โรคสมาธิสั้น คืออะไร? มารู้จักกับโรคสมาธิสั้นในเด็กและผู้ใหญ่กัน

โรคสมาธิสั้น คืออะไร? มารู้จักกับโรคสมาธิสั้นในเด็กและผู้ใหญ่กัน

 

โดย ตุลาพร อาชานานุภาพ ที่ปรึกษาทางจิตวิทยา (ปริญญาโทจิตวิทยาการปรึกษา สาขาการบำบัดคู่สมรสและครอบครัว University of San Francisco)

 

คุณเคยมีอาการเหล่านี้เป็นประจำบ้างหรือไม่
 

  • บริหารเวลาไม่ค่อยได้ รู้สึกว่าการจัดลำดับความสำคัญเป็นเรื่องยาก ส่งงานไม่ทันเวลา มาสายเป็นประจำ
  • วอกแวกง่าย มีปัญหาการฟัง พลาดรายละเอียดสำคัญของเรื่องที่ฟัง 
  • เบื่อง่าย ทำสิ่งที่เริ่มต้นไว้ไม่สำเร็จ
  • ขาดความรอบคอบ
  • เสียสมาธิได้ง่ายในเรื่องที่ไม่สนใจ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ชอบเมื่อไหร่ ก็จะจดจ่อระดับลึก (hyperfocus) อยู่หลายชั่วโมงติดต่อกันจนลืมวันเวลา บางทีเวลามีคนมาพูดด้วยก็จะไม่ค่อยฟัง
  • ไม่ค่อยมีระเบียบ 
  • ขี้ลืม ของหายบ่อยหรือหาของไม่เจอ
  • ทำก่อนคิด
  • ฝันกลางวันบ่อย ๆ
  • มีความอดทนต่ำ อดทนต่อการเข้าแถวรออะไรนาน ๆ ไม่ค่อยได้
  • อารมณ์แปรปรวนบ่อย และอาจระเบิดอารมณ์รุนแรงกว่าคนทั่วไป มีปัญหาในการรับมือกับความเครียด  

 

หรือหากคุณเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง นอกจากสังเกตเห็นลูกของคุณมีอาการข้างต้นแล้ว ลูกของคุณยังมีอาการต่อไปนี้เพิ่มเติมหรือไม่

 

  • ซน ไม่อยู่นิ่ง ชอบปีนป่าย หรือกระโดดโลดเต้นในเวลาที่ไม่เหมาะสม
  • ดื้อกว่าเด็กทั่วไป
  • เข้ากับเพื่อนไม่ค่อยได้
  • ก้าวร้าว อารมณ์รุนแรงกว่าที่ควรจะเป็น 

 

หากคำตอบส่วนใหญ่ของคุณคือใช่ คุณหรือลูกของคุณอาจเป็นโรคสมาธิสั้น (Attention-Deficit/Hyperactivity Disorder “ADHD”) ซึ่งสามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

 

โรคสมาธิสั้นนับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญยิ่งเพราะมีความชุกของโรคสูง กล่าวคือ พบผู้ป่วยโรคนี้จำนวนมาก (โรคสมาธิสั้นทั่วโลกในเด็กและวัยรุ่นอายุ 5-19 ปีอยู่ที่ประมาณ 129 ล้านคน และในผู้ใหญ่ประมาณ 366 ล้านคนจากสถิติในปี ค.ศ. 2020 สำหรับประเทศไทยพบประมาณร้อยละ 5-10 ของประชากร)

 

แม้โรคสมาธิสั้นจะเป็นโรคที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียน การทำงาน ครอบครัว เพื่อนฝูง และการใช้ชีวิตประจำวัน และยังเป็นโรคที่มีอาการต่อเนื่องไปตลอดชีวิต

 

แต่หากผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลือและการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญก็จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น และลดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตได้

 

1. โรคสมาธิสั้น คืออะไร

 

