อาการที่แสดงถึงความรุนแรงของผู้ป่วยศีรษะได้รับบาดเจ็บ
- หมดสติ
- ชัก
- ปวดศีรษะรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
- อาเจียนรุนแรง หรืออาเจียนอย่างต่อเนื่อง
- กระสับกระส่าย หรือซึมอย่างต่อเนื่องมากกว่า 6 ชั่วโมง
- แขนขาชาหรืออ่อนแรง
- ทรงตัวไม่ได้ หรือเดินไม่ได้
- พูดอ้อแอ้ หรือพูดไม่ได้
- ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน หูตึง (ไม่ได้ยิน) จมูกไม่ได้กลิ่น หรือลิ้นไม่รู้รส
- หายใจลำบาก หรือมีอัตราการหายใจต่ำกว่าปกติ
- ชีพจรเต้นช้า และความดันโลหิตสูง
- คอแข็ง (ก้มคอไม่ลง)
- รูม่านตา 2 ข้างไม่เท่ากัน
- มีเลือดหรือน้ำใส ๆ (น้ำสมอง-ไขสันหลัง) ไหลออกทางจมูก ปาก หรือหู
- จดจำผู้คนหรือสิ่งรอบข้างไม่ได้
ถ้าเป็นรุนแรงอาจถึงตายได้ หรือไม่ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนในภายหลัง เช่น สมองพิการ แขนขาเป็นอัมพาต โรคลมชัก หูตึง หูหนวก ตามืดบอด พูดอ้อแอ้หรือพูดไม่ได้ สูญเสียการทรงตัว ความคิดสับสน ความจำเสื่อม บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง โรคกังวล โรคซึมเศร้า
บางรายอาจมีสภาพเป็น "เจ้าชายนิทรา" ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า "สภาพผัก (vegetative state)" คือ มีสภาพที่ไม่ได้หมดสติ มีสัญญาณชีพปกติ (หายใจได้ หัวใจเต้นเป็นปกติ) และมีชีวิตอยู่ได้ยาวนาน แต่ไม่สามารถรับรู้สิ่งแวดล้อม และสูญเสียความสามารถในการคิดและการตอบสนอง
สำหรับผู้ที่มีภาวะสมองได้รับการกระทบกระเทือน แม้ว่าจะมีอาการไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่ถ้าหากปล่อยให้เกิดขึ้นซ้ำซาก (เช่น เล่นกีฬาที่มีการปะทะกันเป็นประจำ) อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพาร์กินสัน โรคซึมเศร้า และภาวะสมองเสื่อมตอนอายุมากได้
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย
อาจตรวจพบอาการหัวโน รอยฟกช้ำที่หนังศีรษะ ศีรษะแตก หรืออาจไม่พบรอยบาดแผลที่ศีรษะชัดเจนก็ได้
ในรายที่สมองได้รับบาดเจ็บรุนแรง ก็อาจตรวจพบอาการไม่ค่อยรู้สึกตัวหรือหมดสติ แขนขาอ่อนแรง ตัวเกร็ง ชีพจรเต้นช้า หายใจตื้นขัด ความดันโลหิตสูง คอแข็ง รูม่านตา 2 ข้างไม่เท่ากัน (รูม่านตาข้างที่โตกว่า จะไม่หดลงเมื่อใช้ไฟส่อง)
บางรายอาจมีบาดแผลหรือการบาดเจ็บหลายแห่ง เช่น กระดูกแขนขาหัก บาดแผลที่ทรวงอก กระดูกสันหลังหัก เป็นต้น
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ตรวจเลือด เป็นต้น
นอกจากดูแลรักษาบาดแผลที่ศีรษะที่ตรวจพบแล้ว แพทย์จะให้การดูแลรักษาอาการบาดเจ็บที่สมอง ดังนี้
1. ถ้ามีอาการทางสมอง เช่น หมดสติ ปลุกไม่ค่อยตื่น เซื่องซึม ปวดศีรษะมากขึ้นทุกขณะ อาเจียนรุนแรง คอแข็ง เพ้อคลั่ง ชัก บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง แขนขาอ่อนแรง รูม่านตา 2 ข้างไม่เท่ากัน หรือมีเลือดหรือน้ำใส ๆ ออกจากจมูก ปาก หรือหู เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล แพทย์จะให้การรักษาตามอาการหรือภาวะผิดปกติที่พบ เช่น ให้เลือด ให้น้ำเกลือ ให้ออกซิเจนหรือใช้เครื่องช่วยหายใจ ยาลดไข้ ยาบรรเทาปวด ยากันชัก (ในรายที่มีอาการชัก)
ในรายที่พบว่ามีอาการสมองบวม (ซึ่งทำให้เกิดความดันในกะโหลกสูง มีอันตรายได้) อาจให้การรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัด
ถ้าตรวจพบว่ามีเลือดออกในสมองที่รุนแรง มักจะต้องทำการผ่าตัดสมองทันที
