ไข้ซิกาเป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ ส่วนน้อยที่มีอาการเจ็บป่วยนั้นมักจะมีอาการเพียงเล็กน้อย หายได้เอง และไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงในคนทั่วไป ยกเว้นหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคนี้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงต่อทารกในครรภ์
เกิดจากเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสในสกุลฟลาวิไวรัส (Flavivirus) เช่นเดียวกับไวรัสเด็งกี่ (เชื้อไข้เลือดออก) และมียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นพาหะนำโรคเช่นเดียวกับไข้เลือดออก และไข้ปวดข้อยุงลาย ดังนั้นจึงพบโรคนี้ระบาดในพื้นที่เดียวกับที่มีการระบาดของไข้เลือดออกและไข้ปวดข้อยุงลาย
นอกจากนี้ ยังพบว่าเชื้อไวรัสซิกาสามารถแพร่จากมารดา (หญิงที่ตั้งครรภ์) ไปสู่ทารกในครรภ์ได้ และมีรายงานว่าเชื้อนี้อาจติดต่อทางเลือด และทางเพศสัมพันธ์
ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 3-12 วัน (เฉลี่ย 4-7 วัน)
ผู้ติดเชื้อไวรัสซิการาวร้อยละ 80 ไม่มีอาการแสดงของโรค มีราวร้อยละ 20 ที่จะมีอาการเจ็บป่วยซึ่งเกิดขึ้นหลังถูกยุงลายบ้านกัดประมาณ 3-12 วัน
มักมีอาการไข้เล็กน้อย ขึ้นเป็นผื่นแดงตามแขนขาและลำตัว ตาแดง (เยื่อตาขาวอักเสบ) มีอาการปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ และอาจมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลียร่วมด้วย
อาการมักจะเป็นเพียงเล็กน้อย และเป็นอยู่นานประมาณ 2-7 วัน
สำหรับคนทั่วไปมักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ยกเว้นในบางรายอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เรได้ ซึ่งจะมีอาการกล้ามเนื้อแขนขา 2 ข้างและลำตัวอ่อนแรงเฉียบพลัน
ที่สำคัญ หญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นโรคนี้ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อทารกในครรภ์ เช่น ทำให้แท้งบุตร ทารกมีสมองเล็ก (Microcephaly) หรือสมองพิการร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ อาจทำให้ทารกเป็นกลุ่มอาการไข้ซิกาโดยกำเนิด (Congenital Zika Syndrome) ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติหลายอย่างร่วมกัน เช่น สมองเล็กอย่างรุนแรงร่วมกับกะโหลกบางส่วนยุบ เนื้อสมองถูกทำลาย ตาพิการ ข้อพิการ (เคลื่อนไหวลำบาก) กล้ามเนื้อเกร็งตัว (ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวลำบาก) เป็นต้น
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบดังนี้
- ไข้ ตัวร้อนเล็กน้อย
- ผื่นแดง
- ตาแดง
ในรายที่ไม่แน่ใจ แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดด้วยการตรวจสารพันธุกรรมของไวรัสซิกาในเลือดหรือปัสสาวะของผู้ป่วย
แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ และให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้พาราเซตามอล แก้ปวดลดไข้
ผู้ป่วยมักจะหายได้เองภายใน 2-7 วัน
สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคนี้ แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติม (เช่น ตรวจอัลตราซาวนด์) ดูว่าทารกในครรภ์มีความผิดปกติของสมองหรือไม่ และให้การดูแลตามที่เหมาะสม
หากสงสัย เช่น มีไข้ ผื่นขึ้น ตาแดง ปวดข้อ หรือมีไข้ในช่วงที่มีคนในละแวกใกล้เคียงเป็นไข้ซิกา ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นไข้ซิกา ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- หลีกเลี่ยงการซื้อยามาใช้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาแอสไพริน และยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคฟีแนก) เนื่องเพราะอาจทำให้เลือดออกง่าย
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
- มีอาการไข้สูง หนาวสั่นมาก หรือมีไข้นานเกิน 1 สัปดาห์
- มีอาการซึมมาก เบื่ออาหาร อาเจียน หรือมีจุดแดงจ้ำเขียวตามผิวหนัง
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
ทำลายแหล่งเพาะยุงลาย และหาวิธีป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด (ดูหัวข้อ "การป้องกัน ในโรคไข้เลือดออก" เพิ่มเติม)
สำหรับหญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่หรือประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้ หากจำเป็นควรป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด โดยสวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวให้มิดชิด ทายาป้องกันยุงกัด และนอนในมุ้งหรือห้องที่ติดมุ้งลวด
1. ไข้ซิกามักพบในพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้เลือดออก และอาจมีอาการไข้ ผื่นขึ้นคล้ายไข้เลือดออก (ระยะแรก) ผู้ที่มีไข้ ผื่นขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ และติดตามสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากสงสัยเกิดภาวะช็อก หรือมีเลือดออก ก็ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว
2. หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่อยู่หรือเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้ซิกา ควรคุมกำเนิดป้องกันการตั้งครรภ์ และหากเป็นไข้ซิกา ควรคุมกำเนิดเป็นเวลานานอย่างน้อย 2 เดือน
หากสามีป่วยเป็นไข้ซิกา หรือมีประวัติเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาด ควรคุมกำเนิด และใช้ถุงยางอนามัยป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์