เกิดจากการติดเชื้ออักเสบเฉียบพลันในบริเวณกรวยไต ส่วนมากเชื้อโรคมักจะแพร่กระจายมาจากบริเวณผิวหนังรอบ ๆ ท่อปัสสาวะ เข้ามาในท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ (ทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ) และผ่านท่อไตขึ้นมาที่ไต ส่วนใหญ่มักมีการติดเชื้อที่ไตข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว
การอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะมักเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น เช่น นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต กระเพาะปัสสาวะไม่ทำงานในผู้ป่วยอัมพาต การตั้งครรภ์ หรือมีก้อนในช่องท้อง เป็นต้น
เชื้อที่พบได้บ่อย เป็นเชื้อแบคทีเรียกลุ่มแกรมลบ ได้แก่ อีโคไล (Escherichia coli), เคล็บซิลลา (klebsiella), สูโดโมแนส (pseudomonas)
นอกจากนี้ ในบางรายเชื้อโรคอาจแพร่กระจายจากส่วนอื่น ๆ ของร่างกายโดยทางกระแสเลือดก็ได้
ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการปวดที่บริเวณสีข้างขึ้นอย่างฉับพลัน โดยจะปวดมากที่ข้างใดข้างหนึ่ง และอาจปวดร้าวลงมาที่บริเวณขาหนีบ พร้อมกับมีไข้สูง หนาวสั่นมากเป็นพัก ๆ (อาจต้องห่มผ้าหลายผืน คล้ายไข้มาลาเรีย แต่จะจับไข้ไม่เป็นเวลาแน่นอน)
ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
ปัสสาวะมักมีลักษณะขุ่น บางครั้งอาจข้นเป็นหนอง
บางรายที่มีกระเพาะปัสสาวะอักเสบร่วมด้วย จะมีอาการขัดเบา และอาจมีอาการปัสสาวะเป็นเลือดร่วมด้วย
ในทารกและเด็กเล็ก อาจมีอาการไม่ชัดเจนเหมือนที่พบในผู้ใหญ่ เด็กอาจมีอาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่อนมและอาหาร คล้ายเป็นไข้ทั่ว ๆ ไป
ในผู้สูงอายุ อาจมีอาการไข้สูงและความคิดสับสน
มักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ คนอ้วน ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยเอดส์) หรือได้รับการรักษาที่ล่าช้าหรือไม่ต่อเนื่อง
ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจพบได้ ได้แก่ การเกิดฝีในไตหรือรอบ ๆ ไต, ไตวายเฉียบพลัน, เชื้อลุกลามเข้ากระแสเลือด กลายเป็นภาวะโลหิตเป็นพิษ และภาวะช็อกจากโรคติดเชื้อ (septic shock)
นอกจากนี้ หากรักษาไม่ต่อเนื่อง และเชื้อไม่สามารถถูกขจัดได้หมด ก็อาจทำให้เกิดโรคกรวยไตอักเสบเฉียบพลันกำเริบซ้ำซาก หรือในรายที่เนื้อไตถูกทำลายก็อาจเกิดภาวะไตวายเรื้อรังได้
สำหรับผู้หญิงที่เป็นโรคนี้ขณะตั้งครรภ์ นอกจากภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวแล้ว ยังอาจมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อย หรือทารกตายในครรภ์
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย
มักตรวจพบไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส
ถ้าใช้กำปั้นทุบหรือเคาะเบา ๆ ที่สีข้างตรงที่ปวด ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บจนสะดุ้ง (ส่วนใหญ่จะพบที่สีข้างเพียงข้างเดียว แต่บางรายอาจพบทั้งสองข้าง)
หน้าท้องอาจมีอาการกดเจ็บ หรือท้องเกร็งแข็งเล็กน้อย ปัสสาวะมีลักษณะขุ่น
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจปัสสาวะ จะพบเม็ดเลือดขาวจำนวนมาก ทั้งเป็นเม็ดเลือดขาวที่อยู่แยกกันเดี่ยว ๆ และเม็ดเลือดขาวที่เกาะกันเป็นแพ (white blood cells cast)
นอกจากนี้อาจทำการตรวจเลือด เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์
บางรายแพทย์อาจทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ ตามความจำเป็น เช่น ทำการเพาะเชื้อจากปัสสาวะและ/หรือเลือด ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ถ้าอาการไม่รุนแรง ให้การรักษาด้วยยาลดไข้ และยาปฏิชีวนะ (เช่น อะม็อกซีซิลลิน โคไตรม็อกซาโซล โอฟล็อกซาซิน ไซโพรฟล็อกซาซิน โคอะม็อกซิคลาฟ เป็นต้น) โดยทั่วไปหากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นหลังให้ยาปฏิชีวนะ 48-72 ชั่วโมง ซึ่งแพทย์จะให้ยาติดต่อกันนาน 14 วัน ในรายที่กินยาไม่ได้ก็จะให้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีดแทน
