นิ่วท่อไต (นิ่วในท่อไต ก็เรียก) เป็นนิ่วขนาดเล็กที่เกิดขึ้นในไตแล้วตกลงมาในท่อไต เป็นเหตุให้ท่อไตเกิดการบีบตัวเพื่อขับนิ่วออก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องรุนแรง เป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในคนทั่วไป
นิ่วในท่อไต เป็นนิ่วขนาดเล็กที่เกิดขึ้นในไตแล้วตกลงมาในท่อไต มีสาเหตุของการเกิดนิ่วแบบเดียวกับนิ่วในไต (ดู "โรคนิ่วไต")
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องรุนแรง โดยมีลักษณะปวดบิดเป็นพัก ๆ ตรงบริเวณท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว นานเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ
ลักษณะเฉพาะของโรคนี้คือ จะมีอาการปวดร้าวไปที่หลังและต้นขาด้านใน (ปวดไปที่อัณฑะหรือช่องคลอดข้างเดียวกับท้องน้อยที่ปวด) ผู้ป่วยมักจะปวดจนดิ้นไปมา หรือใช้มือกดไว้จะรู้สึกดีขึ้น
บางรายอาจปวดมากจนมีอาการเหงื่อออก ตัวเย็น ใจสั่นใจหวิว คลื่นไส้ อาเจียน
ผู้ป่วยจะไม่มีอาการขัดเบา ปัสสาวะมักจะใสเช่นปกติ ไม่ขุ่น ไม่แดง (ยกเว้นบางรายอาจมีปัสสาวะขุ่นแดง)
ถ้านิ่วก้อนใหญ่หลุดออกเองไม่ได้ ทิ้งไว้อาจทำให้มีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ และไตวายได้
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย
การตรวจร่างกายมักจะไม่พบสิ่งผิดปกติ บางรายอาจพบว่ากล้ามเนื้อหน้าท้องและหลังมีอาการเกร็งตัว หรือมีอาการกดเจ็บเล็กน้อยตรงบริเวณที่ปวด
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจปัสสาวะ (พบว่ามีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ) และอาจทำการตรวจพิเศษ เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การใช้กล้องส่องตรวจท่อไต
นอกจากแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
- ให้ยาบรรเทาปวด ได้แก่ ยาแอนติสปาสโมดิก ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ชนิดกินหรือฉีด
- ในรายที่มีสาเหตุชัดเจน ก็จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น ให้ยารักษาโรคเกาต์ในรายที่เป็นโรคเกาต์
- แนะนำให้ผู้ป่วยสังเกตว่า เวลาถ่ายปัสสาวะมีก้อนนิ่วหลุดออกมาหรือไม่ และนัดมาดูอาการเป็นระยะ ถ้านิ่วก้อนเล็กอาจหลุดออกมาได้เอง
- ถ้าก้อนใหญ่ก็จะทำการผ่าตัดเอานิ่วออก หรือใช้เครื่องสลายนิ่ว (extracorporeal shock wave lithotripsy/ESWL) หรือใช้กล้องส่อง (ureteroscope) สอดใส่ผ่านทางท่อปัสสาวะขึ้นไปตามท่อไต แล้วใช้เครื่องมือในการนำเอานิ่วออกมา หรือทำให้นิ่วแตกละเอียดแล้วหลุดออกมากับปัสสาวะ แพทย์อาจใส่หลอดลวดตาข่าย (stent) ถ่างขยายค้างไว้ในท่อไต เพื่อให้ปัสสาวะไหลออกได้สะดวก
ผลการรักษา เมื่อเอานิ่วออกมาได้ก็จะหายเป็นปกติ แต่บางรายอาจเกิดนิ่วก้อนใหม่ในเวลาต่อมาก็จะให้การรักษาใหม่ ในรายที่เป็นนิ่วท่อไตแล้วปล่อยให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ก็จะมีความยุ่งยากในการรักษาตามมา
หากสงสัย เช่น มีอาการปวดท้องรุนแรง โดยมีลักษณะปวดบิดเป็นพัก ๆ ตรงบริเวณท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว นานเป็นชั่วโมง ๆ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นนิ่วท่อไต ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
- มีอาการปวดท้องมากขึ้น มีไข้ หนาวสั่น ปวดที่สีข้าง ปัสสาวะขุ่น คลื่นไส้ อาเจียน
- ขาดยาหรือยาหาย
- กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
1. ดื่มน้ำมาก ๆ ประมาณวันละ 8-12 แก้ว (2-3 ลิตร) ระวังอย่าให้ร่างกายขาดน้ำ
2. หลีกเลี่ยงการกินวิตามินซีขนาดสูงเป็นประจำ และหลังกินวิตามินซีควรดื่มน้ำตามมาก ๆ
3. ลดการกินพืชผักที่มีสารออกซาเลตสูง
4. บริโภคเนื้อสัตว์และอาหารที่มีแคลเซียมให้พอเพียง อย่าให้มากเกิน
5. ถ้าเป็นโรคเกาต์ ควรรักษาอย่างจริงจัง และควบคุมกรดยูริกให้อยู่ในระดับปกติ
1. นิ่วท่อไตส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กเท่าหัวไม้ขีด (ขนาดเล็กกว่า 6 มม.) ซึ่งมักจะหลุดออกมาได้เอง ควรบอกให้ผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะลงกระโถน เพื่อสังเกตดูว่ามีก้อนนิ่วออกมาหรือไม่ ส่วนมากมักจะหลุดออกมาภายในไม่กี่วัน
2. อาการปวดท้องจะหายดังปลิดทิ้งเมื่อนิ่วหลุดออกมา แต่ก็อาจเกิดนิ่วก้อนใหม่ในภายหลังได้อีก
3. เมื่อรักษาหายแล้ว ควรป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำ โดยดื่มน้ำวันละ 2-3 ลิตร ดื่มน้ำมะนาววันละ 1 แก้ว (เพิ่มสารซิเทรตในปัสสาวะ ช่วยยับยั้งการเกิดนิ่ว) ลดอาหารที่มีกรดยูริก แคลเซียม และออกซาเลตสูง