“โรคสมาธิสั้น” เป็นโรคทางพฤติกรรมที่เกิดจากระบบประสาท (Neurobehavioral disorders) ที่พบได้บ่อยที่สุดในวัยเด็กโรคหนึ่ง เกิดจากสมองส่วนหน้า (frontal lobes) ที่อยู่บริเวณหน้าผากไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ หรือมีประสิทธิภาพลดลง

 

นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการมีสารสื่อประสาทที่ชื่อว่าโดพามีนและนอร์เอพิเนฟรีนน้อยกว่าปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการควบคุมสมาธิ ความยับยั้งชั่งใจ อารมณ์ และการแสดงออกทางพฤติกรรม มีปัญหาในการวางแผน และสนใจเป้าหมายระยะสั้นมากกว่าระยะยาว

 

อาการหลักของโรคสมาธิสั้นแบ่งได้เป็น 3 ด้านด้วยกันคือ อาการขาดสมาธิที่ต่อเนื่อง (inattention) อาการอยู่ไม่นิ่ง (hyperactivity) และอาการหุนหันพลันแล่น (impulsivity) และตัวโรคสามารถแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบย่อยตามอาการที่แสดงเป็นหลัก ได้แก่
 

1) แบบมีอาการขาดสมาธิที่ต่อเนื่องเป็นหลัก
2) แบบมีอาการอยู่ไม่นิ่งและหุนหันพลันแล่นเป็นหลัก 
3) แบบร่วมกันทั้งสามอาการ (ขาดสมาธิที่ต่อเนื่อง อยู่ไม่นิ่งและหุนหันพลันแล่น)

 

ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นแต่ละคนจะมีระดับความรุนแรงของอาการที่ต่างกัน ส่วนมากโรคนี้จะตรวจพบในวัยเด็กและมีอาการต่อเนื่องไปจนโต แต่ก็สามารถเพิ่งตรวจพบในวัยผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นในวัยเด็กได้เช่นกัน


จากการศึกษาวิจัยพบว่าปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคสมาธิสั้นคือ“พันธุกรรม”หมายถึงมีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคสมาธิสั้น นอกจากนี้ อาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น ได้รับบาดเจ็บบริเวณสมอง คุณแม่สัมผัสสารปนเปื้อน เช่น ตะกั่ว ระหว่างตั้งครรภ์ หรือเด็กได้รับสารปนเปื้อนตั้งแต่อายุน้อย คุณแม่ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ คลอดก่อนกำหนด หรือมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางสมองของเด็ก

 

2. อาการของโรคสมาธิสั้นในเด็ก

 

เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมีอาการอยู่ 3 รูปแบบดังที่กล่าวไว้ในข้อ1 ซึ่งอาการอาจส่งผลกระทบต่อการเข้าสังคมของเด็กทั้งในโรงเรียนและที่บ้าน

 

หากผู้ปกครองสังเกตเห็นอาการดังกล่าวจากพฤติกรรมต่าง ๆ  ที่ได้ยกตัวอย่างไว้ในบทนำข้างต้นแล้วสงสัยว่าลูกหลานอาจจะเป็นโรคสมาธิสั้น ผู้ปกครองควรพาลูกหลานไปพบจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัด เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดและรับการรักษา เพราะเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น มีแนวโน้มจะมีปัญหาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การเรียนรู้ พฤติกรรมดื้อและต่อต้าน รวมถึงปัญหาด้านอารมณ์ ซึ่งหากได้รับการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว ก็จะสามารถปรับพฤติกรรมต่าง ๆ ให้ดีขึ้นและลดปัญหาในด้านต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน ความสัมพันธ์กับผู้ปกครอง การเข้ากับเพื่อนและผู้อื่น ทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น

 

3. อาการของโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่

 

เด็กที่เป็นสมาธิสั้นนั้น หลายคนเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังมีอาการสมาธิสั้นอยู่      
 

