1. ถ้าพบผู้ป่วยที่ยังไม่ได้ให้การปฐมพยาบาล ก็จะทำการปฐมพยาบาล และตัดเอาเสื้อผ้าที่อาจมีเข็มพิษที่ติดอยู่ทิ้งในถังขยะ เพื่อลดการรับพิษเพิ่ม
2. ถ้าผู้ป่วยหมดสติ ไม่หายใจ หรือไม่มีชีพจร ก็จะทำการฟื้นคืนชีพ (CPR) ทันที หรือถ้ามีภาวะช็อกจากการแพ้ (anaphylactic shock) แพทย์จะฉีดอะดรีนาลิน ยาแก้แพ้ และไฮโดรคอร์ติโซน แล้วรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล
3. ถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อย คือมีเพียงอาการเจ็บปวด แสบร้อน คัน ผื่นแดง หรือตุ่มน้ำพองเล็กน้อย ก็จะทำแผลแบบแผลสดหรือแผลน้ำร้อนลวก (โดยไม่ปิดทับแผลด้วยพลาสเตอร์โดยตรง หรือปิดหรือพันแผลจนแน่น) และให้การรักษาตามอาการ ดังนี้
- ให้ยาพาราเซตามอล หรือยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน)
- ถ้าปวดมากให้ใช้ยาชา (เช่น ลิโดเคน) ชนิดเจลทา หรือชนิดสเปรย์พ่น หากไม่ได้ผลอาจต้องฉีดมอร์ฟีนระงับปวด
- ให้กินยาแก้แพ้-คลอร์เฟนิรามีน ถ้ามีรานิทิดีน (ranitidine) ก็ให้ยานี้ร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยเสริมฤทธิ์คลอร์เฟนิรามีน
- ฉีดยาป้องกันบาดทะยัก (Tetanus toxoid) ตามข้อบ่งขี้
- ถ้าสงสัยแผลมีการติดเชื้อ ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น โคอะม็อกซิคลาฟ สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเป็นโรคตับ ให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อกลุ่ม Vibrio spp. เช่น ดอกซีไซคลีน หรือ กลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (เช่น นอร์ฟล็อกซาซิน, ไซโพรฟล็อกซาซิน)
- สังเกตอาการประมาณ 1 ชั่วโมง ถ้าแผลขนาดเล็กน้อย มีอาการปวดไม่รุนแรง สัญญาณชีพเป็นปกติ ไม่มีอาการผิดปกติของระบบต่าง ๆ ก็จะให้คำแนะนำในการดูแลตนเอง ให้ผู้ป่วยกลับบ้านและนัดมาติดตามดูอาการ
4. ถ้าสัมผัสถูกตา ให้ล้างตาด้วยด้วยน้ำเกลือนอร์มัล นาน 15-30 นาที และควรปรึกษาจักษุแพทย์ ถ้ามีอาการปวดตา ตามัว ตาแดง ตาไม่สู้แสง หรือสงสัยเกิดแผลกระจกตา
5. ถ้ามีอาการปวดรุนแรง แผลมีลักษณะรุนแรงหรือครอบคลุมพื้นที่ผิวมาก หรือมีอาการผิดปกติของระบบต่าง ๆ (เช่น หายใจลำบาก หายใจเร็ว ชีพจรเต้นผิดจังหวะหรือเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง เจ็บหรือแน่นหน้าอก ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเกร็ง เป็นตะคริว เท้าบวม ปัสสาวะออกน้อย หรือเป็นสีดำหรือสีโคล่า เป็นต้น) แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล
6. ในกรณีรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล แพทย์จะให้การรักษาดังนี้
(1) ในรายที่มีอาการไม่รู้สึกตัว หรือหายใจลำบาก แพทย์จะใส่ท่อช่วยหายใจ ใช้เครื่องช่วยหาย ให้ออกซิเจน ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
(2) ประเมินความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อน ด้วยการตรวจร่างกายและทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม (เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ) และให้การแก้ไข อาทิ
- ถ้ามีอาการปวดรุนแรงให้ยามอร์ฟีน และยากล่อมประสาทกลุ่มเบนโซไดอะซีพีนส์ (เช่น ไดอะซีแพม)
- ให้ยารักษาภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤต เช่น ฉีดยา nitroglycerine, nicardipine หรือ magnesium sulfate ทางหลอดเลือดดำ
- รักษาภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ภาวะช็อก ปอดบวมน้ำ ไตวายเฉียบพลัน ภาวะกล้ามเนื้อสลาย ภาวะเนื้อเน่าตายของปลายมือหรือปลายเท้า เป็นต้น
ผลการรักษา ผู้ป่วยส่วนใหญ่โดนแมงกะพรุนไฟแท้ ซึ่งมีพิษน้อยและมีอาการเพียงเล็กน้อย การปฐมพยาบาลและการรักษาตามอาการ อาการมักจะทุเลาภายในไม่กี่ชั่วโมง ส่วนรอยผื่นอาจใช้เวลานานเป็นสัปดาห์ ๆ กว่าจะหายเป็นปกติ
สำหรับผู้ที่โดนพิษร้ายแรงและมีอาการรุนแรง หากได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงทีก็มักจะหายและปลอดภัยได้เป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นบางรายที่มีแผลติดเชื้อหรือเรื้อรัง ก็อาจเกิดแผลปูดขนาดใหญ่ (คีลอยด์) ตามมาได้ มีเพียงส่วนน้อย (ที่โดนพิษแมงกะพรุนกล่อง) จะเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่นาที