ในรายที่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด (เช่น ผู้ป่วยที่มีก้อนเลือดในสมองขนาดเล็ก) หรือในรายที่ผ่าตัดไม่ได้ (เช่น สมองฟกช้ำหรือฉีกขาด) ก็จะให้การรักษาแบบประคับประคอง ป้องกันภาวะแทรกซ้อน ฟื้นฟูสภาพด้วยการทำกายภาพบำบัด
2. ถ้าผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดี และไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีประวัติหมดสติอยู่ชั่วขณะหรือไม่ก็ตาม แพทย์อาจรับตัวไว้สังเกตอาการในโรงพยาบาลสักระยะหนึ่ง หรือไม่ก็อาจแนะนำให้ผู้ป่วยกลับไปบ้าน และเฝ้าสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ถ้าพบมีอาการทางสมองอย่างใดอย่างหนึ่งแทรกซ้อนตามมาในภายหลัง (อาจหลังบาดเจ็บนานเป็นวัน ๆ เป็นสัปดาห์ ๆ หรือเป็นเดือน ๆ) ก็ควรพาผู้ป่วยกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที
ผลการรักษา ขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรง พวกที่มีอาการไม่มาก (เช่น สมองได้รับการกระทบกระเทือน สมองฟกช้ำหรือฉีกขาดเล็กน้อย) มักจะหายได้ภายในเวลาไม่นาน อาจเป็นวัน ๆ หรือเป็นสัปดาห์ ๆ
พวกที่มีอาการรุนแรง (เช่น สมองฟกช้ำหรือฉีกขาดที่รุนแรง มีก้อนเลือดในกะโหลกศีรษะ) ถ้าสมองไม่ได้ถูกทำลายมากและได้รับการรักษาได้ถูกต้องทันการ ก็มีโอกาสรอดชีวิตสูง และหายเป็นปกติหรือเกือบปกติได้ แต่บางรายอาจมีความพิการทางสมองบางส่วนอย่างถาวรได้
แต่ถ้าสมองได้รับผลกระทบรุนแรง หรือได้รับการรักษาช้าเกินไป ก็มีโอกาสเสียชีวิตสูง หรืออาจมีความพิการที่รุนแรง เช่น อัมพาต พูดไม่ได้ หูหนวก สมองพิการ เป็นต้น บางรายอาจมีสภาพเป็น "เจ้าชายนิทรา"
เมื่อมีการบาดเจ็บที่ศีรษะ ควรดูแลตนเองดังนี้
1. ไม่ว่าจะพบมีบาดแผลที่ศีรษะหรือไม่ หรือมีอาการทางสมองหรือไม่ ควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อตรวจดูอาการและให้การดูแลรักษาตามความเหมาะสม
2. ถ้ามีอาการรุนแรง เช่น หมดสติ ชัก ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนรุนแรง แขนขาชาหรืออ่อนแรง หายใจลำบาก มีเลือดหรือน้ำใส ๆ ออกจากจมูก ปาก หรือหู เป็นต้น ควรให้การปฐมพยาบาล และพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลด่วน
3. ถ้าแพทย์ตรวจไม่พบอาการผิดปกติทางสมอง และให้ผู้ป่วยกลับไปบ้าน ควรพักผ่อน หยุดทำกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อสมอง (เช่น การเล่นกีฬา) ปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำ และเฝ้าสังเกตดูอาการอย่างใกล้ชิด ถ้ามีอาการผิดปกติตามมา เช่น ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก เซื่องซึมลง แขนขาชาหรืออ่อนแรง บ้านหมุน มีเสียงในหู (หูอื้อ) เห็นภาพซ้อน มีความรู้สึกไวต่อแสงหรือเสียง จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รู้รส เป็นลม เป็นต้น ควรกลับไปพบแพทย์ทันที
4. ถ้าแพทย์รับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล ควรดูแลรักษาตามที่แพทย์เห็นว่าเหมาะสม (เช่น การผ่าตัดสมอง) และเมื่อแพทย์ให้ออกจากโรงพยาบาลกลับไปพักฟื้นที่บ้าน ควรปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน เซื่องซึมลง ชัก แขนขาชาหรืออ่อนแรง เป็นต้น
- บาดแผล (ที่เกิดจากการบาดเจ็บหรือการผ่าตัด) มีการอักเสบ
- ขาดยา หรือยาหาย
- ถ้ากินยา (ที่แพทย์สั่งให้กลับมากินที่บ้าน) แล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
หาทางป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่อาจทำให้ศีรษะได้รับบาดเจ็บที่สำคัญ เช่น