สำหรับผู้ใหญ่ที่เพิ่งได้รับการตรวจพบว่าเป็นโรคสมาธิสั้นโดยที่ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยในวัยเด็ก มักจะพบว่าที่จริงแล้วในวัยเด็กก็เป็นโรคสมาธิสั้นเช่นกันเพียงแต่อาจจะไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคสมาธิสั้น ซึ่งสาเหตุก็มีได้หลายประการ เช่น เพราะไม่มีโอกาสได้รับการตรวจจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ หรือบางคนในวัยเด็กนั้นอาการสมาธิสั้นอาจจะไม่ได้เป็นมากในระดับที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนหรือความสัมพันธ์จนถึงขั้นที่ต้องไปพบผู้เชี่ยวชาญ เพราะในวัยเด็กนั้น ส่วนมากแล้วการใช้ชีวิตจะมีตารางเวลาบังคับที่ชัดเจน และมีผู้ปกครองที่คอยดูแลตักเตือนให้ปฏิบัติตามตารางเวลาและความรับผิดชอบนั้น ๆ แต่เมื่อเริ่มเติบโตขึ้น เข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย หรือเริ่มทำงาน ก็เริ่มได้อิสระมากขึ้นในการดูแลจัดการเวลาด้วยตัวเอง ซึ่งบางคนก็ไม่สามารถแบ่งเวลาในด้านต่าง ๆ ได้เอง ประกอบกับความเครียดที่เริ่มมากขึ้นจากความรับผิดชอบต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นทั้งในด้านการงาน การเรียน หรือครอบครัว ทำให้ปัญหาจากโรคสมาธิสั้นชัดขึ้นและส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิต จนต้องได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ผู้ป่วยจึงมาพบว่าตัวเองเป็นโรคสมาธิสั้น

 

ทั้งนี้สมาธิสั้นในผู้ใหญ่อาจจะตรวจวินิจฉัยได้ยากเพราะอาการบางอย่างของโรคสมาธิสั้นคล้ายกับอาการที่เกิดจากโรคอื่น ๆ ที่พบได้ในผู้ใหญ่ เช่น โรควิตกกังวล (Anxiety) หรือโรคทางอารมณ์ (Mooddisorders)หรือในบางรายก็อาจเป็นทั้งโรคสมาธิสั้นและโรควิตกกังวลหรือโรคทางอารมณ์ร่วมกันได้
 

นอกจากนี้แม้อาการสมาธิสั้นที่พบในผู้ใหญ่จะมีอาการอยู่3รูปแบบเหมือนกับอาการในเด็กดังที่กล่าวไว้ในข้อ 1 แต่อาการสมาธิสั้นในผู้ใหญ่จะแสดงออกให้เห็นน้อยกว่าในเด็ก โดยเฉพาะอาการอยู่ไม่นิ่งก็จะไม่แสดงออกชัดเจนแบบอาการอยู่ไม่นิ่งในเด็ก ทำให้อาการในผู้ใหญ่นั้นสังเกตได้ยากกว่า โดยจะเห็นได้ว่าอาการที่ยกตัวอย่างในบทนำจะหนักไปทางหุนหันพลันแล่น ใจร้อน กระวนกระวาย หรือควบคุมสมาธิจดจ่อไม่ได้ รวมทั้งอาการเสียสมาธิได้ง่าย หรือจดจ่อมากเกินไป (hyperfocus)

 

4. สมาธิสั้นแค่ไหนจึงควรไปพบผู้เชี่ยวชาญ?

 

สำหรับผู้ป่วยสมาธิสั้นในเด็ก สามารถได้รับการวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญได้ในเด็กตั้งแต่ 4 ขวบเป็นต้นไป และหากพบว่ามีอาการสมาธิสั้นที่รบกวนต่อการดำเนินชีวิต การเรียน ความสัมพันธ์ ก็ควรได้รับการรักษาและปรับพฤติกรรมให้ดีขึ้น ให้สามารถควบคุมอาการ พฤติกรรมและอารมณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมและดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขได้

 

