ก้อนนิ่วที่เกิดขึ้นในไต ประกอบด้วยหินปูน (แคลเซียม) กับสารเคมีอื่น ๆ เช่น ออกซาเลต กรดยูริก เป็นต้น การเกิดนิ่วจึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะที่มีแคลเซียมในปัสสาวะมากผิดปกติ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะการกินอาหารที่มีแคลเซียมสูง การดื่มนมมาก ๆ หรือมีภาวะผิดปกติอื่น ๆ (เช่น ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกิน ซึ่งทำให้มีแคลเซียมในเลือดสูง)
นอกจากนี้ ยังพบเป็นโรคแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคเกาต์ ซึ่งมีการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ
บางกรณีอาจพบเป็นผลข้างเคียงของยา เช่น ยาต้านไวรัสเอดส์-อินดินาเวียร์ (indinavir) ยาขับปัสสาวะฟูโรซีไมด์ ยาแก้ลมชัก-โทพิราเมต (topiramate)
ส่วนกลไกของการเกิดนิ่วนั้น ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่ามีปัจจัยร่วมกันหลายอย่างด้วยกัน เช่น การอยู่ในเขตร้อนที่ร่างกายสูญเสียเหงื่อง่าย (แล้วดื่มน้ำน้อย ทำให้ปัสสาวะมีปริมาณแคลเซียมเข้มข้น) การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ความผิดปกติของไต เป็นต้น
ผู้ที่ชอบกินอาหารที่มีสารออกซาเลตสูง (ดู "โรคนิ่วกระเพาะปัสสาวะ") หรือกินวิตามินซีขนาดสูง ๆ (ซึ่งจะกลายเป็นสารออกซาเลต) ก็อาจเป็นนิ่วได้มากกว่าคนปกติ
ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดเอวปวดหลังข้างใดข้างหนึ่ง ลักษณะปวดแบบเสียด ๆ หรือปวดบิดเป็นพัก ๆ อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะอาจมีลักษณะขุ่นแดง หรือมีเม็ดทราย
ถ้าก้อนนิ่วมีขนาดเล็ก อาจตกลงมาที่ท่อไต ทำให้เกิดอาการปวดบิดในท้องรุนแรง (ดู "โรคนิ่วท่อไต")
บางรายอาจไม่มีอาการแสดงเลยก็ได้ และอาจตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพด้วยสาเหตุอื่น
อาจทำให้เกิดการติดเชื้อกลายเป็นกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน และถ้าปล่อยไว้นาน ๆ มีการติดเชื้อบ่อย ๆ ก็ทำให้เนื้อไตเสีย กลายเป็นไตวายเรื้อรังได้
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจปัสสาวะ (พบมีเม็ดเลือดแดงจำนวนมาก) ตรวจเลือด เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การถ่ายภาพรังสีไตด้วยการฉีดสารทึบรังสี (intravenous pyelogram/IVP) บางรายอาจนำปัสสาวะไปวิเคราะห์ดูสารที่เป็นปัจจัยของการเกิดนิ่ว
นอกจากแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
- ถ้ามีอาการปวดให้ยาแก้ปวด หรือแอนติสปาสโมดิก
- ถ้ามีการติดเชื้อ ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน โคไตรม็อกซาโซล โอฟล็อกซาซิน หรือไซโพรฟล็อกซาซิน
- ในรายที่มีสาเหตุชัดเจน ควรจะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น ให้ยารักษาโรคเกาต์ในรายที่เป็นโรคเกาต์, ถ้าเกิดจากต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกิน ก็ทำการแก้ไขด้วยยาหรือการผ่าตัด เป็นต้น
- ถ้านิ่วก้อนเล็กอาจหลุดออกมาได้เอง หรืออาจรักษาด้วยการใช้กล้องส่อง (ureteroscope) สอดใส่ผ่านทางท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ ขึ้นไปตามท่อไต แล้วใช้เครื่องมือในการนำเอานิ่วออกมา หรือทำให้นิ่วแตกละเอียดแล้วหลุดออกมากับปัสสาวะ แพทย์อาจใส่หลอดลวดตาข่าย (stent) ถ่างขยายค้างไว้ในท่อไต เพื่อให้ปัสสาวะไหลออกได้สะดวก
- ถ้าก้อนใหญ่ก็จะทำการผ่าตัดเอานิ่วออก หรือใช้เครื่องสลายนิ่ว (extracorporeal shock wave lithotripsy/ESWL)
ผลการรักษา เมื่อเอานิ่วออกมาได้ก็จะหายเป็นปกติ แต่บางรายอาจเกิดนิ่วก้อนใหม่ในเวลาต่อมาก็จะให้การรักษาใหม่ ในรายที่เป็นนิ่วไตแล้วปล่อยให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ก็จะมีความยุ่งยากในการรักษาตามมา
หากสงสัย เช่น มีอาการปวดเอวปวดหลังข้างใดข้างหนึ่ง ปัสสาวะมีลักษณะขุ่นแดง หรือมีเม็ดทราย ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นนิ่วไต ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
- มีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดสีข้าง ปัสสาวะขุ่น
- กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
1. ดื่มน้ำมาก ๆ ประมาณวันละ 8-12 แก้ว (2-3 ลิตร) ระวังอย่าให้ร่างกายขาดน้ำ
2. หลีกเลี่ยงการกินวิตามินซีขนาดสูงเป็นประจำ
3. ลดการกินพืชผักที่มีสารออกซาเลตสูง
4. บริโภคเนื้อสัตว์และอาหารที่มีแคลเซียมให้พอเพียง อย่าให้มากเกิน
5. ถ้าเป็นโรคเกาต์ ควรรักษาอย่างจริงจัง และควบคุมกรดยูริกให้อยู่ในระดับปกติ
โรคนี้แม้จะไม่มีอาการแสดง ก็ควรจะรักษาอย่างจริงจัง และเมื่อรักษาหายแล้วควรป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำ โดยดื่มน้ำวันละ 2-3 ลิตร ดื่มน้ำมะนาววันละ 1 แก้ว (เพิ่มสารซิเทรตในปัสสาวะ ช่วยยับยั้งการเกิดนิ่ว) ลดอาหารที่มีกรดยูริก แคลเซียมและออกซาเลตสูง