ต้อหิน หมายถึง ภาวะที่มีความผิดปกติภายในลูกตา ทำให้ประสาทตาเสื่อม เกิดอาการตามัวตาบอดได้ ส่วนใหญ่มักพบว่ามีความดันลูกตาสูง (high intraocular pressure)*
ต้อหินเป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อย และพบมากขึ้นตามอายุ พบได้ประมาณร้อยละ 3 ของผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และประมาณร้อยละ 6 ของผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ถือว่าเป็นโรคตาที่ร้ายแรงชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการตาบอดถาวร
ส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ผู้ป่วยมักมีประวัติโรคต้อหินในครอบครัว นอกจากนี้ โรคนี้ยังพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด สายตายาว สายตาสั้นชนิดรุนแรง การได้รับบาดเจ็บที่ตา หรือผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ (โดยเฉพาะยาหยอดตาสเตียรอยด์) ติดต่อกันนาน ๆ
*ปกติภายในลูกตาจะมีการสร้างของเหลวหลายอย่าง ของเหลวที่สำคัญอันหนึ่งอยู่ตรงช่องว่างระหว่างกระจกตากับแก้วตา ซึ่งเรียกว่า ช่องลูกตาหน้า (anterior chamber) ของเหลวชนิดนี้มีลักษณะใส เรียกว่า น้ำเลี้ยงลูกตา (aqueous humor) ซึ่งจะไหลเวียนจากด้านหลังของม่านตา (iris) ผ่านรูม่านตา (pupil) เข้าไปในช่องลูกตาหน้า แล้วระบายออกนอกลูกตาโดยผ่านมุมแคบ ๆ ระหว่างม่านตากับกระจกตาดำเข้าไปในตะแกรงระบายเล็ก ๆ ที่มีชื่อว่า ท่อชเลมส์ (Schlemm’s canal) เข้าสู่หลอดเลือดดำที่อยู่นอกลูกตา
น้ำเลี้ยงในลูกตา ก่อให้เกิดแรงดันภายในลูกตา (ซึ่งช่วยพยุงรูปทรงของลูกตาให้ทำหน้าที่ได้เป็นปกติ) เรียกว่า "ความดันลูกตา (intraocular pressure/IOP)" ร้อยละ 95 ของคนทั่วไปจะมีความดันลูกตา 10-21 มม.ปรอท (เฉลี่ย 15-16 มม.ปรอท) ถ้าความดันลูกตามีค่ามากกว่า 21 มม.ปรอท ก็ถือว่าเป็นความดันลูกตาสูง
ถ้าหากการระบายของน้ำเลี้ยงลูกตาดังกล่าวเกิดการติดขัดด้วยสาเหตุใดก็ตาม ก็จะทำให้มีการคั่งของน้ำเลี้ยงลูกตา และทำให้ความดันภายในลูกตาเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นโรคต้อหิน หากปล่อยทิ้งไว้ ขั้วประสาทตา (optic disc) ตรงส่วนหลังของจอตาถูกทำลาย ขั้วประสาทตาเป็นตัวนำกระแสประสาทการมองเห็นไปสู่สมอง ซึ่งเมื่อขั้วประสาทตาถูกทำลายจะทำให้สูญเสียลานสายตาลงทีละน้อย จนกลายเป็นตาบอดอย่างถาวรในที่สุด
แม้ว่าผู้ที่เป็นต้อหินส่วนใหญ่มักพบร่วมกับภาวะความดันลูกตาสูง แต่ผู้ป่วยต้อหินบางรายอาจมีความดันลูกตาปกติก็ได้ เรียกว่า "Normal pressure glaucoma/Normal-tension glaucoma" ซึ่งจะพบในผู้ป่วยที่เป็นต้อหินชนิดความดันลูกตาปกติ ซึ่งเป็นต้อหินมุมเปิด (open-angle glaucoma) ชนิดหนึ่ง
