ถือเป็นภาวะที่ร้ายแรง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายได้
อาจมีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น
1. พบหลังดื่มแอลกอฮอล์จัด อดข้าว มีไข้สูง หรือออกกำลังมากไป
2. ผู้ป่วยเบาหวานที่กำลังได้รับยาเบาหวาน บางครั้งกินอาหารน้อยไปหรือกินอาหารผิดเวลา หรือออกแรงกายมากไปกว่าที่เคยทำอยู่ หรือใช้ยาเกินขนาด ก็อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ผู้ป่วยที่กินยาเม็ดรักษาเบาหวานในตอนเช้า มักจะมีอาการตอนเช้ามืดของวันรุ่งขึ้น ส่วนผู้ป่วยที่ฉีดอินซูลินตอนเช้า มักจะมีอาการตอนบ่าย ๆ
3. พบในทารกแรกคลอดที่มารดาเป็นเบาหวาน หรือทารกมีน้ำหนักน้อย (ดู ภาวะชักในทารกแรกเกิด)
4. ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ บางรายก็อาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นครั้งคราวได้ เนื่องจากร่างกายมีการใช้น้ำตาลมากขึ้น
5. ผู้ป่วยที่ผ่าตัดกระเพาะอาหารออกไปแล้ว อาจเกิดภาวะนี้ได้บ่อย ๆ โดยมากจะเกิดหลังกินอาหาร 2-4 ชั่วโมง เนื่องจากลำไส้มีการดูดซึมน้ำตาลเร็วเกินไป ซึ่งจะไปกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง เรียกว่า “Dumping syndrome”
6. ถ้าเป็นอยู่บ่อย ๆ อาจมีสาเหตุจากโรคตับเรื้อรัง มะเร็งตับอ่อนชนิดอินซูลิโนมา (insulinoma) มะเร็งต่าง ๆ โรคแอดดิสัน เป็นต้น
ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจหวิว ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออก รู้สึกหิว
บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ ซึม กระสับกระส่าย พูดอ้อแอ้ แขนขาอ่อนแรง ปากชา มือชา พูดเพ้อ เอะอะโวยวาย ก้าวร้าว ลืมตัว หรือทำอะไรแปลก ๆ (คล้ายคนเมาเหล้า)
ถ้าเป็นรุนแรง อาจมีอาการชัก หมดสติ
ในรายที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ป่วยอาจมีอาการตัวเย็นชืด แขนขาเกร็ง ขากรรไกรแข็ง
หากปล่อยให้หมดสติอยู่นาน หรือเป็นอยู่ซ้ำ ๆ จะทำให้สมองพิการ ความจำเสื่อม บุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม วิกลจริต
บางรายอาจหลับไม่ตื่นเนื่องจากสมองพิการอย่างถาวร
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบดังนี้
เหงื่อออก มือเท้าเย็น อาจมีอาการชักหรือหมดสติ ชีพจรมักจะมีลักษณะเบาเร็ว บางรายอาจพบความดันเลือดต่ำ
รูม่านตามักจะมีขนาดปกติ และหดลงเมื่อถูกแสง
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดด้วยการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งจะพบว่าต่ำกว่าปกติ (มักจะพบต่ำกว่า 50 มก./ดล. ในรายที่เป็นมากอาจต่ำกว่า 20 มก./ดล.)
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ถ้าหมดสติ แพทย์จะให้ฉีดกลูโคสขนาด 50% จำนวน 50-100 มล. เข้าทางหลอดเลือดดำ หากผู้ป่วยฟื้นแล้ว แต่ยังกินไม่ค่อยได้ ก็จะให้เดกซ์โทรส 5% (5% D/W) เข้าทางหลอดเลือดดำจำนวน 500-1,000 มล.
2. ถ้าผู้ป่วยยังรู้สึกตัวและกินได้ แพทย์จะให้กินน้ำหวาน หรือกลูโคส
3. แพทย์จะตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ
ผู้ที่มีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจหวิว ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออก รู้สึกหิว หรือสงสัยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (เช่น พบในผู้ที่กำลังรักษาโรคเบาหวาน อดข้าว หรือ ดื่มแอลกอฮอล์จัด) ควรรีบกินน้ำตาล ของหวาน หรือลูกอม หากทุเลาทันที ก็แสดงว่าเป็นภาวะนี้ ต่อไปควรหาทางป้องกันไม่ให้กำเริบอีก
ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
- มีอาการชัก ซึมมาก หรือหมดสติ
- กินน้ำตาล ของหวาน หรือลูกอมแล้วไม่ทุเลา
- เป็น ๆ หาย ๆ บ่อย
- มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง
- ผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยาเบาหวานรักษา ต้องปรับอาหารการกินและการออกกำลังกาย (การใช้แรงกาย) ให้พอเหมาะ อย่าอดอาหาร อย่ากินอาหารผิดเวลา อย่าใช้แรงกายหักโหมหรือหนักกว่าที่เคยทำ ข้อสำคัญอย่าใช้ยาเกินขนาดที่แพทย์สั่ง และพกน้ำตาล ของหวานหรือลูกอมติดตัวไว้แก้ไขเมื่อเริ่มรู้สึกมีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์จัด
- กินอาหารให้ตรงเวลา อย่าอดข้าว ถ้ารู้สึกหิว ควรรีบกินอาหาร ของหวาน หรือดื่มนม หรือน้ำหวาน
1. ผู้ป่วยที่มีอาการที่ชวนสงสัยว่าเป็นภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ถ้ายังรู้สึกตัวดี ควรรีบกินน้ำตาล น้ำหวาน หรือของหวาน ๆ ทันที ซึ่งจะช่วยให้อาการต่าง ๆ ทุเลาลงทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับยารักษาเบาหวานอยู่ ควรพกน้ำตาลติดตัวไว้กินทุกครั้งที่เริ่มรู้สึกมีอาการ
แต่ถ้าหมดสติ ห้ามกรอกน้ำตาลหรือน้ำหวานเข้าปากผู้ป่วย อาจทำให้สำลักลงปอดได้ ควรรีบนำไปยังสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านที่สุด เพื่อฉีดกลูโคสเข้าหลอดเลือดดำ
2. ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้บ่อย ๆ ควรบอกให้ญาติและเพื่อนใกล้ชิดทราบ เพื่อจะได้หาทางแก้ไขได้ทันท่วงทีหากปล่อยไว้จนหมดสติหรือชักนาน ๆ อาจทำให้สมองพิการได้
3. ในรายที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อย ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ควรให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด
4. ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อเบาหวาน (มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นเบาหวาน) บางรายอาจเกิดอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในช่วงหลังกินอาหาร 2-4 ชั่วโมงได้บ่อย (ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำลักษณะนี้ เรียกว่า “Reactive hypoglycemia”) และอาจกลายเป็นเบาหวานในระยะอีกหลายปีต่อมา ดังนั้นผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อย ๆ และตรวจพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อเบาหวานก็ควรควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และควบคุมน้ำหนัก เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นเบาหวาน