- ในการขับขี่รถ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือกินยาที่ทำให้ง่วงนอนทั้งก่อนและขณะขับขี่รถ คาดเข็มขัดนิรภัย/สวมหมวกนิรภัย และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด
- ใช้อุปกรณ์ป้องกันศีรษะ ขณะขี่จักรยาน ขี่ม้า เล่นกีฬา หรือทำงานที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่ศีรษะ
- ระมัดระวังไม่ให้หกล้ม ตกจากที่สูงหรือตกบันได โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ
- จัดสภาพแวดล้อมภายในบ้าน และสนามเด็กเล่นให้มีความปลอดภัย
- หลีกเลี่ยงการปีนขึ้นที่สูง หากเลี่ยงไม่ได้ก็ควรทำด้วยความระมัดระวัง
- หลีกเลี่ยงการเดิน วิ่ง หรือขี่จักรยานในบริเวณที่มีพื้นผิวที่ลื่น หรือขรุขระ หรือมีลักษณะต่างระดับ
- ไม่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาขณะเจ็บป่วยหรือร่างกายอ่อนล้า
- ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้ง่วงนอนในช่วงกลางวัน หมั่นตรวจวัดสายตาและปรับแว่นที่ใช้ให้เหมาะ หมั่นบริหารร่างกายให้แข็งแรง และเวลาขึ้นลงบันไดก็ระวังอย่าเผลอสติ และใช้มือเกาะราวบันไดให้มั่นคง
- เฝ้าระวังเด็กเล็กขณะวิ่งเล่น ปีนป่าย หรือขึ้นลงบันได
1. ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะทุกราย แม้จะไม่มีบาดแผลให้เห็น หรือมีเพียงบาดแผลเล็กน้อยที่ศีรษะ หรือรู้สึกสบายดีตั้งแต่แรก ก็ไม่ควรชะล่าใจว่าไม่เป็นไร ควรปรึกษาแพทย์ และเฝ้าสังเกตอาการทางสมองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 24 ชั่วโมงแรก และในสัปดาห์แรก ๆ หลังได้รับบาดเจ็บ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่กินยาต้านเกล็ดเลือด (เช่น แอสไพริน) หรือสารกันเลือดเป็นลิ่ม (เช่น วาร์ฟาริน) ในการรักษาโรคบางอย่าง (เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด) หากมีเลือดออกในสมอง มีโอกาสเกิดเลือดออกที่รุนแรงเป็นอันตรายได้ เนื่องเพราะยาเหล่านี้ทำให้เลือดหยุดยาก ดังนั้นควรระมัดระวังตัวไม่ให้เกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะ หากมีการบาดเจ็บที่ศีรษะ แม้ไม่มีอาการผิดปกติก็ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อจะได้รับการดูแลรักษาได้ทันการ
2. บ่อยครั้งที่พบว่า ผู้ป่วยที่ศีรษะได้รับบาดเจ็บและเกิดมีก้อนเลือดใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกแบบเรื้อรัง ซึ่งมักจะไม่มีอาการผิดปกติตั้งแต่แรก และไม่ได้ไปพบแพทย์หลังได้บาดเจ็บที่ศีรษะ ด้วยรู้สึกว่าไม่เป็นอะไรมาก เมื่อปรากฏอาการหลังบาดเจ็บนานเป็นสัปดาห์ ๆ หรือเป็นเดือน ๆ ผู้ป่วย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ) จะจำเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้ หากอาการทางสมองไม่ได้เด่นชัด เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์ไม่ได้ประวัติการบาดเจ็บที่ศีรษะ อาจทำให้วินิจฉัยโรคได้ล่าช้าเกินไป ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุ ผู้ป่วยควรจดบันทึกไว้หรือแจ้งให้คนใกล้ชิดทราบ และแจ้งให้แพทย์ทราบ แพทย์ก็จะได้ข้อมูลที่สำคัญนี้ ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและการรักษาได้ทันท่วงที
3. ผู้ป่วยที่มีภาวะบาดเจ็บที่สมองบางราย หลังผ่าตัดสมองจนปลอดภัยและร่างกายฟื้นตัวได้ดี อาจมีโรคลมชักแทรกซ้อนตามมา ซึ่งจำเป็นต้องกินยากันชักควบคุมอาการตลอดไป