ผู้ที่มีภาวะความดันลูกตาสูงบางรายก็อาจไม่เกิดภาวะประสาทตาเสื่อม (กลายเป็นต้อหิน) ก็ได้ เรียกภาวะนี้ว่า "Ocular hypertension" อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นต้อหินตามมาได้ ซึ่งจำเป็นต้องติดตามดูอาการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ป่วยที่มีความดันลูกตามากกว่า 27 มม.ปรอท มีโอกาสสูงที่จะทำให้ประสาทตาถูกทำลาย ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้ยาลดความดันลูกตาเพื่อป้องกันโรคต้อหิน
ต้อหินสามารถแบ่งออกเป็นหลายชนิดขึ้นกับสาเหตุที่พบ ในที่นี้จะกล่าวถึงชนิดที่พบได้บ่อย ได้แก่
1. ต้อหินชนิดมุมเปิดมีความดันลูกตาสูง (primary open-angle glaucoma) เป็นต้อหินที่พบได้บ่อยกว่าชนิดอื่น พบได้ประมาณร้อยละ 70-80 ของโรคต้อหินทั้งหมด พบบ่อยในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีช่องลูกตาหน้าและมุมระบายน้ำเลี้ยงลูกตากว้างตามปกติ แต่ท่อชเลมส์ซึ่งเป็นตะแกรงระบายน้ำเลี้ยงลูกตาเกิดการอุดกั้น ซึ่งค่อย ๆ เกิดขึ้นเป็นเวลาแรมปีโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้น้ำเลี้ยงลูกตาคั่งและความดันในลูกตาสูงขึ้น เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ คือ มักจะพบว่ามีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย นอกจากนี้ยังพบในผู้ที่สายตาสั้นชนิดรุนแรง หรือในผู้ป่วยเบาหวาน (ซึ่งมีภาวะแทรกซ้อนที่ตา โดยมีหลอดเลือดผิดปกติเกิดขึ้นในบริเวณกล้ามเนื้อม่านตาไปทำให้เกิดการอุดกั้นทางระบายน้ำเลี้ยงลูกตาที่อยู่ใกล้กัน)
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคนี้ เนื่องจากไม่มีอาการแสดงให้เห็น จนกระทั่งมีความผิดปกติของการเห็นเกิดขึ้นอย่างถาวรแล้ว ต้อหินชนิดนี้ได้ชื่อว่า "ต้อหินชนิดมุมเปิดแบบเรื้อรัง (chronic open-angle glaucoma)" ซึ่งจัดว่าเป็นโรคภัยเงียบชนิดหนึ่ง
2. ต้อหินชนิดมุมปิด (angle-closure glaucoma/closed-angle glaucoma/narrow-angle glaucoma) พบมากเป็นอันดับ 2 รองจากชนิดมุมเปิดที่มีความดันลูกตาสูง ผู้ป่วยมีโครงสร้างของลูกตาผิดแปลกไปจากคนปกติ คือมีช่องลูกตาหน้าแคบและตื้น จึงมีมุมระบายน้ำเลี้ยงลูกตา (มุมระหว่างกล้ามเนื้อม่านตากับกระจกตา) แคบกว่าปกติ ต้อหินชนิดนี้เกิดมากในผู้ที่สายตายาว เพราะมีกระบอกตาสั้นและช่องลูกตาหน้าแคบ และเกิดในผู้สูงอายุเป็นส่วนมาก เพราะแก้วตาจะหนาตัวขึ้นตามอายุ ทำให้ช่องลูกตาหน้าที่แคบอยู่แล้วยิ่งแคบมากขึ้นไปอีก จึงมีโอกาสเกิดต้อหินมากขึ้น
พบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ต้อหินชนิดนี้สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ จึงมักพบมีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นโรคนี้ร่วมด้วย
ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีอาการเกิดขึ้นเฉียบพลัน เรียกว่า "ต้อหินชนิดมุมปิดแบบเฉียบพลัน (acute angle-closure glaucoma)" อาการมักเกิดขึ้นทันทีเมื่อมีสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อม่านตาหดตัว (รูม่านตาขยายตัว) เช่น อยู่ในที่มืดหรือโรงภาพยนตร์ มีอารมณ์โกรธ ตกใจ เสียใจ ใช้ยาหยอดตาที่เข้ากลุ่มยาอะโทรพีน หรือใช้ยาแอนติสปาสโมดิก ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้รูม่านตาขยาย เป็นต้น ก็จะทำให้มุมระบายน้ำเลี้ยงลูกตาถูกปิดกั้นฉับพลัน น้ำเลี้ยงลูกตาเกิดคั่งอยู่ในลูกตา ทำให้เกิดความดันในลูกตาสูงขึ้นฉับพลัน เป็นผลให้เกิดอาการต้อหินเฉียบพลัน ซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้ในเวลาสั้น ๆ จัดเป็นภาวะฉุกเฉินทางตาของโรคนี้
ผู้ป่วยอีกส่วนหนึ่งมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป เรียกว่า "ต้อหินชนิดมุมปิดแบบเรื้อรัง (chronic angle-closure glaucoma)" ผู้ป่วยจะมีอาการแบบเดียวกับโรคต้อหินเรื้อรัง มักไม่มีอาการในระยะแรก จนกว่าจะมีการสูญเสียการมองเห็นมากขึ้น แต่ต่อมาบางรายอาจเกิดการอุดกั้นของทางระบายน้ำเลี้ยงลูกตาแทรกซ้อนขึ้นฉับพลัน ก็จะเกิดอาการของโรคต้อหินแบบเฉียบพลันได้
3. ต้อหินชนิดความดันลูกตาปกติ (normal-tension glaucoma) เป็นต้อหินที่พบได้น้อยกว่า 2 ชนิดดังกล่าว มีลักษณะอาการแบบเดียวกับต้อหินมุมเปิดชนิดเรื้อรังที่มีความดันลูกตาสูง ต้อหินชนิดนี้มีความดันลูกตาปกติ (มักมีค่าต่ำกว่า 21 มม.ปรอท) แต่ประสาทตาถูกทำลายแบบเดียวกับต้อหินที่มีความดันลูกตาสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากประสาทตามีความไวต่อการถูกทำลาย หรืออาจเกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงประสาทตาเนื่องจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและตีบ (atherosclerosis เช่นที่พบในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองตีบ) หรือมีภาวะอื่นที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงประสาทตาได้น้อย
มักพบว่ามีประวัติต้อหินชนิดนี้ในครอบครัว หรือมีประวัติโรคหัวใจและหลอดเลือด ไมเกรน (เนื่องเพราะมีภาวะหลอดเลือดแดงตาตีบขณะไมเกรนกำเริบ) โรคภูมิต้านตัวเอง (ออโตอิมมูน) บางชนิด ภาวะเลือดหนืด หลอดเลือดหดตัวง่าย หรือความดันโลหิตต่ำในช่วงกลางคืน (low nocturnal blood pressure)
4. เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคตาอื่น ๆ เช่น ม่านตาอักเสบ ต้อกระจก เนื้องอกในลูกตา ปานแดงปานดำในลูกตา เลือดออกในลูกตา ตาถูกกระแทกแรง ๆ การผ่าตัดตา เป็นต้น
5. เกิดจากการใช้ยาหยอดตาที่เข้าสเตียรอยด์นาน ๆ ยานี้จะทำให้ความดันในลูกตาสูง ถ้าคนที่มีความดันในลูกตาสูงอยู่ก่อนแล้ว หากใช้ยานี้ก็จะเกิดโรคต้อหินได้ โดยมากจะเกิดอาการหลังหยอดยานาน 6-8 สัปดาห์ หลังหยุดยาความดันในลูกตาจะลดลงสู่ระดับเดิม
