพบำบัด และให้การรักษาโรคที่อาจพบร่วม (เช่น ซิฟิลิส วัณโรค ไมโคพลาสมา)
บางรายแพทย์อาจพิจารณาให้สเตียรอยด์ เช่น เพร็ดนิโซโลน เพื่อลดการอักเสบ
ผลการรักษา ไม่แน่นอน ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยอาจหายได้เป็นปกติ (ซึ่งจะเริ่มทุเลาภายใน 2-12 สัปดาห์และอาจใช้เวลานานถึง 2 ปีกว่าจะแข็งแรงเป็นปกติ) ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยอาจฟื้นได้ไม่เต็มที่ คือ ยังมีอาการอ่อนแรงหลงเหลืออยู่บ้าง และที่เหลือจะเป็นอัมพาตอย่างถาวร (พวกนี้อาการจะไม่ดีขึ้นเลยหลังมีอาการ 3-6 เดือนไปแล้ว) ซึ่งต้องให้การดูแลแบบเดียวกับอาการอัมพาตในผู้ป่วยที่ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ
ส่วนผู้ป่วยที่ทุเลาแล้วบางรายก็อาจมีอาการกำเริบได้อีก
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการชาและอ่อนแรงที่ปลายเท้าทั้ง 2 ข้าง ขาอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การป้องกัน
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากโรคนี้ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
ควรป้องกันไม่ให้โรคลุกลาม โดยการไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาแต่เนิ่น ๆ เมื่อสังเกตว่ามีอาการที่น่าสงสัย
ข้อแนะนำ
1. โรคนี้มักเกิดขึ้นเองอย่างฉับพลันโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน และถ้าเป็นไม่รุนแรง ก็มักจะฟื้นตัวได้เองเพียงแต่ให้การรักษาตามอาการและทำกายภาพบำบัด มักพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการเกิดขึ้นเร็วจะมีโอกาสฟื้นตัวได้ดี
2. อาการขาเป็นอัมพาตและชาทั้ง 2 ข้าง อาจมีสาเหตุได้หลายอย่าง (ตรวจอาการ "อัมพาต" ประกอบ) ถ้าเกิดขึ้นฉับพลันโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน และเริ่มมีอาการอ่อนแรงจากปลายเท้าขึ้นมาที่ขา นอกจากโรคนี้แล้วยังอาจเกิดจากกลุ่มอาการกิลเลนบาร์เร* ซึ่งมีสาเหตุและการรักษาที่แตกต่างกันไป
* กลุ่มอาการกิลเลนบาร์เร (Guillain Barré syndrome/acute idiopathic polyneuropathy) เกิดจากปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง (autoimmune reaction) ต่อปลอกหุ้มเส้นประสาท (myelin sheath) ส่วนปลายหลายเส้นทั่วร่างกาย ทำให้แขนขาอ่อนแรงและมีอาการเป็นเหน็บหรือชา กล้ามเนื้อตาและใบหน้าอ่อนแรง พูดลำบาก เคี้ยวและกลืนลำบาก หากเป็นรุนแรง อาจทำให้กล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาต เป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ บางรายอาจมีความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ (มีอาการชีพจรเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตต่ำหรือสูง กลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้ เป็นต้น) โรคนี้พบได้น้อย สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด ประมาณร้อยละ 60 เกิดหลังการติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น จากไวรัสไซโตเมกาโล (cytomegalovirus) ไวรัสเอปสไตน์บาร์/อีบีวี (Epstein-Barr virus/EBV) ไข้หวัดใหญ่ หรือหลังอาหารเป็นพิษจากเชื้อแคมไพโรแบกเตอร์เจจูนิ (ดูอาการอาหารเป็นพิษจากเชื้อโรค) ติดเชื้อเอชไอวี หรือหลังผ่าตัด เป็นต้น
ข้อมูลล่าสุด : 17 ก.ย. 2564
Smart Doctor© โปรแกรม "หมอประจำบ้าน" อัจฉริยะ
โปรดเลือกอาการที่เป็นสัญญาณของ "ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน (Acute transverse myelitis)" เพื่อตรวจอาการเบื้องต้น ก่อนไปพบแพทย์
Smart Doctor© โปรแกรม "หมอประจำบ้าน" อัจฉริยะ
โปรดเลือกอาการที่เป็นสัญญาณของ "ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน (Acute transverse myelitis)" เพื่อตรวจอาการเบื้องต้น ก่อนไปพบแพทย์