สำหรับผู้ป่วยสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ ในบางช่วงเวลาของชีวิต อาการของโรคสมาธิสั้นก็อาจจะมีมากขึ้น อาจเพราะเรามีความเครียดสะสมที่มากเกินไป หรือความกดดันจากปัญหาต่าง ๆ ซึ่งหากอาการเหล่านั้นรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีปัญหาต่อการทำงาน ความสัมพันธ์ อารมณ์และความปกติสุข ก็ถือเป็นสัญญาณให้ไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัยและขอคำปรึกษาเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้น เพราะหากผู้ป่วยไม่รู้วิธีการจัดการกับอาการของตนอย่างถูกต้อง อาจทำให้มีปัญหากับคนใกล้ตัว ซึ่งนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือปัญหาการใช้สารเสพติด ในขณะเดียวกัน ถึงแม้ผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้น แต่ถ้าอาการไม่ได้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือสามารถควบคุมอาการได้ ก็ไม่จำเป็นต้องไปพบผู้เชี่ยวชาญ

 

5. การรักษาโรคสมาธิสั้นในเด็ก

 

การรักษาโรคสมาธิสั้นในเด็กทำได้โดยการใช้พฤติกรรมบำบัด รวมถึงให้คำแนะนำผู้ปกครอง สำหรับดูแลเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น และอาจต้องใช้ยารักษาเพื่อปรับการทำงานของสมองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

การรักษาโรคสมาธิสั้นในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ควรใช้พฤติกรรมบำบัดเป็นอันดับแรก ถ้าไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรและยังมีอาการระดับปานกลางหรือมากและกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันถึงจะใช้ยา
 

สำหรับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ควรใช้พฤติกรรมบำบัดร่วมกับการใช้ยา นักบำบัดจะคอยช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะทางสังคมและอารมณ์อย่างเหมาะสม รวมถึงให้คำแนะนำผู้ปกครองเกี่ยวกับวิธีดูแลเด็กสมาธิสั้นอย่างถูกต้อง ให้เขาเติบโตขึ้นโดยปราศจากความรู้สึกแปลกแยกจากสังคม

 

6. การรักษาโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่

 

นอกจากการรักษาด้วยยาที่จะช่วยปรับการทำงานของสมองแล้ว ยังควรใช้การรักษาทางจิตวิทยาร่วมด้วย เช่น ปรับมุมมองการใช้ชีวิต ให้มองเห็นคุณค่าของตัวเอง ปรับพฤติกรรม และฝึกทักษะการเข้าสังคม นอกจากนั้นยังต้องปรับมุมมองของคนรอบตัวผู้ป่วย ให้เข้าใจว่าอาการไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของผู้ป่วย และหากได้รับความรักและความเข้าใจที่เพียงพอ ผู้ป่วยก็จะสามารถปรับตัวให้ดำเนินชีวิตในสังคมได้ นอกจากนั้น การปรับกิจวัตรและสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เข้ากับธรรมชาติของโรคก็สามารถช่วยได้ อย่างการแบ่งงานใหญ่ออกเป็นงานย่อย ๆ ที่สามารถทำเสร็จได้ในระยะสั้น หรือวางตะกร้าเก็บของไว้ในจุดที่เดินผ่าน (ซึ่งช่วยให้มองเห็นง่าย และกระตุ้นไม่ให้ลืมที่จะนำของมาเก็บ) เป็นต้น

 

 

สรุป

 

โรคสมาธิสั้น เป็นโรคที่พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยในหลาย ๆ ด้าน ถึงแม้ว่าโรคนี้จะรักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่ถ้าได้รับการรักษา รวมถึงคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่เนิ่น ๆ และมีคนรอบข้างที่เข้าใจและคอยช่วยเหลือ ผู้ป่วยก็สามารถปรับตัวและใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นและอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข

 

สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องสุขภาพ สามารถตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ที่ Smart Doctor โปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้นอัจฉริยะ จาก Doctor at Home

ข้อมูลล่าสุด : 31 ต.ค. 2566