ม่านตาอักเสบ (ผนังลูกตาชั้นกลางส่วนหน้าอักเสบ ก็เรียก) เป็นภาวะอักเสบของม่านตา (iris)* พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในวัยทำงาน (กลุ่มอายุ 20-60 ปี) แม้โรคนี้พบได้ไม่บ่อย แต่อาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้
*ม่านตา คือเนื้อเยื่อที่อยู่โดยรอบรูม่านตาที่ด้านหน้าตรงกลางลูกตา ซึ่งเห็นเป็นสีต่าง ๆ (เช่น น้ำตาล เทา ฟ้า) ม่านตาเป็นส่วนหนึ่งของผนังลูกตาชั้นกลาง (uvea) แต่เป็นส่วนที่อยู่ด้านหน้าของลูกตา เมื่อเกิดการอักเสบ เรียกว่า "ม่านตาอักเสบ (iritis)" หรือ "ผนังลูกตาชั้นกลางส่วนหน้าอักเสบ (anterior uveitis)" ซึ่งพบได้บ่อยที่สุดของโรคผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบ (uveitis) ทั้งหมด
โรคผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบ (uveitis) ถ้าเกิดที่ส่วนกลางของผนังลูกตา เรียกว่า Intermediate uveitis ถ้าเกิดที่ส่วนหลังของผนังลูกตา เรียกว่า Posterior uveitis ถ้าเกิดที่ผนังลูกตาทุกส่วนตั้งแต่ส่วนหน้าถึงส่วนหลัง เรียกว่า Panuveitis
ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะโรคม่านตาอักเสบ หรือผนังลูกตาชั้นกลางส่วนหน้าอักเสบ
ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ส่วนที่ทราบอาจมีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น
- การติดเชื้อแบคทีเรีย (เช่น วัณโรค ซิฟิลิส) ไวรัส (เช่น เริม งูสวัด เอดส์) เชื้อรา (เช่น histoplasmosis) หรือโปรโตซัว (เช่น toxoplasmosis)
- การได้รับบาดเจ็บที่บริเวณตา เช่น ถูกกระทบกระแทก บาดแผลถูกแทงทะลุ บาดแผลถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวกหรือสารเคมี
- โรคภูมิต้านตนเอง (โรคออโตอิมมูน) ที่สัมพันธ์กับยีนเอชแอลเอ-บี27 (HLA-B27 หรือ Human leukocyte antigen B27)* เช่น ข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โซริอาซิสหรือสะเก็ดเงิน
- ยาบางชนิด เช่น Rifabutin (ยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่ง), Cidofovir (ยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาโรคเอดส์), Bisphosphonates (ยารักษาโรคกระดูกพรุน) เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้เป็นส่วนน้อย เมื่อหยุดยาอาการก็จะหายเป็นปกติ
- การสูบบุหรี่ พบว่าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคม่านตาอักเสบมากขึ้น
*เป็นยีน (พันธุกรรม) ที่พบในคนบางคน ซึ่งกำหนดให้ร่างกายสร้างแอนติเจน (สารโปรตีนชนิดหนึ่ง) ที่อยู่บนผิวของเม็ดเลือดขาว เรียกว่า "Human leukocyte antigen B27" แอนติเจนชนิดนี้ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเกิดปฏิกิริยาต่อต้านเซลล์ที่ปกติของร่างกาย ก่อเกิดโรคภูมิต้านตนเอง (autoimmune disease) ได้หลากหลายชนิด
อาการอาจเกิดกับตาเพียงข้างเดียวหรือ 2 ข้างก็ได้ ส่วนใหญ่มักเป็นม่านตาอักเสบแบบเฉียบพลัน คือมีอาการเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน บางรายอาจเป็นม่านตาอักเสบแบบเรื้อรัง คือมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือเป็นเรื้อรังนานเกิน 3 เดือนขึ้นไป
ม่านตาอักเสบแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา ตาแดง น้ำตาไหล ไวต่อแสง (ไม่สู้แสง หรือกลัวแสง) ตามองเห็นไม่ชัดหรือพร่ามัว บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย
ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดตามากเมื่ออยู่ในที่สว่างหรือมีแสงจ้า แต่จะดีขึ้นเมื่ออยู่ในที่ร่มหรือมีแสงสลัว
อาการมักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และจะเป็นอยู่นานเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ ถึงหลายสัปดาห์ เมื่อหายแล้วอาจกำเริบได้ใหม่
ม่านตาอักเสบแบบเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการตาพร่ามัว ตาแดงเล็กน้อย ปวดตาเล็กน้อย และกลัวแสงเพียงเล็กน้อย มักเป็นนานเกิน 3 เดือนขึ้นไป
นอกจากนี้ สำหรับม่านตาอักเสบที่มีความสัมพันธ์กับโรคอื่น ๆ ก็จะมีอาการของโรคนั้น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดหลังเรื้อรัง (ถ้าเป็นข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง) ท้องเดินเรื้อรัง (ถ้าเป็นลำไส้อักเสบเรื้อรัง) มีไข้หรือไอเรื้อรัง (ถ้าเป็นวัณโรคปอด) เป็นต้น
ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ดังนี้
- ต้อกระจก มักพบในผู้ป่วยที่ปล่อยให้ม่านตาอักเสบเรื้อรังนาน ๆ
- ต้อหิน เนื่องจากมีการอุดกั้นของทางระบายน้ำเลี้ยงลูกตา ซึ่งอาจเกิดจากมีเม็ดเลือดขาวที่เกิดจากการอักเสบไปอุดกั้น หรือเกิดจากมีพังผืดไปทำให้ทางระบายน้ำเลี้ยงลูกตายึดติดกัน ทำให้ความดันลูกตาเพิ่มสูงขึ้น และกลายเป็นต้อหินตามมา
- ขอบรูม่านตาไม่เรียบ (irregular pupil) เนื่องจากมีพังผืดไปทำให้เกิดการยึดติดกันของม่านตากับกระจกตาหรือเลนส์ตา (แก้วตา)
- กระจกตาเสื่อม เนื่องจากมีหินปูนพอกกระจกตา ทำให้สายตาพร่ามัว
- น้ำวุ้นลูกตาอักเสบ (vitritis) มีอาการเห็นเงาหยากไย่หรือจุดดำ (floaters) ลอยไปมามากขึ้น โดยการมองเห็นไม่ได้แย่ลง
- จอตาอักเสบ (retinitis) ทำให้สายตาพร่ามัวหรือสูญเสียการมองเห็น
- จุดภาพชัดที่จอตาบวม (macular edema) ทำให้มองเห็นช่วงตรงกลางของภาพไม่ชัดหรือพร่ามัว
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย รวมทั้งการตรวจตา จะพบว่าบริเวณตาขาวที่อยู่ใกล้ขอบตาดำ มีลักษณะแดงเรื่อ ๆ โดยไม่มีขี้ตา แต่อาจมีน้ำตาไหล รูม่านตาอาจมีขนาดเล็กกว่าข้างปกติ มีรูปลักษณ์ผิดแปลกหรือขอบไม่เรียบ กระจกตาอาจมีลักษณะขุ่นเล็กน้อย
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการตรวจวัดสายตา ความดันลูกตา การใช้กล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษ (slit-lamp ซึ่งสามารถเห็นทั้งภายนอกและภายในดวงตาแบบภาพ 3 มิติ) ส่องตรวจตา
นอกจากนี้ ในรายที่สงสัยว่ามีภาวะหรือโรคที่เป็นสาเหตุร่วมด้วย แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด (ดูภาวะติดเชื้อ เช่น เอดส์ ซิฟิลิส) เอกซเรย์ (เช่น ตรวจหาวัณโรคปอด ข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง) เป็นต้น
ในรายที่เป็นเรื้อรัง มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย หรือสงสัยว่ามีความสัมพันธ์กับโรคภูมิต้านตนเอง อาจทำการตรวจเลือดหายีนเอชแอลเอ-บี27 (HLA-B27)
แพทย์จะตรวจหาภาวะหรือโรคที่เป็นสาเหตุ และให้การรักษาสาเหตุที่พบ เช่น ให้ยาต้านจุลชีพ (ปฏิชีวนะ/ยาต้านไวรัส) ในรายที่เป็นโรคติดเชื้อ ให้สเตียรอยด์/ยากดภูมิคุ้มกัน ในรายที่เป็นโรคภูมิต้านตนเอง
ส่วนภาวะม่านตาอักเสบ แพทย์จะให้การรักษา ดังนี้
- ให้ยาหยอดตาที่ทำให้รูม่านตาขยาย เพื่อให้ม่านตาได้พักบรรเทาอาการปวด และป้องกันไม่ให้ม่านตาที่อักเสบไปยึดติดกับแก้วตาที่อยู่ข้างหลัง
- ให้สเตียรอยด์ชนิดเป็นยาหยอดตา เพื่อลดการอักเสบ หากไม่ได้ผลหรือมีอาการกำเริบบ่อย ก็จะให้สเตียรอยด์ชนิดกิน หรือให้ยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressant)
ผลการรักษา การรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้โรคทุเลาและป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ ส่วนใหญ่อาจต้องใช้เวลารักษาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนจนกว่าอาการจะทุเลาดี
สำหรับม่านตาอักเสบที่เกิดจากการบาดเจ็บ มักจะค่อย ๆ หายไปได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ ในรายที่เกิดจากการติดเชื้อ อาการจะทุเลาหลังจากได้รับการรักษาด้วยยาต้านจุลชีพ (ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านไวรัส)
บางรายอาจมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ นานเป็นแรมเดือนแรมปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่เกิดจากโรคภูมิต้านตนเอง (เช่น ข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง) แพทย์จะให้ยาหยอดตาสเตียรอยด์ไว้ประจำที่บ้าน และแนะนำว่าเมื่อมีอาการกำเริบใหม่ ให้ใช้หยอดตาทันทีแล้วค่อยไปพบแพทย์
หากสงสัยเป็นม่านตาอักเสบ (มีอาการปวดตา ตาแดง และตามัว) ควรปรึกษาแพทย์ด่วน
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา ใช้ยา ปฏิบัติตัว และติดตามการรักษาตามที่แพทย์แนะนำ
- ประคบตาด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ วันละ 3-4 ครั้ง นานครั้งละ 20 นาที
- สวมแว่นตาดำ หากมีอาการปวดตามากขึ้นเวลาถูกแสงสว่าง
- ถ้าปวดตามาก กินพาราเซตามอลบรรเทาปวด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
- มีอาการปวดตารุนแรง ตาแดงหรือตามัวมากขึ้น
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้ หรือมีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา
เนื่องจากโรคนี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผลดี
สำหรับส่วนที่มีสาเหตุ เช่น การบาดเจ็บ โรคติดเชื้อ (เช่น เริม งูสวัด วัณโรคปอด ซิฟิลิส) โรคภูมิต้านตนเอง (เช่น ข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคโซริอาซิส) เป็นต้น ก็อาจป้องกันไม่ให้ม่านตาอักเสบกำเริบด้วยการป้องกันและควบคุมภาวะเหล่านี้
1. อาการปวดตาและตาแดง อาจมีสาเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น เยื่อตาขาวอักเสบ หรืออาจมีสาเหตุที่รุนแรง เช่น ต้อหิน แผลกระจกตา ม่านตาอักเสบ เราอาจวินิจฉัยแยกกลุ่มโรคที่รุนแรงออกจากกลุ่มที่ไม่รุนแรงได้ โดยการตรวจพบว่า กลุ่มโรคที่รุนแรงจะมีอาการปวดตามาก ตามัว รูม่านตา 2 ข้างไม่เท่ากัน หรือกระจกตาขุ่นหรือเป็นฝ้าขาว หากพบอาการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์ด่วน (ตรวจอาการ ตามัว/ตาฝ้าฟาง/มองเห็นเงาหรือภาพผิดปกติ/เห็นภาพซ้อน และ ปวดตา/เจ็บตา เพิ่มเติม)
2. ผู้ป่วยควรดูแลรักษากับแพทย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีอาการปวดตาและตามัวอย่างฉับพลัน ควรได้รับการรักษาจากจักษุแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง จะช่วยให้โรคทุเลาดี และป้องกันภาวะแทรกซ้อนและการสูญเสียการมองเห็น (ตาบอดอย่างถาวร)
นอกจากนี้ ผู้ป่วยไม่ควรใช้ยาพร่ำเพรื่อเกินที่แพทย์แนะนำ หรือหยุดยาเองตามใจชอบ หรือซื้อยามาใช้เอง และไม่ควรนำยาที่แพทย์สั่งให้ใช้ไปให้ผู้อื่นใช้ เนื่องจากยาเหล่านี้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาสเตียรอยด์) อาจมีผลข้างเคียง (เช่น ต้อหิน ต้อกระจก) หรือเกิดผลแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้หากใช้ไม่ถูกต้อง