2. ถ้าอาการไม่ทุเลา 72 ชั่วโมง หรือมีอาการรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อน (เช่น ช็อก ความดันโลหิตสูง ปัสสาวะออกน้อย ซีด เหลือง หรือสงสัยโลหิตเป็นพิษ) แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล ทำการตรวจพิเศษต่าง ๆ เพื่อค้นหาเชื้อที่เป็นสาเหตุ และภาวะผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสริมให้มีการติดเชื้อ
การรักษา แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่ตรวจพบ ในระยะแรกมักให้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีด เช่น เซฟาโลสปอริน
ถ้าพบความผิดปกติอื่น ๆ ก็อาจให้การแก้ไขร่วมไปด้วย เช่น รักษาโรคเบาหวาน, การผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของโครงสร้างทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมาก นิ่วในทางเดินปัสสาวะ เนื้องอก เป็นต้น
3. หลังจากรักษาจนอาการหายเป็นปกติแล้ว แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจให้แน่ใจว่าไม่มีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะหลงเหลืออยู่ โดยการตรวจปัสสาวะ และ/หรือการเพาะเชื้อจากปัสสาวะ หากพบว่าการติดเชื้อยังไม่หายดี ก็จะให้ยาปฏิชีวนะรักษาต่อเนื่องจนกว่าจะหายขาด
ผลการรักษา ส่วนใหญ่เมื่อได้ยาปฏิชีวนะ มักหายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ ส่วนน้อยที่อาจมีการติดเชื้อเรื้อรัง สำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวานหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือได้รับการรักษาล่าช้าไป ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อน (เช่น โลหิตเป็นพิษ ไตวาย) ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้
หากสงสัย เช่น มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดบริเวณสีข้าง ปัสสาวะขุ่น ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- ปฏิบัติตัว และกินยาให้ครบตามที่แพทย์แนะนำ
- นอนพักให้มาก ๆ ห้ามตรากตรำงานหนัก ห้ามอาบน้ำเย็น
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ
- ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเวลามีไข้สูง
- กินอาหารอ่อน (ข้าวต้ม โจ๊ก) น้ำหวาน น้ำผลไม้
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด แม้จะหายดีแล้ว ก็ควรไปตรวจปัสสาวะให้แน่ใจว่าไม่ได้มีการติดเชื้ออักเสบเรื้อรัง
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 72 ชั่วโมง
- คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หรือดื่มน้ำได้น้อย
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
- กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
1. ป้องกันมิให้มีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ โดยการปฏิบัติตัว ดังนี้
- ดื่มน้ำมาก ๆ
- อย่าอั้นปัสสาวะเวลามีอาการปวดปัสสาวะ
- หลังถ่ายอุจจาระ ควรใช้กระดาษชำระเช็ดทำความสะอาดจากข้างหน้าไปข้างหลัง
- ควรดื่มน้ำ 1 แก้วก่อนร่วมเพศ และถ่ายปัสสาวะทันทีหลังร่วมเพศ
2. รักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสริมให้เกิดโรคกรวยไตอักเสบ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เบาหวาน เอดส์ ต่อมลูกหมากโต นิ่วในทางเดินปัสสาวะ เนื้องอกในทางเดินปัสสาวะหรือในช่องท้อง เป็นต้น
1. ผู้ป่วยที่เป็นกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน มักมีไข้สูงหนาวสั่นคล้ายไข้มาลาเรีย แต่จะมีอาการปวดและเคาะเจ็บที่สีข้าง และปัสสาวะขุ่น ดังนั้น เมื่อพบคนที่มีอาการไข้หนาวสั่นมาก ควรนึกถึงโรคนี้ไว้เสมอ
2. ผู้สูงอายุ ทารกและเด็กเล็ก ที่เป็นกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน อาจมีอาการที่ไม่ชัดเจน เช่น ผู้สูงอายุอาจมีไข้และความคิดสับสน ทำให้คิดว่าเป็นโรคอื่น เด็กอาจมีอาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่อนมและอาหาร คล้ายเป็นไข้ทั่ว ๆ ไป หากเป็นซ้ำซากอาจมีน้ำหนักน้อย (ตัวเล็ก) กว่าเด็กปกติในวัยเดียวกัน ดังนั้น ผู้สูงอายุ ทารกและเด็กเล็กที่เป็นไข้ที่ไม่พบสาเหตุชัดเจนควรนึกถึงโรคนี้ และทำการตรวจเพิ่มเติมรวมทั้งการตรวจปัสสาวะ เพื่อวินิจฉัยโรคให้ชัดเจน