6. ต้อหินในเด็ก ซึ่งพบได้น้อย อาจมีอาการตั้งแต่เกิด หรือในช่วงอายุ 2-3 ปี ประสาทตาอาจถูกทำลายเนื่องจากตะแกรงระบายน้ำเลี้ยงลูกตาเกิดการอุดกั้น หรืออาจเกิดจากความผิดปกติอื่น ๆ
ในรายที่เป็นต้อหินแบบเฉียบพลัน มีอาการปวดลูกตาและศีรษะข้างหนึ่งอย่างฉับพลันรุนแรงและนานเป็นวัน ๆ ร่วมกับอาการตาพร่ามัว มองเห็นแสงสีรุ้ง และคลื่นไส้อาเจียน
บางรายอาจมีอาการปวดตา ตาแดง ตาพร่า เห็นแสงสีรุ้งเป็นพัก ๆ นำมาก่อนเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ซึ่งมักจะเป็นตอนหัวค่ำ หรือเมื่อท้องฟ้าเริ่มมืดหรืออยู่ในที่มืด หรือขณะมีอารมณ์หงุดหงิด กังวล โกรธ เพราะจะมีเลือดไปคั่งที่ม่านตา มุมระบายน้ำเลี้ยงลูกตาที่แคบอยู่แล้วยิ่งแคบลงไปอีก พอนอนพักหรือเป็นอยู่นาน 1-2 ชั่วโมงก็บรรเทาได้เอง
ผู้ป่วยมักจะมีอาการเพียงข้างเดียว แต่ตาอีกข้างหนึ่งก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นต้อหินชนิดเฉียบพลันเช่นกัน
ในรายที่เป็นต้อหินแบบเรื้อรัง มีอาการตามัวลงทีละน้อย ๆ เป็นแรมปี โดยในระยะแรกผู้ป่วยมักจะไม่รู้สึกมีอาการผิดปกติแต่อย่างใด บางรายอาจรู้สึกมึนศีรษะเล็กน้อย อาจรู้สึกอ่านหนังสือแล้วปวดเมื่อยตาเล็กน้อย หรือตาล้า ตาเพลีย และตาพร่าเร็วกว่าธรรมดา ส่วนใหญ่แพทย์อาจตรวจพบโดยบังเอิญขณะที่ไปตรวจรักษาด้วยโรคอื่น
ต่อมาผู้ป่วยจะมีลานสายตาแคบลงกว่าเดิมมาก คือ มองไม่เห็นด้านข้าง อาจขับรถลำบากเพราะมองไม่เห็นรถที่อยู่ทางซ้ายและขวา หรือรถแซง รถสวน หรือเวลาเดินอยู่ในบ้าน อาจชนถูกขอบโต๊ะ ขอบเตียง ขอบประตู ขอบบันได
บางรายอาจรู้สึกว่าตามัวลงเรื่อย ๆ ต้องคอยเปลี่ยนแว่นอยู่บ่อย ๆ แต่ก็ไม่รู้สึกดีขึ้น
ในระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะมีอาการตามัวอย่างมาก และอาจมีอาการปวดตาร่วมด้วย ซึ่งเมื่อถึงระยะนี้ประสาทตาก็มักจะเสียจนแก้ไขไม่ได้
ผู้ป่วยมักจะมีอาการที่ตาทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน
ภาวะความดันสูงภายในลูกตาจะทำลายขั้วประสาทตาจนเสื่อม ทำให้ลานสายตาแคบ และตาบอดถาวรได้
ภาวะลานสายตาแคบมักเป็นภาวะแทรกซ้อนของต้อหินแบบเรื้อรัง ซึ่งผู้ป่วยไม่มีอาการชัดเจนและไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม ผู้ป่วยจะมีอาการมองไม่เห็นด้านข้าง ทำให้เดินชนขอบโต๊ะ ขอบเตียง ขอบประตู ขอบบันได เดินสะดุดหกล้ม หรือเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถได้
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งมีสิ่งตรวจพบดังนี้
ในรายที่เป็นต้อหินแบบเฉียบพลัน จะพบมีอาการตาแดงเรื่อ ๆ ที่บริเวณรอบ ๆ ตาดำมากกว่าบริเวณที่อยู่ห่างจากตาดำออกไป กระจกตามีลักษณะขุ่นมัวไม่ใสเช่นปกติ รูม่านตาข้างที่ปวดจะโตกว่าข้างปกติ และเมื่อใช้ไฟฉายส่องจะไม่หดลง เมื่อใช้นิ้วกดลูกตา โดยให้ผู้ป่วยมองต่ำ ใช้นิ้วชี้ทั้ง 2 ข้างกดลงบนเปลือกตาบนจะรู้สึกว่าตาข้างที่ปวดมีความแข็งมากกว่าข้างที่ปกติ
ในรายที่เป็นเรื้อรัง อาจตรวจไม่พบความผิดปกติที่สังเกตจากภายนอกได้ชัดเจน
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการตรวจตาด้วยเครื่องตรวจตา ตรวจลานสายตา ตรวจลักษณะมุมตาและขั้วประสาทตา และวัดความดันลูกตา ซึ่งมักจะพบว่าสูงเกินปกติ (ค่าปกติประมาณ 10-21 มม.ปรอท)
ในรายที่เป็นเฉียบพลัน แพทย์จะทำการรักษาด้วยยาลดความดันลูกตา ร่วมกับการรักษาด้วยเแสงเลเซอร์หรือการผ่าตัด เพื่อเปิดทางระบายน้ำเลี้ยงตา
ยาลดความดันลูกตามีให้เลือกใช้หลายชนิด ซึ่งอาจใช้เดี่ยว ๆ หรือใช้ร่วมกันก็ได้ อาทิ ยากลุ่ม carbonic anhydrase inhibitors ชนิดกิน (เช่น acetazolamide, methazolamide), ยาหยอดตาที่มีตัวยาปิดกั้นบีตา (เช่น timolol), ยาหยอดตากลุ่ม carbonic anhydrase inhibitors (เช่น dorzolamide, brinzolamide), ยาหยอดตากลุ่ม alpha-adrenergic agonists (เช่น apraclonidine, brimonidine), ยาหยอดตากลุ่ม cholinergic agents (เช่น pilocarpine), ยาหยอดตากลุ่มพรอสตาแกลนดิน (เช่น brimonidine)
โดยทั่วไปการรักษาดังกล่าวจะช่วยลดความดันลูกตาให้เป็นปกติภายในไม่กี่ชั่วโมง
การรักษาด้วยแสงเลเซอร์หรือการผ่าตัด ถ้าสามารถทำภายใน 12-48 ชั่วโมงหลังมีอาการ ก็จะมีโอกาสหายขาดได้ แต่ถ้าไม่ได้รักษาประสาทตาจะเสียและตาบอดได้ ภายใน 2-5 วันหลังมีอาการ
นอกจากนี้ แพทย์จะพิจารณาทำการผ่าตัดเปิดทางระบายน้ำเลี้ยงลูกตาของตาข้างที่ปกติให้ด้วย เพราะปล่อยไว้อาจมีโอกาสกลายเป็นต้อหินเฉียบพลันในภายหลังได้
ในรายที่เป็นเรื้อรัง แพทย์จะให้ยาหยอดตา และ/หรือยากินลดความดันลูกตา ถ้าได้ผลก็จำเป็นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง และคอยตรวจวัดความดันลูกตาไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าไม่ได้ผลมักต้องรักษาด้วยแสงเลเซอร์หรือการผ่าตัดเพื่อเปิดทางระบายน้ำเลี้ยงตา
ผลการรักษา สำหรับต้อหินแบบเฉียบพลัน หากได้รับการรักษาได้ทันการณ์ก็จะหายได้โดยเร็วและไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน ส่วนต้อหินแบบเรื้อรังส่วนใหญ่จะต้องใช้ยารักษาอย่างต่อเนื่อง ถ้าได้รับการรักษาก่อนที่ขั้วประสาทตาถูกทำลาย ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้สายตาผิดปกติ (ลานสายตาแคบ) ได้ แต่ถ้าได้รับการรักษาหลังจากขั้วประสาทตาถูกทำลายไปบางส่วน ก็จะป้องกันไม่ให้สายตาผิดปกติมากขึ้น
หากสงสัยว่าเป็นต้อหิน ควรปรึกษาแพทย์ แต่ถ้ามีอาการปวดตาและตามัวซึ่งเกิดขึ้นเฉียบพลัน หรือสงสัยเป็นต้อหินแบบเฉียบพลัน ควรไปพบแพทย์ด่วน เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ ควรปฏิบัติ ดังนี้
- รักษา ปฏิบัติตัว และติดตามการรักษาตามที่แพทย์แนะนำ
- หลีกเลี่ยงการซื้อยากินและยาหยอดตามาใช้เอง เพราะยาบางชนิด (เช่น อะโทรพีน และกลุ่มยาแอนติสปาสโมดิก ที่ใช้รักษาอาการปวดท้อง ท้องเดิน) อาจทำให้โรคต้อหินกำเริบได้
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
- มีอาการปวดศีรษะและปวดตารุนแรง คลื่นไส้อาเจียน ตาแดงหรือตามัวมากขึ้น
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้ หรือมีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา
โรคนี้ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผลดี แต่อาจลดความเสี่ยงหรือชะลอการเกิดต้อหินได้ด้วยการปฏิบัติตัว ดังนี้
- หมั่นตรวจเช็กสุขภาพตารวมทั้งวัดความดันลูกตา ทุก 5-10 ปีสำหรับผู้ที่อายุต่ำกว่า 40 ปี, ทุก 2-4 ปีสำหรับผู้ที่อายุ 40-54 ปี, ทุก 1-3 ปีสำหรับผู้ที่อายุ 55-64 ปี, และทุก 1-2 ปีสำหรับผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป
ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หรือมีประวัติโรคต้อหินในครอบครัว ควรตรวจถี่กว่าปกติ เช่น ทุกปี หรือตามที่แพทย์แนะนำ
- เมื่อตรวจพบว่ามีความดันในลูกตาสูง ควรใช้ยาหยอดตาที่มีตัวยาลดความดันลูกตา และหมั่นติดตามดูการเปลี่ยนแปลงอาการตามที่แพทย์แนะนำ
- หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำตามวิธีที่แพทย์แนะนำ (เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ) มีส่วนช่วยลดความดันลูกตา ป้องกันโรคต้อหินได้
- ใส่อุปกรณ์ป้องกันตาเวลาทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บต่อดวงตา (ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดต้อหินได้)
- ควบคุมโรคประจำตัว (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต) ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
1. ต้อหินแม้ว่าจะเป็นโรคที่ร้ายแรงซึ่งทำให้ตาบอดได้ แต่ถ้าได้รับการรักษาเสียแต่เนิ่น ๆ ก็มีทางรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น ถ้าพบผู้ที่มีอาการปวดตา ตามัว สงสัยว่าจะเป็นต้อหิน ควรปรึกษาแพทย์และรับการรักษาให้ทันท่วงที
2. เนื่องจากโรคนี้ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีแม้ว่าจะรู้สึกสบายดี ควรตรวจวัดความดันลูกตาเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีประวัติว่ามีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้มาก่อน
3. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาสเตียรอยด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาหยอดตาที่เข้าสเตียรอยด์ (ที่ใช้แก้อาการแพ้หรืออาการของตาอักเสบ) นาน ๆ หรือยาหยอดตาที่เข้าอะโทรพีน หรือยาที่ทำให้รูม่านตาขยายตัว เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดอาการต้อหิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีความดันลูกตาสูง (โดยไม่รู้ตัว) อยู่ก่อนแล้ว