ไข้ปวดข้อยุงลาย หรือไข้ชิคุนกุนยา* เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งมีการระบาดได้รวดเร็ว ทำให้มีอาการไข้ ผื่นขึ้น และปวดข้อ ส่วนใหญ่มักจะเป็นไม่รุนแรงและหายได้เอง และไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง นอกจากอาจทำให้มีอาการปวดข้อเรื้อรัง
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา มียุงลายสวน (Aedes albopictus) และยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นพาหะนำโรค พบระบาดได้รวดเร็วและกว้างขวางซึ่งมักพบในฤดูฝน พบได้ในทุกกลุ่มอายุ พบมากในกลุ่มวัยทำงาน
ระยะฟักตัวของโรค 1-12 วัน (ส่วนใหญ่ 2-3 วัน)
ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน (39-40 องศาเซลเซียส) ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย มักมีอาการปวดข้อรุนแรง ตาแดง และมีผื่นแดงเล็ก ๆ คล้ายหัด (พบมากตามลำตัวและแขนขา) ซึ่งมักหายได้เองภายใน 7-10 วัน
บางรายอาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย
ไข้มักจะขึ้นสูงตลอดเวลาและเป็นอยู่ประมาณ 2-4 วันก็ทุเลาไปเอง
ส่วนอาการปวดข้อมักจะเป็นตามข้อเล็ก ๆ หลายข้อ (มักเกิน 10 ข้อ) พร้อมกัน หรือมีลักษณะย้ายจากข้อหนึ่งไปยังอีกข้อหนึ่ง บางครั้งพบว่ามีข้ออักเสบบวมแดง ข้อที่พบว่าปวดได้บ่อย ได้แก่ มือ ข้อมือ เท้า และข้อเท้า การกดด้านหน้าของข้อมือทำให้อาการปวดข้อมือรุนแรงมากขึ้น (ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของโรคนี้) อาการปวดข้อมักเป็นอยู่นาน 1-2 สัปดาห์ ในรายที่เป็นรุนแรงอาจนานเป็นแรมเดือน ทำให้ผู้ป่วยขยับข้อไม่ได้หรือเคลื่อนไหวได้ลำบาก
บางรายเมื่ออาการปวดข้อทุเลาไปแล้วอาจกำเริบได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ บางรายอาจมีอาการปวดข้อนานเป็นแรมปี
ที่พบบ่อยคือ อาการปวดข้อเรื้อรัง ซึ่งอาจทำให้เคลื่อนไหวลำบาก
ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ พบได้น้อยมาก เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ประสาทหูอักเสบ จอตาอักเสบ ม่านตาอักเสบ ไตอักเสบ ตับอักเสบ สมองอักเสบ ไขสันหลังอักเสบ กลุ่มอาการกิลเลนบาร์เร เป็นต้น ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้อาจพบในทารกแรกเกิดที่ติดเชื้อจากมารดาขณะอยู่ในครรภ์ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด)
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ และสิ่งตรวจพบดังนี้
- ไข้ 39-40 องศาเซลเซียส
- ตาแดง ผื่นแดงตามตัว
- ข้ออักเสบ (ปวดบวมแดงร้อน)
หากไม่แน่ใจ แพทย์จะยืนยันการวินิจฉัยด้วยการตรวจเลือดหาเชื้อ หรือสารภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดนี้
ให้การรักษาตามอาการ เช่น พาราเซตามอลบรรเทาไข้ ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์บรรเทาปวดข้อ เป็นต้น ผู้ป่วยมักจะหายได้เอง โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง และไม่พบภาวะเลือดออกรุนแรงหรือภาวะช็อกแบบไข้เลือดออก
หากสงสัย เช่น มีไข้ ผื่นขึ้น ปวดข้อ หรือมีไข้ในช่วงที่มีคนในละแวกใกล้เคียงเป็นไข้ปวดข้อยุงลาย ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นไข้ปวดข้อยุงลาย (ไข้ชิคุนกุนยา) ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- พักผ่อนมาก ๆ ห้ามตรากตรำงานหนักหรือออกกำลังกายมากเกินไป
- ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยลดไข้ และทดแทนน้ำที่เสียไปเนื่องจากไข้สูง
- ควรกินอาหารอ่อน น้ำข้าว น้ำหวาน น้ำส้ม น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มร้อน ๆ
- ใช้ผ้าชุบน้ำ (ควรใช้น้ำอุ่น หรือน้ำก๊อกธรรมดา อย่าใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็ง) เช็ดตัวเวลามีไข้สูง
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
- มีอาการไข้สูง หนาวสั่นมาก หรือมีไข้นานเกิน 1 สัปดาห์
- มีอาการซึมมาก เบื่ออาหาร อาเจียน หรือมีจุดแดงจ้ำเขียวตามผิวหนัง
- มีภาวะแทรกซ้อน เช่น หูตึง ตามัว เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย ดีซ่าน (ตาเหลือง ตัวเหลือง) แขนขาอ่อนแรง ชัก เป็นต้น
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
ทำลายแหล่งเพาะยุงลายบ้านและยุงลายสวน และหาวิธีป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด (ดูหัวข้อ "การป้องกัน ในโรคไข้เลือดออก" เพิ่มเติม)
1. การวินิจฉัยไข้ปวดข้อยุงลาย อาศัยลักษณะอาการแสดงของโรคเป็นหลัก ได้แก่ อาการไข้สูง ปวดข้อ มีผื่นแดง หากจำเป็นต้องยืนยันให้แน่ชัด อาจจำเป็นต้องตรวจเลือดหาสารภูมิต้านทานต่อไวรัสชิคุนกุนยา หรือตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสชนิดนี้
2. โรคนี้ส่วนใหญ่หายได้เองและไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง แต่สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด) หากเป็นโรคนี้ควรเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมาได้
3. โรคนี้อาจพบระบาดในชุมชน (จากการมียุงลายบ้านเป็นพาหะของโรคนี้ รวมทั้งไข้เลือดออก และไข้ซิกา) และในแหล่งที่มีการทำสวน (เช่น สวนยาง ซึ่งมียุงลายสวนเป็นพาหะของโรคนี้)
4. ผู้ที่เคยเป็นโรคนี้จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา มักจะไม่เป็นซ้ำอีก แต่อาจเป็นไข้เลือดออก หรือไข้ซิกาได้ เนื่องจากเกิดจากเชื้อไวรัสคนละชนิดกัน และมียุงลายบ้านเป็นพาหะเช่นเดียวกัน
5. ไข้ปวดข้อยุงลาย มักมีอาการไข้สูง มีผื่นแดงตามตัว และปวดข้อเป็นสำคัญ แต่ในบางรายอาจมีจุดแดง (จุดเลือดออกเล็ก ๆ) ตามผิวหนัง การทดสอบทูร์นิเคต์อาจให้ผลบวก และการตรวจนับจำนวนเกล็ดเลือดอาจพบว่าต่ำ (แต่จะต่ำกว่าปกติเล็กน้อย ไม่มากเท่าไข้เลือดออก) ซึ่งมีลักษณะคล้ายไข้เลือดออกระยะแรก แต่ต่างกันตรงที่ไข้ปวดข้อยุงลายมักจะมีอาการข้ออักเสบ (ปวดข้อ ข้อบวมแดงร้อน) ร่วมด้วย มักมีไข้สูงอยู่เพียงประมาณ 2-4 วันก็ทุเลาไปเอง หลังจากไข้ลงแล้ว อาจมีอาการข้ออักเสบเรื้อรัง ในขณะที่ไข้เลือดออกมักมีไข้มากกว่า 4-7 วัน อาจมีอาการปวดท้อง อาเจียน ตับโตร่วมด้วย และอาจมีภาวะเลือดออกหรือภาวะช็อกตามมาได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีไข้สูงในระยะแรก ๆ ยังไม่ได้วินิจฉัยให้แน่ชัดด้วยการตรวจเลือดหาเชื้อต้นเหตุว่าเป็นไข้เลือดออกหรือไข้ปวดข้อยุงลาย จึงควรติดตามสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง (เช่น เกิดภาวะช็อก หรือมีเลือดออก) หรือสงสัยเป็นไข้เลือดออก ก็ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว