
จากการศึกษาของศูนย์วิจัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่านิ่วกระเพาะปัสสาวะที่พบในภาคอีสานและภาคเหนือ มีสาเหตุจากการขาดสารฟอสเฟต ซึ่งมีมากในอาหารประเภทโปรตีน ร่วมกับการกินผักที่มีสารออกซาเลต (oxalate) สูง และดื่มน้ำน้อย ทำให้มีการสะสมของผลึกของสารแคลเซียมออกซาเลตในกระเพาะปัสสาวะ จนกลายเป็นก้อนนิ่วในที่สุด
นอกจากสาเหตุดังกล่าวแล้ว ในคนทั่วไปยังอาจพบนิ่วกระเพาะปัสสาวะร่วมกับภาวะอุดกั้นของท่อปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต กระเพาะปัสสาวะหย่อน (cystocele) กระเพาะปัสสาวะไม่ทำงานเนื่องจากเป็นอัมพาต (neurogenic bladder) เป็นต้น
ก้อนนิ่วอาจมีขนาดแตกต่างกันไปตั้งแต่ขนาดเท่าเม็ดทรายจนถึงส้มโอ
เนื่องจากก้อนนิ่วลงไปอุดกั้นท่อปัสสาวะ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการขัดเบา ปัสสาวะกะปริดกระปรอย ปวดเบ่งคล้ายว่ายังถ่ายไม่สุด ปัสสาวะสะดุดและออกเป็นหยด
บางรายอาจปัสสาวะออกเป็นเลือดหรือสีน้ำล้างเนื้อ หรืออาจถ่ายเป็นก้อนนิ่ว หรือเม็ดกรวดทรายเล็ก ๆ หรือปัสสาวะขุ่นขาวเหมือนมีผงแป้งปน
ถ้าก้อนนิ่วตกลงไปอุดกั้นท่อปัสสาวะ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องน้อยมาก ปัสสาวะไม่ออก และมีปัสสาวะคั่งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ

มักทำให้มีอาการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะจากการติดเชื้อ ซึ่งถ้าปล่อยไว้เรื้อรัง อาจกลายเป็นกรวยไตอักเสบ และไตวายได้
แพทย์จะวินิจฉัยขั้นต้นจากอาการ และจะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการเอกซเรย์ ตรวจอัลตราซาวนด์ และถ้าจำเป็นอาจต้องใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (cystoscopy)
แพทย์จะใช้เครื่องมือคีบเอานิ่วออก (สำหรับนิ่วขนาดเล็ก) หรือผ่าตัด (สำหรับนิ่วก้อนใหญ่)
เมื่อหายแล้ว ส่วนใหญ่มักจะไม่เป็นซ้ำใหม่
หากสงสัย เช่น มีอาการขัดเบา ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ปัสสาวะสะดุดและออกเป็นหยด ปัสสาวะออกเป็นเลือดหรือสีน้ำล้างเนื้อ ถ่ายเป็นก้อนนิ่ว หรือเม็ดกรวดทรายเล็ก ๆ หรือปัสสาวะขุ่นขาวเหมือนมีผงแป้งปน ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นนิ่วกระเพาะปัสสาวะ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
- มีอาการไข้ ขัดเบา ปัสสาวะกะปริดกะปรอย หรือปัสสาวะขุ่นหรือเป็นเลือด
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
แนะนำให้ประชาชนในท้องถิ่นที่เป็นนิ่วกระเพาะปัสสาวะรับประทานอาหารประเภทโปรตีน (เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่วต่าง ๆ) ซึ่งมีปริมาณของสารฟอสเฟตสูง และลดการกินผักที่มีสารออกซาเลต (เช่น ผักแพว ผักโขม ชะพลู ใบมันสำปะหลัง หน่อไม้ ผักสะเม็ด ผักกะโดน เป็นต้น) เพื่อป้องกันมิให้เกิดนิ่วกระเพาะปัสสาวะ
อาการขัดเบาหรือถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด นอกจากนิ่วแล้วยังอาจมีสาเหตุอื่น ๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ต่อมลูกหมากโต เนื้องอกหรือมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น (ตรวจอาการ “ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะไม่ออกหรือออกน้อย/ปัสสาวะขัด/ปัสสาวะบ่อย”) และ (ตรวจอาการ “ปัสสาวะขุ่น/มีสีผิดปกติ”) เพิ่มเติม